วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เบื้องแรกของการปฏิบัติภาวนา โดย ท่านพระอาจารย์ชา สุภทฺโท


"จงหายใจเข้า หายใจออก อยู่อย่างนี้แหละ อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น อยู่แต่กับลมหายใจ เข้า-ออก ให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ..ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่นเอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ให้รู้จักแต่ลมเข้า ลมออก อยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์
ลมเข้าก็รู้จักลมออกก็รู้จัก ให้รู้จักอย่างนี้จนจิตสงบหมดความรำคาญ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งสิ้น ให้มีแต่ลมออก ลมเข้า ลมออก ลมเข้า อยู่เท่านั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไร นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ
ถ้ามันสบาย ถ้ามันสงบ มันก็จะรู้จักของมันเอง ทำไปเรื่อยๆ ลมก็จะน้อยลง อ่อนลง กายก็อ่อน จิตก็อ่อน มันเป็นไปตามเรื่องของมันเอง นั่งก็สบาย ไม่ง่วง ไม่โงก ไม่หาวนอน จะเป็นอย่างใด ดูมันคล่องของมันเองไป ทุกอย่างนิ่ง สงบ
สิ่งที่ติดตามเรา เรียกว่า สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เราจะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ให้รู้จักเรื่องของมัน ให้มีสติอยู่เสมอ
เดินจงกรมมันก็เหมือนกับทำสมาธิ ให้กำหนดความรู้สึกขึ้นในใจว่า " บัดนี้ เราจะทำความเพียร จะทำจิตให้สงบ มีสติสัมปชัญญะให้กล้า"
การกำหนดก็แล้วแต่ แต่ละคน ตามใจ บางคนออกเดินก่อน ก็แผ่เมตตาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สารพัดอย่าง แล้วก็ก้าวเท้าขวาออกก่อนให้พอดี พอดี
ให้นึก " พุทโธ พุทโธ " ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้ในอารมณ์นั้นไปเรื่อย 
ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่าน หยุด ให้มันสงบ ก้าวเดินใหม่ ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อย 
นี่เป็นวิธีทำ กำหนดเดินจงกรม เดินจงกรมคือเดินกลับไป กลับมา เหมือนคนบ้า แต่หารู้ไม่ว่า การเดินจงกรมนี้ ทำให้เกิดปัญญานักละ
เดินกลับไป กลับมา ถ้าเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก
แล้วอิริยาบถมันก็เปลี่ยนไปเองหรอก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันเปลี่ยน คนเราจะนั่งรวดเดียวไม่ได้ ยืนอย่างเดียวไม่ได้ นอนอย่างเดียวไม่ได้ มันจะต้องอยู่ตามอิริยาบถเหล่านี้ ทำอิริยาบถทั้งสี่นี้ให้มีประโยชน์ ให้มีความรู้สึกตัว อยู่อย่างนี้ นี่คือ การทำ ทำไป ทำไป
มันก็จะคิดของมันไปตามเรื่อง ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ยกอยู่อย่างนั้นสองนาทีนะอย่าเผลอ ไม่ใช่ห้านาที พอสองนาทีก็เอามาตั้งไว้นี่ กำหนดอยู่อย่างนี้ เป็นเรื่องของการกระทำ
จะดูลมหายใจเข้า-ออกก็เหมือนกัน ให้นั่งขาขวาทับขาซ้าย ให้ตัวตรง สูดลมหายใจเข้าไปให้เต็มที่ ให้หายใจลงไปให้หมดในท้อง สูดเข้าให้เต็ม แล้วปล่อยออกให้หมดปอด อย่าไปบังคับมัน
ลมจะยาวแค่ไหน จะสั้นแค่ไหน จะค่อยแค่ไหนก็ช่างมัน ให้มันพอดี พอดีกับเรา
นั่งดูลมเข้า ลมออก ให้สบายอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันหลง ถ้าหลง หยุดดูว่ามันไปไหน มันจึงไม่ตามลม ให้หามันกลับมา ให้มันมาเล่นตามลมอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็จะพบของดีสักวันหนึ่งหรอก
ให้ทำอยู่อย่างนั้น ทำเหมือนกับว่า จะไม่ให้อะไร ไม่เกิดอะไร ไม่รู้ว่าใครมาทำ แต่ก็ทำอยู่เช่นนั้น 
นั่งเฉย ๆ บางครั้งก็จะนึกว่า " จะนั่งเฝ้าดูมันทำไมนะ ลมนี่น่ะ ถึงไม่เฝ้า มันก็ออก เข้า ของมันอยู่แล้ว "
มันก็หาเรื่องคิดไปเรื่อย และมันเป็นความเห็นของคนเรียกว่า " อาการของจิต " ก็ช่างมัน พยายามทำไป ทำไป ให้มันสงบ
เมื่อสงบแล้ว ลมจะน้อยลง ร่างกายก็อ่อนลง จิตก็อ่อนลง มันจะอยู่พอดีของมัน จนกระทั่งว่า นั่งเฉยๆ เหมือนไม่มีลมหายใจเข้า - ออก แต่มันก็ยังอยู่ได้
ถึงตอนนี้ อย่าตื่น อย่าวิ่งหนี เพราะคิดว่า เราหยุดหายใจแล้ว นั่นแหละ มันสงบแล้ว ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉย ๆ ดูมันไปอย่างนั้นแหละ
บางที่จะคิดว่า " เอ เราหายใจหรือเปล่านี่ " อย่างนี้ก็เหมือนกัน มันคิดไปอย่างนั้น แต่ อย่างไรก็ช่างมัน ปล่อยไปตามเรื่องของมัน ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้น ให้รู้มัน ดูมัน แต่อย่าไปหลงใหลกับมัน
ทำไป ทำให้บ่อยๆ ไว้ ไม่ใช่เดินยอกแยก ยอกแยก คิดโน่น คิดนี่ เที่ยวเดียว แล้วเลิกขึ้นกุฏิ มองดูพื้นกระดาน " เออ มันน่านอน " ก็ลงนอนกรนครอกๆ อย่างนี้ ก็ไม่เห็นอะไรเท่านั้น
ไม่ใจมาพูดบอกตัวเองว่า " สงบ สงบ สงบ " แล้วพอนั่งปุ๊บ ก็จะให้มันสงบเลย ครั้นมันไม่สงบอย่างที่คิด ก็เลิก ขี้เกียจ ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่มีวันได้สงบ แต่พูดมันง่าย หากทำแล้วมันยาก 
หาความสงบอย่างนี้ ใคร ๆ ก็อยากสงบด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่ทันจะรู้จักมัน จะถาม จะพูดกันสักเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักขึ้นมาได้หรอก
ฉะนั้นให้ทำ ให้ตามรู้จักให้ทันว่า กำหนดลมเข้า ออก กำหนดว่า " พุทโธ พุทโธ " เอาเท่านั้นแหละ ไม่ให้คิดไปไหนทั้งนั้น ในเวลานี้ ให้มีความรู้อยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ ให้เรียนรู้อยู่อย่างนี้แหละ
ให้ทำไป ทำไป อย่างนี้แหละ จะนึกว่า " ทำอยู่นี้ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย " ไม่เป็น ก็ให้ทำไป ไม่เห็น ก็ให้ทำไป ให้ทำไปอยู่นั่นแหละ แล้วเราจะรู้จักมัน
เอาละนะ ทีนี้ลองทำดู ถ้าเรานั่งอย่างนี้ แล้วมันรู้เรื่อง ใจมันจะพอดี๊ พอดี พอจิตสงบแล้ว มันก็รู้เรื่องของมันเองดอก ต่อให้นั่งตลอดคืนจนสว่างก็ไม่รู้สึกว่านั่น เพราะมันเพลิน
ฉะนั้น ให้ทำ อย่าหยุด อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ให้ฝืนทำไป ถึงจะขี้คร้านก็ให้ทำ จะขยันก็ให้ทำ จะนั่งก็ทำ จะเดินก็ทำ
เวลาจะนอนก็สอนมัน เวลาจะฉันจังหันก็สอนมัน ให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย จะยืนก็ให้รู้สึก จะทำอะไรสารพัดอย่างก็ให้ทำอย่างนั้น
อย่าไปมองดูผู้อื่น อย่าไปเอาเรื่องของผู้อื่น ให้เอาแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น
การนั่งสมาธินั้น นั่งให้ตรง อย่าเงยหน้ามากไปอย่าก้มหน้าเกินไป เอาขนาดพอดี เหมือนพระพุทธรูปนั่นแหละ มันจึงสว่างไสวดี
ครั้นจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ให้อดทนจนสุดขีดเสียก่อนปวดก็ให้ปวดไป อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยน อย่าคิดว่า " บ๊ะไม่ไหวแล้วพักก่อนเถอะน่า " อดทนมันจะปวดถึงขนาดก่อน พอมันถึงขนาดนั้นแล้วก็ให้ทนต่อไปอีก
ทนไป ทนไป จนมันไม่มีแก่ใจจะว่า " พุทโธ " เมื่อไม่ว่า "พุทโธ" ก็เอาตรงที่มันเจ็บนั่นแหละมาแทน " อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ๆ หนอ " เอาเจ็บนั่นมาเป็นอารมณ์แทน "พุทโธ" ก็ได้ กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อย นั่งไปเรื่อย ดูซิว่าเมื่อปวดจนถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านว่า มันเจ็บเอง มันก็หายเอง ให้มันตายไป อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตกเม็ดโป้ง ๆ เท่าเม็ดข้าวโพดไหลย้อยมาตามอก " ถ้าครั้นทำจนมันได้ข้ามเวทนา อันหนึ่งแล้ว มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ " ให้ค่อยทำไปเรื่อยๆ อย่าเร่งรัดตัวเองเกินไป ให้ค่อยทำไป ทำไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น