วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจเล็กแต่ใจใหญ่ชัดเจน


ร้านกาแฟเล็กๆนี้ชื่อ "หลวงพระบาง กาแฟ" แต่ติดธงชาติไทยปลิวไสวสวยงามสง่า  ดูๆไปก็เหมือนร้านกาแฟตามต่างจังหวัดทั่วไป..แต่เข้าไปแล้วมันมีกลิ่นอายของศักดิ์ศรี ของ unigueness โชยมาเลย...    มันอยู่ที่แนวคิดการสร้างบรรยากาศร้านของผู้ประกอบการที่เป็นหญิงสาวท่าทางห้าวหาญเหมือนนักรบหญิง จริงจังกับธุรกิจ  แนวคิดร้าน..สะท้อนออกมาจากป้ายต่างๆที่ติดไว้สื่อสารกับลูกค้า..ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่น หรือ นักท่องเที่ยวจะรู้เลยว่าต้องทำตัวยังไง เช่น..


"กาแฟ ชา แก้วละ 40 - 55 บาท ห้องน้ำครั้งละ 100 ขอโทษที่ไม่สะดวกใจในการให้บริการ..." (แปลว่าไม่ต้องขอเข้าห้องน้ำ)
"ร้านนี้เน้นคุณภาพ..ปริมาณไม่เน้น..." (ตั้งใจชง..ต้องรอ)
"คนชงการแฟมีน้อย กรุณาใช้สอยอย่างประหยัด" (ชงอยู่คนเดียว)
เป็นต้น 


อาจจะออกแนวดุดัน แต่ก็มีลูกค้าประจำ..ทักทายกันน่ารัก พูดจากันอย่างสนิทสนมเหมือนเพื่อน เหมือนญาติ ไม่มีชนชั้น ทุกคนเท่าเทียม รู้สึกได้เลยว่าเป็น community ที่มีคุณภาพแห่งหนึ่ง มันแน่น มันเต็ม...

บางทีการที่เรายืนหยัดในหลักการของเรา..ใช้การสื่อสารชัดเจน มุ่งสร้างความเข้าใจ ไม่โอนอ่อนตามกระแสตลาดที่ต้องเอาใจลูกค้า พร่ำเพรื่อ จนเสียระบบ มันเป็นการแสดงถึงศักดิ์ศรีของผู้ประกอบการ ที่มั่นใจในบริการ คุณภาพที่มอบให้ลูกค้าได้เช่นกัน  นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่จะคบค้ากันต่อไปในอนาคต 

ธุรกิจแบบนี้ถึงจะเล็กแต่ก็มีคุณค่ามากกว่าธุรกิจใหญ่..ทำเงินมาก แต่ไร้เกียรติเพราะโกงคุณภาพ เอาเปรียบลูกค้าและพนักงาน 


การเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ...ศักดิ์ศรี ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ตรงไปตรงมาสำคัญนัก... 

วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

การพึ่งพาตนเอง


การพึ่งพาตนเอง (Independent) เป็นความสามารถของคนเราที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่น ไม่ร้องขอถ้าไม่จำเป็น ไม่ทำอะไรเกินตัว ทำให้เกิดความสมดุล ความพอดีในชีวิต...ซึ่งการที่เรายึดหลัก "พึ่งตนเอง" นั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกสุดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงของเรา... ยึดไว้..ชาติไทยเจริญ.. ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องทดแทนบุญคุณใคร..ไม่มีลูบหน้าปะจมูก...จึงไม่ต้องเกรงใจที่จะทำความดี ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง...ด้วยตัวเอง...

"การพูด"สำคัญนัก...


หลายคนยึด "เงียบ" ทั้งๆที่ถึงเวลา "ต้องพูด" ซึ่งจะพูดแนวคิด คำแนะนำ หรือ สิ่งที่ตนเองได้สังเกตุ...อะไรก็ได้.. แต่ก็เลือกที่จะไม่พูด เพราะ กลัวโง่บ้าง กลัวทำร้ายคนอื่นบ้าง คิดว่าเลือกที่ไม่สื่อสารดีกว่า แต่หารู้ไม่ว่า...บางทีการเงียบนั้น คือ การสื่อสารที่เลวร้ายที่สุด มันมีเหตุผลที่ควร "พูด" ดังนี้...

1. การเงียบ คือ การยอมรับ : ถ้าคิดว่าการเงียบจะทำให้ตัวเองพ้นจากข้อขัดแย้ง..โปรดคิดใหม่นะ ถ้าคิดว่าไม่เห็นด้วย..แต่เงียบนั้น มันไม่สามารถทำให้หลุดพ้นไปได้ง่ายๆ เมื่อปัญหายังอยู่แล้ว ไม่พูดอะไรเลย...ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คนจะคิดว่าเป็นความผิดของเรา ที่สำคัญเราจะเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นอีกด้วย การเงียบในสถานการณ์ที่เลวร้าย ถือเป็นการสมยอม และอีกหน่อยจะไม่มีใครเชื่อถือ หรือ ไว้ใจเราอีกต่อไป

2. การทำดีเพื่อส่วนรวมต้องเป็นลำดับแรกที่สำคัญกว่า : การเงียบเพราะไม่อยากวิจารณ์คน ไม่อยากทำให้คนอื่นเสียใจ เท่ากับว่าเราไม่ยอมก้าวออกมาจาก comfort zone ลอยตัวไป อันนี้เห็นแก่ตัวมาก ยิ่งถ้าพรรคพวก เพื่อนร่วมงานตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก มันเท่ากับทรยศกันเลยนะ ถึงการพูดจะนำไปสู่การโต้แย้ง แต่นั่น คือ การที่นำไปสู่การตัดสินใจเช่นกัน การพูดเพื่อให้ผลแก่ส่วนรวมย่อมสำคัญมากกว่า

3. แสดงความจริงใจให้คนได้รู้ : ถ้าเขาเชิญไปร่วมประชุม ร่วมเสวนา แต่เราไม่ยอมเสวนานี่มันแปลกๆอยู่นะ มันไม่ใช่แค่ไปโชว์ตัวก็ถือว่ามีส่วนร่วมในกระบวนการ การพูดในวงสนทนา การแสดงความคิดเห็นมันเป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ที่สามารถนำไปสู่ความไว้วางใจ ทำให้คนอื่นเห็นว่าเรานั้นพึ่งพาได้

4. การพูดทำให้เราไม่โดดเดี่ยว : อย่ากลัว..การพูดจะทำให้เรารู้ว่าเราไม่โดดเดี่ยว คนอื่นที่เห็นด้วยจะเริ่มแบ่งปันความคิด ทุกอย่างต้องมีเสียง..เสียงเท่านั้นที่ทำให้เรารู้สถานการณ์ได้จริง