วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

เราจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมหลังจากโควิด 19


เหตุการณ์โรคระบาดโควิด 19 ครั้งนี้มันหนักหนาสากรรจ์มากสำหรับผู้คนบนโลกใบนี้ กระทบไปทุกภาคส่วนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้นึกถึงเรื่อง ทฤษฎี Black Swan ที่ Nassim Nicholas Taleb นักคณิตศาสตร์และนักซื้อขายหุ้น ชาวเลบานอน ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable มันสรุปได้ว่าสิ่งที่เราไม่เคยเจอ ไม่ได้แปลว่าไม่มี ทุกคนมีความเชื่อว่าหงส์มีแต่สีขาว แต่เมื่อเห็นหงส์ดำ ก็คือ มันมีแล้ว มันปรากฎขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเหมือนโควิด 19 เป็นเรื่องไม่คาดฝัน และเป็นฝันร้ายของทุกชีวิต มันส่งผลกระทบมหาศาล และอธิบายกันไม่ถูกจนกว่าหลังเหตุการณ์นั้นเกิดไปแล้ว ถึงจะมีเหตุผลมาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น

และหลังจากที่เกิดขึ้น “มันจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป” nothing is going to be the same !! ผู้คนจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าจะเป็น new normal กันเลย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง รู้แต่ว่า “ไม่เหมือนเดิม”
ในทางธุรกิจ เราอาจเคยมุ่งไปที่ประสิทธิผลประสิทธิภาพ แต่หลังจากนี้เราคงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า เราจะทนทานได้นานแค่ไหน ทั้งพนักงาน ทั้งเรื่องเงิน ทั้งเรื่องของ supply chain การบริหารจัดการต้องเปลี่ยนไป เราจะสามารถควบคุมอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะจาก “ระยะห่าง” ซึ่งเรื่องระยะห่างนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมกับทุกชีวิต ลูกค้าเราก็จะไม่เหมือนเดิม เราจะเห็นบทบาทของ warehouse ของ logistics ที่เน้นระบบ ไม่เน้นคน ทุก sector ทุกคนต้อง adjust ตัวเอง ผู้คนจะให้ค่าเรื่องความเสี่ยง ต้องคิดเรื่องความทนทานที่ต่างจากเดิม เราจะเข้าใจเรื่องระยะห่างมากขึ้น ว่าถึงจะห่าง แต่ก็ต้องควบคุมได้ มันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วว่าว่าอะไรใกล้หรือไกล หรือต้องอยู่ในสายตา ต่อไปนี้ทุกอย่างจะเป็น “ทางไกล” มันอยู่ที่จะจัดการอย่างไร อันนี้เป็นบทเรียนสำคัญของชาวโลกกันเลย ธุรกิจต้องถามตัวเองแล้วว่า เราจะจัดการอย่างไรกับเรื่องช็อคโลกที่ปรากฎแก่สายตาตอนนี้


วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

ทิศเหนือไม่ได้อยู่บนฟ้า

โลกไม่ได้ต้องการเฉพาะคนฉลาด แต่โลกยังต้องการคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้และคนที่ยอมรับว่าตัวเองเข้าใจผิด คนมักจะมี motivated reasoning คือ ตั้งใจชนะมันไปทุกเวที ทำทุกอย่างได้ด้วยแรงจูงใจรวมถึงการบิดเบือน ป้องกันความคิดที่ซ่อนเร้น มันเข้าข่าย Pet Theory ทฤษฎี “ที่โปรดปราน” ประมาณหมาแมวที่เรารักเราก็มีเหตุผลความชอบส่วนตัวที่จะดูแลมันอย่างดี ใครอย่ามาแหยม ซึ่งก็คือการอุ้มชูความคิด หาเรื่องราวมาสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูก (แบบไม่ลืมหูลืมตา) จึงมักเห็นว่าคนอื่นไม่เข้าท่า ประหลาด แต่กลับมองไม่เห็นปัญหาในความคิดตัวเอง ต่อให้มีข้อมูลความจริงมายืนยัน ต่อให้รู้ว่าตัวเองเข้าใจผิดก็จะไม่ยอมรับ

Julia Galef ได้พูดไว้ใน TEDxPSU หัวข้อ “Why you think you’re right - even if you’re wrong?” “ทำไมเราถึงคิดว่าเราถูก ทั้งที่เราผิด” โดยเธอสรุปว่ามันมีคนประเภทที่มีความคิดแบบทหาร (soldier mindset) ที่มี motivated reasoning มีความต้องการให้ความคิดตัวเองถูกและความคิดคนอื่นผิด ซึ่งพวกนี้มีความกลัวเป็นแรงขับ ต้องการความเป็นพวกพ้อง (tribalism) เพื่อตอกย้ำว่า “พวกมากต้องลากกันไป” ห้ามใครแหกคอก คนแบบนี้อันตรายมาก ไม่สร้างสรรค์ สร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความอยุติธรรมมาแล้วมากมาย โลกนี้มีพวกนี้มากๆเข้าจะอันตรายมาก ด้วยความกลัวแบบไร้ปัญญาจะหาความจริงนี่จะทำให้เกิดอารมณ์ the end justifies the means คือวิธีไหน (ไร้จริยธรรม)ก็ได้ ขอให้บรรลุผลที่ต้องการ น่ากลัวมากที่สุด 

Galef จึงนำเสนอความคิดแบบนักสังเกตการณ์ (scout mindset) คือ ไม่ต้องอยากชนะหรือแพ้ แต่มองสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น เข้าใจเงื่อนไขหรือบริบทให้ดี มองให้ชัดให้จริง มุ่งแสวงหาข้อมูลตามจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจ และไม่เกี่ยงกับความเข้าใจผิด ตรงกันข้ามจะดีใจเมื่อเห็นข้อบกพร่อง จะได้เรียนรู้เพิ่ม 

อันนี้ขึ้นกับว่าเราอยากเป็นคนที่ปกป้องความเชื่อของตัวเอง
หรืออยากที่จะเห็นโลกในแบบที่เป็นจริงๆ
คนเราไม่ได้ “รู้ทุกอย่าง” และ “ถูกทุกครั้ง”
เราเลือกได้ที่จะไม่รับรู้ ยึดความเชื่อต่อไป
...ซึ่งคนอื่นรอบข้างเดือดร้อนแน่นอน สถานะการณ์จะยุ่งเหยิงไม่รู้จบ
กับ...สละความเชื่อและความคิดของเราที่เคยมีทิ้งไป
เพื่อมุมมองที่ถูกต้องเป็นจริงมากขึ้น

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

ปัญหามีแค่ 2 แบบ


ลองอ่านเรื่องเล่าของหลวงปู่ชาดูก่อน...
วันหนึ่งมีคนที่มีปัญหาชีวิตหนักมาขอให้หลวงปู่ชาช่วยแก้ปัญหา เขาเล่าเรื่องราวชีวิตให้หลวงปู่ฟัง เป็นปัญหาที่ใหญ่โตและยุ่งเหยิงมาก หลวงปู่ชี้นิ้วไปที่ก้อนหินก้อนใหญ่มากก้อนหนึ่ง แล้วถามว่า “โยมผลักหินก้อนนี้ไหวไหม”
เขาตอบว่า “ไม่ไหวครับ”
“แล้วก้อนนั้นล่ะ ผลักไหวไหม” 
หลวงปู่ชี้ไปที่ก้อนหินอีกก้อนหนึ่งที่เล็กกว่าก้อนแรกครึ่งหนึ่ง
เขามองแล้วตอบทันที “ไหวครับ”
หลวงปู่ชาจึงเริ่มเทศนาธรรมว่า “ หินก้อนแรกก็เหมือนกับปัญหาของโยม ผลักก็ไม่ไหว เคลื่อนก็ไม่ได้ ถ้าเราพยายามแข็งขืนที่จะผลักต่อไปก็เหนื่อยเปล่าเพราะมันใหญ่เกินกว่าแรงของเรา แต่ถ้าปล่อยให้ฝนตก ลมพัด หินก้อนแรกก็จะกร่อนลงจนเหลือเท่ากับหินก้อนที่สอง เมื่อนั้นเราผลักหินก้อนนั้นก็จะเคลื่อนตัวได้”

ปัญหานั้นมีอยู่แค่ 2 แบบ คือ แก้ได้ กับ แก้ไม่ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้คิดไปก็เท่านั้น คิดไปก็กลุ้มก็ทุกข์เพราะมันยิ่งใหญ่เกินแก้ไข แต่ถ้าปล่อยไปก่อน เวลาอาจช่วยได้ หรืออาจมีตัวแปรอื่นมาช่วยทำให้ปัญหาเบาลงหรือเปลี่ยนไป สุดท้ายเมื่อปัญหาอยู่ในระดับที่แก้ไขได้ เมื่อนั้นก็ค่อยคิดแก้ไขปัญหา 

ตอนนี้ปัญหาโควิด19 ได้ส่งผลกระทบไปยังธุรกิจอุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก เราก็จมอยู่กับมัน ทุกข์ว่าเศรษฐกิจแย่ รัฐบาลห่วย และอะไรต่อมิอะไรมากมายซึ่งบั่นทอนกำลังใจในการจะมีชีวิตที่ดีต่อไป มันเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่เราจะแก้ไขได้ ซึ่งคิดไปก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ยิ่งคิดยิ่งเครียด 

มามุ่งที่ปัญหาที่แก้ไขได้ดีกว่าไหม ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงไป ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลางใครช้อนกลางมันไป ดูแลความเป็นอยู่ เมตตาคนรอบข้าง ให้กำลังใจกันไป จะทำอะไรก็นึกถึงความรับผิดชอบของตัวเองและส่วนรวม ไม่โหมข่าวเท็จ ไม่โพสต์อะไรที่อ่านไม่หมดแล้วเข้าใจผิด อีกหน่อยถ้ามีวัคซีน ปัญหานี้มันจะเล็กลง อดทนรอเวลาให้มันคลี่คลาย ไม่ต้องวิตกจริตกับปัญหาที่มันใหญ่เกินตัว 


คิดวันละอย่าง # 260

ถึงเวลาไม่ต้อง “เร่งรีบ” 
โลกกำลังเจอกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงถึงขั้นผันผวน สาเหตุหนึ่งคืือความเร่งรีบของคน การเร่งรีบมันทำให้เรา fail fast ใช้พลังตะกายไปในสิ่งที่ “อยาก” ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองในทางทำลายธรรมชาติ ทำลายภูมิคุ้มกันตัวเอง มันคล้ายๆกับที่ Thomas Merton ว่าไว้ "People may spend their whole lives climbing the ladder of success only to find, once they reach the top, that the ladder is leaning against the wrong wall.”  ผู้คนอาจต้องกลับมาสู่ภาวะ “ไม่เร่งรีบ” กันบ้าง เพื่อทบทวนว่าเราไม่ได้กำลังปีนป่าย ไขว่คว้าเพื่อหลงทาง  
ช่วงนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่ากลับมาตั้งสติ ภาวนา เพราะเริ่มจะว่างกันแล้วจากการระบาดของเชื้อโรค คนเริ่มถนอมตัว เก็บตัว ก็ถือโอกาสนี้...ที่ชีวิตไม่ต้องเร่งรีบ เพราะรีบเร่ง ไปนู่นไปนี่อาจติดเชื้อลำบากลำบน อาจถึงตายได้ กลับมาทบทวนว่าที่เคยเร่งรีบนั้นมันเป็นไปเพื่อตามติดเป้าประสงค์ของอะไรแน่ ของตัวเองหรือของคนอื่น เรา get caught in the thick of thin things หรือเปล่า บางทีการมีเวลาให้กับการทำสมาธิ สวดภาวนาจะทำให้เราย้อนกลับมาเห็นอะไรชัดเจนในตัวเอง เพราะว่าการได้มีสติรู้ตัว มีสมาธิสามารถช่วยเปิดใจให้เห็นสิ่งใหม่ๆที่เวลาเร่งรีบจะมองไม่เห็น 
สำคัญกว่านั้น คือ มองเห็นความคิดว่ามัน incredibly powerful มันครอบงำไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่คลุมไปถึงสิ่งต่างๆรอบตัว ถ้าเราหมั่นภาวนา คิดดี ไม่จิตตก ทั้งตัวเราและคนรอบข้างจะมีชีวิตที่ดีตามไปด้วย เวลาเราสวดมนต์ภาวนาให้คนอื่นให้โลกสงบ มันเหมือนกับการส่ง positive energy ที่สังเกตุได้เลยว่า it actually makes a difference !! การภาวนาส่งผลให้ความคิดเราเกิดคลื่นที่จะยกระดับจิตใจ ถ้าอิลักอิเหลื่อกับเรื่องนี้ หรือถ้าทำใจไม่ได้กับอะไรที่เป็นสายธรรม ก็คิดเสียว่ามันคือ “มงคลชีวิต” ที่อย่างน้อยเราได้สงบๆได้รู้ตัวได้ปลดล็อคอะไรที่ขังเราไว้ตอนเร่งรีบ จะได้ทำทุกอย่างด้วยสติสำนึกในยามโลกยุ่งเหยิงผันผวน  


วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563

ความสุขในโลกที่ผันผวน

ความสุขในโลกที่ผันผวน
มีคนบอกว่าความสุขสามารถแยกได้ 3 มิติ
➡️ ความสุขแบบระยะสั้น (Affective Well-being) เป็นอารมณ์และความรู้สึกที่พบเจอในแต่ละวัน ดูได้จากการที่เรายิ้ม หัวเราะบ่อยแค่ไหน เครียดบ้างมั๊ย ตัวแปรที่สำคัญ คือ ‘เวลา’ ประมาณว่าเราทำอะไรบ้างในแต่ละวัน เช่น การสังสรรค์กับเพื่อน การรับประทานอาหารที่อร่อย เป็นต้น 
➡️ ความสุขแบบระยะยาว (Life Satisfaction) เป็นความพึงพอใจในชีวิต ขึ้นกับว่าเรามีสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่คาดหวังในชีวิตมากน้อยแค่ไหน ตัวแปรความสุขระยะยาว เช่น เงินเดือน หน้าที่การงาน อายุ การแต่งงาน จำนวนและคุณภาพของคนสนิทรอบข้าง และสุขภาพ
➡️ ความสุขแบบระยะยาวมาก (Meanings and Purposes) เป็นความหมายและวัตถุประสงค์ของชีวิต ถือเป็นความสุขที่มีระยะเวลาที่ยาวมาก มันคือการที่สามารถบอกกับตัวเองได้ว่าชีวิตของเรามีความหมาย เราใช้ชีวิตอย่างดีแล้ว ตัวแปรของความสุขระยะยาวมากก็คือการได้ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม การช่วยเหลือคนอื่น
ในโลกที่ผันผวน จะมีอะไรดีไปกว่าการหาจุดสมดุลของความสุขทั้ง 3 มิติ การทำงานเพื่อเงินเดือนเยอะๆ ได้เงินมากๆอย่างเดียวอาจไม่ได้ทำให้เรามีความสุขระยะสั้น (Affective Well-being) และระยะยาวมาก (Meanings and Purposes) มันแปลว่าคนเราไม่ควรโฟกัสไปที่ความสุขในมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น 
ช่วงนี้พวกเราเจอกับสิ่งผันผวนมากอย่างการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อย่าให้มันทำให้ความสุขเราหายไป เราต้องคิดทบทวนให้ดีกับตัวเองดูก่อน เอาความสุขทั้ง 3 มิติของเราตั้งไว้ แล้วพิจารณาว่ามีตัวแปรอะไรที่สำคัญบ้าง แล้วเริ่มต้นวางแผนอนาคตให้ตัวเองมีความสุข ซึ่งควรเป็นแผนที่ยืดหยุ่น เพื่อที่ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ยังจะสามารถมีความสุขได้ในโลกที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก