วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา



มี AQ มั๊ย...มีแบบไหน...
AQ : Adversity Quotient ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา
มันเกี่ยวกับวิธีคิดหรือวิธีมองปัญหา ความสามารถที่จะอดทนและทนทานต่อปัญหาต่าง ๆ ได้และความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ 
มีอานิสงส์ คือ
มีความคล่องตัวอยู่เสมอ ไม่เหี่ยวเฉา
มองโลกในแง่ดีเสมอ
มีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วยดีขึ้น
อายุยืนขึ้น

Paul G.Stoltz เปรียบชีวิตเหมือนการไต่ขึ้นภูเขา แบ่งคนเป็น 3 แบบ ลองดูว่ามีแบบไหนบ้าง....
Quitters หยุดเดินทางเมื่อเผชิญปัญหา : ปฏิเสธความท้าทายอย่างสิ้นเชิง
ไม่คำนึงถึงศักยภาพที่มีอยู่ที่จะจัดการกับปัญหาได้ หลบหลีกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทุกวิถีทาง ไม่มีความทะเยอทะยาน ขาดแรงจูงใจ เป็นตัวถ่วงในทุกที่
Campers หยุดเมื่อได้ที่เหมาะ : ไปข้างหน้าแล้วก็หยุดเมื่อหาพื้นที่ราบซึ่งมีปัญหาน้อย ไม่ค่อยอยากเจออุปสรรค ไม่อยากเรียนรู้มาก ไม่สนใจความตื่นเต้นหรือการเติบโต หรือความสำเร็จที่สูงขึ้นไป ทำในระดับเพียงพอ ไม่อยากโดดเด่นเป็นที่สังเกตุ 
Climbers รุกไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง : ทุ่มสุดตัว อุทิศตัวเพื่อมุ่งไปสู่จุดที่ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เคยรู้สึกพอใจในความสำเร็จปัจจุบัน ชอบสร้างสิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้มหาศาล มีวินัยและมีความสุข สนุกกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ

ชัดดีนะ 

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ปริมาณ กับ คุณภาพ

ชีวิตนี่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องปริมาณและคุณภาพเสมอนะ และมันทำให้รู้ว่า “คุณภาพ” ชนะตลอด ถ้าเรามั่นใจจริง มันเป็นเรื่องของ “การเลือก” ที่ชัดเจน
ปัญหาและการตัดสินใจทุกครั้งที่เกิดขึ้น...มันสามารถนำมาสู่หลักคิดเรื่องปริมาณและคุณภาพ
ปริมาณ = เยอะ ยาว ใหญ่ ในหลายเรื่อง.... ซึ่งใช้ไม่ได้สักเรื่อง
สวดมนต์...ทำบุญ ต้องเยอะ ยาว ใหญ่หรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับจิตว่างแค่หนึ่งนาที
กินเยอะ กินยาว กินมื้อใหญ่ ก็ไม่ได้ดีต่อร่างกาย สู้มื้อคลีนๆหนึ่งจาน น้ำสะอาดหนึ่งแก้วก็ไม่ได้
เที่ยวเยอะ เที่ยวยาวนาน เที่ยวไปที่ฮิต มันจะไปสู้ทริปเล็กๆที่เงียบๆฟินๆได้ยังไง
ออกกำลังกายก็เยอะ ยาวไม่เกี่ยว มันเกี่ยวที่อัตราการเต้นของหัวใจ ประเภทและท่าที่ถูกต้องไม่ใช่หรือ
ความสัมพันธ์นั้นยิ่งเป็นเรื่อง “คุณภาพ” แน่ๆ ไม่เกี่ยวกับเวลาที่คบกันยาวนาน ไม่เกี่ยวกับจำนวนอะไรทั้งสิ้น มันเกี่ยวกับ “ความเข้าใจ” “ความจริงใจ” “ความเสียสละ” แค่หนึ่งเรื่องก็มีค่ามากมายที่จะจดจำแล้ว เรื่องแบบนี้...คนเน้นปริมาณไม่มีวันเข้าใจ....
คุณภาพเป็นเรื่องของ “ใจ” ล้วนๆ และปริมาณก็อย่างที่ว่า...ต้องเยอะ ต้องยาว ต้องใหญ่ มันลำบากอยู่นะที่จะไปด้วยกัน มันอยู่กันคนละมุม การทำอะไรมันต้องเอา “ใจ” ตั้ง ไม่ใช่เอา “เรื่อง” ตั้ง อันนั้นมันจำกัดความมีคุณภาพไป
แต่ก็นะ...คนเราย่อมมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะชอบอะไร ถูกจริตอะไรก็ทำไป ถ้าลำบากใจก็ตัวใครตัวมันไปก็แล้วกัน สบายใจดี...

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 67

ความหวังดีที่มีต้นทุนทางใจน้อยไป

บางทีเราคิดว่าเรามีต้นทุนทางใจมากพอที่จะแสดงความหวังดี นั่นคือเราคิดไปเอง ก่อนที่จะแสดงหวังดี ต้องมั่นใจว่าเรารู้จักคน เข้าใจเรื่องราวทุกอย่าง และเรามีดีมากพอที่จะแสดงความหวังดีหรือไม่ 

ถ้า “ใช่” แล้วไป
ถ้า “ไม่ใช่” ความหวังดีนั้นจะไปไม่รอด !!
มันทำให้เกิดทุกข์ได้ เพราะความหวังดีนั้น คือ ความที่เรานึกว่าชอบ แต่คนไม่ชอบ

ที่เราให้ความหวังดีแก่ผู้คนที่ไม่ได้ร้องขอ 
เนื่องจากมันมีสัญญาณส่งมาให้เราว่า “มันน่าจะได้ น่าจะดี” 
เราเลยหยิบยื่นให้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์...
ความหวังดีนี้จึงเหมือนเป็นดาบสองคม...อาจบาดเจ็บ บาดใจได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคนให้กับคนรับว่า...ต่อกันติดมากแค่ไหน 

มันมีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างความ “หวังดี” กับ ความ "เผือก" 
ถ้ามันผิดคน ผิดที่ ผิดเวลา ผิดจังหวะ มันจะกลายเป็น “กุญแจผี” 
....ที่ละเมิดชาวบ้าน....
จะหวังดีกับใคร ตอนนี้ก็คิดมากๆหน่อย....อย่าคิดเอาเอง 
เพราะว่าถ้ามารู้ทีหลังว่าคนไม่ปลื้ม...มันเสียความรู้สึก...
ต้องมานั่งเงียบๆ อิติปิโส....ไปยาวๆ
เยียวยาบาดแผลจากความหวังดีเป็นพิษแต่เพียงลำพัง
ความสัมพันธ์อาจ “พัง”ไปด้วย....
เราควรทบทวนความหวังดีของเราเสียใหม่

ที่แน่ๆความหวังดีนั้นมันมี “ความรับผิดชอบ” อยู่....
ทั้งความรู้สึกของเราเอง และ ความรู้สึกของคนอื่น
ถ้ารับผิดชอบไม่ได้...ก็ไม่ต้อง “เผือก” ที่จะส่งมอบความหวังดี

เข็ดกันไว้บ้าง...รักษาจิต รักษาใจตัวเองไว้ดีดี....
“หวังดี” มันต้องรู้ใจกันจริงๆ 
ต้นทุนทางใจต้องมีมากพอ
ใจ (ต้อง) ถึง ใจ 

ใจไม่ถึงใจ ก็ควรตัวใครตัวมันไปนะ !!



วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 66


อยู่กับความเป็นจริง...อยู่กับสิ่งที่เป็นไปได้
คนส่วนใหญ่ไม่ชอบอยู่กับความเป็นจริง แต่ชอบอยู่กับความต้องการของตนเอง
คิดอยากให้เป็นอย่างนั้น...เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างที่ตัวเองอยากจะให้เป็น
....มากขึ้นทุกวันจนชินกับความปรารถนา(ที่อาจไม่เป็นจริง)
เกิดอาการหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดังใจ
ฝนตกอยากให้แดดออก แดดออกก็ร้อนอยากให้มีลม
มันเป็นไปไม่ได้...คิดจนตายก็ไม่สมสักที

อยู่กับความจริงไป เจอฝนก็ยอมรับมันไป เจอแดดก็ยอมรับมันอีก
นี่เรียกว่าอยู่กับ “ความจริง” 
จะคิดเคืองโทษสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ไม่สมใจยังไงก็เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้

คนเราอยู่ด้วยกัน...มันมีความคาดหวัง ความต้องการที่แตกต่าง
ซึ่งมาจากความคิดต่างนี่แหละ 
แต่เราก็ยังดันคาดหวังให้คนอื่นมีพฤติกรรมที่เราชอบ ทำอะไรที่ถูกจริตเรา
มันเป็นไปไม่ได้... ต่างคนต่างใจ ต่างความต้องการ มันจะได้ดังใจยังไง 
ถ้ายังหวังลมๆแล้งๆอยู่ มันอาจเกิดการขัดแย้ง อาการไม่พอใจ
เป็นเรื่องน่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย และบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เป็นเรื่องที่ไร้สาระ ความขัดใจกัน ความเครียดมักจะนำไปสู่การกระทำที่ก้าวร้าว จนอาจกลายเป็นนิสัย ยิ่งทำให้ทุกข์ใจหนักไปอีก

แต่การอยู่กับความเป็นจริงและยอมรับความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องยอมแพ้ต่อปัญหานะ คนละเรื่องกัน มันคือการยอมรับและหาวิธีปรับเปลี่ยนแก้ปัญหา
ส่วนใหญ่คนอยากให้สิ่งต่างๆได้ดังใจและอยากให้สิ่งที่ตัวเองพอใจ สิ่งที่เคยได้ เคยมี เคยเป็น อยู่ในสถานะเดิม ไม่เปลี่ยนไปในแบบที่(ตัวเอง)ไม่ต้องการ
อันนี้มันฝืนธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงมันมีของมันอยู่แล้ว ฝืนไม่ได้ก็ต้องรับมันไป

สุขก็ชั่วคราว  ทุกข์ก็ชั่วคราว
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเสมอ 

ถ้าเข้าใจความเป็นจริง อยู่กับความเป็นจริง เลือกในสิ่งที่เป็นไปได้จะทุกข์น้อยลง

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โรคที่ไม่ใช่(เชื้อ)โรค

ทุกวันนี้ลักษณะการดำรงชีวิตของเราเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่ไม่ใช่การติดเชื้อโรคกันมาก เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับสมอง เป็นต้น เขาเรียกกันว่า โรควิถีชีวิต หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable Diseases) มันคือการใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพบอกว่าคนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 73% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเลยทีเดียว 
ลองคิดดูนะว่าเรากำลังเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้หรือเปล่า....
ดูลักษณะ พฤติกรรมตัวเอง...
.....กินอาหารเอาอร่อยเข้าว่า คุณค่าไม่สน
.....ผักผลไม้ไม่ค่อยตกถึงท้อง
.....ไม่ออกกำลังกาย
.....ใช้สมาร์ทโฟนแบบมาราธอน
......เครียดอยู่นั่น อะไรก็หงุดหงิด โมโห

โรคเหล่านี้มันป้องกันได้ มันไม่ใช่โรคติดต่อเรื้อรัง แค่ลดพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันของตัวเอง ปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัยการใช้ชีวิต อย่าไปใช้ชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่มีมลพิษ อันนี้นอกจากพวกควันพิษแล้ว ยังรวมถึง "คนพิษ" อีกด้วย แต่ถ้าเป็นปัจจัยจากกรรมพันธุ์ก็ตัวใครตัวมันนะ 
เมื่อเป็นโรค มันไม่ได้สนุก 
นอกจากจิตตก ซึมเศร้าทั้งบ้านแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็น่ากังวล 

ชีวิตเดียว...ใช้ดีดี ไม่ใช่ใช้เยอะ
คิดดี กินดี ออกกำลังดี รู้สึกดี
ไม่ใช่ คิดมาก กินมาก ออกกำลังมาก รู้สึกมากเกินไป

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 65


ร่วมโลกเดียวกัน
ไม่เพียงแต่คน แต่หมายรวมไปถึงสัตว์อื่นที่ร่วมโลกใบนี้ด้วยกัน 

การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ดูแล ไม่ทำร้าย 
มันบ่งชี้ถึงความมีสติปัญญาที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ 
สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ได้มีขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนเท่านั้น แต่เป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย 
และมี “หัวใจ” เช่นกัน

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อันตรายของการ “ฉันแน่” “ฉัน คือ ฉัน”


อันตรายของการ “ฉันแน่” “ฉัน คือ ฉัน” 
โปรเฟสเซอร์ Adam Grant จาก Wharton School, University of Pennsylvania เขียนบทความเรื่อง These are the dangers of being authentic ใน World Economic Forum ไว้อย่างน่าสนใจว่า... 

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักจิตวิทยาได้ทำการสำรวจคนที่ทำงานมากกว่า 23,000 คนโดยให้ตอบคำถามว่า ถูก หรือ ผิด ในเรื่องพฤติกรรม คำถามคือ
“ พฤติกรรมของฉันมักจะแสดงออกถึงความรู้สึกข้างใน ทัศนคติและความเชื่อ ฉันจะไม่เปลี่ยนความคิด หรือการกระทำเพื่อจะเอาใจคนอื่น หรือเพื่อให้คนอื่นมาชอบ ฉันเป็นคนที่เห็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น”
คนที่ตอบว่า “ถูก” คือคนที่แน่ คนที่เป็นตัวของตัวเองของแท้ แสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเสมอ 

เป็นที่น่าสังเกตุว่าคนเหล่านี้ (จากการศึกษาวิจัย 136 เรื่อง) จะถูกประเมินต่ำกว่าชาวบ้าน และมีโอกาสน้อยที่จะถูกโปรโมทในบทบาทของผู้นำ 

จริงๆแล้ว คนที่เป็นตัวของตัวเองนี่ ไม่ได้ผิดอะไร ออกแนวน่าคบนะ (ความคิดตัวเอง 55) เพราะการแสดงความรู้สึกตรงนั้นถือเป็นความดีนะ แต่อย่างว่า มันอยู่ที่มากไป หรือ น้อยไปด้วย

ความดีทั้งหลาย มากหรือน้อยมันส่งผลต่างตามประเภทความดี มันเป็นเหมือนพวกวิตามินน่ะ เราต้องกินเท่าที่จำเป็นต่อสุขภาพ คิดดูนะกินวิตามิน C มากไปก็ไม่มีประโยชน์ ร่างกายก็ขับที่เหลือออกมาอยู่ดี ไม่มีอันตราย แต่ถ้าเป็นวิตามิน D ก็ตัวใครตัวมัน เพราะมันอาจทำร้ายตับเราได้ ถ้ากินมากไป 
Aristotle เชื่อว่า ความดีงามเหมือนวิตามิน D
น้อยไปมีปัญหา จะเห็นแก่ตัว
มากไปจะรันทดต้องเสียสละมากเกินไป 
ความภาคภูมิใจในตัวเอง...
น้อยไป กลายเป็น “อ่อน”
มากไปกลายเป็น “หลง” (ตัวเอง) 

กลับมาที่เรื่องการเป็นตัวตนที่แท้ชัดๆ น้อยไป คือ พวกหลอกลวง โกหก ทุเรศ โอกาสการพัฒนาก็มีน้อยตามไปด้วย fake ตลอด แต่ถ้ายึดตัวตนตลอดทุกเม็ด สุดโต่งมันก็อันตรายเหมือนกันนะ เขาว่ามันมีอันตรายที่อาจเกิดได้กับคนที่ “แน่” ตลอดเวลา คือ
(1) หมดโอกาสเติบโต (failing to grow) : โปรเฟสเซอร์ Herminia Ibarra จาก INSEAD พบว่า ถ้าเรามัวยึดติดตัวตนเหนียวแน่น มันคือความเสี่ยงของการไม่เปลี่ยนแปลงตามสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนไป 
(2) แสดงตลอดเวลา (over-sharing) : หนังสือของ Brené Brown เรื่อง Daring Greatly เขียนไว้ว่า การแสดงออกตลอดมันคนละเรื่องกับการเอาใจใส่ และ นักจิตวิทยา ชื่อ Gwendolyn Seidman ก็ออกมาตอกย้ำให้เห็นชัดถึง oversharing ว่าให้ลองไปดูใน Facebook ได้ มันจะมีคนที่แสดงออกมากเกินถึงความรู้สึก โพสอยู่นั่น และเลยเถิดไปกระหน่ำโพสหน้าบ้านชาวบ้านเพื่อแสดงความเป็นตัวตนที่แท้อยู่ตลอด นักวิจัยอีกหลายคนออกความเห็นว่าว่า oversharing นั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล หรือ อะไรก็ตาม มากเกินไปจะทำลายความสัมพันธ์ทางอาชีพการงานได้ เพราะการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้ตลอดเวลานั้น มันคือการไม่กรอง ไม่มี filter เลย โป๊มากๆ
(3) ความรู้สึกด้อย (feeling inferior) มีงานวิจัยงานทดลองหลายงานที่พบว่าคนที่มีผู้นำ ผู้บริหารแซ่มั่น คือ แรงในเรื่องตัวตนและความเชื่อของตัวเอง คนรอบข้างโดยเฉพาะลูกน้องจะขาดความคิดสร้างสรรค์ จะปวกเปียก หน่อมแหน้ม ไม่กล้าคิด กล้าทำ อันนี้มันคือเหตุผลที่ทำไมคนที่มั่นมากมากจึงมีโอกาสน้อยที่จะถูกโปรโมทดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

พอจะมองเห็นละยังว่า “ฉันแน่” “ฉันของแท้” “ฉัน คือ ฉัน” นี่มันมีอันตรายต่อเจ้าตัวนะ มันเป็น costs of authenticity !!

ทีนี้จะจัดการยังไง...ขอให้ไปพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า....
พระพุทธองค์เน้นย้ำ “สายกลาง” ที่สุด ก็ตามนั้นไปเลย
ไม่ว่าจะอะไร...มากไปก็ร้อน น้อยไปก็หนาว

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

3 คำถามเพื่อหลีกเลี่ยงการเวียนว่ายตายเกิดกับสิ่งเดิมๆ


ไม่ได้มีอะไรใหม่ ไม่ได้ยาก เป็นคำถามธรรมดา 
แต่คงไม่ค่อยได้ถาม....
และอย่านึกว่าเป็นคำถามคนโง่ เพราะคนโง่ไม่ถามคำถาม !!
========
คำถามแรก
ทำไม...Why?  
การถามทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่า "ทำไม" จะช่วยให้เราในการเข้าใจบริบทในชีวิตได้ดีขึ้นและลุ่มลึกมากขึ้น 
...ทำไมมีอุปสรรค 
...ทำไมเรามองว่าเป็นปัญหา 
...ทำไมมันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
ลองคิดตาม...ถามตัวเองสักสามรอบก็ได้ เราจะพุ่งเข้าสู่หัวใจของทุกเรื่องที่เราทำเลยนะ การตั้งคำถามมันเป็นด่านแรกของนวัตกรรมเลยเชียว เมื่อเข้า “หัวใจ” มันจะซึ้งและสำคัญที่สุด คือ การออกนอกกรอบจะง่ายขึ้น ความอะไรที่ใหม่ๆจะมาหาเราเร็วขึ้น
=========
คำถามที่สอง
แล้วถ้า...What if?  
อันนี้ถือเป็นการฉุกคิดที่เด็ดอันนึงนะ เพราะว่าส่วนใหญ่คนจะเริ่มแบบเชิงลบ มองสถานะการณ์ที่เป็นอุปสรรคก่อนเลย ยังไม่ทันไรเลยดันมองเห็นแต่ปัญหาก่อน มันเท่ากับว่าเราวางคำว่า “ไม่ได้” ลงไปในใจของทุกคนไปแล้ว (รวมทั้งตัวเองด้วย) การถามหักมุมแบบ...แล้วถ้า... ? มันเปิดทางมากเลยนะ เปิดทางให้กับความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต ประมาณว่า...
...แล้วถ้าเรามองในมุมคนอื่นละ ? 
...แล้วถ้าเราดูตัวอย่างจากที่อื่น / คนอื่นเพื่อมาปรับใช้กับเราละ? 
...แล้วถ้าเรามีทรัพยากรเหลือเฟือ เราจะทำอะไรต่างจากเดิมไหม? 
มันเป็นการสร้างมุมมองที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การจำกัดมุมมอง 
คิด คิด คิดสักหน่อย...สิ่งใหม่ๆจะวิ่งมาชนเราเอง 
=========
คำถามที่สาม
ยังไง..How? 
หลังจาก “ทำไม” กับ “แล้วถ้า..” ไปเรียบร้อย ก็ถึงคราวของ “ยังไง”  
เพราะว่า “ยังไง” จะนำไปสู่หนทางในการปฎิบัติให้สำเร็จสมหมาย  
....ง่ายๆเลย คือ ถามว่า...
จะเริ่มต้นยังไง ?
จะมีขั้นตอนยังไงบ้าง ?
จะทำยังไง...ถ้าไม่มีอุปสรรคแบบนี้ขวางอยู่ ? 
สั้นๆชัดๆ...มันเป็นเรื่องของ make it happen !!
================================
ชีวิตนี้ อย่ามุ่งหาแต่คำตอบเลย ถามคำถามง่ายๆแบบนี้จะดีกว่าเยอะ ให้เวลาตัวเองมากขึ้น ใช้เวลาปรับกระบวนท่าชีวิตใหม่ กระบวนท่าการทำงานใหม่ แล้วมาดูกันว่าจะเห็นความใหม่ จะเห็นผลเร็วได้จริงไหม

ขอให้กำลังใจทุกคนที่กำลังเวียนว่ายตายเกิดกับสิ่งเดิมๆ !!

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คนไม่สามารถทำทุกอย่างเสร็จได้ในวันเดียว

มีแผน...มีเป้าหมาย..มีแนวคิด...แล้วยังไง
Who cares? เราไม่มีอะไรเลย...จนกว่าจะลงมือทำจริง

ทุกวันนี้คนเราอาจมีความลังเล กลัวความไม่แน่นอน
ทำให้ไม่สามารถ "ทำ" อะไรที่คาดหวังให้เกิดได้จริง

เลือกมาสักแผน เลือกเป้าหมายสักอย่าง เลือกสักไอเดีย
แล้วเริ่ม..ไปทีละขั้น
ตอนแรก ขั้นแรกมันจะยากหน่อยถึงยากที่สุด
แต่ต่อๆไปจะสบายแน่นอน 

คนไม่สามารถทำทุกอย่างเสร็จในวันนี้วันเดียว
ค่อยๆทำไปทีละอย่าง...นะ 

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คำถามที่รอคำตอบ


บางครั้งคนลังเล
บางครั้งคนรู้สึกไม่มั่นใจ
บางครั้ง...อาย

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร 
คนถามคำถามเพราะอยากรู้คำตอบจริงๆของเรา

ลูกน้องอาจถามว่าเขาควรจะเรียนต่อ ควรจะไปฝึกอบรมดีไหม สิ่งที่ต้องการจริงๆ คือ อยากรู้จากเราว่าเขาจะมีโอกาสเติบโตได้ไหมในองค์กร และแอบหวังว่า "ใช่" ทั้งยังต้องการฟังเหตุผลที่เราจะให้ด้วย

แฟนอาจถามเวลาไปเที่ยวด้วยกันว่า รู้สึกมั๊ยว่าคนนั้นแอบมองฉันอยู่ หรือ คนนั้นต้องปิ๊งฉันอยู่แน่ๆ ซึ่งสิ่งที่คนถามต้องการจะรู้ คือ เขายังมีคุณค่า ยังน่าสนใจอยู่หรือเปล่า และก็เช่นกัน หวังว่าคำตอบ คือ "ใช่" และจะปลื้มมากถ้าได้ฟังเหตุผลดีดี 

เบื้องหลังคำถาม มันมีคำตอบที่เราไม่ได้ตอบอยู่เสมอ

แค่ "ใส่ใจ" เราจะรู้ถึงความต้องการและ "ตอบคำถาม" ที่คนไม่ได้ต้องการแค่ "รู้" แต่มันจำเป็นสำหรับเขาที่จะ "ต้องรู้"

ตอบคำถามชัด ตรง มีเหตุผล = ไม่ค้างคาใจ !!

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความ "พอเพียง" โปรดกลับมา


ที่ผ่านมาเราการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญทันสมัยทางวัตถุสุดโต่ง มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องที่จับต้องได้เห็นตัวเลข เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ สาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัยมันอาจดูดี แต่ในทางเรื่องจับต้องไม่ได้ เช่น ค่านิยม ทัศนคติมันส่งผลที่แย่นานานัปการ เรามีความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เราเจอธรรมแปลงกาย เราอ่อนแอ เราไม่ปลอดภัย เราร้องขอในสิ่งที่เราเองไม่ได้เข้าใจ แต่ที่แย่มากมากที่สุด คือ เราพึ่งพาตัวเองไม่ได้ 

ความที่เราว่าเป็นเรื่อง "เจริญ" นั้น จริงๆแล้วมัน "ติดลบ" ไปแล้ว การรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการวิถีชีวิตที่เคยมีอยู่แต่เดิมสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่ม สูญหายไป ที่สำคัญความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนด ชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้อง การต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ถูกเขย่า ถูกโยกคลอนและกำลังจะถูกถอนราก ด้วยการพัฒนาประเทศที่เน้นความมั่งคั่ง...ที่จับต้องได้ 

โปรดกลับมาหาพระราชดำริของในหลวงของเรา...ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต 

คนไทยจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” จึงจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง !!

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 64


ใจแคบ กับ เห็นแก่ตัว = Ego ไม่ปกติ
เห็นแก่ตัว 
คือ ตัดช่องน้อยแต่พอตัว
คือ เอาตัวเองรอด ไม่คิดถึงคนอื่น ขอให้ตัวเองได้ประโยชน์ ทุกอย่างโอเค
ดูๆไม่ค่อยมีศักดิ์ศรีนะ นิสัยเห็นแก่ตัวมีสาเหตุใหญ่ ๆ คือ เป็นสันดาน นิสัยที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา ประเภทนี้หนักหน่อย และอีกอย่าง คือ เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นในชาตินี้ คือ เกิดจากสิ่งแวดล้อมไม่ดี ค่อย ๆ สั่งสมขึ้นมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าความเห็นแก่ตัวเป็นกิเลสในตระกูลโลภะ แต่ว่าโลภหนักไป

ใจแคบ 
คือ การไม่ยอมรับคนอื่น การผูกขาดความถูกต้อง คิดเองเออเอง ชอบคาดคะเนในการตัดสินใจแต่ละเรื่องโดยไม่สนใจพิจารณารอบคอบ ไม่เคยเปิดรับความคิดใหม่ๆ หรือไม่ก็ประเภทยึดตำราเถรตรง แห้งแล้ง มีแต่เหตุผลตายซาก มีและมองโลกด้านเดียว
ยิ่งนานวันจะใจคอจะแคบลง...แคบลงไปทุกที

ถ้าเราเป็น...มันน่าขยะแขยง ต้องกำจัด
เพราะมันเป็นหน้าด่านของความแตกแยกทั้งปวง
ถ้าคนอื่นเป็น...ให้อดทน
หนีกันไม่พ้นก็เว้นวรรคให้ดี แล้วก็ทนกันไป
ทำตัวเหมือนผิงไฟ เอาแค่ ไม่ใกล้ไม่ไกล แค่เตาผิง ไม่ใช่เตาย่าง
ทั้งใจแคบ เห็นแก่ตัว ....ว่ากันว่าเป็นพวกจิตหวาดระแวงด้วย...
เป็นการติดยึดกับกรอบการมองของตน (คนเดียว)
ดังท่านพุทธทาสว่า มีตัวกู ของกู สูงกว่าชาวบ้านจนรู้สึกได้ อารมณ์ฉุนเฉียว เผลอๆก็หงุดหงิด ชวนทะเลาะกับชาวบ้านไปทั่วในอาณาจักรที่หลงคิดไปว่าตัวเองเป็นใหญ่

คนพวกนี้...เราสังเกตุได้ง่ายๆ คือ การไม่อาจตอบโต้อย่างมีเหตุผลได้
เพราะว่า Ego ไม่ปกติ ขาดสมดุลทางอารมณ์ !!