วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 63


จะปล่อยกระแสไฟทำร้ายใครหรือเปล่า
คนปกติทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังคำสั่งของคนที่มีอำนาจเหนือกว่า คนที่ยังต้องพึ่งพา หรือคนที่เป็นจ่าฝูงในกลุ่ม แม้ว่าบางทีก็เป็นการทำร้ายคนอื่น ตั้งแต่เล็กๆน้อยๆแค่เจ็บใจ ไปจนกระทั่งถึงความตายก็มี 

อันนี้ไม่ได้ว่าเอาเองนะ มันเป็นผลมาจากการวิจัยชื่อ The Milgram Experiment (ที่ว่ามันผิดจรรยาบรรณนั่นแหละเพราะเอากระแสไฟฟ้ามาเล่นช็อตคนอื่น) Stanley Milgram ทำการทดลองนี้ที่มหาวิทยาลัย Yale มันสรุปพอได้ว่า...ถึงคนจะไม่เต็มใจ เครียด กดดัน แต่เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ยังทำตามคำสั่งในการทำร้ายผู้อื่นได้อยู่ดี เป็นการพยายามศึกษาเรื่องความขัดแย้งระหว่างการเชื่อฟังผู้มีอำนาจกับจิตสำนึกส่วนตัว ที่เรียกว่า "มโนธรรม"

ในชีวิตจริงของเรานั้น ตัวคำสั่งมันมาในหลายรูปแบบด้วยกัน รุนแรงต่างระดับกันไป อาจเป็นแค่ให้แซวกัน ด่ากัน ไปจนถึงทำร้ายกันจนตายไปก็มี เมื่อตกอยู่ภายใต้ “คำสั่ง” คนไม่ค่อยมีการปฎิเสธ อะไรที่เป็นการทำร้ายคนอื่น มันออกดอกออกผลทันที เพราะว่า....
“ไม่งั้นจะเสียเพื่อน”
“ไม่งั้นจะเข้ากับใครไม่ได้”
“ทำตามหน้าที่”
“ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ”
“นายสั่งมา ไม่ทำไม่ได้”
“มันเป็นประเพณีของเรา”
ฯลฯ
จิตตกทั้งนั้น และใช้มันเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
มันดูเหมือนเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของคน แต่อย่าลืมว่า...สิ่งที่ทำให้คนต่างจากสัตว์ คือ “มโนธรรม” การรู้ผิดชอบชั่วดี และคนมีอิสระที่จะทำถูกหรือทำผิด...ทุกคน

คำสั่งไม่เชื่อก็ได้ !!

ในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนถูกบีบบังคับให้ตกเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายคนอื่นนั้น หากไม่มีใครลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้ ทุกคนก็ปิดปากเงียบและปล่อยเลยตามเลย...
มันใช่การมีชีวิตที่ชอบธรรมหรือ 
มันใช่คุณค่าแห่งการมีชีวิตไหม

ถึงแม้ว่าลึกๆ แล้วคนเราไม่มีใครอยากแตกต่างแปลกแยก คนอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม คนดีๆ บางครั้งจึงเพิกเฉยต่อสิ่งผิด เพราะกลัวการแตกฝูง (อันนี้แสงแห่งมโนธรรมส่องไปไม่ถึงนะ) 

ตอนนี้อาจยังไม่ซึ้ง...แต่ไม่ช้าหรือเร็ว เขาว่าทุกคนก็ต้องผ่านการทดลองกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า ส่งปีศาจในตัวออกไปทำร้ายคนอื่น ซึ่งการจะเลือกกดปุ่มหรือไม่กดปุ่มอยู่ที่เรานะ...เลือกได้...เลือกบุญเถอะ...เลือกเป็น 35% ของกลุ่มตัวอย่างใน The Milgram Experiment ที่เดินออกจากห้อง ปฏิเสธที่จะกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำร้ายคนอื่น !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น