วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คิดวันละอย่าง # 34

โรคโกรธไหลย้อน

โรคโกรธไหลย้อน คือ เรื่องเก่าเอามาคิด ทั้งที่ตอนนั้นอาจไม่ได้คิด คิดไม่ทัน ไม่ได้โกรธมากขนาดนั้น แต่ครั้นนึกขึ้นมาได้กลับโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีอาจมีอาการฟุ้งซ่าน เลิกคิดเลิกโกรธไม่ได้  บางคนถึงกับเดินหน้าในชีวิตต่อได้ยาก 

อาการ คือ หัวใจเต้นแรงและเร็ว หน้าอกกระเพื่อมมากขึ้นเพราะหายใจเร็วขึ้นเหมือนจะหายใจไม่พอ สิ่งที่ตามมาคือกล้ามเนื้อตึงตัวและเกร็งไปทั่วตัว ทำให้ความร้อนมากขึ้น ตัวร้อนขึ้นและเหงื่อออกมากมาย

โรคนี้เป็นแล้วหงุดหงิด จิตตก !!

ในชีวิตคนย่อมมีเหตุการณ์มากมายที่ยากจะลืมเลือนได้ มันไม่ได้มีแต่เรื่องชื่นชูใจ  มันมีเรื่องราวที่ขมขื่น หนาวเหน็บและเจ็บปวด นึกทีไรความเศร้าโศก โกรธแค้น หรือรู้สึกผิดก็เกาะกุมใจ  ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งไปกระตุ้นให้อามิกดาลา (สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์) สั่งการให้มีการบันทึกความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ฮอร์โมนดังกล่าวหลั่งออกมามากเท่าไร ความจำในเรื่องนั้น ๆ ก็จะยิ่งฝังลึกโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปย้ำ มันจึงเป็นตัวการสำคัญที่ตอกย้ำความทรงจำให้ประทับแน่นมากขึ้น ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าไร ก็ยิ่งลืมเลือนได้ยาก คือ มันโกรธไหลย้อนได้อีก ทั้งโกรธคนอื่น โกรธตัวเอง โดนชาวบ้านโกรธ  และมีทั้งปล่อยออกมาตรงๆ ก้าวร้าว หรือเก็บกดทำเป็นเฉยแต่ในใจโกรธ 

โกรธมันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่โกรธสิแปลก 
แต่โกรธไม่เลิก โกรธไหลย้อนนี่ ต้องควบคุมให้เป็น ไม่งั้นอาจมีเสียคน ทำได้โดย...

1. แก้โกรธที่ตัวเอง
อย่ากดดันตัวเอง มันอยู่ที่วิธีเผชิญกับมัน มองสถานการณ์อดีตที่ทำให้โกรธใหม่ว่ามันเป็นเรื่องที่ใครๆก็เป็น ไม่มีใครแก้ปัญหาได้ทุกครั้งทุกเรื่อง จะโกรธทำไม
2. สร้างการสื่อสารที่ละมุน
ถ้าเริ่มรู้สึกมีอารมณ์โกรธขึ้นมาอีกขณะพูดกัน ทำตัวเองช้าลง ระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ฟังมากขึ้น ไม่ด่วนสรุป ถ้าเห็นว่าบรรยากาศไม่ดีให้พัก ถอนหายใจ ยิ้มเบาๆในใจเบรกความตึงเครียด
3. สร้างสมดุลอารมณ์
หายใจเข้าออกช้าๆให้สมาธิไปอยู่ที่ลมหายใจ สักพักหนึ่งค่อยหายใจตามปกติ อย่าใจร้อนหรือรีบใช้คำพูดเสียดสีแบบสะใจ เพราะการโกรธจะซับซ้อนมากขึ้น มองเป็นเรื่องขำขันไป แต่ไม่ต้องฝืนหัวเราะเพราะจะรู้สึกแย่มากขึ้น 
4. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม
ถ้ารู้สึกว่าจะระเบิด ขอเวลานอกเลย ไปสงบตัวเอง หาอากาศปรอดโปร่งสุดเข้าไป  จิบน้ำให้สดชื่น หรือเล่นกับหมาแมวไป ถ้าไม่ดีขึ้นอาจจะต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อปลดปล่อยแรงขับโกรธไหลย้อนออกมาเช่น ขุดดินปลูกต้นไม้ เล่นกีฬาที่ต้องออกแรงเหวี่ยงไป
 5. ยอมรับความจริงและหาตัวเลือกอื่น
บางครั้งเราก็ออกไปจากสิ่งเร้าอารมณ์กระตุ้นโกรธไหลย้อนไม่ได้ ก็ควรยอมรับในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้วพยามยามปรับตัวอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเข้าใจ หรือ หาทางเลือกอื่นๆมาชดเชย เช่น เปลี่ยนที่ทาง หาสิ่งแวดล้อมใหม่
6. ระวังความคิดอัตโนมัติ
คนเราเวลาโกรธไหลย้อน มักคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันไม่ควรเป็นอย่างนั้น ไม่ยุติธรรมเลย ความคิดแบบนี้จะกระตุ้นให้โกรธเร็วและแรงขึ้น และตัวเองก็ไม่คิดจะแก้ปัญหาเพราะเห็นว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ หรือถูกกระทำมาก่อน เลยไหลย้อนหนัก ระวังจะอ้วก

ความทรงจำเกี่ยวกับความผิดหวัง เสียศูนย์ สูญเสียในอดีตนั้น ไม่จำเป็นต้องพ่วงมากับความรู้สึกเจ็บปวด โกรธแค้น เศร้าโศกเสมอไป และมันมิใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมดตรงกันข้ามอดีตมันยังสามารถเป็นต้นทุนที่เพิ่มประสบการณ์ชีวิตได้ ทำให้เราเข้มแข็งและมีปัญญามากขึ้นอีกต่างหาก  

ระวังโกรธไม่เลิก..ต้องจัดการให้ได้ 

หัวใจจะเป็นสุข โรคโกรธไหลย้อนจะไม่ถามหา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น