วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชีวิตอิสระ ทำดีไม่มีท้อ ไม่ต้องรอให้ถึง...วันพรุ่งนี้


ในบ้านเมืองเวลานี้ต้องการคนที่ทำ ”ความดี” “ทำประโยชน์”   มีหลายคนอาจคิดว่าทุกวันก็ทำหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว หรือคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือคิดว่าโปรดสัตว์ได้บาป เพราะทำอะไรไป ทำความดีทำความดีไปแล้ว ได้รับสิ่งที่ไม่ดีกลับมา ทำให้เกิดความรู้สึกที่ “ไม่อยาก” “ไม่ยุ่ง”   มันจึงเกิดสังคมของความเห็นแก่ตัว ไม่เอื้อเฟื้อถ้าไม่ใช่เรื่องของตัว  ต่างคนต่างอยู่ไป อันนี้อันตรายต่อลูกหลานไทย  อย่างน้อยเป็นคนไทยน่าจะต้องมีจิตใจฮึกเหิมที่จะทำเพื่อบ้านเมือง  เพื่อคนไทยด้วยกัน  หากผู้คนหยุดหมด หยุดทำความดี เอาแต่ทางรอดของตัว อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเรา  และถ้าคนเหล่านี้คิดว่าตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ธุระ อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย..

เรื่องจากคนค้นคน...

เรื่องที่หนึ่ง...
ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง 60 กลุ่มชายชาติทหารผู้ต้องเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดทั้งหมด 15 ชีวิต นำทีมโดย ร้อยตำรวจตรีแชน วรงคไพสิฐ ทุกคนในทีมล้วนผ่านเหตุการณ์ระเบิดมาหลายต่อหลายครั้ง ผ่านเหตุการณ์เสี่ยงตายมามากมาย บาดเจ็บมาจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทว่าก็ไม่มีใครยอมแพ้และขอลาออก เพราะหัวใจยัง "สู้" เพื่อบ้านเมือง   ไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด เช่นเดียวกับคนเหล่านี้ที่ไม่มีใครรู้ว่า วันนี้จะออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย แต่คนเหล่านี้ตระหนักไว้เสมอว่า หากต้องตายก็ขอตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะของข้าราชการที่ปวารณาตัวเป็นข้าของแผ่นดิน 



"พวกผมเกิดเป็นคนไทย เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ พวกผมต้องตอบแทนพระคุณแผ่นดิน พวกผมทั้งหมดที่ยืนตรงนี้เป็นลูกชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ อุปกรณ์ที่ชาวสวน ชาวนาใช้ทำงานก็คือ "ขวาน" หาก "ขวาน" ไม่มีด้าม ก็ใช้ทำอะไรไม่ได้ พวกผมขอสัญญาต่อหน้าพระคุณเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ว่า พวกผมจะดูแลรักษาด้ามขวานตรงนี้ตลอดไป" 

คำพูดนี้นี้คงเป็นคำตอบว่า ทำไมทั้ง 15 ชีวิตต้องยืนหยัดที่จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อปกป้องคนไทยอย่างเราให้นอนหลับฝันดี  บางคนอาจคิดว่า..นั้น คือ หน้าที่ของทหาร มันก็ใช่  แต่ถามว่าเขาเลือกได้ไหม  เลือกได้แน่นอน เลือกที่จะทำ หรือ ไม่ทำ  แต่คนไทยเหล่านี้..เลือกที่จะทำความดีเพื่อแผ่นดินเกิดของตน

เรื่องที่สอง

วิชิต คำไกร หมออนามัยที่ตัดสินใจเลือกบรรจุตัวเองให้มาทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ พื้นที่ชายขอบซึ่งคงจะมีน้อยคนนักที่อยากจะมาอาศัยอยู่ แต่วิชิตเลือกเส้นทางนี้ เพราะได้เห็นความทุกข์ยากของคนไข้ในเขตชายแดนที่ห่างไกล  ซึ่งนอกจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลแล้ว ภารกิจหลัก คือ การลงพื้นที่ไปเคาะประตูดูแลสารทุกข์สุกดิบด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน ตระเวนตรวจความเรียบร้อยของหมู่บ้านร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อป้องปรามปัญหายาเสพติดในหมู่เยาวชนภายในตำบลทับพริก โดยหวังขจัดปัญหาต่าง ๆ และยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นงานที่ลงมาทำด้วยตัวเอง ด้วยจิตใจที่หวังให้เกิดประโยชน์กับชุมชน



"เราเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงบอกว่า เมื่อจะทำงานอย่ายกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง แต่ให้ทำงานท่ามกลางความขาดแคลนนั้นให้บรรลุผล เพราะฉะนั้นความขาดแคลนในพื้นที่ตำบลทับพริกอาจจะมีบ้าง แต่เราต้องแปรเปลี่ยนความขาดแคลนนั้นให้เป็นพลังในการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้เรามีพลังใจในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น"

ถือเป็นต้นแบบคนดีของแผ่นดินคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยคิดว่า “ธุระไม่ใช่” ถ้าเป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ตนอาศัย  เราก็ทำประโยชน์ได้เช่นกัน ไม่ต้องลงไปถึงภาคใต้ หรือดินแดนชายขอบ  แค่เลิกคิดเฉพาะเรื่องตัวเองและสร้างโอกาสให้สังคมไทยตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ 

เรื่องที่สาม

พีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์สอนศิลปะในโรงเรียนซับมงคลวิทยา พื้นที่ไกลปืนเที่ยง อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ ครูเลือกมาประจำการเพราะเห็นว่าเด็กอีสานเป็นเด็กที่ขาดโอกาสมากกว่าพื้นที่อื่นและก็ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่จะมาเติมเต็มโอกาส  ครูได้ใช้ศิลปะสร้างความสุนทรีย์และเพลิดเพลินหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเรียนและการทำงานหนักช่วยพ่อแม่ที่บ้าน แต่เหนือสิ่งอื่นใดครูหวังให้ศิลปะเป็นใบเบิกทางให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น 

"ผมเป็นศิลปินประเภทที่ไม่ได้จะสร้างผลงานทางศิลปะบนเฟรมผ้าใบ แต่เฟรมของผมคือชีวิตของเด็ก ผมต้องรับผิดชอบสิ่งที่ผมเขียน ซึ่งก็คือชีวิตคน"



"ถามว่าข้าราชการคืออะไร ข้าของแผ่นดิน ข้ารับใช้ของประชาชน เงินที่เราได้มาเป็นอยู่ทุกวันนี้คือเงินของประชาชน เราต้องทำงานให้เต็มกำลัง ผมสอนเด็กเสมอว่า ถ้าเขาจ้างเราให้แบกของไปสัก 3 กิโล เราควรแบกสัก 4 กิโล คือทำให้มากกว่า ไม่ใช่แค่หมดเวลาตอกบัตรกลับบ้าน เราควรเป็นข้าราชการ 24 ชั่วโมง"

สำหรับตัวเอง ครูไม่ได้คาดหวังอะไรมากเพราะนี่คือความสุขแล้ว แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแก้ไขอะไรอีก แม้ว่าอาจจะเสียโอกาสกับอาชีพที่ก้าวหน้า เงินทองก้อนโต แต่การที่ลงมาทำอย่างนี้ทำให้มีความสุขทุกวัน และยิ่งเห็นเด็กมีอาชีพ มีความสุข มันคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และเป็นความสุขที่สุดของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" แล้ว  นี่คือการ "สร้าง" และ "เปลี่ยน" ชีวิตของผู้อื่นให้ดำเนินอยู่ในเส้นทางแห่งความถูกต้องและได้รับโอกาสทางสังคมมากขึ้น

เรื่องที่สี่
ป้าหาบ

ในยุคข้าวยากหมากแพงนี้ ยังมีแม่ค้าวัยย่างหกสิบปี ชื่อ บุญยัง พิมพ์รัตน์ ลูกค้าเรียกว่า “ป้าหาบ” อาชีพหาบเร่ขายกับข้าวในซอยจรัญสนิทวงศ์ 33 แยก 3 มานานกว่า 30 ปีและยังคงตรึงราคาเดิมที่ 5 บาท แม้ว่าของจะแพง น้ำมันจะปรับขึ้นราคา แต่แม่ค้าคนนี้ก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดปรับขึ้นราคา

"นึกถึงตัวเองเวลาไม่มี ท้องหิวมันทรมานมากนะ คนเงินเดือนน้อย ๆ ก็อยากให้เขากินอิ่ม บางคนมีเงินมา 10 บาท มาซื้อกับป้า ป้าก็ให้เขาเยอะ ๆ เป็นข้าวเหนียวเป็นอะไรอย่างนี้ บางคนมาไกล ๆ ไม่มีเงินมา ป้าก็ให้ไปบ้าง หรือไม่ก็คิดเขาแค่ครึ่งเดียว 20 บาท เอา 10 บาทพอ"



ณ วันนี้ป้าหาบสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนพอมีพอใช้อย่างพอเพียง จึงต้องการแบ่งปันความอิ่มท้องให้กับผู้อื่นบ้าง ป้าหาบบอกว่า ชีวิตสุขสบายดี ไม่เป็นหนี้ ไม่ลำบาก ก็ไม่เป็นจำเป็นที่จะต้องเอากำรี้กำไรอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน สู้ "ให้ผู้อื่น" จะดีกว่า  เพียงแค่ความคิดเล็ก ๆ ของป้าหาบที่เจือจานน้ำใจอันยิ่งใหญ่สู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับทำให้มุมหนึ่งของสังคมไทยในยุคยากเข็ญ ดูแล้วมีความสุขขึ้นมาทันที 

ยังมีคนไทยอีกมากที่ทำความดี เราถึงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้  เห็นแล้วก็ละอายอยู่เพราะเราล้วนเป็นผู้มีอันจะกิน ไม่เดือดร้อน เราได้ทำอะไรบ้าง   จึงคิดว่า...อย่างน้อยตัวเรามีอะไรที่จะช่วยได้ก็จงทำให้เต็มที่ นอกจากอาชีพประจำที่เป็นสัมมาอาชีพแล้ว  เครื่องมือสื่อสารที่มีในมือ ความคิด คำพูด การกระทำที่จะส่งออกเพื่อให้เกิดสำนึกดีในบ้านเมืองในแวดวงก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้   มันอยู่ที่เราคิดว่าเราเป็นอิสระพอที่จะทำหรือไม่ มันอยู่ที่เราติดหัวโขนอะไรหรือเปล่าที่ทำให้เราต้องหมกตัว กลัวเสียประโยชน์ ไม่กล้าที่จะเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง  ขอให้คิดใหม่ คิดเสียว่าจะทำความดี คิดเสียว่าทำความดีแล้วนั้นทำให้เราเป็นสุข เป็นการได้ช่วยเหลือผู้อื่นแม้ผลที่ได้รับกลับมานั้นอาจไม่ดีเท่าที่ควร อาจเป็นคำติฉินนินทา แต่หากเรามีจิตใจแน่วแน่ของการตั้งอยู่ในการทำความดี ก็จะยึดมั่นในการทำความดีแม้จะไม่มีคนเห็นก็ตาม  

เราต้องไม่พ่ายแพ้ต่อความเห็นแก่ตัว เห็นแก่หน้า  ถ้าจะคิดว่า “เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา” คิดแบบนี้กับทุกเรื่องไม่ได้   อย่างน้อยก็คิดกับบ้านกับเมืองไม่ใด้  ถ้าคิดว่ามันต้องเป็นไปตามกรรม ทุกอย่างอยู่ที่เวรกรรม ก็ละเสียให้สิ้นทุกสิ่งไป บวชใจไป ไม่ว่ากัน    แต่ถ้าหลายสิ่งยังไม่ละ ยังอยู่ในความเป็นปุถุชนคนมีกิเลส อันนี้เป็นการเลือกปฎิบัติแล้ว  ถ้าเลือกก็ควรพ่วงเรื่องการรักษาความดีความงามของประเทศชาติเข้าไปด้วย  เราเหยียบแผ่นดินไทยอยู่ ไม่ควรละเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง            

2 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องจริงแบบนี้ที่ทำให้ชาติของเรายังอยู่ได้

    ตอบลบ
  2. เชื่อคำสอนหลวงพ่อปัญญาฯ
    ทำดี..ดี ไม่หวังว่าจะ..ได้ดี
    เมื่อ เป็นคนดี ก็จะ เป็นสุข ก็พอแล้ว

    ตอบลบ