เอกสารนี้ทำให้กับโครงการ สปชต. ชื่อยาวจำไม่ได้...แต่ทำให้กับข้าราชการผู้น้อยที่ทำงานชายแดนภาคใต้...เนื้อหาเป็นเรื่องการทำงานอย่างมีความสุขด้วยเครือข่าย...มีอยู่ว่า
“อันการทำงานนั้น กล่าวโดยสรุป ขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือ ความสามารถในการใช้วิชาการอย่างหนึ่ง กับ ความสามารถในการสัมพันธ์ติดต่อและประสานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในวงงานเดียวกันหรือต่างวงงานกัน อีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ ย่อมดำเนินควบคู่ไปด้วยกันและจำเป็นที่จะต้องกระทำด้วยจิตใจที่ใสสะอาดปราศจากอคติ ต้องกระทำด้วยความคิดความเห็นที่อิสระ เป็นกลาง ถูกต้องตามหลักเหตุผล จึงจะมีความกระจ่างแจ่มแจ้งเกิดขึ้น”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒสงขลา วันที่ 19 สิงหาคม 2517)
จากการสำรวจ “ความสุข-ความทุกข์” ของคนไทยในปี 2555 ของสวนดุสิตโพล พบว่า ความสุขที่ได้รับจากการทำงานอันดับหนึ่ง คือ
- ความมีน้ำใจ/การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็น ร้อยละ 71.43 - การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ร้อยละ 16.71
- การได้รับการยอมรับ คำชื่นชมจากผู้ใหญ่หรือเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 11.86
ส่วนความทุกข์ที่ได้จากการทำงานส่วนใหญ่ คือ
- ความไม่สามัคคี ทะเลาะอิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่น ถูกนินทาว่าร้ายร้อยละ 61.25
- งานหนัก ไม่มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว ร้อยละ 21.78
- การไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดนกลั่นแกล้ง ร้อยละ 16.97
จะเห็นได้ว่าความสุขในการทำงานมาจากเรื่อง “ความสัมพันธ์” ทั้งสิ้น ความสัมพันธ์ในที่นี่เป็นไปดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “ความสามารถในการสัมพันธ์ติดต่อและประสานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในวงงานเดียวกันหรือต่างวงงานกัน” นั่นคือ ความสัมพันธ์ของเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต่อชีวิตการทำงานที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของผู้ที่ทำงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุขไปกับงาน และการสร้างความสุขในการทำงานไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนทำงานทุกคน
นกบินอยู่ตัวเดียวก็ถึงเป้าหมายได้ แต่ถึงช้ากว่า ออกแรงมากกว่าบินเป็นฝูง
มดตัวเดียวสร้างรังได้ แต่ได้รังที่เล็กกว่าและเสร็จช้ากว่าหลายตัวช่วยกัน
คนเดียวก็ทำงานสำเร็จได้ แต่น้อยกว่าความสำเร็จของเครือข่ายอย่างแน่นอน
มดตัวเดียวสร้างรังได้ แต่ได้รังที่เล็กกว่าและเสร็จช้ากว่าหลายตัวช่วยกัน
คนเดียวก็ทำงานสำเร็จได้ แต่น้อยกว่าความสำเร็จของเครือข่ายอย่างแน่นอน
การทำงานร่วมกับคนอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนที่เราต้องทำงานร่วมด้วยอาจเป็นได้ทั้งคนที่อยู่ภายในหรือภายนอกหน่วยงาน ถ้าเรามีความสามารถปรับตัวเองให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เราย่อมจะได้รับความร่วมมือ การยอมรับ และความช่วยเหลือมากมายในการทำงาน รวมทั้งการได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ทำให้การทำงานดีขึ้น มีหนังสือเรื่อง What the World’s Greatest Managers Do Differently โดย Marcus Buckingham and Curt Coffman มีคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ “คุณมีเพื่อนที่ดีที่สุดจากการทำงานหรือไม่” คำตอบที่ได้เป็นตัววัดว่าทำไมคนจึงมีความสุข ได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน คนเราต้องมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นเครือข่ายที่ดี มันเป็นมาตรฐานด้านความสุข ด้านดีที่ชัดเจนว่าเพื่อนดีช่วยเพิ่มประสบการณ์การทำงานอย่างมีความสุข เพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายเชื่อมโยงกันอย่างสมัครใจในการทำงานจะคอยช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านการทำงาน และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมีมากมายและที่สำคัญจะส่งผลให้เราเป็นสุขและสนุกกับงานที่ทำอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังความสำเร็จในหน้าที่การงานของตัวเราเอง ทั้งนี้การพัฒนาทักษะหรือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นเครือข่ายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยากและสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ การสร้างเครือข่าย (Networking) ต้องทำให้เกิดการติดต่อ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ อำนวยความสะดวกให้คนในเครือข่ายมีความสัมพันธ์กันฉันท์เพื่อนที่ต่างก็มีความเป็นอิสระมากกว่าสร้างการคบค้าสมาคมแบบพึ่งพิง และต้องสร้างระบบติดต่อแบบสองทาง ไม่ใช่การให้ข่าวสารทางเดียว ดังนั้นเครือข่ายจึงต้องมีการจัดระบบให้กลุ่มคนสามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่จุดหมายที่เห็นพ้องต้องกัน ต้องเลือกเอาส่วนดี หรือจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเรียนรู้และสนับสนุนกันและกัน เรียกได้ว่าเป็นการผนึกกำลัง (synergy) ในลักษณะที่ 1+1 > 2 เป็นพลังเพิ่มทวีคูณ โดยเครือข่ายขนานแท้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอยู่อย่างน้อย 7 อย่างด้วยกัน คือ
- มีการรับรู้และมุมมองที่เหมือนกัน (common perception)
- การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (common vision)
- มีความสนใจหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual interests/benefits)
- การมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคนในเครือข่าย (stakeholders participation)
- มีการเสริมสร้างซึ่งกันและกัน (complementary relationship)
- มีการเกื้อหนุนพึ่งพากัน (interdependent)
- มีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงแลกเปลี่ยน (interaction)
ส่วนวิธีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายนั้น พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ
- สร้างความผูกพันและความรับผิดชอบต่อเครือข่าย เครือข่ายจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงาน "ลงเรือลำเดียวกัน" เครือข่ายต้องผ่านการพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันและมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน
- สร้างให้เกิดความเคารพและความไว้วางใจระหว่างกัน หากไม่ไว้ใจกันก็เลิกคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายไปได้
- สร้างประโยชน์ร่วม ให้ทำความเข้าใจแต่แรกว่าต้องมีคนยอมเสียสละบางอย่าง เพื่อให้การทำงานเครือข่ายประสบความสำเร็จ
- ต้องยืดหยุ่น เพราะการร่วมเป็นเครือข่ายหรือประสานงานกันนั้น สถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องตระหนักถึงปัญหาและมีความยืดหยุ่นพอสมควร
- ต้องให้แน่ใจว่าคนในเครือข่ายมีความคาดหวังที่ตรงกันในการร่วมมือกันทำงานตลอดระยะเวลาที่ตกลงจะร่วมงานกัน เมื่อใดก็ตามที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสุขกับการทำงานเครือข่าย แปลว่าความล้มเหลวกำลังรออยู่ข้างหน้า
- ตระหนักในความแตกต่างทางค่านิยม ทัศนคติและวัฒนธรรมทั้งในด้านพื้นที่และวัฒนธรรมองค์กร อย่าคาดหวังว่าคนอื่นจะสนองตอบต่อปัญหาเหมือนเรา
- รับผิดชอบร่วมกันในความสำเร็จหรือความล้มเหลว
และขอฝากไว้ว่า “เครือข่าย” เป็นกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน การมีเครือข่ายที่ดีที่สามารถสร้างความสุขในงานต้องมี LINKAGE คือ การเชื่อมโยง
L – Learning การเรียนรู้ที่มีร่วมกัน
I – Investment การลงทุนแรงกาย แรงใจและทรัพยากร
N – Nurture การฟูมฟักบำรุงให้ยั่งยืน
K – Knowledge ความรู้ในงานทีทำ
A – Achievement การใฝ่หาความสำเร็จร่วมกัน
G – Give การให้ ความเสียสละ
E – Engagement ความผูกพัน รักชาติตน รักถิ่นตน
แต่ที่สำคัญกว่าการสร้างเครือข่าย คือ คนในเครือข่ายต้องเลือกที่จะมีความสุข คนเราสามารถเลือกได้....It’s a matter of CHOICE , not CHANCE คิดในแง่บวกเกี่ยวกับงาน มองถึงแง่มุมของงานในด้านที่เราชอบ ด้านที่เรารัก หาเพื่อนร่วมงานที่ชอบและทำงานด้วยอย่างมีความสุข ทางเลือกในการทำงานจะเป็นตัวกำหนดประสบการณ์และช่วยให้เราเลือกที่จะมีความสุขในการทำงานได้
สุดท้าย..จาก พระครูโสภณปริยัตยานุกิจ
ยามทุกข์ มีใจหนักแน่น
ยามสุขมีใจสงบเสงี่ยม
ในสงครามมีใจแกล้วกล้า
ทำจิตให้เป็นน้ำใส
ทำใจให้เป็นน้ำเย็น
เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส
เปลี่ยนพินาศให้เป็นพัฒนา
เปลี่ยนปัญหาให้เป็นบทเรียน
และสำหรับการทำงานในภาคใต้ของท่าน...ความสุขในการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย คือ 4 ขอ 4 จะ และ 4 ไม่
4 ขอ
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
4 จะ
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติธำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฎิมา
4 ไม่
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่รวนเรพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
ชีวิตนี้ช่างโชคดี..มีโอกาสชั่วโมงครึ่งในการคุยกับข้าราชการผู้น้อยที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงตายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งก็รู้สึกเต็มตื้นในความเสียสละของท่านเหล่านั้น บางครั้งในระหว่างการฝึกอบรม..มีคนต้องกลับพื้นที่ไปกลางคัน..โรงเรียนถูกเผา บางคนพูดไปน้ำตาก็มา..สามี ลูกหลานเสียชีวิต เนื้อหาที่พูดคุย ไม่มีอะไรสำคัญมากเท่ากับการให้กำลังใจและการเคารพน้ำใจท่านอย่างที่สุด โครงการนี้เป็นโครงการที่ยังไงก็ต้องทำให้.. แม้มีงานอื่นที่ให้มากกว่า ก็ต้องไม่ปฎิเสธ...
เนื้อหาก็เป็นไปตามธรรมดาทั่วไป...
แต่สิ่งที่อยากบอกทุกครั้ง คือ
ขอกราบคารวะความเสียสละของทุกท่านที่มีให้กับประเทศชาติ
ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบารมีในหลวงคุ้มครองท่านให้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายอย่างปลอดภัย...มีความสุข ความเจริญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น