วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ไม่ไชโย


เป็นที่ยอมรับกันว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่นิยมเรียกว่า SMEs นี้ถือเป็น engine of growth ที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งในบ้านเรามีอัตราส่วนถึง 98-99% จากบรรดาธุรกิจทั้งหมด  แต่กว่าจะรู้กัน SMEs ก็ถูกละเลยให้เลี้ยงตัวเองไปตามมีตามเกิดเป็นสิบๆปีเพราะหลงไปให้ความสำคัญกับธุรกิจรายใหญ่ที่คาดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ (ใครไม่รู้) มากกว่าและยังเห็นผลทันตาอีกต่างหาก   SMEs เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ของทุกยุคทุกสมัย ถูกนำมาอ้างในการหาเสียงทุกครั้งไป  เพราะรู้กันแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท  โดยเฉพาะในเวลาวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทใหญ่โตทั้งหลายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้นก็พากันเดี้ยงไปกันเป็นแถว แต่ SMEs never die ! ต่อให้ตายไปวันนี้..วันนี้ก็มีเกิดใหม่ได้อีก  จะสังเกตุเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมี SMEs มากที่สุด ดูได้เลยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น  ฮ่องกง สิงคโปร์  SMEs ทั้งนั้น และเป็น SMEs ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  ดังนั้นการสร้าง SMEs รายใหม่ขึ้นมาจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ  (แต่ต้องให้ถูกทาง)
สำคัญที่ว่าเราตีความหมาย SMEs อย่างไร เพราะถ้าความหมายที่คิดกันง่ายๆว่าธุรกิจอะไรก็ได้  อันนั้นคงพัฒนาไม่ถูกที่ เรายังยึดติดกับมูลค่าอยู่มากในการแบ่งประเภทของ SMEs ใช้สมองซีกซ้ายอย่างเดียวเลย อิงระเบียบกฎเกณฑ์ในทางราชการว่าต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้าน 20 ล้าน ยอดขาย 200 ล้านประมาณนั้น  มันง่ายไปหน่อยและไม่ make sense แต่อย่างใดในการจะพัฒนา SMEs  ซึ่งในความหมายที่ SMEs จะเป็น engine of growth มันต้องเล็ก คล่องตัว มีแนวคิด     มีนวัตกรรม มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวได้เร็ว   ดังนั้นการพัฒนาจึงไม่ใช่สักแต่ว่าสร้างธุรกิจใหม่ แต่ต้องเป็นการสร้างคน สร้างผู้ประกอบการที่คิดด้วยสมองทั้งขวาและซ้ายอย่างสมดุล  สามารถสร้าง creative business solution ของตัวเองได้ อันนั้นขับเคลื่อนได้ ยั่งยืนได้แน่  ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่ SMEs ตายไปเดือนละ 600 กว่าราย เสียดายเงินในการพัฒนา  อันนี้ยังไม่นับว่าถูกกีดกันจากรายใหญ่ สร้าง barriers of entry ขึ้นในอุตสาหกรรมเพราะพวกใหญ่ๆนั้น เงินก็มากกว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายก็มากกว่า  ยิ่งเป็น economy of scale แล้วละก็เลิกกัน ตามไม่ทัน สู้ไม่ไหว สู้ด้วยต้นทุนก็ตัวใครตัวมัน   เป็น SMEs ต้องไม่เล่นในสนามเดียวกับยักษ์ใหญ่ การพัฒนา SMEs ที่จะได้ผล คือ สอนให้คิดเป็น สร้างสนามของตัวเองเดินเล่นสบายๆ พ้นขอบเขตการแข่งขันไปได้ จึงจะถือว่าเจ๋ง  ทุกวันนี้สอนกันแบบโบราณมากสอนความรู้กันอย่างเดียว ไม่เคยสอนให้คิด  SMEs ไทยจึงเป็นเครื่องจักรที่แล่นไปสะดุดไปสำลักไป 
อย่าลืมว่าโลกข้างหน้าเปิดสำหรับคนตัวเล็กเต็มที่ ถ้าเบิ่งตาสักหน่อยจะเห็น SME brand เจ๋งๆ จิ๋วแต่แจ๋วอยู่หลายอันทีเดียวที่เริ่มเล็กๆและต่อมากลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น FREITAG  กระเป๋าใบเดียวในโลก หรือ FITFLOP รองเท้าแตะราคาสองสามพันยังดังไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้ ทำเอาบริษัทยักษ์ใหญ่ทำรองเท้าถึงกับกุมหัว   ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ SMEs เราพร้อมหรือไม่  อันที่จริงเราก็มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรคของ SMEs ไทยไว้มากมาย เสียเงินทองในการศึกษาวิจัยวิเคราะห์มาก็มากและยังมีแนวโน้มจะเสียอีกต่อไป  แต่ SMEs ก็ยังไม่เก่ง เอาแค่ตลาด MAI หรือตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs ก็ยังมีผู้ประกอบการให้ความสนใจน้อยอยู่ ทั้งๆที่มีหน่วยงานสนับสนุนว่าจะสร้าง competitive advantage แต่ยังโดนเมิน เพราะผลประโยชน์ไม่จูงใจ เข้าไปกลับเสียเปรียบพวกหลบเลี่ยงภาษีที่ไม่ได้เข้า ไม่ได้ถูกตรวจสอบ  นี่แหละที่เคยบอกว่า โครงสร้าง นโยบายมันต้องเอื้อจริงๆ ไม่ใช่ขยักขย่อน ทำดีไม่ได้ดี  ผู้ประกอบการ SMEs จะโตได้อยู่ที่สังคม อยู่ที่การเมือง อยู่ที่หน่วยงานของรัฐที่จริงใจในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่ทำไปวันๆให้มันได้ตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ (ว่ายังไงถึงแน่)  แบบนี้นอกจากจะไม่ขับเคลื่อนแล้ว ยังต้องเสียเงินซ่อมบำรุงโดยไม่รู้ว่าเครื่องจักรจะมีวันฟื้นหรือไม่ น่าเสียดาย
ฉะนั้นในเรื่องของการสร้าง SMEs ให้เป็น growth engine คงต้องคิดใหม่ ต้องบ่มเพาะ สร้างบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเลิกเสียที เรื่องของฟรี มันไม่มีในโลก บทเรียนแรกที่สำคัญของผู้ประกอบการที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในโลกผันผวนระดับสี่ระดับห้านี้ คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรีในโลกธุรกิจ  ต้องให้แสวงหา ขนขวาย ไม่เช่นนั้นความช่วยเหลือของหน่วยงานทั้งหลายก็จะกองอยู่กับกลุ่มลูกหลานสภาอุตสาหกรรม หอการค้าที่ไม่เคยเห็นคุณค่า เพราะมันฟรี ที่สำคัญกินที่คนอื่นอย่างไม่ละอายด้วย เราต้องการคนที่ค่านิยมเกินร้อยมาฝึกคิด เราไม่ได้ต้องการพวกน้ำเต็มแก้วแต่ไม่ยอมแบ่งให้ใคร  มันต้องเริ่มจากการคัดเลือกตรงนี้ก่อน ไม่ใช้เอะอะก็เครือข่าย ที่ตอนนี้ก็มีเต็มเมือง ไม่รู้ว่าเป็น world class entrepreneur กันบ้างแล้วหรือยัง  
คราวนี้ลองมาดูยุทธศาสตร์ของแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2555-2559) กันดูบ้าง เอามาจาก สสว. เผื่อจะมีความหวัง  มีอยู่ 4 ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้ SMEs กลายเป็น growth engine ของเศรษฐกิจบ้านเรา 
ยุทธศาสตร์ที่ 1 
สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย 
ยุทธศาสตร์ที่ 2 
เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย 
ยุทธศาสตร์ที่ 3 
ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลตามศักยภาพของพื้นที่
ยุทธศาสตร์ที่ 4 
เสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  
ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์นี้ ท่านว่าจะทำให้เชื่อมโยงกันโดย
  • การพัฒนาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการและสนับสนุน SMEs  เพื่อให้มีหน่วยงานหลักในการยกระดับศักยภาพของผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนา SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
  • การจัดทำฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ เพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูลกลางด้าน SMEs  ของประเทศที่เป็นฐานเดียวกัน (Centralized SMEs Database) โดยรวมข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ SMEs ในแหล่งเดียว (One stop service)  ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกันกับศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารสนเทศและบริการภาครัฐ (e-Government Portal)  การพัฒนาดังกล่าวจะคำนึงถึงความประหยัด ประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงและใช้งาน
  • การเตรียมความพร้อมและยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านการค้าการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ SMEs เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมุ่งเน้นธุรกิจสาขา (Sector) ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้ SMEs มีความสามารถพร้อมรับกับการแข่งขัน ขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจสาขาที่มีศักยภาพในด้านการค้าการลงทุนในต่างประเทศ จะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่
นอกจากความเชื่อมโยงของทั้ง 4 ยุทธศาสตร์แล้วยังมีความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่
  • การพัฒนาศักยภาพ SMEs ในท้องถิ่นโดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ในท้องถิ่น (ยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3)
  • การพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทย โดยเตรียมความพร้อมให้แก่ SMEs ในพื้นที่ (ยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4)  
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ที่มีศักยภาพให้สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศได้ (ยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 4)
ดูแล้วดีมีชาติตระกูลมาก แต่หา meaning ไม่เจอ ไร้อารมณ์ ไร้ความรู้สึก ยังมองไม่เห็นจุดที่เป็น idea focused เลยว่าตกลงเราจะพัฒนาให้ SMEs ไทยเป็นอะไรในสายตาชาวโลก หา positioning ไม่เจอ เป็นยุทธศาสตร์ที่เขียนเพื่อให้หน่วยงานที่ส่งเสริมทั้งหลายทำงานได้สะดวก พูดง่ายๆ คือ เขียนโดยใช้ตัวเองเป็นตัวตั้ง เป็นเรื่องการพัฒนาตามหน้าที่ของตัวเอง แต่ไม่มีใจแผ่ไปถึงตัวตนของ SMEs  ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์  เป็นเรื่องการวางตำแหน่งที่ใช่ เป็นการเลือกพัฒนา ไม่ใช่หว่านการพัฒนา ต้องเลือกว่าจะให้ SMEs ไทยเป็นอย่างไรก่อน ถ้าจะผลักเรื่อง creative economy ก็ผลักให้สุด อย่างอื่นทำให้น้อยลง สัดส่วนงบประมาณต้องผันตามจุดยืน อะไรที่ไม่ตรงไม่ต้องทำให้มันเปลืองทรัพยากร  ออกแบบ key process ทั้งหลายในการขับเคลื่อนให้ชัดเจนถูกทิศทางที่อำนวยความสะดวกให้ SMEs กลายเป็นเครื่องจักรสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้ได้  ซึ่งยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันในจุดยืน จุดขายและเคลื่อนไปพร้อมกันให้มันมี impact 
ตอนนี้ทุกฝ่ายก็บอกว่าต้องมีการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ต้องจัดทำฐานข้อมูล SMEs ของประเทศให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน สร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs และทบทวน ปรับปรุง และผลักดันกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็อยากรู้ว่าจะพัฒนาให้เอื้อไปในทางไหน เน้นข้อมูลอะไร หรือองค์ความรู้อะไร ในเมื่อมันยังมองไม่เห็นจุดยืน หรือ end outcome ร่วมกัน สิ่งที่จะทำทั้งหมดจึงถือได้ว่าไม่มีทิศทาง ยังไม่ได้เลือกทิศออกรบเลย เคลื่อนทัพเสียแล้ว จะกำหนดอะไรยังไงคงลำบาก การจัดสรรงบประมาณก็ยิ่งโอละพ่อ  ไปไม่เป็นเลยทีเดียว เขียนมาได้ว่าแต่ละภาคส่วนทำแผนบูรณาการทิศทางการส่งเสริมที่สอดคล้องกัน  ยังไม่รู้เลยว่าจะไปไหน สร้างทางซะแล้ว และยังมีหน้าจะพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เห็นแต่ไปดูงาน ดูมาทำไมก็ไม่รู้ หรือยังไม่รู้ว่าจะดูทำไม แต่จะไปดูหรือไปดูมาแล้ว แปลกแต่จริง  จะพัฒนาไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขยายการค้าการลงทุน ตกลงจะขายอะไร ตอนนี้   จำนวน SMEs ไทยอยู่ในภาคการค้าและซ่อมบำรุงสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 รองลงมาอยู่ในภาคบริการร้อยละ 34 ส่วนภาคการผลิตมีจำนวนร้อยละ 19 โดยประมาณ  แล้วจะยังไง  จะให้เป็น creative SMEs ก็ต้องตกลงกันให้ชัด จะได้ลุยเต็มที่  อันนี้ทำมันไปเสียทุกอย่าง ส่งเสริมมันไปทุกที่ รักพี่เสียดายน้อง หรือมีผลประโยชน์ค้ำคอ  ที่หวังว่าการสร้าง SMEs รายใหม่ขึ้นมาจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ  ขอบอกว่า creative SMEs รายใหม่เกิดยากเพราะใช้เงินงบประมาณเป็นเบี้ยหัวแตกด้วยการส่งเสริมที่ไร้เดียงสาอย่างมาก  ไม่ต้องคิดอะไรไกล ลองคิดเล่นๆว่าทุ่มเทสร้างคนแบบพี่ Gates พี่ Jobs พี่ Zuckerberg มาสักสองสามคน คนที่เป็นผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริง เศรษฐกิจไทยจะไปโลดแค่ไหน คนแบบนี้เท่านั้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้จริง อย่าไปคิดเชยๆเอาจำนวนหัวมาเป็นหมื่น มาวัดว่าได้สร้างผู้ประกอบการแล้วเลย ขอร้องอย่างแรง มันเสียหาย มันจะกลายเป็น broken economic engine 
จบข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น