วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

สวัสดีความพอเพียง.....ความเพียงพอ



เคยอ่านที่ไหนซักที่ จำไม่ได้ (เพราะไม่รู้จะจำทำไม) แต่รู้สึกว่ามันจริง จริงจริงด้วย เขาว่า คนรวยกับคนจนต่างกันที่ “ความพอเพียง...ความเพียงพอ” คือ คนเราถ้ารู้จักพอก็ถือว่า “รวย” แล้ว คนรวยเป็นพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ถ้าไม่รู้จักพอก็ยังถือว่าจน (ใจจนและจนใจ) เกิดมาเป็นคนไทยโชคดีเหลือเกินแล้ว ถ้าไม่นับพวกน้ำท่วม อภิมหาภัยไข้หวัดและเหตุการณ์ไม่สงบบางภาคของเราที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพวกเราเอง ก็ต้องรับกรรมกันไป คือ เอาเป็นว่าสิริรวมแล้วดีกว่าเกิดมาในประเทศ อื่นๆก็แล้วกัน เป็นชาติเดียวกระมังที่อะไรก็ “ไม่เป็นไร” และยังมีคำว่า “เกรงใจ” ที่ชาติอื่นไม่มี อย่างไรก็ดีมันเป็นการหล่อหลอมค่านิยมพอเพียงมาตั้งแต่เกิด  แต่พอมี “โลกาวิบัติ” ที่มาถึงประตูบ้านไม่เว้นแม้กระทั่งดินแดนชายขอบของประเทศ ทำให้คนไทยเลยเพลิดเพลินกับค่านิยมใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แก่งแย่ง ขาดจริยธรรมไปในทันที ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวเกิดคำว่า “ครีเอ-ถีบ” เป็นข้ออ้างสวยๆ (จริงๆแล้วคือ ซวย ซวย) คือ ถีบแล้วค่อย “ครีเอท” หรือ “ครีเอท ด้วย ถีบด้วย” ไปพร้อมกัน  อันที่จริงอะไรดีๆของเรามีมาก และก็มีพอเพียงกับการจะอยู่อย่างเป็นสุขในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น และบางทียังมีเกินพอจะแบ่งปันให้คนที่เดือดร้อน (แต่ทำไมไม่แบ่งก็ไม่รู้) ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีมากๆอาจส่งขายได้อีกด้วย
จุดใหญ่ใจความที่อยากบอก (ที่ใครไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ เราเป็นชาติเสรี) คือ คนไทยไม่รู้จักพอเพียงถือว่าเชยอย่างยิ่ง เชยระดับสี่ถึงห้า เนื่องจากในหลวงของเราทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติทั้งหลาย และเมื่อภายหลังก็ได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ชาติรอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาวิบัติและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ   ลองนำเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคล ที่เป็นความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างพอประมาณตนตามฐานะ ตามอัตภาพและที่สำคัญไม่หลงใหลตามกระแสวัตถุนิยม มีอิสรภาพในการประกอบอาชีพ เดินทางสายกลาง ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเอง ก็คงถือได้ว่าทดแทนแผ่นดินเกิดได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมีหลักการที่เข้าใจง่าย ถ้าอยากจะเข้าใจ ทำได้ทันทีถ้าคิดจะทำ มีอยู่ 5 มิติเท่านั้นคือ
ใจ: มีจิตสำนึกที่ดี ทำตนให้เป็นที่พึ่งตนเอง ยิ่งพวกลูกช้างต้องอย่าลืมว่าบัณฑิตย่อมฝึกฝนตน (ไม่ฝึกฝนเสียชาติเกิดไม่รู้ด้วย) สร้างสรรค์ให้ตนเองและชาติโดยรวม ให้รู้จักคำนึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเสียบ้าง โลภะ โทสะ โมหะจะได้ค่อยๆลดลง 

สังคมและชุมชน: ไม่ได้ยากเย็นอะไรที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ช่วยกันสร้างเครือข่ายชุมชนคนดีที่เข้มแข็ง กล้าทำความดีไม่ต้องกลัวเสียฟอร์ม กล้าที่จะต่อสู้กับความไม่ดีทั้งปวง เกิดมาทั้งทีต้องอยู่ให้รัก จากให้เสียดาย ตายให้คิดถึง 

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: ฉลาดใช้ไม่เช่นนั้นจะเจอน้ำท่วมทุกปี เจอฝนฟ้าตกไม่ต้องตามฤดูกาล เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน อาจบ้าตายก่อนวัยอันควร รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  ไม่เช่นนั้นลูกหลานจะแช่งเอาได้ ตายก็จะไม่เป็นสุข

เทคโนโลยี: ใช้มันทั้งเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและสภาพแวดล้อม เลือกใช้อันใดอันหนึ่งคงไม่ดี ไม่ใช้เลยก็จะไม่เท่าทัน และถูกหลอกได้ง่ายๆ หาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ ยาสีฟันไทยดีๆ คุณภาพยอดเยี่ยมมีเยอะ ไม่ต้อง “แอมเวร” ก็ได้ พัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราด้วย อย่าเอาแต่จ้องเทคโนโลยีต่างชาติว่าดี และพาลจะเสียเงินแบบไม่ฉลาด เป็นทาสเขาด้วย

เศรษฐกิจ: ท่องเป็นคำขวัญประจำใจว่า “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เก็บออม สะสมเป็นเงินทุน” สามจบก่อนนอน
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางปฏิบัติที่ชาญฉลาด (ใครไม่ทำตามแปลว่า.......) โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อพร้อมรับต่อความผันผวนบนพื้นฐานของความรอบรู้ ความรอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรม การใช้ความรู้อย่างถูกหลักวิชาการ (ไม่ใช่วิชามาร) ควบคู่ไปกับการกระทำที่ไม่เบียดเบียนกัน (อาทิเช่น การชัก 3% 10% จากปูที่ซีดเซียว) การแบ่งปัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความร่วมมือปรองดองกันในสังคม จะสามารถสร้างสายใยเชื่อมโยงคนในทุกภาคส่วนของสังคมเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์พลังในทางบวก (blue wave ไม่ใช่ red wave) นำไปสู่ความสามัคคีและการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  คนไทย ใจไทย ไทย(ที่)รักไทยจึงควรถือเป็นวาระส่วนบุคคล (personal agenda) กันให้ถ้วนทั่ว
ภาษิตจีนว่า...ถอยสักก้าว ทะเลดูกว้าง ท้องฟ้าสดใส    ขอให้เจริญ

2 ความคิดเห็น:

  1. อากิ๋งขา ทุกวันนี้ยังมีหลายคนที่เข้าใจผิด คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียง คือ การใช้เงินน้อยๆ ทำธุรกิจแบบมีกำไรน้อยๆ และเข้าใจผิดไปว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับคำว่า "ประหยัด" มีความหมายเหมือนกัน และคิดต่อไปอีกว่าถ้าเรามัวแต่ประหยัดประเทศจะไม่เจริญ (-_-")

    ถึงเราจะพยายามอธิบาย เค้าก็ไม่เชื่อเราอยู่ดีล่ะค่ะ (T^T)

    สิ่งที่น่าเศร้าใจในตอนนี้ ก็คือ สังคมไทยสามารถไม่ชอบใจคนที่เราไม่เคยรู้จัก เพียงเพราะเค้าคิดต่างจากเราเท่านั้นเองล่ะค่ะ (แง๊!! เศร้าใจการเมืองไทย)

    ตอบลบ
  2. ไม่เป็นไร.. เรามีช่องสื่อสารก็สื่อสารนะ อย่างน้อยเด็กที่เรียนกับเรา ต้องเข้าใจถูกต้อง สังคมเราอ่อนแอมาก คนไม่มีคุณภาพ ทำให้แยกแยะไม่ออก ยับยั้งไม่ได้ หยั่งรู้ไม่เป็น ... อันตรายมากมาก..

    ตอบลบ