วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

อะไรสำคัญในชีวิต

ที่สำคัญคือ “ความคาดหวัง” นี่แหละ

คน..พยายามหาความสมดุลระหว่างความเป็นจริงกับความคาดหวังมาตลอดชีวิต แต่ก็มีช่องว่างมาตลอดเหมือนกัน มีคนบอกว่ามันเป็นเรื่องของวิธีการที่แต่ละคนใช้เกี่ยวกับเวลา หรือถ้าจะง่ายไปกว่านั้นคือ.....การที่คนเราใช้ชีวิตอย่างไรกับเวลา ครอบครัว งานและเงิน ยอมรับความจริงเถอะว่า ชีวิตในอุดมคติ ชีวิตที่การปราศจากความกังวลไม่มีในโลกของคนธรรมดาแน่ๆ งานของเรากับครอบครัวก็เป็นศัตรูกันตามธรรมชาติ และที่สำคัญเจ้าความสมดุลก็ไม่ได้แปลว่าเท่าๆกัน


คุณ A. Roger Merrill และคุณ Rebecca R. Merrill เรียกว่า “Navigational Intelligence” เริ่มจากการพัฒนาโดย

  • หาค่านิยม หาหลักการให้ตัวเอง ชีวิตนี้ต้องมีหลัก อ่านหนังสือที่เป็นปรัชญาและภูมิปัญญาต่างๆ สร้างพันธะกิจของตัวเอง ดูว่าชาตินี้จะเป็นอะไรได้ดีบ้าง เพื่อสามารถกลั่นกรอง เรียงลำดับหลักการ ความสำคัญในชีวิตที่เหมาะเจาะกับค่านิยมใครค่านิยมมัน
  • ประเมินประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เคยคาดหวังอะไร ได้บ้างหรือไม่ เรียนรู้จากการใช้ชีวิตของตัวเอง ถ้าไม่ค่อยโสภานัก ให้คิดเสียว่าเป็นประสบการณ์ที่ให้เราเรียนรู้ได้มากกว่า ใช้เวลาในการใคร่ครวญและหาทางสว่างในการแก้ไข "สติมาปัญญามี" (สตังค์ตามมาทีหลัง)
  • พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต เปิดรับการรู้แจ้งเห็นจริงในตัวเองที่เกิดจากการคิดตรึกตรองอย่างถี่ถ้วน เขียนไว้ข้างเตียง หัวเตียง จะได้เห็นก่อนนอนทุกคืน

เอาเป็นว่าพูดเรื่อง “งาน” ก่อนก็แล้วกัน

คนเรามองงานตัวเองแตกต่างหลากหลาย บ้างก็คิดว่าน่าเบื่อสุดๆ บ้างก็ว่านรกชัดๆ บ้างก็ว่าเป็นที่มาของชื่อเสียงเงินทองล้วนๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น สะท้อนถึง “พันธะส่วนตัว” ของเรา ที่บอกได้อีกอย่าง (สำคัญเลย) ว่าการมองงานของเราที่แตกต่างกันจะเกี่ยวพันหรือนำไปสู่การทำงานที่แตกต่างกันแน่ๆ และที่สุดสุดคือเป็นการบอกว่าเราได้อะไรบ้างจากการดำรงชีวิตของเราที่ผ่านมา

คงต้องนำมุมมองในการทำงาน นำสถานการณ์การทำงานและนำใช้ผลลัพธ์ที่ได้ ปรับทิศทางมาผสมผสานกันเพื่อจะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง เลือกเส้นทางของตัวเองได้ ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ถามตัวเองง่ายๆดังนี้คือ

  • มีอะไรบ้างไหม ที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์มากที่สุด
  • เราควรปรับปรุงเรื่องอะไรมากที่สุด
  • บอกมา 1 อย่างที่คิดว่าเราควรทำต่อไป
  • มีอะไรที่ควรหยุดทำได้แล้ว
  • มีอะไรที่เราควรเริ่มต้นทำ

เป็นต้น ไม่ได้ยากเย็นขนาดนั้น คิดว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้แน่ ยกเว้นแต่ว่ากลัวผลจากคำตอบว่าอาจทำให้ทำใจลำบาก(อันนี้ร้องเป็นเพลงก็ได้ อารมณ์จะดีขึ้น)


ถ้าทำใจได้แล้ว มาดูกันว่าจะสร้างสมดุลระหว่างงานกับครอบครัวอย่างไร วิธีสร้างสะพานเชื่อมงานกับครอบครัวที่ไม่ได้ลำบากขนาดนั้น คือ บอก บอกให้หมด บอกพ่อแม่ บอกลูกหลาน สามีภรรยาว่าเรามีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับงานยังไง มีลูกก็สอนให้ลูกรู้จักรักงาน (โดยเฉพาะงานของเราด้วย) พาลูกไปที่ทำงานให้เห็นบรรยากาศ ไปงานโรงเรียนลูก(ห้ามขาด) เล่าประสบการณ์ดีๆ หรือฮีโร่แจ๋วๆในที่ทำงานให้ฟัง แต่ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าคนของเรากำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะได้ไม่ผิดคิว


ปฎิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเป็นสถาบันยิ่งใหญ่ เป็นพื้นฐานความมั่นใจ เป็นกำลังใจของคน เพราะฉะนั้นเราเป็นจะผลกระทบอย่างแรงในการทำให้ครอบครัวเป็นสุขหรือเป็นทุกข์จากการกระทำของเราซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายรุ่น (โค-ตระไลเซชั่นของอาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมี)


คุณ A. Roger Merrill และคุณ Rebecca R. Merrill บอกว่าการเป็นพ่อแม่นั้นมีบทบาทหลัก 4 ประการคือ

  • ให้ปัจจัย 4 ซึ่งจำเป็นต่อชีวิต
  • ปกป้องจากอันตรายที่เกิดจากปัจจัยด้านกายภาพ สังคมและอารมณ์
  • บ่มเพาะความรัก ความใจดี
  • สอนให้ครอบครัวเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ ความอุดมสมบรูณ์ การอยู่อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ยังมีสิ่งต่างๆที่ช่วยปรับปรุงชีวิตครอบครัวอีก คือการสร้างปฏิทินครอบครัว เช่น จัด “วันครอบครัว” ประจำอาทิตย์ นัดกับพ่อแม่ ภรรยาหรือสามี (ถ้ามี) ให้ทุกคนได้รับรู้ว่ามีความสำคัญและการมีความรักต่อกันนั้นจำเป็น สอดแทรกธรรม คุณธรรมประจำวันแบบแนบเนียน ไม่น่าเบื่อ ทำให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง นี่ก็เป็นเครื่องปรับทิศทางครอบครัวให้สุขสมใจ ช่วยให้เราบรรลุความคาดหวังในครอบครัว


คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “เวลา” เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเวลาส่งผลต่อความสุข การจัดความสมดุลของชีวิตเรา ปกติแล้วเราก็รู้จักกันดีในเรื่องการบริหารเวลา แต่แท้จริงแล้วเวลาเป็นเรื่องของ personal leadership ไม่รู้จะแปลว่าอะไร เอาเป็นว่า เวลามีนัยสำคัญตรงที่มีผลให้เราต้องทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้องมากกว่าทำเฉพาะสิ่งที่คิดว่าถูกหรือเหมาะสมแต่อย่างเดียว


มุมมองของเราเรื่องเวลานั้น เราอาจประเมินจากคำถามต่อไปนี้ (ฝรั่งชอบคำถาม บางทีก็ใช้ได้เหมือนกัน)

  • เวลาทำให้เรารุ่มร้อนรน สับสนบ้างหรือไม่ อันนี้ขึ้นกับความคาดหวังของเรานั่นแหละ
  • จริงๆแล้วเราต่อสู้กับเวลาบ้างไหม คือแล้วแต่หวังมากหวังน้อย
  • เคยไหมที่คิดว่า...ชีวิตจะดีกว่านี้...ถ้า...
  • เวลาเป็นอุปสรรคสำหรับเราหรือปล่าว
  • ถ้ามี check list ดูซิว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการหรือไม่? และจะมีความสุขมากขึ้นไหมถ้าตัดอะไรในนั้นออกไปเสียบ้าง
  • ความต้องการที่มากมายของเรา ทำให้เราต้องสูญเสียความมั่นใจหรือความสามารถในการทำสิ่งต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพได้น้อยลงหรือไม่
  • เคยคิดไหมว่าถึงแม้จะทำดีที่สุดแล้ว ก็ยังไม่สามารถบรรลุอีกหลายสิ่งหลายอย่างอย่างที่คาดหวัง? นี่แปลว่าคาดหวังสูงแน่ๆ
  • ถามจริงๆ คิดว่าความสมดุลในชีวิตสร้างได้หรือไม่?

ถามเอง ตอบเอง รู้เอง แก้ไขเองก็แล้วกัน ถ้าเสียเวลาติดตามอ่านมาขนาดนี้แล้ว เวลาเป็นแค่เรื่อง “ด่วนและไม่ด่วน” กับ “สำคัญหรือไม่สำคัญ” คงอยู่ที่เราจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไรและตัดสินใจอย่างไร ใคร่ครวญเอง


สุดท้าย ท้ายสุด (สั้นมากมาก)


สมการที่ว่าเงินบวกสิ่งของเท่ากับความสำเร็จและความสุข ไม่จริงเสมอไป เงิน ไม่สำคัญขนาดนั้น (แต่ไม่มีก็ไม่ได้) บางอย่างเช่น ความสัมพันธ์ ใจ มันซื้อกันไม่ได้ ไม่ได้กับทุกคนแน่ๆ การใช้เงินอย่างไรเป็นเครื่องบ่งบอกค่านิยม ความคาดหวังในชีวิตของเรา เคล็ดลับเดียวที่ทำให้มีเงินคือเพิ่มรายรับ ใช้จ่ายสมดุล คุณ A. Roger Merrill และคุณ Rebecca R. Merrill ให้ถามตัวเอง (อีกแล้ว) ว่า

  • เงินจะไปไหนได้บ้าง
  • จริงๆแล้ว เงินไปไหน ก็ที่หามาได้ไปไหนหมด
  • มีแผนการใช้เงินไหม
  • มีการสะสมเงินไว้ยามเจอเหตุการณ์จำเป็นหรือไม่
  • มีระบบการเงินที่ดีไหม เงินเข้า ออกอย่างไร

นี่ก็รู้กันดีอยู่แล้ว แต่บางทีก็ “รูดปื๊ด รูดปื๊ด” ให้ท่องไว้ว่าเงินของเรา จะให้ จะใช้ไปง่ายๆได้อย่างไร ทั้งหมดทั้งมวลถือว่าเป็นการอ่าน สังเคราะห์ รวบรวม(ที่คิดว่าเป็นสาระ) จากหนังสือ LIFE MATTERS ของคุณทั้งสองคนที่อ้างชื่อไว้แล้วก่อนหน้านี้ มาให้ตัวเองและพรรคพวกกันได้ครุ่นคิดชีวิตใครชีวิตมันอีกสักครั้ง คงทำให้ทุกผู้ทุกคนมีความสุขในชีวิต มีความสมดุล มีความพอเพียงมากขึ้น


ข้อควรจำ: ชีวิตไม่(เคย)พอกับตัณหา เวลาไม่(เคย)พอกับความต้องการ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น