วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เปิดทาง...สามห่วงสองเงื่อนไขของคนเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ


ห่วงแรก คือ ความพอประมาณ
เรื่องอื่นไม่เท่าไหร่..เอาเรื่องการพูดนี่แหละ เพราะพวกเป็นที่ปรึกษานั้น.. ทำมาหากินด้วยการพูด พูดให้ผู้ประกอบการฟัง.. ให้เกิดอาการปิ๊งแล้วเอากลับไปทำให้เป็นผล แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ปรึกษาจะพูดมาก อยากเป็นพระเอกนางเอกกันตลอดเวลา ไม่รู้จักพอดีอยู่ที่ไหน ยิ่งที่ปรึกษาที่มีพื้นฐานการเป็นครูบาอาจารย์มาก่อน ยิ่งชอบสอนเกินเวลา ยิ่งอยู่กันหลายคนก็ยิ่งแย่งกันแสดง..แย่งบทบาท ว่าทฤษฎี หลักการจนเพลิน จนลืมคนที่นั่งฟัง... ดูๆไปแล้วเกิดเวทนา เพราะที่พูดไปไม่ได้มีจิตเมตตาอยากให้ความรู้ ทางแก้ไขปัญหาหรือให้สติ..  แต่พูดเพื่อให้ตัวเองดูเก่ง ดูฉลาด    อย่าลืมว่าคำพูด..มันเป็นแค่ลมที่ออกจากปาก จะมีความหมายก็ต่อเมื่อพูดได้พอดี ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป แล้วรอฟังชาวบ้านเขาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่พอประมาณ คือ พูดน้อย..ฟังเก็บอย่างเดียว ไม่พูดอะไรเลยแล้วเอาความคิดเขามาเป็นความคิดตัว.. อันนี้หนักเข้าไปอีก เพราะเบียดเบียนชัดเจน ไอ้พูดมากไปก็เบียดเบียนอีก..   ทีนี้จะยังไงดี เรียกว่าพอประมาณ.. ความพอประมาณของที่ปรึกษาในการพูด คือ ตรงจุด พอดีสมกับปัญหา แล้วเลิก อย่ายืดเยื้อ สร้างความรำคาญ ไอ้การจะตรงปัญหา ตรงจุดได้ มันต้องใช้สติและปัญญาอยู่มากในการพูดให้เหมาะ สำคัญคือต้องรู้จริง เพราะคนรู้จริง ยิงตรงเป้าเสมอ ต่างจากคนไม่รู้จริง..ยิงไม่เคยเข้าประตู..   และการจะพูดได้พอประมาณมีอีกอย่าง คือ อย่าคิดว่าคนอื่นโง่กว่าตัว ผู้ประกอบการ..ถ้าไม่แน่จริง ไม่จ้างเรามาและถ้าไม่แน่จริงเขาทำธุรกิจจนเติบโตแบบนี้ไม่ได้ การที่ธุรกิจมีปัญหา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่ง การที่มีจุดบกพร่องในการทำงานไม่ได้แปลว่าโง่ ในโลกนี้มันมีธุรกิจอะไรบ้างที่ไม่มีปัญหา.. มันไม่มี ไม่อย่างงั้นเขาจะจ้างเรามาทำซากอะไร.. คิดแบบนี้ จะพูดได้พอประมาณมากขึ้น.. ไม่ต้องลากเอามหาสมุทร แม่น้ำทั้งห้า หรือประวัติศาสตร์ทฤษฎีทางการจัดการมาเพราะกลัวเขาจะไม่เข้าใจ
ห่วงที่สอง คือ ความมีเหตุมีผล
การเป็นที่ปรึกษานั้นบางทีอารมณ์มาแบบไม่รู้ตัว เพราะอยู่ท่ามกลางปัญหา อยู่ท่ามกลางคนที่ทำให้เกิดปัญหา อารมณ์มันมาแบบน้ำท่วมนี่แหละ.. กระสอบทราย บิ๊กแบคเอาไม่อยู่.. แต่ต้องเอาให้อยู่.. รู้ตัวให้เร็ว คนมีปัญญาต้องมีสติอย่างเร็ว เคล็ดลับง่ายๆ คือ ถ้าเริ่มรู้ตัวว่าชักไม่ไหว..ให้สวดบทพระพุทธคุณ อันนี้ต้องท่องให้ขึ้นใจ จะใช้ได้ทันการณ์
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ  
ท่องในใจนะ อย่าเผลอออกเสียงมา เดี๋ยวคนจะหาว่าเพี้ยน..ท่องสักสองรอบ รับรอง..อารมณ์หาย ความมีเหตุมีผลจะค่อยๆมา..การพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างครบ อย่างรอบก็จะมาเอง... การตัดสินใจของเราจะคมมากขึ้น บทสวดนี้ I strongly recommend ^_^  ทั้งชีวิตก็เพิ่งใช้เหมือนกัน ได้ผลดีไม่ว่ากับเรื่องอื่นๆก็ได้  ทำให้มีเหตุมีผลมากขึ้นทันที
ห่วงที่สาม คือ มีภูมิคุ้มกัน
อันนี้เป็นเรื่องความพร้อม สำคัญมาก ที่ปรึกษาต้องทำการบ้านให้หนัก จัดหนัก จัดเต็ม ไม่งั้นภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถึงขั้นโรคเอดส์ หรือ มะเร็งขั้นสุดท้าย รักษาไม่หาย เสียชื่อเสียงไปตลอดชีวิต การจะมีภูมิคุ้มหัวได้มันไม่ได้ใช้ชื่อเสียง ผลงานแต่เก่าก่อนแล้วจะทำให้คนยอมรับ มันเป็นปัจจุบันมากมาก ที่ปรึกษาอาจคิดว่าสามารถเอาตัวรอดได้จากลีลาเดิมๆที่เคยฝึกปรือมาแล้วกินงาย.. แต่ขอบอกว่า..ไม่ง่าย มันไม่มีอะไรเหมือนเดิม ที่ปรึกษาต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทุกวัน..ขอย้ำ ทุกวัน.. ธุรกิจไม่ใช่ตุ๊กตาจะได้นิ่งให้เราจัดอะไรได้ตามใจชอบ ที่นี้มันต้องอาศัยความหยั่งรู้ การคาดกาณ์ในซีนแปลกๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตการเป็นที่ปรึกษา ดังนั้น..การมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เราถึงจะสามารถรับมือได้ ถ้ายังทำใจไม่ได้ อันนี้ก็ยากที่จะมีภูมิ.. เพราะถ้าเราระลึกรู้ว่า มันเปลี่ยน เราจะมีการเตรียมอาวุธหลากหลายไว้ใช้ในสถานะการณ์ต่างๆได้  สรุปง่ายๆ การมีภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมตัวคิดหลายๆ ฉาก จะได้ออกอาวุธทันการณ์
เงื่อนไขที่หนึ่ง คือ ความรู้
อันนี้คงไม่ต้องพูดมาก..ไม่มีความรู้ ไม่รู้จริง ไม่ต้องมาเป็นที่ปรึกษา... และต่อให้จบปริญญาเอกทางบริหารธุรกิจมาก็ใช่ว่าจะสามารถเป็นที่ปรึกษาได้ดี มีความรู้ไปทุกเรื่อง ของแบบนี้มันมีความรู้ความชำนาญอยู่.. ไม่ใช่สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง..ไม่ใช่หมอดูนะ และไม่ใช่ยาหม่องด้วยจะได้ทาถูทาถูแล้วค่อยยังชั่ว.. มันได้แค่ค่อยยังชั่ว ไม่ได้หายดี.. สำคัญที่เรารู้ตัวหรือเปล่าว่ารู้เรื่องอะไรดี และยอมรับในความรู้อันจำกัดของตัวเอง คนอะไรมันจะเก่งไปทุกอย่าง ตลาดก็เก่ง บัญชีการเงินก็ยอด การผลิตสุโค่ย อันนั้นมันเรียกได้ว่า rare นะ หายากมาก.. เอาที่ตัวเองถนัด รู้จริงและฝึกฝนใฝ่หาอย่างสม่ำเสมอ ตัดนิวรณ์ตัวขี้เกียจ ลังเล ติดสุขออกไปด้วย ขยันหาความรู้ใส่ตัว นั่นหละแปลว่าจะรู้แล้วรอบรู้ และมันไม่ใช่เรื่องการรอบรู้เท่านั้น แต่หมายรวมถึงความรอบคอบอีกด้วย
เงื่อนไขที่สอง คือ คุณธรรม  
ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียรสำคัญอย่างยิ่ง.. ต้องรู้จัก เข้าใจให้ดี ตื่นและนอนหลับกับสิ่งเหล่านี้ไปเลย อาชีพที่ปรึกษานั้น..เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ อยู่มาได้ก็เพราะอยู่บนความถูกต้องเท่านั้น ความรัก ความเอื้ออาทรต่อผู้ประกอบการเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ที่ปรึกษามีคุณธรรม ไม่บิดเบือน โกหก ความจริงใจเท่านั้นที่ทำให้คนอื่นรู้สึกได้ในการทำงานของเรา และอีกอย่างที่ลืมไม่ได้ คือ การมองที่ประโยชน์ส่วนรวม ทำให้ธุรกิจที่เรารับผิดชอบมีธรรมาภิบาลให้ได้ อย่ารับงานคนโกงเป็นอันขาด การส่งเสริมคนโกงเท่ากับทำลายประเทศ อย่าทำ..อย่าโลภ อย่าเบียดเบียน 

หลักการพอเพียงนี้เป็นแนวทางการดำรงชีวิต การทำงานที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517   ทำได้ก็เท่ากับเราทำดีเพื่อพระองค์... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น