วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ

เรื่องราวก่อนจะได้เป็นเจ้าของ multimillion-dollar company นั้น ผู้ประกอบการระดับโลกหลายคน บ้างก็ขายวิ่งหนังสือพิมพ์ ขายเนคไทแถวชายหาด ขายน้ำอยู่แถวบ้าน บ้างก็วุ่นกับการคิดค้นสิ่งใหม่ในโรงรถ  มันดูเหมือนว่าเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ประกอบการเหล่านี้ คือ การเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นโดยรู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่อทำธุรกิจเพื่อเป็นผู้ประกอบการ    อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป เป็นความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะทดลอง ไม่กลัวความล้มเหลว อยากบินสูง  คนแบบนี้แหละที่จะกลายเป็นผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่ได้  อาจกล่าวได้ว่า entrepreneurial spirit เป็นพรสวรรค์ที่ดลบันดาลให้คนสามารถผลักดันตัวเองให้เป็นได้ เป็นดีที่สุดในสิ่งที่จะดีได้เป็นได้   ในบรรดาผู้ประกอบการในโลกนี้ Steve Jobs เป็นคนหนึ่งที่อยู่แถวหน้ามาตลอด เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าไอ้การที่ take it to the limit มั่นใจแต่ไม่ไร้สติเป็นอย่างไร  มีหลายคำพูดที่แสดงถึงลักษณะของความมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่ชัดเจน เช่น “Don’t be trapped by dogma. Don’t let the noise of others’ opinions drown out your own inner voice. Don’t settle.”  อันนี้เป็นความมั่นใจในตัวเองอย่างสูงของ Steve Jobs ที่ทำให้ Apple Store เป็นร้านค้าปลีกที่มีรายได้ต่อตารางฟุตสูงที่สุดในโลกทั้งๆที่ในปี 2001 บริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ฮิตวิธีปฏิบัติของ Dell ที่ขายตรงให้กับลูกค้า ไม่ต้องมีหน้าร้าน  แต่ Apple เองก็เป็นบริษัทที่มักจะทำอะไรสวนทางกับชาวบ้านเสมอ     หรือคำพูดที่ว่า “It’s only by saying no that you can concentrate on the things that are really important.” ที่มันเป็นเรื่องของการเลือก เลือกทำ เลือกไม่ทำ ต้องชัดเจน  Steve Jobs ชัดเจนว่าไม่ทำ PDA ทั้งที่ในช่วงนั้น PDA เป็นสินค้ายอดฮิต    การเลือกไม่ทำ PDA นั้น ก็นำไปสู่การพัฒนา iPod ขึ้นมา    Steve Jobs มั่นใจขนาดที่บอกว่า “A lot of times, people don’t know what they want until you show it to them.” ซึ่งก็กลายเป็นที่มาของทั้ง iPhone iPad เป็นสิ่งที่เห็นได้อีกว่า Apple เน้นการสร้างความต้องการใหม่ๆ ให้ลูกค้ามากกว่าการตอบสนองความต้องการเดิมๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นการพิสูจน์ได้ว่าการจิตวิญญาณในการคิดต่างของตนเองโดยเชื่อมั่นในความคิดของตนเองนั้นนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวได้อย่างสวยงาม จนตายไปคนก็ยังยอมเป็นสาวกอย่างไม่ลดละ  
ทีนี้เรามาดูกันว่า จิตวิญญาณของผู้ประกอบการมันมาจากอะไรได้บ้าง... 
1. ความปรารถนาอันแรงกล้า (Passion)  ที่เป็นเหมือนเชื้อเพลิงสุมใจให้ใฝ่ดี ใฝ่สูง ใฝ่สำเร็จ เป็นสุดยอดแห่งผู้ประกอบการ  ผู้ประกอบการที่ปราศจาก passion ไปได้ไม่ไกล คว้าได้แค่ความสำเร็จอันน้อยนิด    ไม่สามารถก้าวข้ามเขตบ้านตัวเองออกไปยิ่งใหญ่ที่อื่น    ต้องถามตัวเองว่า รักในสิ่งที่ทำอยู่เข้าใส้หรือเปล่า ต้องการความสำเร็จระดับไหนในชีวิต     ถ้าต้องการดังนอกบ้าน ลองมาดูประโยคเด็ดๆที่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้พูดไว้และสะท้อนถึง passion ที่ชัดเจน
Howard Huge “ I want to be remembered for only one thing – my contribution to aviation.”  
Madam C. J. Walker “ I am not satisfied in making money for myself. I endeavor to provide employment for hundreds of the women of my race.”
Richard Branson “ What does the name Virgin mean? We are a company that likes to take on the giants. In too many businesses, these giants have had things their own way. We are going to have fun competing with them.”  
Steve Jobs  “....the only way to do great work is to love what you do.”
Marc Jacobs “ I love to take things that are everyday and comforting and make them into the most luxurious things in the world.”
เหล่านี้ี่คือ passion ที่แท้และจิตวิญญาณของผู้ประกอบการมาจาก passion ซึ่งผู้ประกอบการมีทั้งด้านการทำธุรกิจและชีวิตส่วนตัวแบบสุดสุด    passion ก่อให้เกิดความมั่นใจ การเชื่อในตัวเอง ยืนหยัดในสิ่งที่เลือกไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรขนาดไหนก็จะไม่ท้อถอย ทำให้ผู้ประกอบการมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ  สามารถหาหนทางใหม่ๆได้เสมออย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น       
2. ความคิดเชิงบวก (Positivity) เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิด entrepreneurial spirit    คนที่รู้ซึ้งถึงการคิดบวก รู้ถึงอำนาจการคิดบวกที่มีผลต่อความสำเร็จคนหนึ่งในปัจจุบัน คือ Jeff Bezos ผู้ยึดคติประจำใจในการดำรงชีวิตว่า "every challenge is an opportunity" เป็นผู้สร้างให้โลกนี้ให้มีร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก   Amazon.com ที่เกิดขึ้นในปี 1995 มียอดขาย $20,000 ต่ออาทิตย์ภายในแค่สองเดือนโดยปราศจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดใด   แต่อีกห้าปีต่อมาหุ้น Amazon ตกลงจาก $100 เหลือ $6   มีนักวิจารณ์หลายคนบอกว่า Barnes & Nobles ซึ่งเป็น website คู่แข่งจะกวาด Amazon ลงไปจากเวที    แทนที่ Bezos จะหลีกลี้หนีหน้า หลบมุม คนนี้ฮึดสู้ด้วยแรงบวกทั้งหมดที่มี ด้วยความมั่นใจ  มุ่งในของดีที่ Amazon ยังคงมีอยู่และขยายจนเดี๋ยวนี้เราสามารถหาทุกอย่างได้จาก Amazon ไม่ว่าจะเป็นสากกระเบือยันเรือรบ จนเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง $5.7 พันล้าน   จิตวิญญาณผู้ประกอบการของ Bezos เกิดจาก positive thinking ในชีวิต แม้กระทั่งภรรยาของ Bezos  ยังบอกว่า "If Jeff is unhappy, wait three minutes." 
3. การปรับตัว (Adaptability) ความสามารถในการปรับตัวเป็นจุดแข็งที่สุดของผู้ประกอบการที่พึงมี เราจะเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและสามารถก้าวข้ามขอบเขตความกลัวไปสู่การปรับตัวได้  ต้องมีจิตพร้อมจะปรับปรุง ปรับแต่ง เปลี่ยนให้สินค้าหรือบริการสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง    founder ของ Google คือ Sergey Brin และ Larry Page ใช้แนวคิดนี้ในการสร้าง Google ให้เป็นพระเจ้าของเรา  ซึ่งไม่ใช่แค่ใช้ในการเปลี่ยนแปลง แต่ใช้ adaptability  เป็นเหมือนแสงนำวิถีชีวิต  Google จึงทำให้เราเห็นหรือทำในสิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่เคยทำมาก่อน (ลอง Google Earth แล้วจะรู้)   ด้วยการปรับตัวตลอดเวลานี้เองที่ทำให้ Google ก้าวนำไปหนึ่งก้าวเสมอและถือเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดบริษัทหนึ่งบน web ที่มาจากจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่ปรับเพื่อต้องการครองอันดับหนึ่ง ต้องการโตอย่างต่อเนี่อง
4. การมีภาวะผู้นำ (Leadership) ผู้ประกอบการที่มีความเป็นผู้นำที่ดี หมายถึง คนที่มี charisma มีจริยธรรม มีแรงขับในการสร้างให้องค์กรมีศักดิ์ศรี มีความกระตือร้อล้น เห็นความสำคัญของทีมและเป็นครูที่เจ๋ง และทั้งหมดนี้อยู่ในตัวตนที่แท้ของ Mary Kay Ash ผู้สร้าง Mary Kay Cosmetics ให้เป็นบริษัทที่ช่วยให้ผู้หญิงเป็นล้านได้สมหวังในความฝันที่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ  จิตวิญญาณของผู้ประกอบการฉายชัดอยู่ในตัวของ Ash ซึ่งเป็นเพียง single mom เริ่มทำงานจากระดับพนักงานขายสินค้าประเภท home products และได้เป็น top sales director มา 25 ปี แต่ได้รับการปฎิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเลื่อนตำแหน่งและขึ้นเงินเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย      Ash คงเซ็งว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงออกมาตั้ง Mary Kay Inc. ในปี 1963 ด้วยเงินเพียง $5,000  ในวงการผู้ประกอบการของอเมริกาถือว่า Ash มีชื่อเสียงในเรื่องการโน้มน้าวจิตใจคน เป็น inspirational leader ที่สร้างบริษัทมาด้วยทัศนคติ "You can do it " ที่เป็นการสร้างจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่สร้างแก่คนในบริษัทด้วย  วันดีคืนดีมีแจก pink Cadillac ให้ top sales director เป็นกำลังใจ  Ash ถือเป็น one of the 25 most influential business leaders และบริษัทนี้ได้รับการยอมรับเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจากจิตวิญญาณของผู้ประกอบการหญิงที่แข็งแกร่ง
5. ความทะเยอทะยาน (Ambition) โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบคำนี้ แต่คิดว่าจิตวิญญาณของผู้ประกอบการเกิดมาจาก ambition แน่ๆ  ไม่เช่นนั้นผู้หญิงตัวเล็กๆอย่าง Debbi Fields เมื่ออายุ 20 และไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองคงไม่สามารถสร้างธุรกิจขาย cookie อย่าง Mrs. Fields ให้มีมูลค่าถึง $ 450 ล้าน มีสาขา 600 สาขาในอเมริกาและเป็นสิบสาขาในต่างประเทศ  Fields เป็นแค่แม่บ้านธรรมดาที่ไม่มีประสบการณ์ทางธุรกิจ แต่มีสูตร chocolate chip cookie และมีความใฝ่ฝันให้คนทั่วโลกได้ชิมฝีมือ มีแต่คนว่าเธอเพี้ยนหรือเปล่าที่เชื่อว่าจะอยู่รอดได้ด้วยการขายแค่ cookie ยังไม่ต้องคิดไปถึงขายได้นอกประเทศ แต่คุณเธอไม่สน เพราะเธอมีความทะเยอทะยานขั้นเทพฝังอยู่ในจิตวิญญาณ  เริ่มจากปี 1977 เปิดร้านแรก จนตอนนี้ แม้แต่เมืองขนมหวานอย่างเมืองไทยก็ยังได้ชิม cookie สูตรเด็ดของเธอจริงๆ 
คราวนี้หันกลับมามองเราบ้าง... ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะโทษบุญโทษกรรมที่ทำมาตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือคิดว่าเป็นที่พันธุกรรม เชื้อสายเราไม่ดี หรือคิดว่าเป็นเพราะพื้นฐานการเลี้ยงดูและการศึกษา ที่ทำให้เราไม่ไปถึงไหนเหมือนผู้ประกอบการระดับโลก แต่จริงๆ แล้วความสามารถของแต่ละคนไม่ธรรมดา เหมือน Einstein ว่าไว้ ทุกคนเป็น genius ทั้งนั้น มันอยู่ที่เราหวังให้ปลามีความสามารถปีนต้นไม้เก่งหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ปลามันก็คงคิดว่ามันโง่ทั้งชาติ ในการเป็นผู้ประกอบการนั้นการรู้จักตัวตนของเราสำคัญ ต้องรู้ว่าเรามี passion อะไร แรงพอไหม คิดบวกหรือเปล่า หรือวันๆเอาแต่โทษชาวบ้าน มุ่งมั่นมีความทะเยอทะยานมากพอหรือเปล่า เปลี่ยนเป็นไหม ปรับตัวได้ไหม แข็งแกร่งเป็นผู้นำพอที่จะพาธุรกิจไปให้สาสมกับที่คาดหวังได้หรือไม่  คิดใหม่และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้เหมาะกับลูกค้าเป้าหมายได้ไหม จะสร้างจิตวิญญาณผู้ประกอบการที่พร้อมจะไปลุยต่างประเทศนั้นไม่ยาก  อยู่ใจพร้อมจะไปหรือเปล่าและมีจิตวิญญาณแบบจัดเต็มจัดหนักหรือเปล่า พวกนี้ฝึกกันได้ และไม่ได้อยู่ที่ความรู้เท่านั้น เพราะความรู้นั้นเรียนมากันก็มาก แต่ไม่ไปถึงไหนเพราะไม่รู้จริง มีแต่ความรู้ ไม่มีการรู้หรือปัญญาพอที่จะประเมินตัวเอง รู้จักตัวเองว่ามีจุดอ่อนที่ไหนแล้วจี้ให้ถึงที่สุดจนยอมต้องปรับ แล้วจึงไปได้ อยากให้ลองวิชาของ Clayton M. Christensen และพรรคพวกที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Innovator’s DNA เพราะเชื่อว่าการประกอบการเป็นเนื้อเดียวกับนวัตกรรม เป็นพฤติกรรม ทักษะที่ฝึกได้  พวกนี้ได้ศึกษาวิจัยและสรุปออกมาเป็นทักษะที่สำคัญ 5 ประการที่ผู้ประกอบการฝึกได้และจะทำให้เพิ่มจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แจ๋วในธุรกิจของตน
  1. ทักษะในการคิดเชื่อมโยง (Associating) ถ้าเราสามารถคิดเชื่อมโยงโดยดูเหตุปัจจัยครบ จะคิดกว้าง มองกว้าง มีวิสัยทัศน์บรรเจิดเกิด passion แรงๆได้  ไอ้ที่ไม่มี passion คือ คิดใหม่ไม่เป็น คิดบวกไม่ได้มันอยู่ที่เราแคบ มองยังไงก็ไม่ทะลุ ติดกับความกลัวตัวเอง เลยตกลงอยู่ที่ปลอดภัยไว้ก่อน passion ไม่เกิด positivity ไม่ได้ 
  2. ทักษะในการตั้งคำถาม (Questioning) อย่ายอมในสิ่งที่คุ้นเคย หรือ มันเป็นไปตามที่มันเป็น มันจะวนอยู่เช่นกัน การตั้งคำถามจะทำให้ปรับตัวได้ดีขึ้น ตั้งคำถามให้เปลี่ยนจริตตัวเอง ท้าทายตัวเองด้วยการถามในสิ่งที่ไม่น่าถามด้วย ฝึกปรับตัวออกจากโซนสบายมุ่งสู่โซนเรียนรู้และปรับตัว  
  3. ทักษะการสังเกตุ (Observing) การที่เราเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของคน ของลูกค้า เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า คนที่ล้มเหลว คนที่สำเร็จ จะทำให้ได้ข้อมูลมาช่วยตัดสินความทะเยอทะยานของเราว่าจะไปถึงเหมือนคนอื่นไหม มีอะไรที่เราทำได้มากกว่าคนอื่น หรือมันอาจจะเป็น short cut สู่การบรรลุ ambition ของเรา 
  4. ทักษะการสร้างเครือข่าย (Networking) เป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่เราได้พบเจอหรือแลกเปลี่ยน ฝึกความเป็นผู้นำมากขึ้นจากการเป็นผู้นำแค่ในองค์กร เป็นสนามนอกบ้านที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ประเมิน leadership ของตนได้อย่างดี ในบริษัทเราอาจจะชัด แต่ถ้าข้างนอกความเป็นผู้นำของเรายังฉายอยู่หรือเปล่า และเครือข่ายจะเปิดหูเรา ให้หัดรับฟังคนอื่นให้เป็น เปิดมุมมองและโอกาสใหม่ๆที่จะก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ แต่คงต้องเลือกเครือข่ายให้ดีด้วย 
  5. ทักษะการทดลอง (Experimenting) ไม่ใช่แค่ใจถึงพึ่งได้ แต่ต้องใจกล้าลอง การทดลองเป็นการเรียนรู้ที่ดีของผู้ประกอบการ อย่ากลัวที่จะลองสิ่งใหม่ ฝึกใจให้เข้มแข็ง ขยับปีกไปสู่ดินแดนใหม่ 
มันไม่ได้ยากขนาดนั้นเพียงแค่ 5 ทักษะนี้ที่จะก่อให้เกิดการผุดขึ้นมาของจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมจะโลดแล่นไปสู่โลกกว้าง

1 ความคิดเห็น: