วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

วิทยากรใจถึง ตอนที่ 2



There is a big difference between recognizing a situation may be out of your control 
and letting it drive you out of control.

Grant M. Bright












สถานการณ์ที่เหมาะสมในการใช้วิธีการมีส่วนร่วม (Situations to Apply the Approach)



เรื่องของสถานการณ์ที่เหมาะสมในการใช้วิธีการการมีส่วนร่วมนั้นน่าคิด บ่อยครั้งที่เจอคำถามว่าสถานการณ์ใดบ้างที่เหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้ Participatory Approach หรือ มีข้อจำกัดหรือไม่ถ้าพิจารณาตามกลุ่มของผู้เข้าร่วม ประเภทของเนื้อหา ที่เด็ดคือคำถามว่า..มีสถานการณ์ใดที่ใช้ Participatory Approach แล้วไม่เกิดประโยชน์บ้าง อันนี้ถือว่าท้าทายกันเลย หรือ อาจมีอีกหลายคำถามที่ยังค้างคาใจแต่ไม่กล้าถาม   จะยังไงก็ตาม..จากประสบการณ์แล้ว คิดว่าถ้าเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทั้งหลาย การฝึกอบรมและการวางแผนแล้ว   Participatory Approach จะมีส่วนช่วยได้มาก ทั้งนี้มาช่วยกันพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้
  • สถานการณ์เกี่ยวกับการฝึกอบรมและการเรียนรู้

ในสถานการณ์นี้....ระดับความรู้เบื้องต้นและความเหมาะสมของเนื้อหาวิชาเป็นสิ่งที่สำคัญมากซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองกรณี คือ

1. เนื้อหาวิชาที่ผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์อยู่แล้ว
ถ้าเนื้อหาวิชาเป็นเรื่องราวที่กลุ่มผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์อยู่แล้ว จุดประสงค์ของการพบปะ คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนนี้ น่าจะเกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ ถ้าคนเห็นว่าในสถานการณ์ที่คล้ายกันนั้นคนอื่นมีการแก้ปัญหาอย่างไร ผู้เข้าร่วมจะได้ความคิดในการแก้ไขปัญหาของเขาเองจากผลลัพธ์ของประสบการณ์ทั้งหมดที่แบ่งปันกัน กลุ่มไม่เพียงแต่จะได้แนวคิดใหม่และหลักการ แต่หากได้ know-how ในการนำไปใช้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้มาจากการเคลื่อนไหวของข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ที่ไหลเวียนกันไปมาในระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วม และแน่นอน..จากการอำนวยการของทีมวิทยากรเพราะไม่ได้มีการกำหนดแนวทางไว้ล่วงหน้า แต่จะเกิดขึ้นในระหว่างการอภิปราย

2. เนื้อหาวิชาที่อยู่นอกเหนือจากประสบการณ์และความรู้ของผู้เข้าร่วม
อันนี้ยากกว่าเพราะว่าการฝึกอบรมนั้นจะประกอบไปด้วยเนื้อหาวิชาหลายส่วน ซึ่งอาจจะใหม่เอี่ยมถอดด้ามเลยก็ได้สำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วม ดังนั้นใช้วิธีการอภิปรายไม่ค่อยเหมาะ เพราะในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ จะไม่สามารถทำให้เกิด know-how ได้ในการอภิปราย  ควรเน้นใช้การเรียนรู้แทน  ใช้วิธีการการมีส่วนร่วม โดยอาจใช้กรณีศึกษาหรือกิจกรรม เพื่อสร้างประสบการณ์ ความคุ้นเคยต่อเนื้อหาก่อน ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้เข้าร่วมมองเห็นภาพรวมของเนื้อหา ภาพตามความเป็นจริง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานก่อนจะประยุกต์ใช้และอภิปรายใน know-how ใหม่ ๆ     

ส่วนใหญ่...ในกรณีของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือการฝึกอบรมนั้น สภาพการทำงานจริงของผู้เข้าร่วมจะเป็นตัวกำหนดเนื้อหา แปลว่า..ถ้าวิทยากรรู้ปัญหาจริง รู้รายละเอียด วิทยากรน่าจะเล็งเห็นถึงทางแก้ไขที่เหมาะสม แต่ก่อนอื่นต้องเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมก่อนจึงจะทำให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพได้ และนี่คือรูปแบบของการฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วมที่ให้ความสำคัญต่อกลุ่มผู้เข้าร่วมเป็นหลัก หรือ ที่เรียกกันว่า Participant-oriented Approach
  • สถานการณ์เกี่ยวกับการวางแผน

ในการสัมมนาเชิงปฎิบัติการที่เป็นการวางแผน (ปกติเห็นแต่นั่งฟังกันสลอน สิ้นวันก็กลับบ้าน เรียกกันได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นการวางแผนร่วมกัน) จะเป็นการวางแผนระยะไหนก็ตาม หรือ จะเป็นการวางแผนกลยุทธ์ วางแผนยุทธศาสตร์ ล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนต้องอาศัยทั้งการติดต่อสื่อสาร การวางแผนและการตัดสินใจ หากในกรณีมีผู้เกี่ยวข้องมาก กลุ่มผลประโยชน์หรือสถาบันเกี่ยวข้องจำนวนมาก สถานการณ์จะยิ่งยากมากขึ้น (แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ รู้จัก open space technology หรือเปล่า..) คำถามมีอยู่ว่าควรจะให้มีผู้คนเกี่ยวข้องมากหรือน้อยในกระบวนการวางแผน การยอมให้ใช้สิทธิในการออกเสียงตัดสินใจนั้นอาจเป็นสาเหตุแห่งการอภิปรายที่เป็นการโต้เถียง ลองดูความเห็นสามส่วนต่อไปนี้ที่จะชี้ให้เห็นถึง participation dilemma ไม่ร่วมก็ต้องร่วมแล้ว

การติดต่อสื่อสาร
ถ้าการมีส่วนร่วมหมายถึง one man = one vote การมีส่วนร่วมแบบนี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในกลุ่มเล็กใช่หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ แต่ปกติแล้วในกลุ่มใหญ่ การติดต่อสื่อสารจะเป็นแบบทางเดียว (เพราะมันง่าย วิทยากรดูขลัง..สงสัยอยากเป็นพระเครื่อง)  วิทยากรจะใช้บทบาท(ที่คิดว่ายิ่งใหญ่)ในการเปลี่ยนกลุ่มผู้เข้าร่วมให้กลายเป็นกลุ่มที่เปิดรับเพียงอย่างเดียว (..แย่จัง)  ซึ่งแน่นอน..ลองคิดดูว่าถ้ามีใครระงับสิทธิการพูดของเราหรือเราไม่มีส่วนร่วม จะรู้สึกอย่างไร กลายเป็นคนไม่มีวาสนา คนไม่สำคัญ การตัดสินใจจะเกิดขึ้นได้ยากมาก และนี่เป็นความจำเป็น ไฟล์ทบังคับให้เกิดการมีส่วนร่วมใช่หรือไม่ 

การวางแผน 
อย่างที่บอก..การวางแผนจะเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เรื่องของปัญหาส่วนใหญ่ซับซ้อน เพราะเราไม่ค่อยกล้าตรง มักจะมีอะไรหมกไว้ เป็นเรื่องยุ่งที่ต้องสาง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยความคิดที่หลากหลายเป็นแนวทางในการวางแผน และถ้าไม่ให้เกิดการมีส่วนร่วมมันจะเป็นการวางแผนที่ดีได้อย่างไร   แต่ส่วนมากแนวทางการวางแผนจะออกมาในรูปของรายงานฉบับใหญ่ ๆที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการซึ่งมักถูกเก็บไว้ในลิ้นชักหรือชั้นวางเอกสาร ถึงแม้ว่าจะมีแนวความคิดที่สร้างสรรค์ดี ๆ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ แต่ผู้คนมักจะขาดการรับรู้ ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ไม่เข้าใจและบางครั้งไม่มีเวลาจะอ่านอีกด้วย...และนี่ก็เป็นความจำเป็นอีก..ที่ต้องมีส่วนร่วม

การตัดสินใจ 
การตัดสินใจที่ดีสามารถทำได้ร่วมกันหรือไม่ (ไม่ได้ก็ต้องได้ ไม่งั้นไม่ดี)  บ่อยครั้งที่คณะกรรมการจะเป็นกลุ่ม(เบ็ดเสร็จ)ที่ตัดสินใจว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ โดยใคร ใช้เงินเท่าไหร่  ไม่เชื่อก็ไปดูพวกแผนยุทธศาสตร์ แผนจังหวัดได้เลย (คนคิดไม่ได้ทำคนทำไม่ได้คิด)     ซึ่งปรากฎชัดว่าหลังจากนั้นผลของมันไม่เป็นไปดังที่คาดหวังไว้ เพราะอาจจะมีความเข้าใจผิด การต่อต้าน ความไม่ใส่ใจและการขัดขวางเกิดขึ้นได้เนื่องจากการไม่มีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ...และนี่ก็เป็นความจำเป็นอีก

เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนวิทยากรต้องการบางสิ่งที่มากกว่าแค่การแก้ปัญหาด้วยเทคนิค หรือ โดยวิธีการ   วิทยากรต้องตระหนักว่าคนเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการวางแผน  ไม่ใช่สิ่งของที่จะผลักดันไปทางใดก็ได้ และต้องรู้ว่าเป็นการยากสำหรับคนที่จะเปลี่ยนทัศนคติในเวลาอันสั้น โดยทั่วไปแล้วการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงยังคงมีอยู่ในคน (คนไทยแก่ๆไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง)   ดังนั้นจึงเป็นการยากเหลือเกินเมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติคนกลุ่มใหญ่  แต่ถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้ เราจะต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ ช่วยกันเปลี่ยนกระบวนในการนำ ตลอดจนการประเมินผลเพื่อมุ่งไปยังการเรียนรู้ร่วมกัน  การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ แปลว่าเราต้องให้ผู้เข้าร่วมได้ทำงานตามแนวคิดและเชื่อมโยงการปฏิบัติร่วมกัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ...คนได้รับความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการเสริมความมั่นใจและการตัดสินใจที่ดี

ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยน... CHANGE สำคัญ.....    Participatory Approach ถือเป็นวิถีแห่งพลวัต  เพราะสถานการณ์ที่เราเจอ..มีปัญหาซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายคน วิทยากรจะสามารถอำนวยการไปยังสิ่งที่เรียกกันว่าการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้และยิ่งยืน ก็โดยการกระตุ้นกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มีประสิทธิภาพในการแสดงความคิดเห็นร่วมกันเท่านั้น

คำตอบสุดท้าย...กลุ่มของผู้เข้าร่วม 
ในหลายกรณีการอภิปรายที่เกิดขึ้นจะมีความเหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ แต่จากประสบการณ์แล้วปรากฏว่าทุกคนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ วิทยากรสามารถใช้ Participatory Approach ได้ ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงว่าวิธีการนี้สามารถบูรณาการกลุ่มที่มีส่วนประกอบที่หลากหลาย และพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริง (ไม่เชื่อให้ตามไปดูเวลา facilitate ก็ได้ ถ้ามีเวลา)   การต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะมาจากพวกที่เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญที่ใจแคบทั้งนั้น (ต้องเรียกเป็นภาษาลาวให้เข็ด... ผู้เสียวซ่านเบื้องลึก) 

อย่างไรก็ตามแม้กระทั่งกลุ่มที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็ยังสามารถประยุกต์ใช้วิธีการนี้ได้เช่นกัน โดยที่วิทยากรใช้กราฟหรือรูปภาพซึ่งจะทำให้เขาสามารถมองเห็นถึงภาพรวมได้ ทว่าวิธีการนี้ที่ได้กล่าวถึงตามหลักการแล้วเหมาะสมจะใช้สำหรับผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้ และสามารถใช้ได้ทั้งในการประชุมในสำนักงาน ระดับท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งการประชุมระดับชาติ .. อยู่ที่ใจยอมรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น