วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

วิทยากรใจถึง ตอนที่ 1

The best and most beautiful things in this world 
cannot be seen or even heard, 
but must be felt with the heart.
Helen Keller


วิธีการมีส่วนร่วม (Participatory Approach)
ขั้นตอนพื้นฐานของวิธีการ 
(The Basic Steps of the Approach)


ปัจจุบันมีการกล่าวถึงการมีส่วนร่วม การบูรณาการ และการเรียนรู้กันมากมาย น่าเสียดายที่หลายครั้งเป็นเพียงคำพูดเพราะว่าในวงการวิทยากร มีความเห็นและได้เห็นการปฏิบัติว่าได้ทำกันน้อยเหลือเกิน จึงคิดว่าเราน่าจะมาทบทวนวิธีการ หลักการเพื่อหาแนวทางในการร่วมกันปฏิบัติให้มากขึ้น โดยอยากเริ่มต้นที่วิธีการมีส่วนร่วมและขั้นตอนก่อน วิธีการมีส่วนร่วมน่าจะมีอยู่ 4 ขั้นตอนพื้นฐาน ที่ก่อให้เกิดกระบวนการ เรื่องราว ในกลุ่มผู้เข้าร่วมทุกประเภท

ขั้นตอนที่ 1: ใครบ้างไม่อยากม่วนชื่น

คำกล่าวที่เราคุ้นเคยว่า การเริ่มต้นด้วยดีเหมือนสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งนั้น เป็นความจริงที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ความมีชีวิตชีวาและการอารัมภบทมีความสำคัญ การสร้างบรรยากาศของความเป็นมิตร การเคารพ การยอมรับและเชื่อถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการนำแบบมีส่วนร่วมเหมือนกับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งยังไงยังงั้น เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม อบรม หรือสัมมนา ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของงานของเราและการเริ่มต้นด้วยดี จึงถือเป็นความจำเป็นที่ผู้เข้าร่วมและทีมวิทยากรคงจะต้องใช้การพิจารณาถึงหลายสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้
  • ผู้เข้าร่วม (The Participants) Who are we?
    • ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลหน่วยงาน
    • ความคาดหวัง / ความกังวล / สิ่งจูงใจ

หลังจากพิธีการทั้งหลายตามธรรมเนียม (ก็พิธีเปิดนั่นหละ) ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ วิทยากรสามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการละลายพฤติกรรมผู้เข้าร่วมก่อนหรือบางทีก็เรียกกันว่าละลายน้ำแข็ง (unfreezing) ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกัน หรือจะให้มีการแนะนำตนเองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับเวลา หัวเรื่อง กลุ่มผู้เข้าร่วม และจำนวนผู้เข้าร่วม เพราะว่า ในบางครั้งหากมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ผู้เข้าร่วมมีจำนวนมาก หรือเป็นหัวเรื่องที่เน้นด้านวิชาการ วิทยากรควรเลือกใช้การแนะนำตนเอง (self-introduction) แทนการใช้กิจกรรมละลายพฤติกรรม ทั้งนี้วิทยากรควรศึกษาข้อมูลผู้เข้าร่วมล่วงหน้าจะได้รู้ว่าต้องเจอกับใครบ้างและจะได้เตรียมตัวให้พร้อม อย่างน้อยเป็นการประเมินกลุ่มเบื้องต้น นอกจากนั้น อย่าคิดว่าเป็นการเสียเวลา หรือ คิดว่ารู้ความต้องการอยู่แล้ว การถามถึงความคาดหวัง ความกังวล หรือสิ่งจูงใจในการเข้าร่วมจะทำให้เรารู้จักกลุ่มเป้าหมายของเรามากขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้นในการนำ และที่สำคัญไม่ต้องกลัวเสียฟอร์ม เนื่องจากหลายคนคิดว่าการละลายพฤติกรรม การละลายน้ำแข็งเป็นเรื่องเล่นๆ ทำให้เสียมาดวิทยากรผู้ทรงภูมิ (ภูมิใจผิดๆน่ะซิ) เอาเป็นว่าควร เน้น function ไม่เน้น form ชีวิตนี้เลือกได้ จะฟอร์มจัดตลอดชาติโดยไม่สนใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย งานของเราก็คงเป็นการเสียเวลา เสียทรัพย์ คนเก่งยังไงก็เก่ง ให้คนอื่นบอก ดีกว่าบอกตัวเอง ถ้าทำใจไม่ได้จริงๆก็แค่สร้างรอยยิ้ม เล่าเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้เข้าร่วม หรือ เรื่องที่เกี่ยวพันกับหัวข้อเป็นการอารัมภบทนำเข้าสู่เนื้อหา ก็ถือว่าสร้างบรรยากาศได้เหมือนกัน

การละลายพฤติกรรมที่ดีแสดงถึงฝีมือวิทยากรในการกระตุ้นให้คนแสดงความคิดเห็นได้เร็วขึ้น เพราะปกติเราก็มีเวลาน้อย ไม่ได้มีเวลาทั้งชาติที่จะรอให้คนพร้อม คนบ้านเรายังไงก็ไม่พร้อม กระตุ้นแล้วยังรู้สึกว่ายากที่จะให้คนสบายใจพอที่จะพูด หรือ แสดงความเห็น การรู้จักผู้เข้าร่วมถือเป็นข้อได้เปรียบลำดับแรกๆของวิทยากร และทำให้งานเราง่ายขึ้น
  • เนื้อหา (The contents) Why do we meet?
    • ความตั้งใจ / เจตนา / จุดมุ่งหมาย
    • สภาพความเป็นจริงของเนื้อหา / ความเป็นไปได้ในการให้แนวทางในการแก้ไขปัญหา

ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่วิทยากรจะต้องเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการอบรม สัมมนา หรือการประชุมในครั้งนั้น ตลอดจนสถานการณ์และปัญหาปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อการอำนวยการที่มีประสิทธิภาพตรงจุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เข้าร่วม เพราะฉะนั้น การแสวงหาข้อมูลปัจจัยหลักที่มีความเกี่ยวพันในการใช้พิจารณาและแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นส่วนที่วิทยากรคงต้องรู้ก่อนที่จะดำเนินการในการอบรม สัมมนาหรือการประชุม
  • วิธีการ (The methods) How are we going work?
    • จะดำเนินการอย่างไร
    • กฎ กติกา มารยาท
    • คำถามที่เกี่ยวกับหัวข้อจะมีอะไรบ้าง
    • จะกระตุ้นความสนใจอย่างไร 

นอกจากขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น วิทยากรควรประชุมร่วมกับทีมงานทั้งในส่วนของผู้จัดและทีมวิทยากรด้วยกัน เพื่อการเตรียมการณ์เกี่ยวกับเทคนิควิธีการที่จะนำใช้ การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมและการเตรียมคำถามล่วงหน้าถือเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทีมงานและการแบ่งงานให้กับทีมงาน นอกจากนี้จะเป็นการพิจารณาปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินการ ซึ่งหัวหน้าทีมวิทยากรจะเป็นผู้เรียกประชุม เตรียมกำหนดการ รายการอุปกรณ์และเอกสารที่จะใช้

วัตถุประสงค์ของขั้นตอนที่ 1
เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้ การอภิปรายอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ตลอดจนกระตุ้นและจูงใจกลุ่มให้มีส่วนร่วม

ขั้นตอนที่ 2: ใครบ้างไม่ชอบทีมดีๆ

การทำงานกลุ่มทำให้เกิดการเรียนรู้ แก้ไขปัญหาได้ดี (คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หลายคนยิ่งสบาย) เมื่อได้เตรียมพื้นฐานแล้วและแน่ใจว่าทุกคนพร้อมที่จะมีส่วนร่วม กลุ่มจะเริ่มเข้าสู่กิจกรรมโดยวิทยากรจำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดซึ่งเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อให้เป็นที่เข้าใจทั่วกันอย่างชัดเจน และเนื่องด้วยคุณภาพผลลัพธ์จากกลุ่มจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละบุคคลจะให้หรือบอก ดังนั้นจะต้องแน่ใจว่าทุกคนมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น ให้ความสนใจอย่างจริงจัง เปิดช่องให้ทั่วถึง อย่าปิดปุ่มรับรู้ ของตัวเอง สำคัญที่สุด เปิด คือ ได้
  • การมองปัญหา What is my view of the problem?

การให้เวลาคิดพิจารณาเพื่อแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับหัวข้อก่อนการเริ่มอภิปราย สำคัญ คือ คิดก่อนพูด ใน Participatory Approach การใช้ความคิดเป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากผลลัพธ์ที่เยี่ยมอย่างแท้จริงไม่ได้มาจากวิทยากร แต่จะมาจากความคิดของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก วิทยากรต้องทำใจ อย่าเพิ่งเก่ง เวทีนี้ไม่ใช่ของเรา ดังนั้น ก่อนจะเริ่มอภิปรายวิทยากรต้องแน่ใจว่าได้ให้เวลาผู้เข้าร่วมคิดก่อน ซึ่งอาจจะใช้กิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่หัวเรื่อง ใช้การเล่าเรื่องที่มีความเกี่ยวพันหรืออาจจะเป็นการเกริ่นนำเข้าสู่เรื่องที่จะอภิปราย ข้อควรระวังในกรณีนี้ คือ อย่าใช้เวลานานเกินไปจะทำให้น่าเบื่อและบางครั้งอาจเป็นการครอบงำทางความคิดโดยวิทยากรไม่รู้ตัว ต้องมุ่งหมายให้ความสำคัญกับผู้เข้าร่วมและเป็นการกระตุ้นให้คิดแทน เพื่อการมองปัญหา หรือ เรื่องต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและยังเป็นการปรับผู้เข้าร่วมให้อยู่ในบรรยากาศเดียวกันอีกด้วย ในกรณีนี้ วิทยากรอาจใช้แผ่นกระดาษ บัตรคำ แล้วแต่จะเรียก(METAplan card หรือ ZOPP card) เป็นเครื่องช่วย เป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่จะสามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้ความคิดก่อนที่จะลงมือเขียนและพูดในเวลาต่อมา เทคนิคนี้จะประกันว่าทุกคนได้ออกความคิดถึงแม้จะไม่ได้พูด อย่าลืมว่า...ความคิดทุกความคิดมีความหมายยิ่งต่อการมองปัญหา
  • การพูด What do I want to say?

ผู้เข้าร่วมล้วนมีความคิดเห็น ซึ่งมักจะแตกต่างกัน ให้หาวิธีการแบบประชาธิปไตยในการพูดจาเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าทุกคนจะมีช่องในการพูดเท่า ๆ กัน การพูดเป็นการขยายความเข้าใจ เป็นช่องทางที่วิทยากรจะใช้ในการบูรณาการความคิดของผู้เข้าร่วม ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับวิทยากรแบบมีส่วนร่วม คือ การเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารให้ทั่วถึง ซึ่งวิทยากรจะใช้ทักษะในการสังเกตอย่างรอบคอบว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นแล้วหรือยัง และยังมีใคร มีผู้ใด ที่ยังไม่ได้พูดอะไรเลย แต่รอให้ถาม วิทยากรอาจใช้การมองหรือการเรียกชื่อ แต่จะไม่มีการบังคับให้ผู้ที่ไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นพูด เพราะจะเป็นการทำลายบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อพิจารณาว่าทุกอย่างกระจ่างแจ้งจนเข้าใจชัดเจน ไม่มีใครหลงทางก็ถือว่าเราทำหน้าที่ได้ดี
  • การบอกเล่าจากผู้อื่น What do the others tell me?

ความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มสมบูรณ์ ดังนั้น ควรจะมีการวิเคราะห์ความคิดเห็นว่าอะไรที่มีเหตุผลใช้ได้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน วิทยากรคงต้องใช้ทักษะในการอำนวยการ (facilitation) และบูรณาการ (integration) อย่างเต็มที่ในการจะก่อให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายขึ้นในกลุ่มผู้เข้าร่วม ในการนี้วิทยากรผู้ช่วยจะมีบทบาทในการบันทึกความคิดเห็นและการวิเคราะห์ของผู้เข้าร่วมบนบอร์ด หรือ อาจใช้แผ่นกระดาษ (META plan card หรือ ZOPP card) ที่ให้ทุกคนเขียนในกรณีที่บางคนไม่อยากพูด ซึ่งนั่นหมายความว่าทุกคนจะมีโอกาสที่จะออกความเห็น การแสดงข้อมูลบนบอร์ดไม่ว่าจะเป็นข้อความบนแผ่นกระดาษ หรือ เป็นข้อความจากการเขียนของวิทยากรผู้ช่วย เป็นการช่วยในการมองเห็น (visualization) แปลว่า ทุกข้อความจะปรากฎให้เห็นทั่วกันทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นที่อภิปราย เช่น ความถี่ของข้อมูล ความคิดเห็น ตลอดจนการวิเคราะห์และความหลากหลายของข้อมูลที่ปรากฏ เป็นต้น ที่สำคัญคือจะเกิดการเพิ่มเติมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมทันทีเนื่องจากภาพข้อมูลที่เห็นจะทำให้รู้ว่ายังมีข้อมูลอื่นที่ขาดหายไป ซึ่งการเพิ่มข้อมูลจะช่วยให้การวิเคราะห์ชองผู้เข้าร่วม มีความสมบรูณ์มากยิ่งขึ้น
  • การรวมกลุ่มย่อย Why do we form small groups?

เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงลึกมีรายละเอียดมากขึ้นและกระตุ้นการมีส่วนร่วม การแบ่งกลุ่มย่อยถือเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถติดต่อสื่อสาร แสดงความคิดเห็นกันได้ทั่วถึงมากขึ้น และยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงลึก ได้ข้อมูลที่ละเอียดครบถ้วนกว่าการอภิปรายในกลุ่มใหญ่ วิทยากรอาจจะทำการแบ่งกลุ่มได้หลายแบบ เช่น ถ้าต้องการแก้ปัญหา หรือ การวิเคราะห์ในเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ วิทยากรควรแบ่งกลุ่มตามลักษณะงาน ตามตำแหน่งหน้าที่หรือตามสาขา เป็นต้น เพราะว่ากลุ่มดังกล่าวจะสามารถอภิปราย ถกเถียงกันในรายละเอียดที่ตนรู้จริง หากต้องการความคิดเห็นที่หลากหลายหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ การคละกลุ่มจะได้ผลมากกว่าเนื่องจากมุมมองที่แตกต่างกันจะก่อให้เกิดแนวคิด แนวทางการแก้ไขปัญหาที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามวิทยากรควรคำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมในกลุ่มซึ่งต้องไม่มากจนคนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ปริมาณที่เหมาะสมในสถานการณ์ทั่วไปคือ 3-7 คนต่อกลุ่ม นอกจากนี้การกำหนดเวลาในการอภิปรายยังเป็นปัจจัยที่วิทยากรจะต้องพิจารณาให้ เหมาะสมกับสถานการณ์และความยากง่ายของหัวเรื่อง
  • ผลลัพธ์ What is our result?

การจัดโครงสร้างและระบบของผลลัพธ์ที่ได้มาจากกลุ่มย่อย สิ่งสำคัญ คือ ไม่ยัดเยียดความคิดเห็นของเราเป็นบทสรุป การประมวลผลลัพธ์จากการแสดงความคิดความเห็นในวิธีการมีส่วนร่วม จะเน้นผลลัพธ์จากผู้เข้าร่วมเป็นสำคัญ วิทยากรถือเป็นเพียงผู้ที่อำนวยการ (facilitate) ให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว การครอบงำและยัดเยียดความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็น taboo ข้อห้ามอันดับแรกๆของการเป็นวิทยากรแบบมีส่วนร่วม เนื่องจากหากวิทยากรตัดสินใจใช้ Participatory Approach แล้ว การให้ความเคารพ เชื่อถือ และยอมรับในผู้เข้าร่วมตลอดจนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ไม่เช่นนั้น คงต้องใช้วิธีแบบดั้งเดิม คือ การบรรยายซึ่งวิทยากรสามารถแสดงภูมิรู้ ความเก่งกาจ สามารถจองเวทีพูดอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมใดๆจากผู้อื่น อันนี้ก็ต้องแล้วแต่จะเลือก ถือเป็นทางใครทางมัน แต่ว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่แท้จริงเพราะทำให้ผู้เข้าร่วมไม่อยากแสดงความคิดเห็น
  • การเพิ่มเติม What is missing?

การทบทวนถึงบางสิ่งบางอย่างที่อาจขาดหายไป หรือ ไม่ได้นำมาอภิปรายโดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าในกรณีใดๆหลังจากการประมวลผลทุกครั้ง วิทยากรจะต้องถามผู้เข้าร่วมว่าจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลอีกหรือไม่ ถือเป็นการเปิดช่องทางในการติดต่อสื่อสารอีกครั้ง ในกรณีที่บางคนเกิดความคิดในระหว่างการประมวลผลลัพธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่ามีประเด็นสำคัญที่ขาดหายไปจากการอภิปราย การให้เพิ่มเติมจะทำให้เกิดความสมบรูณ์ของผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของขั้นตอนที่ 2
เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่ามีช่วงเวลาเพียงพอสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากคุณภาพของผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการสะท้อนความคิดส่วนบุคคล การอภิปรายของกลุ่ม และการนำเสนอผล

ขั้นตอนที่ 3: ใครบ้างอยากใจแคบ

ขั้นตอนการแลกเปลี่ยนผลลัพธ์เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลย้อนกลับ (feedback) และการเสริมกระบวนการทำงานกลุ่ม เพื่อวิทยากรจะได้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมสามารถออกไปจากห้องประชุมด้วยความสบายใจ ไม่คับข้องใจ ได้ผลลัพธ์ที่เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะประกอบไปด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย
  • การนำเสนอ How do we present our ideas?

การนำเสนอเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วม เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะมีความกระตือรือร้น ที่อยากฟังผลลัพธ์ของกลุ่มอื่นและอยากแสดงความเห็นของกลุ่มตนเอง ซึ่งวิทยากรอาจทำการเปิดช่องให้ซักถาม แสดงความเห็นในระหว่างการนำเสนอ หรือ เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอ ทั้งนี้จะขึ้นกับการบริหารเวลาของวิทยากรและความเหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้เข้าร่วมในขณะนั้น เช่น หากมีข้อจำกัดเรื่องเวลา วิทยากรควรให้มีการนำเสนอจนจบแล้วจึงให้มีการซักถาม ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถควบคุมเวลาได้ ส่งผลถึงกำหนดการที่คลาดเคลื่อน และ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม

ในบางสถานการณ์ที่ผู้เข้าร่วมมีความขัดแย้งในวงกว้าง การเปิดโอกาสให้ซักถามทันทีอาจก่อให้เกิดการโต้เถียงที่ไม่สิ้นสุดซึ่งถือเป็นฝันร้ายสุดสุดของวิทยากร ดังนั้น การบรรเทาความตึงเครียดคือ การยืดเวลาในการแสดงความคิดเห็นออกไป
  • การสร้างปฏิสัมพันธ์ How do we obtain interaction?
    • หารูปแบบการนำเสนอที่สร้างสรรค์
    • กระตุ้นการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม
    • จูงใจให้เกิดการอภิปราย-เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่ตัดสินว่าใครถูกหรือผิด
    • สร้างและค้นหาคำถามใหม่ ๆ

วิทยากรแบบมีส่วนร่วมจะเน้นการสร้างปฎิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เข้าร่วม ซึ่งดำเนินการได้หลายวิธี อาทิเช่น การท้าทาย (ไม่ใช่ท้าชก) ให้มีการนำเสนอที่ไม่ซ้ำแบบในแต่ละกลุ่ม กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างกลุ่ม การตั้งคำถามใหม่ๆที่ก่อให้เกิดการอภิปรายในวงกว้างและหลากหลาย แต่ไม่ทำการตัดสินว่าใครผิดใครถูก แต่ถ้าหากผู้เข้าร่วมถามหรือให้ตัดสิน ทางที่ดีคือให้โยนคำถามกลับ ไปยังกลุ่มเพื่อหาข้อยุติหรือทำให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

การสร้างปฏิสัมพันธ์และข้อสรุปจะสะท้อนถึงการให้ข้อมูล ความคาดหวังของสมาชิกทุกคน ถึงแม้จะเป็นผลที่ชั่วคราวหรือระหว่างกระบวนการก็ตาม สำคัญทั้งนั้น

วัตถุประสงค์ของขั้นตอนที่ 3
เพื่อเปิดโอกาสให้มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกมากขึ้น ให้มีการเสนอแนะ มีการสรุปผลซึ่งจะเพิ่มคุณค่า ของผลลัพธ์

ขั้นตอนที่ 4: ใครบ้างทำแล้วไม่อยากรู้ผล

การประเมินผลอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว (อ่านมาตั้งนาน) อย่าลืมว่าคุณภาพของผลลัพธ์เป็นผลพวงมาจากการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์อย่างกระตือรือร้น การจำแนกข้อสรุปของกลุ่มถือเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการกลุ่ม แต่จุดใหญ่ใจความสำคัญคือ การสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลลัพธ์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
  • การสะท้อนถึงผลลัพธ์ What should we reflect ?
    • ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการ
    • ทำไมเรา...บรรลุวัตถุประสงค์
    • ทำไมเรา...ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
    • รู้สึกอย่างไรในระหว่างการดำเนินการ

Participatory Approach ถือว่าการประเมินผลในทุกขั้นตอนจะช่วยให้วิทยากรสามารถจัดการ และอำนวยการกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะว่าเป็นการประเมินความรู้สึก การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในแต่ละช่วงรวมถึงการการดำเนินการของผู้จัด เพื่อวิทยากรจะได้แก้ไขปัญหา และตอบสนองได้ตรงจุด ตลอดจนการปรับเทคนิควิธีการให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้เข้าร่วม ไม่เช่นนั้น วิทยากรจะไม่สามารถรักษาการมีส่วนร่วมจากกลุ่มได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลลัพธ์ ในที่สุด
  • การเรียนรู้ what do we learn?
    • มีช่วงใดบ้างที่คิดว่าจะปฏิบัติแตกต่างจากเดิม
    • ข้อสรุปสำหรับขั้นตอนต่อไปคืออะไร

หากเปรียบเทียบกับวิธีการแบบดั้งเดิม(อีกแล้ว) Participatory Approach สามารถก่อให้เกิดการเรียนรู้ ที่แท้จริงของผู้เข้าร่วม คือ การเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ ซึ่งวิทยากรจะรู้ว่าผู้เข้าร่วม เรียนรู้ได้มากหรือน้อยจากการประเมินคำตอบที่ได้ หรือแม้กระทั่งการแสดงออกของผู้เข้าร่วม
  • การประเมิน Why do we evaluate?

นอกจากเหตุผลที่กล่าวในหัวข้อการสะท้อนถึงผลลัพธ์แล้ว ข้อมูลจากการประเมินผลจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ช่วยให้ทั้งวิทยากรและผู้จัดสามารถนำไปพิจารณาวางแผนและเป็นแนวทางในการสร้างกิจกรรมในอนาคตได้เป็นอย่างดี
  • ความยากของการประเมิน What makes the evaluation difficult?

คำตอบสุดท้ายคือ ความซื่อสัตย์และจริงใจ ในสังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นและเกรงใจเป็นพื้นฐาน นอกเหนือจากการเคารพผู้อาวุโสและครูอาจารย์ (ไม่รู้เป็นอะไรวิทยากรจะถูกเรียกว่าอาจารย์เสมอ ฟังแล้วนึกถึงอาจารย์ทองหมอผีอยู่เรื่อย แต่ก็นั่นแหละไม่เรียกอาจารย์จะให้เรียกอะไร) จะสังเกตได้จากการฝึกอบรม การสัมมนาหรือการประชุมก็ดี ผลของการประเมินส่วนใหญ่จะเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นจริงเท่าที่ควร วิทยากรควรกระตุ้นให้เกิดความซื่อสัตย์และความจริงใจทุกครั้งที่มีการประเมินผล การย้ำถึงประโยชน์ของการประเมินผลถือเป็นความจำเป็น เพราะจะช่วยให้กลุ่มตระหนักถึงสาระสำคัญของผลลัพธ์ นอกจากนั้นวิธีการประเมินผลที่ไม่เป็นทางการ เช่น กระดานความคิดเห็นที่ทุกคนมีสิทธิที่จะระบายความรู้สึกอะไรก็ได้ กล่องความคิดเห็นสำหรับคนที่ไม่อยากเขียนหรือพูด และการเปิดโอกาสให้มีคณะกรรมการประเมินผลที่มาจากกลุ่มผู้เข้าร่วม จะทำให้วิทยากรและผู้จัดได้ข้อมูลประกอบที่สะท้อนความจริงมากขึ้นเพื่อจะได้ปรับปรุงต่อไป

วัตถุประสงค์ของขั้นตอนที่ 4
เพื่อความแน่ใจในการเรียนรู้ของทุกคน (รวมทั้งวิทยากรนี่แหละตัวดี..) และทบทวนกิจกรรมตลอดจนขั้นตอนที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนในอนาคต

บทนี้ขอสรุปก่อนว่า....การสร้างบรรยากาศให้กับสมาชิกเป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ซึ่งต้อง เลือกที่จะเปิดและยอมรับ ก่อนการเรียนรู้เทคนิค สำหรับวิทยากร..ต้องจำไว้ว่าหัวใจของการอำนวยการ คือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม บรรยากาศที่ก่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน บรรยากาศที่สร้างสรรค์สำหรับการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ตัววิทยากรเองที่จะต้องมี จิตใจเปิดกว้าง ยอมรับ และเต็มใจเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ตลอดจน มีทัศนคติที่ดี มองโลกได้สวยงามตามความเป็นจริง มีความจริงใจในการช่วยเหลือกลุ่ม และมีความเป็นมืออาชีพเสียก่อน  การเรียนรู้เกี่ยวกับ Participatory Approach จึงเป็นเรื่องรอง
...เทคนิคไม่สำคัญเท่าใจ

(ติดตามตอนต่อไป... สถานะการณ์ที่เหมาะสมกับวิธีการนำแบบมีส่วนร่วม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น