วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

คิดวันละอย่าง # 264

เข้าใจผิด หรือ ไม่เข้าใจ 
เมื่อพูดถึงเรื่องความไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจผิด มันแสดงว่าเรากำลังติดกับมุมมองหรือความคิดของคนอื่น อยากได้ความเข้าใจ จนบางทีกลายเป็นทุกข์ใจ การใส่ใจความคิดและความรู้สึกของคนอื่นไม่ใช่ไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ายึดไว้มากเกินไปจนใจรวนเร ไม่มีหลักที่หนักแน่น ใจก็จะแกว่งไปมาทางนู้นที ทางนี้ที หาทางกลับมาหาตัวเองยากขึ้น ความสุขทุกข์ก็จะขึ้นอยู่กับคนอื่นอยู่ร่ำไป หลงลืมคุณค่าตัวเอง ซึ่งคุณค่าของเรามันไม่ได้ขึ้นกับความเข้าใจของใครนะ อย่าไปหม่นหมอง เสียใจโดยใช่เหตุ ไม่ใช่เราคนเดียวในโลกที่ถูกเข้าใจผิด แม้องค์ปฎิมายังราคิน ศาสดาในโลกนี้ล้วนเคยถูกเข้าใจผิด ถูกคิดลบร้าย คนที่ทำคุณงามความดีมากมายยังโดนประณามหยามเกียรติก็มี 
การที่เรานำคุณค่าจากสายตาคนอื่นมาเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินคุณค่าของตัวเอง มันไม่ใช่แล้วนะ คุณค่ามันอยู่ที่เรามองตัวเอง การตีตราหรือให้ค่าจากภายนอกมันไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้และยั่งยืน มันเปลี่ยนแปลงได้ตามอารมณ์ สถานการณ์ และปัจจัยอื่นๆมากมาย ถามตัวเองให้ดี จะเลือกฝากคุณค่าของตัวเองไว้ที่เครื่องตีตราหรือตาชั่งของชาวบ้านนี่จริงหรือ มันทุกข์นะ
เข้าใจผิดมันแค่เรื่องเข้าห้องใจคนละห้อง ใจมีหลายห้อง เข้าไปห้องคนละห้องก็คนละความรู้สึก มันเลยเข้าใจผิด ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่เข้าใจ มันเข้าห้องผิดกัน คนละเอียดอ่อนต่างกัน ความเปราะบางไม่เท่ากัน เหตุผล ปัญญาก็แตกต่างกันไปตามบุญตามกรรม เข้าใจผิดมันเลยไม่ได้แปลว่าไม่เข้าใจ แต่มันเป็นการเข้าใจเราในแง่มุมอื่น ใจไม่ได้เข้ากัน ซึ่งบางทีก็ดีนะ ได้เห็นตัวเองในแง่มุมอื่นบ้าง แทนที่จะหลับหูหลับตาเห็นแต่มุมตัวเอง 
ทำใจไปได้ก็ดี แต่ถ้าทำไม่ได้และ “อยากมาก” อยากให้คนมาอยู่ห้องเดียวกับเรา อยากให้คนอื่นเข้าใจให้ถูก (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกเราจะถูกเขาหรือเปล่า) ก็ลองออกมาจากห้องใจตัวเองดูก่อน ไม่ต้องเล่นซ่อนแอบ สื่อสารเต็มเหนี่ยวไปว่าเรารู้สึกอย่างไร เผื่อบุญหนุนนำอาจเข้าใจกันได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น