โดยปกติ..
ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัมมนา การประชุมเพื่อวางแผน การฝึกอบรม ตลอดจนการอภิปรายในหลายครั้งที่เกิดขึ้น มีหลายคนที่มักจะเกิดความรู้สึกหลังจากนั้นว่าไม่ค่อยได้มีโอกาสในการเสนอความคิดเห็น ไม่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือเหตุการณ์ ไม่เกิดการเรียนรู้หรือได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ พูดง่ายๆว่าไม่สะใจ ไม่สาสมใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะว่ามีบางคนผูกขาดการพูด และประกอบกับวิธีการที่ใช้ในการประชุมหรือสัมมนายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้ร่วม โดยเฉพาะวิธีการที่เน้นการบรรยายเชิงสอนที่ผู้เข้าแทบจะไม่มีส่วนร่วม ลองนึกภาพวิธีการแบบดั้งเดิมที่วิทยากรเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จจะรู้ซึ้งว่าทำไมเราถึงยังคับข้องใจกันอยู่เรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้เป็นเพราะการแบกความคิดมาจากบ้านว่า รู้ดีที่สุด รู้มากกว่าคนอื่น จึงมักจะมีการคิดและตัดสินใจแทนกลุ่มผู้เข้าร่วม ซึ่งแนวคิดและทัศนคติดังกล่าวของวิทยากรจะปิดกั้นการมีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิง
ในสถานการณ์เช่นนี้...ไม่เพียงแต่วิทยากรจะทำเป็นเพิกเฉยต่อความต้องการของผู้เข้าร่วม แต่ยังกลัวความเปลี่ยนแปลงหรือไม่มั่นใจ เป็น วิทยากรหน่อมแหน้มใจไม่ถึง ในที่นี้ถือได้ว่าขาดทักษะและวิธีการในการบูรณาการความต้องการของคน แต่ถ้าเรามีแนวคิดว่าการมีส่วนร่วม (Participatory Approach) มีความสำคัญจริงและเป็นบ่อเกิดของคุณภาพในการสื่อสารระหว่างกันแล้ว การพยายามเสาะแสวงหาและพัฒนาวิธีการที่มุ่งเน้นการติดต่อสื่อสารระหว่างคน กลุ่ม และ องค์กรอย่างมีคุณภาพจึงเป็นประเด็นสำคัญ
มีบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งชื่อ METAPLAN เป็นบริษัทเชื้อสายเยอรมัน ได้นำเสนอวิธีการกระบวนการในการปรับปรุงพัฒนาแนวทางและเครื่องมือที่จะสามารถอำนวยความสะดวกในวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญต่อการพัฒนาและการมุ่งสู่การปฏิบัติแบบ Participatory Approach ข้อมูลจากสิ่งพิมพ์ในหัวข้อ “Participatory Approaches for Cooperative Group Events” ของ Gabriels J. Ullrich, Uwe Krappitz และ Eberhard Gohl จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการอธิบายการเป็นวิทยากรใจถึงที่ใช้เทคนิคการนำแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมุ่งเน้นวิธีการอำนวยการ (facilitation) ในกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและการประเมินผลที่ก่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และวิธีการที่กล่าวถึงแม้จะไม่ใช่การนำเสนอแนวทางใหม่ หรือ มาจากการวิจัยเชิงวิชาการที่มีรูปแบบ หากแต่เป็นการรวบรวมมาจากประสบการณ์ที่หลากหลายและจากการสังเกตการณ์ในกลุ่มที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงาน วิทยากร ผู้ประกอบการ นักศึกษา อาจารย์และกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น
หลักการของ Participatory Approach จะแสดงให้เห็นถึงภาพการติดต่อสื่อสารที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดการมีส่วนร่วมและกระทำโดยผู้เข้าร่วมซึ่งจะเสริมผลการเรียนรู้ตลอดจนคุณภาพของการติดต่อสื่อสาร นอกเหนือจากนั้นจะทำให้กระบวนการในการทำงานของวิทยากรง่ายต่อการเข้าใจ และมีความชัดเจนขึ้นโดยการเพิ่มความสำคัญต่อการเชื่อมโยง การบูรณาการกลุ่ม ซึ่งในขั้นตอนแรกๆของการฝึกการมีส่วนร่วมไม่ได้เน้นทฤษฎีมากมายแต่มุ่งใช้ประสบการณ์ การทดลองซ้ำ ๆ จากการลองผิดลองถูกจนวิทยากรสามารถตะโกนได้ว่า "ถูกต้องแล้วครับ" จึงแปลว่าใช่ เพราะฉะนั้นการเขียนหลักการเกี่ยวกับ Participatory Approach จึงค่อนข้างยาก ข้อมูลต่อไปนี้จึงมุ่งหมายให้เฉพาะผู้ที่พร้อมจะทดลองฝึกปฏิบัติ(..อยากใจถึง) ผู้ที่ใช้วิธีการนี้อยู่ (...ใจถึงอยู่แล้ว) หรือ ผู้ที่ต้องการทำงานเป็น Team of Moderators อาจได้คิด ได้มุมมองเพิ่ม ฉะนั้นเราควรมีความชัดเจนเข้าใจกันตรงกันก่อนว่า Participatory Approach
- ไม่ใช่วิธีการที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวแต่เป็นวิธีการที่ขึ้นอยู่กับทัศนคติ และ พฤติกรรมของกลุ่มผู้เข้าร่วม
- ไม่ใช่ closed package แต่เน้นองค์ประกอบที่เป็นแก่นแท้คือการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ถึงที่สุด
- ไม่ใช่ magic box หรือ สูตรสำเร็จเพราะในแต่ละสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่งเพื่อหารูปแบบและวิธีการใหม่ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทั้งที่เป็นไปในเชิงบวกและลบ
โดยสรุป Participatory Approach ในภาพรวมจึงเป็นการที่เราคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของกลุ่มผู้เข้าร่วมอย่างเป็นระบบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของการมีส่วนร่วม และมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดการแสวงหารูปแบบการติดต่อสื่อสารที่เป็นประชาธิปไตยในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของมนุษย์
(ติดตามตอนต่อไป...)
การมีส่วนร่วมหรือการร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมการสัมมนาเป็นมิติที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพต่อห้วข้อที่วิทยากรบรรยายต่อผู้เข้าร่วมฟัง..แต่จะสัมฤทธิ์ผลได้นั้นปัจจัยของผู้เกี่ยวข้องทั้งสองต้องมีความสมดุลและสอดคล้องต่อกัน ทั้งความกระหายที่จะเสนอความรู้ และ ความกระหายที่จะอยากรู้.. หากแต่เป็นความพยายามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง หรือปริมาณที่มีความต่างสูงของปัจจัยบุคคล เชื่อว่าแม้จะใช้เทคนิควิธีที่บรรเจิดเพียงใด ย่อมได้ความสัมฤทธิ์ผลไม่ดีเท่าที่ควร..เมื่อไหร่เราจะถูกฝึกให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระต่อสาธารณะซะที..เห็นถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง..คำตอบคือความเงียบทุกที..วิทยากรเลยกลายเป็นผู้ร่ายรำแต่ผู้เดียวทุกทีเช่นกัน.
ตอบลบจริง..แต่บางทีรำคนเดียวได้ก็รำไป.. ไม่ต้องคาดหวัง.. แต่ถ้าอยากให้มีคนรำด้วย ต้องจัดฉาก เลือกคนที่มีใจ ใช้เทคนิค (อาจไม่ต้องบรรเจิด) ที่ได้ผล วิธีการมีส่วนร่วมดีต่อการเรียนรู้ทั้งผู้เข้าร่วมและวิทยากร แต่คงไม่ใช่วิธีการที่ทุกคนยอมรับหรือสามารถทำได้ เอาเป็นว่า.. จริตใครจริตมัน.. อยากเขียนก็เขียน อยากให้คำแนะนำ อยากระบายก็ทำได้ ยินดีมาก..
ตอบลบการทำชีวิตให้สนุกสนานกับการนำหน้าห้อง เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในระหว่างดำเนินกิจกรรม อีกการสร้างพลังให้ผู้เรียนอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมเปิดหู เปิดตา ยากที่สุดคือการเปิดใจรับ บ่อยครั้งเจอนักรบที่โจมตีให้พ่ายแพ้ ควบคุมไม่ได้ แย่งเสนอว่าตนเองเป็นปรมาจารย์อยู่ เลยต้องเปิดโอกาสให้เด่น แบบโชว์ออฟบ้าง แต่ต้องเตรียมเบรคให้อยู่ในเกมส์
ตอบลบสำหรับช่วงนี้พบแต่คนเก่ง พูดเก่งเจ้าความคิด เจ้าคำถาม แต่ชอบตอบเองเออเองเป็นประจำ เลยทำเป็นคนโง่ ปล่อยพูดแต่ต้องคอยกำกับให้เข้าเรื่อง แล้วคอยเสียบคอยเบรคบ้าง แต่ถึงขั้นส่งงานให้ทำของตัวเอง เรียกว่าเน่าแบบไม่เป็นกระบวนท่า
แบบนี้สนุกนี้ มีรสชาติ สุดท้ายใช้คำว่า ช่วงแรกเป็นเรื่องเรา แต่ช่วงหลังเป็นเรื่องของคุณ แต่เราจะคอยผลักดันคุณให้คิดให้ทำมากขึ้น เข้าแนวที่ว่าคิดเองบ้างเด้อ
กิติ
เน้นพัฒนา สนุก เข้าเรื่อง ส่งงานกลับไปให้ตัวเอง ทำจริง
2 เมษายน 2553 11:53