วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 95



แก่แล้วเริ่มกลัว...

กลัวที่สุด คือ การไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ ต้องมานั่งพิจารณาความต้องการตัวเองใหม่ มันก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย แต่ที่ต้องการแต่ละอย่างมันน่าเหนื่อย 

คิดอีกที...มันมีอะไรที่ต้องการแล้วยังไม่มี เอ่อ มันก็มีแล้วนะ มากเกินไปด้วย 

เอ้า...ควรเลิกกลัวไปอย่างนึง (ควรกลัวใจตัวเองไว้) 

กลัวอีกอย่าง..ที่เมื่อก่อนไม่เคยกลัว คือ กลัวตาย มันใกล้เข้ามาก ยิ่งสุขภาพไม่อำนวย แต่ก็ยังกิน ยังดื่ม ยังระเริงไปกับสังขาร 

คิดดีดี...ไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้นะ กินๆให้มันพออยู่ ดื่มให้แค่สบายๆ ไม่ร้องรำทำเพลงมาก มันก็พอได้
เอ้า...ควรปรับตัว หายกลัวไปบ้าง ตายเป็นตาย

จริงๆแล้ว "กลัว" นี่มันจิตล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับ "สิ่ง" หรือ "เรื่อง" เลยนะ

มี "กู มี "กลัว"
ไม่มี "กู" ไม่มี "กลัว"

ท่องไว้ ท่องไว้

อะไรที่ "ขัดแย้ง" ต้องกำจัด

ใกล้ขึ้นปีใหม่...อะไรที่ "ขัดแย้ง" ต้องกำจัด เพราะคนทำงานร่วมกัน สำคัญไม่แพ้ ‘เป้าหมาย’ 
จากหนังสือ “The Mediation Process: Practical Strategies for Resolving Conflict” ของ Christopher Moore ให้เราพิจารณา Circle of Conflict เพื่อขุดต้นตอความขัดแย้ง จะได้คิดหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
Circle of Conflict แบ่งสาเหตุของปัญหาเป็น 5 เรื่อง คือ
1. ความขัดแย้งทางภาษา (Language Conflicts)
2. ความขัดแย้งทางโครงสร้าง (Structural Conflicts)
3. ความขัดแย้งทางคุณค่า (Value Conflicts)
4. ความขัดแย้งของข้อมูล (Data Conflicts)
5. ความขัดแย้งของความสัมพันธ์ (Relationship Conflicts)
----------------------------------
1. ความขัดแย้งทางภาษา (Language Conflicts)
มีคนที่พูดไม่คิดและคิดแต่ไม่พูด ทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างกัน
คงต้องมีวิธีรับมือ คือ
- เปิดพื้นที่ให้พูดคุยแบบตรงไปตรงมา
- คำบางคำที่กำกวม ขยายความให้เข้าใจตรงกัน
- ทุกเช้าก่อนเริ่มงานให้ทุกคนอัพเดทสั้น ๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ จะได้รับรู้กันไป
- ควรรับฟังแต่อย่าเพิ่งตัดสิน (Active Listening)
----------------------------------
2 . ความขัดแย้งทางโครงสร้าง (Structural Conflicts)
เป็นเรื่องโครงสร้างองค์กร เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น อาจเกิดการเกี่ยงงานเพราะไม่รู้ว่าใครต้องรับผิดชอบอะไร เพราะโครงสร้างองค์กรเริ่มไม่ชัด ต้องมาช่วยกัน คือ...
- ช่วยระดมความคิดว่าโครงสร้างส่วนใดที่ไม่เหมาะสม โดยดูว่าโครงสร้างดังกล่าวส่งผลอะไรกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือการทำงานของตัวเองบ้าง
- ช่วยกันคิดโครงสร้างที่ทุกคนจะมีความสุขในการทำงานมากขึ้น ทดลองใช้และปรับเปลี่ยนจนกว่าจะหาจุดที่ลงตัวได้
----------------------------------
3. ความขัดแย้งทางคุณค่า (Value Conflicts)
เป็นความขัดแย้งที่มักจะเป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอื่น ๆ ตามมา มันเป็นเรื่องของแนวคิดที่ช่วงเริ่มต้นอาจจะคิดตรงกัน แต่พอทำงานไปเรื่อย ๆ แนวคิดเปลี่ยน คนเปลี่ยน เริ่มให้ค่ากับสิ่งอื่นมากกว่า ปัญหาก็เกิดได้ เพราะ ทัศนคติเริ่มไม่ตรงกัน เป้าหมายในการทำงานแตกต่างกัน หรือนิสัยเข้ากันไม่ได้ แก้ไขโดย
- แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับทัศนคติของคนทั้งส่วนที่ตรงกันและไม่ตรงกัน เพื่อหาจุดร่วม
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมกันเป็นแกนกลางในการทำงาน
- หาวิธีการรับมือกับแนวคิดที่แตกต่าง
- หากมีปัญหาเกิดขึ้น ลองย้อนกลับไปดูข้อตกลงที่มีร่วมกันในตอนแรกเริ่มว่าเคยตกลงกันไว้อย่างไร และอะไรที่ต้องการปรับเปลี่ยน แล้วสร้างข้อตกลงขึ้นมาใหม่ร่วมกัน
----------------------------------
4. ความขัดแย้งของข้อมูล (Data Conflicts)
การรับข้อมูลที่ผิด ทำให้เกิดการเข้าใจผิด และตัดสินใจผิดพลาด อาจเป็นเพราะได้รับข้อมูลไม่ครบ ข้อมูลผิดพลาด หรือเข้าใจข้อมูลผิด แบบนี้ต้องลองเปิดใจพิจารณาข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลจริงก่อน หรือขอความเห็นจากคนอื่นเพื่อป้องกันการตีความพลาด หรือหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาช่วยในการตัดสินใจ
- ย้อนกลับไปดูกฏกติกาในการทำงานร่วมกันของทีมว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเราตกลงกันว่าจะตัดสินใจร่วมกันอย่างไร เช่น ประชาธิปไตย หรืออภิปรายด้วยเหตุผล หรืออื่น ๆ แล้วใช้วิธีนั้นในการตัดสิน
----------------------------------
5. ความขัดแย้งของความสัมพันธ์ (Relationship Conflicts)
ความสัมพันธ์เป็นต้นตอใหญ่ของความขัดแย้ง และเป็นสิ่งที่รับมือได้ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่าเหตุและผล มันอาจเป็นเรื่องปัญหาในอดีตฝังใจกับบางคน อคติกับคนอื่น ต้องหาวิธีรับมือ เช่น
- หากิจกรรมสานสัมพันธ์
- เปิดโอกาสให้มีการสนทนา พูดคุย อย่างเปิดใจซึ่งกันและกัน 
ลองดู...ชีวิตน่าจะดีขึ้น

เอาถ่านไหม...ดึงศักยภาพในตัวออกมา


วิธีที่ง่ายที่สุดในการดึงความเก่งและความสามารถในตัวออกมาใช้ได้อย่างไม่หยุดยั้ง คือ การตั้งคำถาม เหมือนนิวตัน นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ ค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ทำไมแอปเปิ้ลถึงตกลงมา” 

เริ่มต้นตั้งคำถามในทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่ามันเป็นปัญหาในการทำงานแล้วจดไว้ หาเวลานั่งพิจารณาหาคำตอบทีละข้อ พยายามทำด้วยตัวเองก่อน วิเคราะห์สิ่งที่เห็น สิ่งที่ทำและตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้น 

"ทำไมถึงทำ"
"ทำไปทำไม"

การถามว่า...ทำไม...เป็นการย้อนกลับไปถึงต้นตอ วัตถุประสงค์ เรื่องราว เหตุผล เราจะตอบตัวเองได้ว่า...มันใช่ หรือ ไม่ มันถูกต้องหรือเปล่า 

อยากเอาถ่าน....ต้องลอง !!

EQ ช่วยชีวิตให้อยู่สบายขึ้น

EQ ความฉลาดทางด้านอารมณ์ คือ ความสามารถในการแยกแยะและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองและอารมณ์ของคนอื่นได้ ถ้าเราพัฒนาได้มันจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก เริ่มจาก...

1. เห็นใจกันบ้าง
Daniel Goleman นักจิตวิทยาว่าไว้เกี่ยวกันเรื่องความเห็นอกเห็นใจว่ามันคือหนึ่งในองค์ประกอบหลักของ EQ ดังนั้นการแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อคนรอบข้างและการสละเวลาของตัวเองเพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่นจึงมีผลในการเพิ่ม EQ ได้อย่างดี เราทำแล้วน่าจะสบายใจขึ้น ถ้าไม่ใจร้ายเกินไป
2.หยุดการเป็น perfectionist
รู้อยู่แก่ใจนะว่าความสมบรูณ์แบบไม่มีในโลก จะไปคาดคั้นเคี่ยวเข็ญอะไรมันเสียเวลา ดังนั้นการเลือกที่จะเดินหน้าต่อไปมันดีกว่าที่จะมัวรอให้สิ่งต่างๆ พร้อมก่อน และเวลาทำผิดพลาดก็เพียงแค่เปิดใจเรียนรู้ แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไข..ก็เท่านั้น
3. รับการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
การกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ ขัดขวางความสุขความสำเร็จ มันต้องเลือกที่จะปรับตัวต่ออะไร ต่อใครที่เปลี่ยนแปลงไป จะให้ดีก็มีแผนการรองรับไว้ อุ่นใจขึ้น
4. ยอมรับตัวตน
มันคือการรับรู้และเข้าใจข้อดีข้อเสียของตัวเอง รู้ว่าเก่งอะไรและมีจุดอ่อนตรงไหน และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม ไม่ได้ยากอะไร ทำใจให้ยอมรับแบบแมนๆ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นให้ยุ่งยาก ดูตัวเองนี่แหละ
5. เลิกแบกอดีต
อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตมากลืนกินตัวเอง ไม่แบกรับความขุ่นข้องหมองใจต่างๆ เพราะพวกนี้มันจะเพิ่มทั้งความเครียดและขัดขวางความก้าวหน้าในชีวิต อยู่กับปัจจุบันไป
6. หัดพูดว่า "ไม่"
มันคือสร้างขอบเขตให้ตัวเราเอง อย่าใจอ่อนแล้วมานั่งกลุ้ม การปฏิเสธสามารถช่วยปกป้องความเครียดที่จะเกิดจากการรับผิดชอบที่มากเกินพอดี อารมณ์จะได้ดี
7. คิดดีดี
เลือกที่จะมองแต่เรื่องดีๆ ในความทุกข์ ในความวุ่นวายมันอาจมีอะไรดีดีซ่อนอยู่ให้ได้เรียนรู้ เรื่องควบคุมไม่ได้อย่าคิดให้เหนื่อย
8. สะกดคำว่าสมดุลให้เป็น
ต้องเข้าใจว่าเวลาไหนควรเล่นหรือพักผ่อน เวลาไหนที่ต้องจริงจังกับการทำงาน อย่ามุ่งมั่นไร้สติทุ่มเทจนสุขภาพแย่ลง ใช้ชีวิตให้สมดุลกับทุกเรื่อง
แค่นี้ก็คงอยู่ต่อไปอย่างสบายขึ้นแล้ว

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สันโดษ...ไม่โดดเดี่ยว

การอยู่คนเดียวไม่ได้แปลว่าแปลกแยกจากสังคมเหมือนใครหลายๆคนคิด แต่การถือ "สันโดษ" มันมีประโยชน์ต่อตัวเอง ให้ลองอยู่คนเดียวบ้างเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยกายและใจ มีกำลังใจใช้ชีวิต เพราะว่า...

- การใช้เวลาอยู่กับตัวเองทำให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้นและเพิ่มศักยภาพตัวเอง เพราะเราจะรู้จักตัดสินใจทำอะไรได้ด้วยตนเอง ลดการ "คอยจะพึ่ง" คนอื่น ไม่ต้องว่อกแว่กกับความเห็นชาวบ้าน สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายของตัวเองได้ดีขึ้น แก้ปัญหาได้ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและยังมีเวลาคิดสร้างแรงบันดาลใจได้เอง ทำอะไรก็จะสำเร็จได้ตามเวลา

- การใช้เวลาอยู่กับตัวเองช่วยให้สบายใจ คนในปัจจุบันมีเรื่องราวสารพัดปัญหามากมายเข้ามาโดยไม่ได้เชิญ การปล่อยวางจึงจำเป็นถ้าต้องการความสงบในใจ จะปล่อยวางได้..ต้องมีเวลาให้ตัวเองคิด

- การใช้เวลาอยู่กับตัวเองทำให้เป็นตัวของตัวเอง มันคือเวลาดีที่จะได้ทำการปรึกษาตัวเองเกี่ยวกับปัญหาที่เจอและสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้รู้จักตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ได้รักตัวเอง และที่สำคัญก็คือ ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการจะทำ

จะได้ประโยชน์จาก "สันโดษ" ...ต้องใช้ความกล้า

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คนน่าเบื่อ...จงหมดไป..

คนน่าเบื่อ...จงหมดไป..
1. คิดว่าตัวเอง คือ เป็นศูนย์กลางจักรวาล
พูดถึงแต่เรื่องของตัวเองบางทีก็รู้ตัว บางทีก็ไม่รู้ตัว มันทำให้ละเลยสิ่งที่คนอื่นอยากจะพูด มีความคิดที่ว่าเรื่องของตัวเองเท่านั้นที่สำคัญและคอยทวงถามแต่ความสำคัญของตัวเอง คงต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นเขาบ้างจะน่ารักขึ้น
2. สนใจแต่สิ่งที่เห็น
ให้ความสำคัญแต่รูปลักษณ์ภายนอก ทั้งๆที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่ทั้งหมดของความงาม เพราะความงามที่แท้มาจากภายในจิตใจ ว่างๆลองส่องกระจกแล้วมองให้ลึกลงไปถึงข้างใน อาจเห็นในสิ่งที่ตามองไม่เห็น แต่รู้ได้ด้วยใจ
3.ต้องได้ก่อน ต้องที่หนึ่งตลอด
แข่งขันตลอดเวลา ขวนขวายจะเหนือกว่าคนอื่นอยู่เสมอ คนอยู่ใกล้จะเหนื่อยมาก ควรแคร์คนอื่นมากกว่านี้ หัดให้กำลังใจกันบ้าง ไม่ใช่ยกตนข่มท่านตลอด
4.ตาถั่ว..เห็นมิตรเป็นศัตรู
ความต้องการจะแข่งดีแข่งเด่น ทำให้มืดบอด แทนที่จะดูแลกัน กลับจ้องจะแทงข้างหลัง เพื่อนไม่ใช่ศัตรู เพราะเราเป็นทีมเดียวกัน
5. ฮิตเลอร์กลับชาติมาเกิด
ชอบออกคำสั่ง อย่าลืมว่าทุกคนควรจะเท่าเทียมกัน หากคุณตัดสินใจอะไรต่างๆที่เกี่ยวกับกลุ่มของคุณด้วยตัวคนเดียวเสมอ การออกคำสั่งและพยายามควบคุมสิ่งที่คนอื่นกำลังทำตลอดเวลา มันน่าเบื่อ
7.ไม่แมนเลย
ไม่ซื่อสัตย์ โกหกกันบ่อยๆ ผิดก็ไม่ยอมรับ อย่าลืมว่าความซื่อสัตย์ ความจริงใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการผูกมิตรและสร้างความไว้วางใจกับผู้คน
8.ไม่ละเอียดแล้วยังหยาบ
ไม่สุภาพ ชอบเสียดสีหรือทำให้คนอื่นขายหน้าความเห็นหยาบคาย นึกว่าเจ๋ง ให้เลิกซะ เพื่อนเบื่อและจะโดนทิ้ง คนเราย่อมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคนอื่น แต่มันไม่จำเป็นที่ต้องหยาบต่อความเห็นต่าง
9. ง่อยตลอดชาติ
เป็นคนพึ่งพาไม่ได้ แต่กลับขอความช่วยเหลืออยู่เสมอ ทีคนอื่นเดือดร้อนกลับเฉยๆ ใครก็พึ่งพาไม่ได้ แบบนี้ไม่น่าคบ เอาแต่ขอความช่วยเหลือคนอื่นแต่ไม่เคยเสนอตัวเพื่อช่วยเหลือใครเลย ไม่ไหวจะเคลียร์นะ
10. คิดติดลบ
มองโลกในแง่ร้ายเสมอ คิดและพูดแต่เรื่องแย่ๆ อยู่ด้วยแล้วเซ็ง หัดมองอะไรสวยงาม บวกๆบ้าง

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ใช้ “เวลา” ให้ดี

ใช้ “เวลา” ให้ดี

- ทุกคนมีช่วง “องค์ลง” มีพลัง สมอง สมาธิสุดสุดอยู่วันละ 1-2 ชั่วโมง ใช้ prime time ให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ หรือ สิ่งล่อใจ
- ดูแลร่างกายให้ดี สมองจะทำงานได้ดี ร่างกายต้องอยู่ในสภาพที่ดี คนที่อดนอนไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้
- โฟกัสและทำงานเป็นเรื่องๆ ไป จัดไปเลยว่าจะทำอะไรและใช้เวลาเท่าไหร่ ในวันหนึ่งจะมีของที่สำคัญจริงๆ ที่จะส่งผลต่อ performance กว่า 90% ไม่เกิน 5 อย่างลองทำรายการมาแล้วเลือกที่สำคัญจริงๆ 5 อย่าง ทำก่อน ถ้าไม่เสร็จอย่าเพิ่งทำอย่างอื่นในรายการที่เขียน
- แบ่งเวลาและเคารพเวลาที่แบ่งไว้ด้วย ถ้าทำไปแล้วมันเกินเวลา เช่น แบ่งว่าจะประชุมหนึ่งชั่วโมง เมื่อครบหนึ่งชั่วโมงให้ลุกเลย ทำแบบนี้ให้เป็นนิสัยแล้วจะเป็นคนที่บริหารเวลาได้ และทำไปนานๆ ในที่สุดทุกอย่างจะจบตามเวลาที่ต้องการไปเอง
- ดูแลทีมงานและระบบการทำงานให้ดี ดูแลคนที่อยู่รอบข้างให้ดีๆ ทีมงานของเราคือการขยายความสามารถในการทำงานของเรา

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คิดวันละอย่าง # 94

การให้ที่เรารู้สึกดี...แต่ไม่เกี่ยวกับคนที่ได้รับ

ไปอ่านเจอคำว่า “warm glow” มาเป็นศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์ James Andreony ตั้งความรู้สึกนี้ว่ามาจากการที่คนเราช่วยเหลือผู้อื่นเพราะว่าตัวเราเองรู้สึกดีไปกับ “การให้โดยเรา” ไม่ใช่แค่ช่วยเพราะว่าเขากำลังได้ประโยชน์   มันเป็นความรู้สึกดี อุ่นใจกับตัวเอง งานวิจัยจากนักวิชาการหลายสำนักชี้ว่าคนส่วนมากไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นหรือว่า “ทำดี” เพราะว่าเราจิตใจดี เป็นพ่อพระแม่พระหรือหวังดีล้วน ๆ  แต่เป็นการช่วยผู้อื่นเพราะเราอาจแคร์ทั้งคนที่เราช่วย ต้องการให้เขาดีขึ้น และยังแคร์ตัวเราเองด้วยเพราะมันรู้สึกดีในหัวใจ มีความภูมิใจในตัวเอง บางทีเลยเถิดไปตอบสนองความเหนือกว่าคนอื่นแบบพวกอีโก้สูงก็มี  อันนี้เป็นธรรมชาติความเห็นแก่ตัวของคนล้วนๆ ที่ต้องการให้ตัวเองรู้สึกดี จะเห็นจากเวลาบริจาคเงินทำบุญ ต้องมีชื่อตัวเองลงไปด้วย หรือแสดงความใจบุญโดยโพสความดีความงาม การทำบุญ บริจาค ให้ทานลงในสื่อต่างๆ ให้คนอื่นรับรู้...ก็มันรู้สึกดี มี “warm glow” 

ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ต้อง “รู้จัก” “รู้ใจ” ตัวเองมากขึ้นด้วยว่า...ไม่ได้มีใจบริสุทธิ์ล้วนๆ มันยังอยากให้ตัวเองรู้สึกดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนที่เสียสละเพื่อคนอื่นแท้จริงอยู่บนโลก มันมีอยู่จริง แต่สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ คงต้องถามตัวเองบ้าง เวลาให้อะไรใคร...เรารู้สึก “warm glow” ด้วยไหม แค่อย่าเข้าใจผิดไปว่าตัวเองเป็นแม่พระผู้ให้ หรือหวังดีแบบไม่มีอะไรเจือปน !! 

ในบทความเรื่องนี้พูดถึงชาวอเมริกันที่มักจะถูกชาวโลกประนามว่าเป็นชาติที่เอาแต่ได้นั้น ในปีค.ศ. 2015 บริจาคเงินรวมแล้วเกือบเท่า GDP ประเทศไทย จากการจัดอันดับของ World Giving Index โดย Gallup World Poll ที่สำรวจพฤติกรรมการให้หรือการช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม อเมริกันติดอันดับหนึ่งหรือสองพอๆกับพม่าเพื่อนบ้านเรามาตลอด ส่วนไทยเราอยู่อันดับที่ 19  ไม่ว่าจะรู้สึก “warm glow” แค่ไหน กลุ่มประเทศที่เห็นกันว่าใจบุญก็มีทั้งประเทศที่รวยจัดกับจนสุดปนกันไป   “warm glow” จึงไม่ได้เป็นเรื่องของฐานะแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่ยังแคร์ภาพลักษณ์ของตัวเองโดยมีบรรทัดฐานทางสังคมที่กำหนดให้คนไม่ดูดาย ต้องช่วยเหลือเพื่อนที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นกรอบเป็นธรรมเนียมการปฎิบัติมาโดยตลอด 

ที่ว่ามานี้ไม่ได้ต่อต้าน “warm glow” แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยมันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นจากการช่วยเหลือกันและกัน ไม่ว่าจะมาจากการทำให้ตัวเองรู้สึกดี ได้หน้าหรือไม่ก็ตาม แต่ผลมันเกิดแล้วและคนรับก็ได้ประโยชน์ สบายขึ้นกว่าเดิม



เหมือนใจดี...แต่ยังร้าย เหมือนใจร้ายแต่ก็ยังดี !!


วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อย่าตามน้ำ...มันแปลว่าเราไม่คิด !!


มีสมอง...ต้องคิด...
คนเรามีสมองสองซีกใช้ให้สมดุล ใช้ให้คุ้ม โดยเฉพาะเวลาจะวางแผน ลองพิจารณาความเป็นจริงของเรื่องสมอง แล้วลองคิดดูว่าเราใช้มันเต็มที่แล้วหรือยัง และใช้มันอย่างไร 

สมองซีกซ้ายควบคุมดูแลพฤติกรรมของคนในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
1. การคิดในทางเดียว ( คิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง)
2. การคิดวิเคราะห์ ( แยกแยะ)
3. การใช้ตรรกศาสตร์และการใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์
4. การใช้ภาษา มีทั้งการอ่านและการเขียน
คือว่า...สมองซีกซ้ายจะควบคุมดูแลพฤติกรรมคนที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานในสายทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นตัวควบคุม การกระทำ การฟัง การเห็นรวมถึงการสัมผัสของร่างกายทางซีกขวาด้วย

สมองซีกขวาควบคุมดูแลพฤติกรรมของคนในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
1. การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking )
2. การคิดแบบเส้นขนาน ( คิดหลายเรื่อง แต่ละเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกัน)
3. การคิดสังเคราะห์ ( สร้างสิ่งใหม่)
4. การเห็นเชิงมิติ ( กว้าง ยาว ลึก)
5. การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรัก ความเมตตารวมถึงสัญชาติญาณและลางสังหรณ์ต่าง ๆ
แปลว่าสมองซีกขวาควบคุมดูแลพฤติกรรมคนที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ จริยธรรม อารมณ์ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานในสายศิลปศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นตัวควบคุมการทำงานของร่างกายทางซีกซ้ายด้วย

คำถาม คือ ใช้สมองซีกไหนมากกว่ากัน ดูใน 4 ข้อของสมองซีกซ้ายและ 5 ข้อของสมองซีกขวา เราหนักไปทางไหน พิจารณาแล้วก็ไปปรับปรุงการใช้ซีกที่ไม่ค่อยได้ใช้ให้มันสมดุล ร่างกายจะได้แข็งแรงทั้งสองซีก

และที่สำคัญ...จะได้ไม่ต้องตามคนอื่นเหมือนปลาที่ตาย มันลอยตามน้ำ ไม่มีวันจะคิดอะไรออก... ยังหายใจอยู่ต้องเป็นปลาเป็น !!

นำเสนออะไร...อย่าให้ยื้ดเยื้อ


การสร้างความเชื่อถือในการนำเสนออย่างหนึ่ง คือ พูดตรงประเด็น กระชับ เข้าใจง่าย ออกมาจากใจ ง่ายๆ คือ ต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และวัตถุประสงค์การนำเสนอต้องชัดเจน การพูดยาวไม่ได้แปลว่าทรงภูมิ การอธิบายยืดยาวไม่ได้แปลว่ารู้จริง หรือเก่งกว่าคนอื่น 

มันมีเทคนิคหนึ่งที่เรียกว่า Elevator Pitch คือ การพูดคุย หรืออธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งภายในหนึ่งนาที บางคนมีการพูดที่มีเสน่ห์มากขนาดที่ทำให้ใครก็ได้สนใจตัวเองได้ภายในช่วงเวลาแค่ในลิฟท์ ในล็อบบี้ หรือบังเอิญเจอกันตรงทางเดิน มันต้องรู้วิธีที่จะทำให้เป็นที่น่าสนใจขึ้น หรือแม้แต่การเจอคนถูกใจที่ตามหามาทั้งชีวิต มันต้องมีคำพูดที่ชาญฉลาดที่จะทำให้คนต้องย้อนกลับมาหาเราอีกครั้ง ประมาณนั้น 

การพูดแบบนี้ได้ไม่สามารถใช้อะไรที่ยื้ดเยื้อได้ มันต้องพูดแล้ว "โดน" เท่านั้น การประชุม การทำงานก็เช่นกัน อธิบายซ้ำซ้อนไม่ได้ช่วยให้มีเสน่ห์มากขึ้น ตรงกันข้าม...ผู้คนจะรู้เลยว่าเรา "ไม่คม"

ดังนั้น...ไปหาแรงบันดาลใจจากหนังสือดี ๆ หรือภาพยนตร์ การค้นพบใหม่ ๆ สิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจเหล่านี้จะให้ข้อมูลที่จะช่วยในการโต้ตอบกับคนอื่น ๆ อย่างมีไหวพริบ คิดเรื่องดีดีได้ฉับไว ดูข่าวและรับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกซะบ้าง หัดอ่านหรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เคยสนใจดูบ้าง !!

การใช้คนให้ถูกกับงานขึ้นอยู่กับแนวคิดที่ถูกต้องของผู้นำ !!


ขงจื้อว่า “ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน Put the right man on the right job” คนเป็นผู้นำต้องชาญฉลาดในการมองเห็นว่างานชนิดใดเหมาะกับคนประเภทใด โดยดูจากบุคลิกภาพ อุปนิสัย ทักษะ และศักยภาพ แต่ปัญหาก็คือการใช้คนให้ถูกกับงานนั้นผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ซึ่งเหมาะสมกับงานตั้งแต่ต้นจึงจะสามารถเลือกคนที่เหมาะสมกับงานมาช่วยบริหารจัดการได้

ถ้าเป็นกรณีซึ่งผู้อยู่ในฐานะที่จะใช้คนให้ถูกกับงานเป็นคนที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการที่อยู่ในฐานะเลือกคนเข้ามาทำงาน คำถามนี้ก็จะเป็นหมัน คือว่า "ใช้คนให้ถูกกับงานน่ะใช่ แต่ถ้าคนที่อยู่ในตำแหน่งที่จะเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน...เป็นคนที่ไม่ใช่ล่ะ" 

Put the right man on the right job, yes. But what if the man who is in a position to put the right man on the right job is the wrong man himself !!
อะไรจะเกิดขึ้น...ตอบ !!

ถามหาความรับผิดชอบ !!


รู้ไหมว่าทำไมเราเจอแต่ปัญหา...เจอแต่ความลำบาก และเจอกับปัญหาต่าง ๆมากมายที่ต้องแก้ไม่หมดไม่สิ้น ตั้งแต่ปัญหาเล็ก ๆ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ๆ ล้วนมีต้นเหตุมาจากความรับผิดชอบทั้งนั้น ปัญหาหลาย ๆอย่างเกิดจาก “ความไม่รับผิดชอบ” องค์กรไหนได้คนไม่มีความรับผิดชอบมาทำงาน ก็จะเจอแต่ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเดิมๆซ้ำซาก 

ส่งงาน...ทำงานไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด
งานห่วย..งานทำแค่เสร็จ
งานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย

คำว่า “รับผิดชอบ” นั้น...ทุกคนรู้จักคำนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้
ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตในทุกเรื่อง !!
ไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่มีความรับผิดชอบ
การเป็นคนมีความรับผิดชอบนั้น ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่มันเป็นคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้นมาจากการมีวุฒิภาวะในตัวเองที่มากขึ้น ไม่ว่าจะพัฒนามาจากรูปแบบของการรับผิดชอบต่อครอบครัว จากการทำงาน หรือจากการทำธุรกิจ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติส่วนบุคคลที่สำคัญอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ควรมี ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม

ชีวิตจะดี งานจะดี สังคมจะดี ถ้าหากเราทุกคนมีความรับผิดชอบ รู้จักภาระหน้าที่ของตัวเอง
เพราะว่า....ความรับผิดชอบก่อให้เกิดงานที่ดี
เพราะว่า....คนที่มีความรับผิดชอบจะมีชีวิตที่ดี

คนใดไม่มีความรับผิดชอบ คนนั้นคบไม่ได้
เพราะไม่ละอายที่จะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น 
...และไม่ต้องการพัฒนา

ใครไม่ส่งงานตามเวลา ทำให้การจัดการของคนอื่นลำบาก...มันแปลว่าคบกันไม่ได้แล้วนะ !!

ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงแล้วจะรอด !!

การเปลี่ยนแปลงจะยั่งยืนได้ ต้องปลูกฝัง “execution engine” ลงไปในจังหวะและการตัดสินใจต่างๆในการทำงาน มันเป็นการเพิ่มมุมมองที่มากไปกว่าแค่ทำตามกลยุทธ์ที่เลือกและการทำงานประจำ เพื่อทำให้องค์กรเคลื่อนไปอย่างสมดุล 

ซึ่งการสร้าง “execution engine” มีแนวทางกว้างๆอยู่ 4 เรื่อง คือ 
1. การมี Independent perspective : หา fresh facts มากกว่าการยอมอยู่ในสภาพเดิมๆ
2. คิดเหมือน investor เหมือน owner : มองหาการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพราะว่าการทำตามคนอื่นไม่ได้ช่วยการเติบโตของธุรกิจ
3. Execute ไม่หยุดยั้ง : ต้องลงงานอย่างจริงจัง ตามติดให้เป็นนิสัย กัดไม่ปล่อยจนกว่างานจะสำเร็จ
4. มี mind-sets ที่ใช่ : เน้นความสำคัญของ “meaning” ทำอะไรต้องรู้เหตุผล รู้เป้าหมาย มีปัญญา เป็นแรงบันดาลใจให้คนสามารถสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้

ผู้บริหารที่ต้องการจะทำให้ transformation เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ต้องสร้าง “execution engine” ไม่ว่าจะในการประชุมประจำเดือน การอภิปรายการจัดทำงบประมาณ ไปจนถึงการบริหารจัดการงานประจำวัน 

ความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่แค่การทำให้ถึงเป้าหมายร้อยล้านพันล้าน ไม่ใช่แค่เรื่อง scoreboard หรือการทำทะลุ KPIs ประจำปี แต่มันเป็นเรื่องของการปลูกฝังทำซ้ำ การทำตามกระบวนงานที่จะสร้าง better and better results หลังจากการใช้โครงการ หรือการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เปลี่ยนทัศนคติ อย่าเปลี่ยนหลักการ
ใบไม้ผลัดได้...รากยังคงเดิม ไม่ลืมตัวตน..


อะไรที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ควรพูด ก็ไม่ต้องพูด

ขอบคุณเจ้าของ...ชอบนิทานเรื่องนี้...
ลิงตัวหนึ่ง โดนกิ่งไม้เสียบท้อง บาดแผลเหวอะหวะ
มันร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด
พอลิงตัวหนึ่งผ่านมา มันก็เอามือเปิดแผลให้ลิงตัวนั้นดู
พร้อมบอกกับลิงตัวนั้นว่า....
"ดูสิ ฉันถูกกิ่งไม้เสียบท้อง เจ็บจะตายอยู่แล้ว!"
ลิงแต่ละตัวที่ผ่านมา ต่างก็พากันปลอบใจ
และบอกวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป
มันยังคงเปิดแผลที่โดนไม้เสียบให้เหล่าเพื่อนลิงดู พร้อมกับเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้มันได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้
ไม่นานต่อมา มันก็ตายเพราะแผลติดเชื้อ!
ลิงเฒ่าตัวหนึ่งบอกแก่ฝูงลิงทั้งหลายว่า
"มันตายเพราะตัวมันเอง
ไม่ใช่ตายเพราะโดนกิ่งไม้เสียบ"
==============================
เรื่องเจ็บปวด พูดหนึ่งครั้ง...เจ็บปวดหนึ่งครั้ง
พูดอีกก็เจ็บอีก เจ็บปวดไปเรื่อยๆ
หยุดพูด...หันมาเยียวยาตัวเองดีกว่าไหม...
ความจริง คือ ถ้าเราคิดลบ พูดลบๆ มันจะเข้าไปฝังลึกในจิตใต้สำนึก
มันเจ็บไม่หาย มันลบมันร้ายขึ้นทุกขณะ
อะไรที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ควรพูด ก็ไม่ต้องพูด !!

การใช้คนให้ถูกกับงานขึ้นอยู่กับแนวคิดที่ถูกต้องของผู้นำ

ขงจื้อว่า “ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน Put the right man on the right job” คนเป็นผู้นำต้องชาญฉลาดในการมองเห็นว่างานชนิดใดเหมาะกับคนประเภทใด โดยดูจากบุคลิกภาพ อุปนิสัย ทักษะ และศักยภาพ แต่ปัญหาก็คือการใช้คนให้ถูกกับงานนั้นผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ซึ่งเหมาะสมกับงานตั้งแต่ต้นจึงจะสามารถเลือกคนที่เหมาะสมกับงานมาช่วยบริหารจัดการได้

ถ้าเป็นกรณีซึ่งผู้อยู่ในฐานะที่จะใช้คนให้ถูกกับงานเป็นคนที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการที่อยู่ในฐานะเลือกคนเข้ามาทำงาน คำถามนี้ก็จะเป็นหมัน คือว่า "ใช้คนให้ถูกกับงานน่ะใช่ แต่ถ้าคนที่อยู่ในตำแหน่งที่จะเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน...เป็นคนที่ไม่ใช่ล่ะ" 

Put the right man on the right job, yes. But what if the man who is in a position to put the right man on the right job is the wrong man himself !!

อะไรจะเกิดขึ้น...ตอบ !!