วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

My Pitch


มีคุณเพื่อนและคุณน้องอาจารย์เห็นว่าทำสื่อการสอนได้สวย... เข้าใจง่าย เขาเลยขอไปพูดให้นักศึกษาฟังในวิชาสัมมนาการจัดการ... บอกเขาไปว่าเทคนิคอะไรนั้นไม่มี ไม่รู้ เอาที่รู้สึก เอาที่ตอนทำก็แล้วกัน    มันเริ่มต้นจากคำพูดของ Dr. Arnold Itao ตอนที่ฝึกไปเป็นวิทยากรใหม่ๆ และเรากำลังอยู่ในภาวะเกียจคร้าน จำได้แม่น คือ “Your presentation reflects your quality”    อันนี้แสบเข้าไปถึงทรวง  และคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องการทำ presentation อย่างเดียวแล้ว    มันเป็นเรื่องความเป็นตัวตนของเราที่สะท้อนกลับออกสู่งาน   ประมาณ  you are what you eat นี่แหละ     คิดว่า presentation เป็น pitch หนึ่งที่สำคัญในชีวิตของคนเรา  อาจใช้เวลาไม่นาน แต่ส่งผลยาวแน่ๆ เนื่องจากมันส่งผลต่อคนพูด ต่อคน present โดยตรง มันเอาคืนยาก เขาจำกัดเวลา ไม่สามารถแก้ตัวได้อีก  จบแล้วจบเลย จะบอกว่า อุ้ยตาย พลาดไปแล้วขออีกทีน่าจะลำบาก เพราะฉะนั้นอยากเล่าให้ฟังว่าจาก pitch ของตัวเองที่ยึดถือเป็นหลักง่ายๆ ทำ 4 ไม่ใช่ 4 คือ  
ทำด้วยใจ ไม่ใช่แค่จบ
ทำให้ครบ ไม่ใช่แค่ได้
ทำให้คลาย ไม่ใช่ให้เครียด
ทำให้ละเอียด ไม่ใช่สุกเอาเผากิน
ทำด้วยใจ ไม่ใช่แค่จบ !! 
ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เหตุที่ผลในการทำ หรือ อยู่ที่ข้อมูลความรู้ที่มีอย่างเดียว มันอยู่ที่ใจมั่นคง มีความตั้งใจ การสร้างความเชื่อมั่นที่เกิดจากอารมณ์ จากใจเรา ส่วนใหญ่จะคิดว่าต้องกระหนำ่ข้อมูลให้เกิดความประทับใจ แต่หัวใจที่แท้ คือ เราจะทำให้เขามั่นใจต่างหาก ซึ่งการจะขับเคลื่อนให้มั่นใจในสิ่งที่นำเสนอได้  เราต้องใช้ใจ ใช้อารมณ์ ไม่ใช่ตรรกะ ต้องเร้าความรู้สึก สร้างการสปาร์คทางอารมณ์ให้เกิด... ทำด้วยข้อมูล ทำด้วยเหตุผลจะได้แค่จบ ไม่ได้ใจ  เราต้องมีใจก่อน ไม่อย่างนั้น ไม่โดน   เพราะว่า presentation คือการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องต้องโดน      A pitch does not take place in the library of the head, it takes place in the theatre of the heart (อันนี้ลอกเขามา)  
เปิดเรื่องต้องช็อคคนได้ก่อน มันถึงจะมีพลัง  อย่างเวลาจะนำเสนองานให้กับลูกค้าที่มีปัญหา  อย่ายืดเยื้อ อวดความรู้มาก ให้ยิงที่ปัญหา  แปลว่าเราต้องแม่นมาก่อน ต้องรู้จริง มันแสดงถึงพลังความจริงใจที่เราใช้เป็นเครื่องมือสร้างอารมณ์ร่วม  มันเป็นเวทีของเรา เวทีที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ แสดงกึ๋นของคนพูด ให้คนได้รับรู้ personal passion ของตัวเราให้ได้  มันจึงต้องมีใจ มี passion ก่อน มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ต้องทำ แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยใจ ต้องถามตัวเองก่อนว่า..ใจน่ะ มีไหม 
พวกเราคงเคยดูข่าวกันมาเยอะ คงรู้จักคุณกนก รัตน์วงศ์สกุล เวลานำเสนอ หน้าตาท่าทางจะไปด้วยกันหมด เห็นถึงทั้งอารมณ์ หลักการ ความเชื่อที่ชัดเจน มันเป็นเพราะเขาตั้งใจ เขารู้สึกถึงสิ่งที่เขานำเสนอจริงจริง ต่างจากหลายคนที่ตั้งหน้าตั้งตาอ่าน      presentation อย่าอ่านเด็ดขาด มันแสดงถึงการไม่ได้วางแผน การไม่มีใจ มันขาดพลัง  ซึ่งบางครั้งการพูดที่มีพลังมีความสำคัญมากกว่าความสามารถในการนำเสนอเสียอีก เพราะมันแสดงถึงใจ  การทำด้วยใจนั้น.. ต้องวางแผนอย่างยิ่ง แปลว่าต้องให้เวลากับการเตรียมตัวอย่างดี จัดสรรบทการนำเสนอ รวบรวมข้อมูล ความเห็นต่างๆแล้วเขียนเพื่อให้เป็นการนำเสนอที่มีพลังในการจูงใจ
ทำให้ครบ ไม่ใช่แค่ได้!!
ครบไม่ได้แปลว่ามาก หรือเยอะเข้าไว้ ลงเป็น bullet ตรึมไว้ก่อน..มันไม่ใช่ ไม่สวยงาม   ในที่นี้ความครบหมายถึงการมี theme ของการนำเสนอที่ชัดและต้องเรียบง่ายด้วย  เพราะความเรียบง่ายทำให้คนฟังมีความเข้าใจในสิ่งที่นำเสนอ ไม่ต้องกลัวว่าจะกลายเป็นคนไม่เก่งที่นำเสนออะไรง่ายๆ  Jack Welsh เคยกล่าวไว้ว่า “Only confident people can be simple”  ความเรียบง่ายจะเป็นตัวบอกถึงความมั่นใจของเรา  การมี theme ทำให้ไม่หลงประเด็น ไม่เกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง ตัดสิ่งฟุ่มเฟือย ส่วนเกินออกได้ง่าย  การทำ slide presentation จะได้ครบ กระชับและมีความเรียบง่าย เทคนิคที่ใช้สื่อสารอาจจะใช้รูปภาพ ใช้ตาราง ใช้โมเดล เป็นเครื่องมือสื่อประเด็นได้ทั้งนั้น อยู่ที่ถนัด และเขียนคำพูดเป็น key wording ใช้เป็นวลีมากกว่าจะเขียนเป็นประโยคก็น่าสนใจ เพื่อให้คำพูดนั้นสั้นและสื่อความหมายให้สอดคล้องกับเครื่องมือที่ใช้สื่อ  อันนี้อาจสวนทางกับของบรรดาครูบาอาจารย์อยู่บ้าง แต่มันมีพลังในการสื่อสารมากกว่าแน่ๆ   
มี theme แล้วจะให้ครบอีกก็คงต้องทำโครงสร้างการนำเสนอด้วย ประกบเข้าไป ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับภาพรวมมากกว่ารายละเอียด เห็นมามากกับการนำเสนอที่คนนำเสนอสนใจรายละเอียดมากกว่าภาพรวมทำให้เกิดความมึน เรียกได้ว่าเป็น avalanche หิมะถล่มใส่หรือ information overload อันนี้หนักหนานัก คนไม่มีวันเข้าใจว่าต้องการสื่อสารถึงประเด็นอะไร เพราะมัน “งงมึนง่วง” ไปล่วงหน้าแล้ว    การจัดโครงสร้างการนำเสนอให้ลองนึกถึงช่วงชีวิตคนเป็นตัวอย่างก็ได้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่ชัด เถียงไม่ขึ้น การแบ่งการนำเสนอเป็นช่วงทำให้เราสามารถทบทวน ประเมิน ปรับปรุงในแต่ละช่วงได้  ซึ่งการแบ่งช่วงนี้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละคนก็ได้ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ลีลาใครลีลามัน เราต้องมีเกณฑ์ของเราเอง อย่างชีวิตคนใช้วัย ใช้เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับชีวิตเป็นเกณฑ์ก็ได้ เป็นต้น  
ทำให้คลาย ไม่ใช่ให้เครียด !!
ไหนๆก็ต้องใช้ใจ ใช้อารมณ์ใส่ลงในการนำเสนอแล้ว  การนำเสนอของเราต้องทั้ง entertaining และ informative   แต่ไม่ใช่ต้องทำแบบเชิญยิ้ม หรือ dancing monkey ลิงหลอกเจ้า   โดยเฉพาะเวลาพูดเรื่องหนักๆ บรรยากาศมันแห้ง เครียดมากเหมือนน้ำนะ ยิ่งนานยิ่งเน่า    ในการนำเสนอมันไม่ผิด มันดีด้วยซ้ำที่จะสร้างน้ำพุ สร้างความชุ่มชื่นบ้างโดยการมีมุขเด็ดที่ทำให้คนสนใจ  ซึ่งการจะมีได้เราคงต้องสนุก ต้องใส่ passion ลงไป   เรื่องแบบนี้มันเป็นโรคติดต่อนะ  ถ้าเราเครียด ทั้งห้องเครียด มันบาปกรรม ถ้าเครียดให้ slow down ระงับอาการ หายใจเข้า และอย่าหายใจออกดังนัก   
คนชอบคิดว่า humor เป็นความเสี่ยง จึงหลีกเลี่ยงกลัวเสียฟอร์ม เดี๋ยวไม่ขลัง ไม่ใช่พระนะที่ต้องการความขลังตลอด พระอารมณ์ดีคนเข้าไปเคารพออกจะเยอะในสมัยนี้  สิ่งสำคัญที่ต้องคลายอีกประการ คือ อย่าจ้องจะเปลี่ยนคนด้วยการนำเสนอของเราจนเกินไป  จากประสบการณ์ของผู้สูงวัยพบว่า เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปยากที่จะไปควบคุมหรือเปลี่ยนแปลง remake ชีวิตคนอื่นให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ปลงบ้างแล้วจะสบาย สุขภาพจิตดี อารมณ์ดี บรรยากาศการนำเสนอก็จะดี win win นะ
ทำให้ละเอียด ไม่ใช่สุกเอาเผากิน !!
อันนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อย  แต่ก็มีความสำคัญเพราะมันสื่อสารถึงคุณภาพ ใน slide presentation ของเราอาจใช้หลักของ Guy Kawasaki ก็ง่ายดี คือ 10-20-30 Rule หมายถึง 10 แผ่น ไม่เกิน 20 นาทีและ font ตัวหนังสือไม่น้อยกว่า 30   อีกอันหนึ่งอ่านมาเหมือนกัน เขาว่าเป็น 20-20 Rule ไม่รู้ของใคร คือ ควรมี 20 แผ่น แต่ละแผ่นให้ฉายอยู่ ไม่เกิน 20 วินาที  เพราะจะไม่ทำให้คนเบื่อ  เรื่องนี้มีหลายตำราแต่คงไม่ต้องเคร่งกับมันมาก   เพราะว่าควรต้องละเอียดกับสิ่งที่จะนำเสนอมากกว่า อย่างเช่น การใช้คำที่เข้าใจง่าย ไม่ใช่ก๊อบมาแล้ววางจบ.. จะกลายเป็นจบเห่ เพราะเวลาพูด มันจะไม่คล่องเพราะไม่ได้มาจากความเข้าใจของเรา ไม่ได้เป็นคำพูดของเรา การใช้ศัพท์แสงก็ควรพอประมาณกับคนฟัง ไม่ต้องออกลวดลายลีลาจัดนัก มันจะสื่อไม่ถึง  ให้อ่านข้อมูลแล้วลองนึกดูว่าเราจะสรุปได้สั้น กระชับ แบบประมาณ 15 คำจบได้หรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ พยายามไปให้จนได้  นี่คือละเอียดแล้ว ได้ทบทวนผ่านสมองแล้ว   
การเลือกรูปสำคัญมากเหมือนเขาว่ากัน รูปเดียวอธิบายได้ดีกว่าร้อยคำพันคำ  มันไม่ใช่แค่สอดคล้องอย่างเดียว มันต้องยิ่งกว่าชัด ผสมกับการดึงดูดความสนใจได้อย่างชะงัดอีกด้วย  หรือแม้แต่การเลือก transition การไหลของตัวหนังสือ ก็ยังต้องคิดด้วยอีก อันนี้อาจมากเกินไป แต่มันเป็นความชอบส่วนตัว บางคนอาจบอกว่าเสียเวลา ใช้เวลามากเกินไป นั่นเป็นเพราะสุกเอาเผากินหรือเปล่า ต้องคิด​​  แปลว่ามีเวลาเตรียมตัวน้อย ซึ่งไม่ถูก  มันไม่ใช่เรื่องงานดีไม่ดี สวยไม่สวย ลื่นไม่ลื่นอย่างเดียว บอกตั้งแต่ต้นว่ามันไม่ใช่แค่ presentation แต่มันสะท้อนวิถีชีวิตของเรา อยากละเอียด อยากหยาบต้องเลือกเอง   แต่ให้รู้ไว้ว่าการทำ presentation แย่ๆเหมือนดูถูกคนดูคนฟัง  ละเอียด คือ การให้เกียรติคน ไม่ใช่แค่สร้างการยอมรับในการนำเสนอเท่านั้น 
อยากสรุปว่า... การนำเสนอแต่ละครั้งเป็นการเผย move ของตัวเอง อยากจะโป๊ก็ตามใจ อย่าคิดว่าเราไม่มีศิลปะ เราไม่มีรสนิยมที่จะทำให้มันออกมาสวย ออกมาดี ความประทับใจไม่ได้เกิดจากความสวยเท่านั้น สวยไร้สาระไม่มีประโยชน์   ความตั้งใจของเราต่างหากที่จะสื่อออกมาให้คนรับรู้ได้  พวก gimmick สวย ลูกเล่น มันฝึกกันได้ อยู่ที่ใจอยากฝึก อยู่ที่เห็นความสำคัญของสิ่งที่ทำ และเหล่านี้อยู่ข้างใน..ในตัวตน ถ้าคิดแค่แก้ผ้า เอาหน้ารอดก็ไม่สามารถสร้างและสื่อคุณค่าของการนำเสนอได้

3 ความคิดเห็น: