วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แบ่งปันเรื่องความคิดเชิงระบบ

เรื่อง “ความคิดเชิงระบบ” สอนแนวคิด หลักการไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยาก คือ จะสอนอย่างไรให้คนคิดเป็นระบบ เชื่อว่าความคิดที่เป็นระบบเป็นเรื่องข้างในมากกว่าข้างนอก หมายความว่ามันเป็นเรื่องของ “คุณเป็นคนอย่างไร” “คุณมีค่านิยมอะไร” “คุณได้รับการปลูกฝัง เรียนรู้อะไรมา” มันเป็นเรื่องข้างในที่มีผลต่อความคิด ไม่ใช่เรียนรู้หลักการ มีความรู้อย่างเดียวแล้วจะสามารถคิดเชิงระบบได้ มันเป็นเรื่อง mental model ของปัจเจกบุคคลที่จะทำให้ต้องเราปรับก่อนที่สามารถคิดเชิงระบบได้  เป็นความจริงที่ว่าถ้าเรามอง หรือสนใจแต่ผิว ไม่ลงถึงเนื้อ ถึงกระดูก เราจะไม่มีวันเปลี่ยน พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับการคิดเชิงระบบ     ถ้า System Theory บอกเราว่ามันเป็นการมองความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆแบบองค์รวม       โดยเชื่อว่าทุกสิ่งทุก อยางเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่ขึ้นไป  ไม่มันจบอยู่แค่นั้น มันอยู่ที่ตัวอัตวิสัย ตัวตนของเรา subjectivity มากๆที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ  มันคล้ายๆกับเรื่องตาบอดคลำช้าง เช่น คนเป็นโรคหัวใจ คุณหมออาจวิเคราะห์ว่ามาจากสาเหตขุองเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ   แต่ถ้าให้สถาปนิกวิเคราะห์อาจได้คำตอบว่าบ้านไม่ดี ที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมก็ได หรือถ้าให้หมอดูวิเคราะห์คงได้ไปแก้กรรมกันบ้าง ให้คนอื่นวิเคราะห์อีก อาจมีมุมมองไปต่างๆนานา  แล้วที่ว่าความคิดเชิงระบบ เชิงองค์รวม big picture มันเป็นยังไง หัวใจไม่ได้อยู่ที่เรารู้อะไร หัวใจอยู่ที่เราจะปรับมุมมองให้กว้างขึ้นได้อย่างไร แก้ไขข้อจำกัดด้านค่านิยมที่ไม่เอื้อต่อการคิดเชิงระบบอย่างไร เพื่อเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆทั้งหมดว่ามันสัมพันธ์กัน ปญหาตางๆ มากมายในโลกนี้ ในสังคมนี้รวมถึงในองค์กรของเราสวนใหญ่มีที่มาจากการยึดติดยึดมั่นถือมั่นใน "มุมมอง" ของตนเองเป็นใหญ่ มันจึงเป็นระบบสมบรูณ์ได้ยาก  
สองมุมมอง ห้าขั้นบันได
ขอขยายความคิดด้วยการเริ่มจาก 2  มุมมอง หรือ ทรรศนะ (perspective) ก่อน   เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจเมื่อเราพูดถึงความคิดเชิงระบบ    Joseph O’Connor และ Ian Mcdermott พูดถึงมุมมองว่า แต่ละคนมีมุมมองแตกต่างส่งผลถึงการรับรู้ เราจะรู้ได้ถูก ต้องอยู่ที่ระยะห่างที่เหมาะสม แปลว่าใกล้ตัวเองมากๆไม่ดีแน่ ไกลเกินไปก็จะเห็นแต่ใหญ่ๆรางๆ ไม่ได้รับรู้ภาพจริงอีก ซึ่งเหล่านี้แหละที่หล่อหลอม เสริมแรงรูปแบบความคิด ให้อยู่ในมุมเดียว วิธีคิดก็จะแคบไปถนัดใจ คิดเป็นระบบได้ยาก ที่เรียกกันว่าการมองแบบเข้าใน (inward looking) มันอัตวิสัย (subjective) มาก เชื่อไม่ค่อยได้  ขอแนะนำให้ลองถอยมาสักก้าว มองแบบภววิสัย (objective) ด้วย คือ มองแบบ outward looking ออกนอก  มองตามสภาพจริง  การจะประยุกต์เข้ากับความคิดเชิงระบบเราคงต้องยืนแลกหมัดทั้งในและนอกใน สร้างความมั่นใจในการรับรู้ ขยับเข้าไปใกล้การมองเชิงองค์รวม  ซึ่งจะได้ไม่ได้ก็ขึ้นกับวิจารณญาณและภูมิปัญญาของแต่ละคนแล้ว ที่จะมองหามุมมองใหม่ที่จะเกิดความสร้างสรรค์ ความเป็นระบบ
สำหรับ 5 ขั้นบันได ลองคิดตามที่นักวิชาการได้นำเสนอมา ที่เขาเรียกว่า system thinking iceberg ก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะมีหลายสิ่งที่ซ่อนใต้ผิวน้ำ อาจทำให้เรามองโลกเก่าๆภายใต้ดวงตาใหม่ได้ คือ 

ขั้นแรก สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น (ต้องกังขาไว้ก่อน) ส่วนใหญ่เรามักใช้เวลากับเหตุการณ์ในชั้นนี้มากเกินเพราะว่าชั้นปรากฎการณ์ (event level) มันชัด ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว ถ้าติดอยู่ขั้นนี้ก็แก้ปัญหาแบบ reactive ไป  ตั้งรับทั้งชาติ ไม่มีวันเห็นครบ
ขั้นแนวโน้ม แบบพฤติกรรม อันนี้ต้องลงบันไดเลื่อนไปอีกหน่อย จะมีปัญญาขึ้นอีกนิด คือ ถ้าเรารู้ถึงขั้น pattern เราจะสามารถคิดวางแผน คาดการณ์ได้มากขึ้น ดีกว่าตั้งรับอย่างเดียวแน่ๆ เพราะเราจะรวบรวมเหตุการณ์ที่เจอ ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลมาประมวล มาสรุปเป็นรูปแบบว่าเจอแบบเดิมๆจากเหตุการณ์ มันจะต้องเป็นอย่างนี้  ขั้นนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องหลักการ ทฤษฎีที่ใช้กันทุกวันนี้แหละ (ซึ่งยังไม่ครบอยู่ดี) 
ขั้นโครงสร้างพฤติกรรม (structure level) ต้องลงลึกไปอีก จึงเริ่มเห็นความสัมพันธ์ อาจไม่ง่ายที่จะเห็นชัดแบบ event แต่ถ้าได้ pattern แล้ว โครงสร้างมักจะตามมา  เป็นเรื่องของ cause and effect เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรเป็นสาเหตุของสิ่งที่เป็น pattern ที่ได้มา ถึงขั้นนี้แปลว่าเริ่มคิดเป็น..เป็นระบบบ้างแล้ว เป็น proactive มากขึ้น
ขั้นตัวแบบความคิด ขั้นนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อโครงสร้างพฤติกรรม เป็นเรื่องความคิด เหตุผลที่ฝังอยู่ มาจากทั้งทัศนคติ ความคาดหวัง ประสบการณ์ที่คนได้รับ  การแก้ปัญหาในระดับนี้จึงยากเพราะคนไม่รู้ว่า mental model ของตัวคืออะไร หรือมีคนบอกก็ไม่อยากจะรู้  หนักกว่านั้นคือการบอกถึง mental model ของตัว แต่ไม่ได้มีพฤติกรรมอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นแบบที่กล่าวอ้าง ถ้าเราบอกว่าวิธีการคิดเชิงระบบเป็นเรื่องการเชื่อมโยง อันนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมได้ชัดมากขึ้น เพราะลงลึกไปถึงตัวแบบความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน 
ขั้นล่างสุด ความเชื่อ ค่านิยมเป็น invisible container ที่ห่อหุ้มชีวิตคน ถือเป็น core ของทุกอย่าง เป็น DNA ที่ระบุว่าคนจะคิดเชิงระบบได้หรือไม่ เป็นตัวที่คนรู้ แต่ไม่ค่อยอยากแตะ เพราะยากที่จะเปลี่ยนและใช้เวลาที่จะปรับอันเนื่องมาจากการสั่งสมวิถีธรรมเนียมปฎิบัติและการเรียนรู้ของคน ดังนั้นจะมองรอบ มองครบ มองเป็นระบบ คนต้องสามารถเห็นถึงข้อจำกัดในการมองของตัวเองก่อนโดยลงลึกไปถึงอิทธิพลของค่านิยมที่โอบล้อม มันอาจจะยาก ค่านิยมบางอย่างก็ตรวจสอบยาก หรือไม่อยากจะตรวจเพราะไม่อยากเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่ออคติ อันนี้ก็ตัวใครตัวมัน รู้ไปก็ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามไป
จากภาพข้างบนมันเหมือนกับเราหัดลงบันไดเลื่อนไป 5 ระดับ เป็นการลงลึกทางความคิดอย่างสวยงาม ค่อยๆลงอย่างมีเห็นมีผล เป็นขั้นๆอย่างมีระเบียบความคิด เป็นการเปิดประตูแรกสู่ความคิดเชิงระบบที่อาจเปิดโลก เปิดมุมมองใหม่ให้เราได้ ยิ่งลงลึกยิ่งมีความคิดแตกฉาน มีนวัตกรรมทางความคิด แต่ต้องระวังว่า..ยิ่งลงลึก ยิ่งยากในการปฎิบัติ แต่มันคุ้มค่าเพราะจะเกิด big impact ที่อยู่กับเราไปอีกนาน
วิธีคิดเชิงระบบ
มีหลากหลายวิธีทั้งของฝรั่งของไทย สามารถหาซื้อหาอ่านได้ทั่วไปในท้องตลาด  แต่จะยกมาเพียงสองวิธีที่เป็นความชอบส่วนตัว คือ การคิดแบบโยนิโสมนสิการและ six thinking hats ของ Edward de Bono วิธีแรกครบ ลึกซึ้ง วิธีที่สองฮิต ง่ายแก้การเข้าใจ
การคิดแบบโยนิโสมนสิการเห็นว่าครบที่สุด ตอกย้ำได้เหมาะกับคนไทย (เพราะลืมง่าย ต้องซ้ำๆ)  เป็นการคิดแบบลึกซึ้งถึงต้นตอ คิดสะท้อน คิดสะเทือน คิดซ้ำ คิดหลายมุม คิดให้ถึงรากเหง้า เป็น system thinking แบบชาวพุทธ    ขอมาจากการประมวลวิธีคิดจากทานพระธรรมปฎก มี 10 วิธี ชื่อคงอ่านยาก จำยากแต่แปลแล้วชัดแจ่ม เห็นถึงวิธีที่จะคิดเชิงระบบได้อย่างดี
    1. ปฏิจจสมุปบาท (interdependent) เรียกง่ายๆว่า คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย สิ่งต่างๆล้วนเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน มีเงื่อนไขต่อกัน สัมพันธ์กัน  ถือเป็นต้นแบบ system theory เลยอันนี้ butterfly effect เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ไม่ต้องเสียเวลาอ่านหนังสือฝรั่ง 
    2. ขันธวิภังค์ (analysis) คิดแบบวิเคราะห์ แยกแยะองค์ประกอบ เป็น critical thinking 
    3. ไตรลักษณ์ สามกระแส (three streams) คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คิดแบบเท่าทันว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องเท่าทัน การจัดการสมัยใหม่เน้นเรื่อง change อย่างเดียวในการบริหารที่คิดถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ไตรลักษณ์ช่วยให้คิดได้และปลงได้ด้วย 
    4. อริยสัจ 4 (problem solving) คิดแบบแกปัญหา แก้ทุกข์ พิจารณาว่าทุกข์-ปัญหามีอะไรบ้าง สมุทัย -เหตุอยู่ที่ไหน นิโรธ-แนวทางการแก้ปัญหา เป้าหมายคืออะไร มรรค-วิธีการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย เป็น model ที่ classic ที่สุด
    5. คาแท ค่าเทียม (true & artificial value) ไม่ให้หลง ให้คิดถึงความจริง ไม่ต้อง scenario thinking มากนัก
    6. กุศลภาวนา (moral development) คิดดี คิดเชิงคุณธรรม ไม่ถือสันโดษในการทำงานให้เต็มที่ หาความรู้เต็มที่ ทำความดีเต็มที่ คือ คนที่ถือคุณธรรมความถูกต้อง จะใจกว้าง การใจกว้างจะทำให้สามารถมีการรับรู้ที่ดีกว่า ไม่ subjective มากเกิน มองได้รอบ ไม่มีอคติจึงคิดเป็นระบบได้ดีกว่า
    7. สามมิติ (three dimension) ดูผลดี ผลเสีย ดูวิธีการ คุณ โทษ ทางออก 
    8. อรรถธรรมสัมพันธ์ (cause effect relation theory) คิดแบบสัตบุรุษ คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบริษัท รู้จักบุคคล ก่อนคิด
    9. สติปัฏฐาน (now theory) อยู่ในปัจจุบัน อยู่กับความจริง 
    10. วิภัชชวาท (dialectic theory) คิดหลายด้าน แยกแยะประเด็นให้ชัด 
ถ้าชอบฝรั่ง วิธีที่ฮิตกันมาก คือ six thinking hats ของ Edward de Bono หัดใส่หมวกให้ครบหกสีช่วยให้คิดได้รอบด้าน อธิบายได้ง่ายๆดังนี้ 

หมวกสีแดง หมายถึงอารมณ์ ความรู้สึก นอกจากเหตุผลแล้ว ธรรมชาติของคนยังประกอบด้วยอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งลางสังหรณ์ที่อธิบายด้วยเหตุผลได้ยาก อาจกล่าวได้ว่าหมวกสีแดงตรงข้ามกับหมวกสีขาว ขณะที่หมวกสีขาวเสนอข้อมูลที่เป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นข้อมูลความรู้ มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน   สำหรับหมวกสีดำ มีแนวคิดเชิงลบอยู่ด้วย แต่เป็นการพิจารณาตั้งข้อสงสัยก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อลงไป เป็นการคิดที่มีเหตุมีผล มีความรอบคอบ ป้องกันความเสี่ยง  หมวกสีเหลืองเหมือนกับหมวกสีดำตรงต้องอาศัยเหตุผลมาสนับสนุนความคิด แต่ขณะที่หมวกสีดำเป็นการตั้งข้อสงสัย หาสิ่งซ่อนเร้นแอบแฝง หมวกสีเหลืองจะคิดถึงในแง่บวก เต็มไปด้วยความหวัง การมองไปข้างหน้า โลกสีชมพู คิดถึงประโยชน์ของเป็นหลัก    หมวกสีเขียว คือ ความคิดที่สร้างสรรค์ นำมาซึ่งทางเลือกใหม่และวิธีแก้ปัญหาใหม่ อาจไม่ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมาสนับสนุนก็ได้ เพราะเพียงการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นสำหรับการสำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้ของแนวคิด    หมวกสีฟ้าเป็นหมวกคิดของการวางแผน คิดรวบยอด การจัดลำดับขั้นตอน ครอบคลุมประเด็นต่างๆ มีข้อสังเกตุ มีข้อสรุป    ซึ่งการคิดแบบ six thinking hats เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาได้ จะช่วยให้เราสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนในการคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น 
สรุป
การคิดเชิงระบบได้ ต้องเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง  ต้องไปด้วยกัน สร้างให้คนเก่งได้ เรียนรู้เรื่องคิดเชิงระบบ คือ เก่งรู้ เก่งหลักการได้ไม่ยากขนาดนั้น วิธีการมีมากมาย  แต่การสร้างให้เป็นคนดีด้วยเพื่อที่จะมองได้ครบทุกมิติจริงๆ มองอย่างเป็นธรรมยากกว่ามาก มันเป็นเรื่องมโนธรรม จิตสำนึก คุณธรรม ความใจดี ใจกว้างที่ไม่มีมิจฉาทิฐิมาบดบังเรื่องการคิดเชิงองค์รวม เป็นคนที่สามารถปรับสมดุลในตนเองได้ ซึ่งจะต้องไม่มีจิตเบื้องต่ำมาขับเคลื่อน ก็จะทำให้ตัวเองสามารถคิดเชิงระบบได้สรุปคือ ต้องมี IQ ความรู้ ไหวพริบ เฉลียวฉลาด รู้แจ้งถึงความดีความชั่ว พาตนเองแจ้งในทางที่ดีควร ประพฤติปฏิบัติได้  มี EQ มีความอดกลั้น สติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุ คือ โลภะ โทษะ และโมหะ สามารถเกิดปัญญาได้   มี AQ  มีความอดทน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค รู้จักเสียสละ ยึดมั่นความดี  มี VQ คือไม่ยึดติดกับสิ่งไดสิ่งหนึ่งจนเกินพอดี ปรับเปลี่ยนตนเองได้ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างเหมาะสม และสุดท้ายมี MQ เป็นคนมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม มีสำนึกของ "ความผิดชอบชั่วดี" มีความละอายใจต่อบาป ไม่ประพฤติชั่ว มีจิตใจที่ผ่องใส   ได้ทั้งหมดนี้เป็นการปรับตัวเอง ณ ขั้น invisible container ที่จะส่งผลไปถึงการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการคิดเชิงระบบ 
สุดท้ายฝากให้คิด.. คิดอย่างเป็นระบบต้อง...
สงสัย กังขา
ใฝ่หาข้อมูล
เพิ่มพูนความคิด
สนทนาเปิดจิต
เสนอความคิดกลุ่มใหญ่ 
มีสาระมั่นใจร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น