วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การจัดการกับกระบวนงาน...ทางรอดทางเดียวในเวลานี้

อารัมภบท
คนทุกคนที่มีการมีงานทำใช้ชีวิตส่วนใหญ่ “อยู่” ในองค์กร อาจเป็นชีวิตที่ตื่นเต้น สดชื่น หรืออับเฉาก็ขึ้นกับการจัดการชีวิตตัวเองในองค์กรที่ทำงานอยู่ ชีวิตองค์กรก็เหมือนกับชีวิตคนนั่นแหละ มีหลายคนว่า..การจัดการที่มีประสิทธิภาพ คือ หลักการที่ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ แคบไปหรือเปล่า...อันที่จริงการจัดการที่มีประสิทธิภาพ....ต้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเจริญ องค์กรเจริญ และช่วยให้สังคมเศรษฐกิจเจริญด้วย มุมมองทางการจัดการที่แท้ จึงเป็นทั้งเรื่องของการสร้างมูลค่า value creation และ นวัตกรรม innovation   ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการทำกำไรที่ส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและยังต้องตระหนักถึงการเพิ่มศักยภาพของคน แปลว่าต้องมาจากการที่ธุรกิจมีกระบวนการสร้างสินค้า บริการที่ดี สร้างคนดี การเป็นพลเมืองที่ดี ตลอดจนการยึดมั่นในความเป็นเลิศ สิ่งเหล่านี้มาจากไหน? ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากสิ่งที่คิด what do you think ซึ่งอยู่ที่รากของค่านิยมส่วนบุคคล ศักยภาพและโอกาสกับสิ่งที่เราได้ทำ  what you actually did  ในการบูรณาการหน้าที่ทางการจัดการและหน้าที่ทางธุรกิจ


What do you think?
เรื่องนี้ดี จำไม่ได้ว่ามาจากไหน..มีกบเล็กๆหลายร้อยตัวแข่งกันกระโดดขึ้นไปบนภูเขา กติกา คือ กบตัวไหนถึงยอดเขาก่อนเป็นผู้ชนะ  ในการแข่งขันครั้งนี้ถือได้ว่ายากลำบากมากสำหรับกบตัวเล็กๆเพราะว่ายอดเขานั้นทั้งสูงทั้งชัน จึงมีกลุ่มคนสนใจแห่กันมาดูการแข่งขันนี้มากมาย  ในระยะแรกของการแข่งขันผู้คนส่งเสียงเชียร์กึกก้อง   กบตัวเล็กๆเหล่านั้นก็กระโดดแข่งกัน ขึ้นสู่ยอดเขาอย่างสุดใจขาดดิ้น   เมื่อไปถึงระยะที่เริ่มชันกลุ่มคนต่างก็ตะโกนว่า ระวัง ทำไม่ได้หรอก มันสูงเกินไป มีกบหลายตัวร่วงหล่นลงมาออกจากการแข่งขัน ยิ่งการแข่งขันไปสู่จุดที่สูงขึ้น คนยิ่งโห่ร้องอย่างกึกก้องว่า เป็นไปไม่ได้ มันชันมาก ไม่มีทางที่กบตัวเล็กๆจะขึ้นไปถึง  กบเกือบทั้งหมดร่วงหล่นลงมา มีกบตัวเดียวเท่านั้นที่ยังกระโดดจนไปถึงยอดเขาได้สำเร็จ  เป็นผู้ชนะในการแข่งขัน   ตามธรรมเนียมก็มีสื่อมาสัมภาษณ์เคล็ดลับความสำเร็จในครั้งนี้  ปรากฎว่าไม่ได้มีวิธีการหรืออะไรที่พิเศษไปกว่าการกระโดดเหมือนกบทั่วไป แต่มีอย่างหนึ่งที่แตกต่าง คือ กบตัวนี้หูหนวก....   อันนี้เราคงพอคิดเองได้แล้วว่า อำนาจของความคิดมันมีมากขนาดไหน


เป็นอันว่า...ทุกอย่างมาจาก we are what we think เหมือนที่เคยได้ยินกันว่า you are what you eat การที่คนเราจะคิดอะไรนั้นอย่างแรกมาจากค่านิยมส่วนบุคคล personal value ซึ่งเป็นรูปแบบความคิด ความเชื่อพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ตนเองถือว่ามีคุณค่าพึงปรารถนและต้องการยึดถือ ค่านิยมนี้มีอิทธิพล เป็นตัวกำหนด กำกับ บุคลิกภาพ ลักษณะท่าทางของคน บงการพฤติกรรม การกระทำของคน   ลองคิดเล่นๆก็ได้ว่า.......เหตุใดประเทศในโลกจึงมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่แตกต่างกัน เหตุใดบางประเทศจึงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัยมีความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางประเทศไม่ไปถึงไหน มีแต่ปัญหา (คงจะประเทศนี้แหละ)   คำตอบสุดท้ายก็คงอยู่ที่ค่านิยมที่คนในชาตินั้นยึดถือ     การที่จะทำให้การจัดการเป็นเครื่องมือที่สามารถยกระดับความสามารถของคน ขององค์กรได้ อยู่ที่ค่านิยมของผู้ประกอบการ อยู่ที่ผู้บริหารเป็นหลัก  หากคนเหล่านั้นมีค่านิยมที่ดี อันได้แก่ การมุ่งผลสัมฤทธ์ ใฝ่หาความสำเร็จ การมีวินัย การทำงานหนัก ความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ การออมและการลงทุน ตลอดจนความต้องการเป็นอิสระแล้ว  สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ อาณาจักรธุรกิจที่มั่งคั่งเกื้อกูลไปถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม   


อย่างที่สองที่เป็นผลต่อความคิดของคน คือ ศักยภาพ ในที่นี้เป็นศักยภาพแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการ ซึ่งมาจากการสำรวจวิจัยของ USAID ว่าความสำเร็จขององค์กรที่จะสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยกลุ่มคนขับเคลื่อนที่มีคุณลักษณะพิเศษของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่บริหารตามหน้าที่ทางการจัดการทั่วไป  ที่ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การอำนวยการและควบคุมเท่านั้น ซึ่งคุณลักษณะที่สำคัญ คือ การแสวงหาโอกาส ความมุ่งมั่น การรักษาพันธะสัญญา  การใฝ่หาคุณภาพและประสิทธิภาพ ความเสี่ยง การตั้งเป้าหมาย การวางแผนอย่างเป็นระบบและการจูงใจ  การแสวงหาข้อมูล การชักชวนและสร้างเครือข่าย  นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของ management quotient ของ Jo Owen (ไม่ใช่นักบอลนะคะ)  ที่จะทำให้การปฎิบัติทางการจัดการมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการผู้บริหารในยุคนี้สามารถอยู่ได้ สำเร็จได้ในโลกของความเป็นจริงในศตวรรษนี้ ตัว management quotient ประกอบไปด้วย IQ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดการงานและหน้าที่ทางธุรกิจ ความสามารถที่จะอยู่ใน real world แปลว่ามีปัญญา ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นการรู้   และประกอบด้วย EQ ที่เป็นความสามารถในการจัดการคน จัดการกลุ่ม อันนี้เป็นการจะอยู่ได้ใน emotional world และสุดท้ายคือ PQ เป็นความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและควบคุม เป็นเรื่องของ political world  ทั้งสามส่วนประกอบกันเป็น management quotient เป็นกรอบความคิดที่เข้าท่ามากมาก (ไม่ต้องทอดสมอ)  ทำให้สามารถประเมินและพัฒนาความสามารถทางการจัดการทั้งของตนเองและทีมงาน  กำหนดและสร้าง core skills กฎแห่งการอยู่รอดและสำเร็จของธุรกิจ  (จะเห็นได้ว่าตัว management intelligent นี่แตกต่างกับ academeic intelligent แน่ๆ) ขออธิบายให้ชัดอีกหน่อย.. IQ คือ intellectual ความฉลาดที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจด้วยสัญชาติญาณได้เร็ว แยกแยะปัญหา สาเหตุและจัดลำดับการแก้ไขได้ว่าอะไรด่วน สำคัญสามารถปฎิบัติได้และมีแนวคิดเชิงกลยุทธ์   EQ เป็นเรื่องของ interpersonal skills ทำให้คนเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้อง มีทักษะในการจูงใจ โน้มน้าว การกระจายงาน แก้ไขความขัดแย้ง การให้คำแนะนำแบบมองโลกในแง่ดี   PQ จะเป็นส่วนที่ทำให้คนตระหนักในเรื่องของอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการหาแหล่งทุน อำนาจการต่อรองกับลูกค้า การจะได้มาซึ่งข้อมูลและทรัพยากรต่างๆในการบริหารจัดการ  มองไปมองมาจะรู้ว่าสามตัวนี้เป็น management DNA ที่ช่วยให้คนได้เรียนรู้ว่า....ไม่ใช่ทฤษฎีไหนที่ใช้ได้ แต่เรียนรู้ว่าอะไรที่เป็นไปได้ในการปฎิบัติต่างหาก  ถ้ายังไม่เข้าใจ..แบบย่อๆ คือ IQ มีความสัมพันธ์กับงานและปัญหา   EQ เกี่ยวข้องกับคนและ PQ คือ making things happen


อย่างที่สามที่เป็นแหล่งเกิดของ what do you think คือ โอกาส   การรับรู้โอกาสของผู้ประกอบการผู้บริหารก่อให้เกิดแนวคิดทางธุรกิจ การสร้างความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ  โลกยุค digital มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  มีการเชื่อมโยงถึงกันอย่างต่อเนื่อง  ส่วนใหญ่โอกาสสำคัญของธุรกิจจะมาจากตลาดมาจากลูกค้า  ตลาดเป็นตัวกำหนดโอกาส และ มาจากใจ คือใจของลูกค้าที่แสดงออกมาผ่านทางอุปสงค์ demand ส่งสัญญาณ หรือคำตอบแก่ผู้ประกอบการ ผู้ขาย ว่าสินค้าใด บริการใดเป็นที่ต้องการ   อย่าลืมว่าลูกค้าของเราในวันนี้ อาจไม่ใช่ลูกค้าของเราในวันพรุ่งนี้  เนื่องจากลูกค้าในปัจจุบันมีความรู้ ระดับการเรียนรู้สูงขึ้น มีความต้องการที่ซับซ้อน  co-creative entrepreneur เท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนกรอบความคิด  สามารถมี fusion and market space ได้ดี


What will you do?
ความจริงของทุกวันนี้ (ไม่ใช่ความจริงวันนี้) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม การแข่งขัน ตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่คาดการณ์ ติดตามได้ยาก ไม่แน่นอน ไม่มีความคงที่  มันเป็นโลกที่ชวนให้ตื่นเต้น คือ ทั้งโหดและสับสน  คำว่าโหดคงใช้ได้กับเศรษฐกิจที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างที่สุดตามมาด้วยความตกต่ำฉับพลัน  สำหรับสับสนนั้น อธิบายได้ว่าเป็นทิศทางของเศรษฐกิจที่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าไปถูกทิศหรือไม่เพราะถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างทางเลือกต่างๆอย่างเร็วสุดเหมือนกัน ถูกเหวี่ยงจนเวียนหัว    ถึงแม้เราจะไม่สามารถคาดเดาอนาคต แต่ที่ทำได้คือการจับกระแสที่จะก่อให้เกิดความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน การเปลี่ยนวิกฤติความเสี่ยงให้เป็นโอกาส ซึ่งการจะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ต้องสร้างความยืดหยุ่นอย่างมหาศาลในองค์กร  มีหลายองค์กรในปัจจุบันที่ยังมีการบริหารจัดการแบบดั้งเดิม คือยังเน้นเรื่อง function ซึ่งถือได้เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลง (เป็นพวกโง่แล้วยังหยิ่งอีกด้วย)  เพราะการจัดการที่เน้นแค่ function ทำให้การมอง การมุ่งที่ลูกค้าห่างไกลออกไปและทำให้สูญเสียการบูรณาการที่เรียกได้ว่าเป็น flow ของ cross-functional activities ในองค์กร กระทบต่อการออกแบบโครงสร้างองค์กรที่จะสร้างคุณค่าให้ลูกค้าและผู้ถือหุ้น  ไม่สามารถตามข้อมูลและเทคโนโลยีได้ทัน  พวกมี mindset แบบนี้ก่อให้เกิดความเข้าใจอะไรได้ผิดๆ ความเชื่อผิดๆว่า ถ้าเรากำหนดกล่องต่างในโครงสร้างได้ดี ระบุชื่อคนที่คาดว่าถูก เหมาะสมลงไปในกล่องหลักๆ แปลว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรขึ้นอัตโนมัติ  ซึ่งมีส่วนถูกแต่น้อย  นอกจากนั้นยังเป็นการบิดเบือนมุมมองของการวัด การจ่ายตามผลงาน เปลี่ยนจุดมุ่งเน้นจากการวัดผลงานที่มีความหมายไปสู่การวัดตาม function ตามฝ่ายที่มีความสำคัญน้อยกว่า กลายเป็นการตั้งคำถามถึงขอบเขตความรับผิดชอบ งานที่ต้องทำ คนที่จะช่วยงานทำให้งานออกมาดูดีแทนที่การมุ่งไปที่ความต้องการแท่้จริงของลูกค้า  ซึ่งหนักกว่านั้น คือ นำไปสู่การตั้งเป้าหมาย หรือ การแก้ไขปัญหาที่ล้าสมัยในการปฎิบัติทางการจัดการ รวมถึงลืมเรื่องนวัตกรรมไปด้วย ซวยจริงจริง 


คราวนี้มาถึงว่าจะทำอย่างไร เราจะแปลงร่างองค์กรอย่างไร ที่จะทำให้ง่ายต่อลูกค้าในการทำธุรกิจกับเรา คำตอบสุดท้ายในที่นี้ คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนงานธุรกิจ business process  ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่ยาก การเปลี่ยนแนวคิดไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วย  เป็นเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่สำคัญของคน เป็นการมุ่งเน้นลูกค้าแบบ 1 to 1 และการดึงทรัพยากรที่ไม่ใช่เฉพาะในองค์กร แต่เป็นทรัพยากรทั้งโลกมาร่วมด้วยช่วยกัน นั่นคือ management activity ทุกอันต้อง integrate ต้องเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า ทำให้เป็นวัตถุประสงค์ในองค์กร สร้าง business process ใหม่ กำหนดและสร้างความสามารถองค์กรใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นเพราะการจัดการในรูปแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำให้องค์กรต่อสู้ได้ และไม่มีทางจะสู้ได้อีกต่อไป เพราะนอกจากผิดตั้งแต่สมมุติฐาน การควบคุมไม่ได้เอื้อต่อการฉายแสงศักยภาพของคน ที่จะทำให้คนเปลี่ยนมาคิดอะไรใหม่ๆได้สินทรัพย์ที่มีค่าจะไม่ได้ถูกใช้เต็มที่ในการขับเคลื่อน  องค์กรมันต้องแตกต่างและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุดในการทำธุรกิจ เลิกลำดับขั้นแบบเดิมๆ โครงสร้างขนมชั้น สร้าง new management model เปลี่ยนผ่านจากการจัดการเป็นการนำ เป็นการจัดการความเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างความเชื่อมั่น เป็นการสร้างผลิตภาพจากการเป็นหุ้นส่วนซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของเราแตกต่างได้ มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแบบที่เคยเปลี่ยน not just a tiny bedroom แต่ต้องเปลี่ยนแบบ...from mediocre to great ซึ่งก่อนอื่นต้องแปลงร่างองค์กรเป็น business process driven แทน business function driven   ถ้ายังสงสัยคำว่า กระบวนงาน process อยากรู้..ก็พอจะให้ความหมายได้ว่า เป็นกิจกรรมใหญ่เบิ้มของงานตามลำดับ ตามเวลา มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างงาน input และผลลัพธ์  องค์กรที่ใช้การขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานจึงเป็นองค์กรที่สนับสนุน กระตุ้น ให้อำนาจคนในการคิดสิ่งใหม่ๆ การทำงานตามกระบวนงานที่มุ่งเน้นลูกค้าจะเน้นที่ผลลัพธ์มากกว่าการจบงานในตัวเองแบบ function ซึ่งผลที่ได้รับจะมาจากการมุ่งปฎิบัติงานในระดับสูงกว่า อย่างน้อยคนที่ทำงานในกระบวนงานจะตอบคำถามได้ว่า หรือรู้ได้ว่า...
    • อยู่ในส่วนใดของกระบวนงานและอธิบายได้ภายใน 25 คำ (เกินไปหรือเปล่า)
    • จุดประสงค์หลักคืออะไร
    • กระบวนงานสร้างคุณค่าให้ลูกค้าอย่างไร
    • งานของตนเกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่านั้นอย่างไร
    • คนอื่นกำลังสร้างคุณค่าอย่างไร
    • ใครอยู่ก่อน หรือ อยู่หลังการทำงานของเรา
    • องค์กรใช้วิธีการวัดผลการดำเนินงานจากกระบวนงานอย่างไร
    • ตอนนี้กำลังวัดอะไร
    • รู้ว่าจะอยู่ถูกที่คิดถูกทางอย่างไร
    • กระบวนงานอื่นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
    • การปรับปรุงกระบวนงานจะต้องใช้อะไร อย่างไร
ประมาณนั้น..ดูดีกว่ามาก.. การจัดการธุรกิจที่เน้นกระบวนงาน เป็นการมองธุรกิจจาก outside-in และ inside-out ที่บูรณาการกระบวนงานให้เข้ากับกลยุทธ์  สร้างแรงบันดาลใจตั้งแต่ระดับผู้บริหารในห้องประชุม ไปจนถึงการกินข้าวกลางวันกับลูกน้อง   เป็นการออกแบบกระบวนงานทางธุรกิจที่ส่งผลถึงการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เป็นการออกแบบองค์กรที่จะขับเคลื่อนกระบวนงานทางธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณค่าและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน  ยึดมั่นในระบบการวัดผลตามการดำเนินงานตามกระบวนงาน ที่สำคัญ คือ เป็นการรักษาจุดยืนและการประสานสอดคล้องกันของกิจกรรมทางธุรกิจอย่างเป็นเนื้อเดียว ดูๆไปก็ไม่น่าจะยาก.. ต้องลองแล้วจะรู้ ไม่ทำไม่รู้ ทำแล้วยังไม่รู้...ตัวใครตัวมัน

2 ความคิดเห็น: