วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องของความผิดพลาด

คนเรามักกลัวผิดกลัวพลาดจึงมักสร้างทิฐิ สร้างทัศนคติต่อต้านความผิดพลาดไว้ล่วงหน้า พอพลาดขึ้นมาก็จะป้องกันตัวเองไว้ก่อน เช่น โกหกไว้ก่อน ปัดไว้ก่อน หรือหาแพะซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทับซ้อนยากที่จะแก้ไขในภายหลัง อย่ามัวกลัวต้องรับผิดชอบ กลัวต้องชดใช้ กลัวเสียหน้า เพราะถ้าเป็นเรื่องงาน...มันเสียหายมากกว่านั้น เมื่อพลาดไปก็ต้องกล้าๆหน่อย

1. ยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ การหลบเลี่ยงความผิดพลาดถือเป็นวิถีคนขลาด อะไรที่เกิดไปแล้วย่อมกลายเป็นอดีตไปแล้ว ลบไม่ได้ หนีไม่พ้น ผิดก็คือผิด จะไปคิดระบายเปลี่ยนสีเปลี่ยนรูปร่างเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ แล้วจะไปคิดให้เสียเวลาทำไม 

2. ยอมละทิฐิไป อย่ามัวห่วงภาพลักษณ์ ห่วงหน้าตาตัวเอง คนเราไม่ได้ดีเสมอ ทำอะไรก็ถูกเสมอ ทำผิดไม่เป็น มันไม่ใช่ มองให้ออกว่า อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตระหว่างหน้าตาหรือสัจจะความจริงที่เป็นสิ่งไม่ตาย

3. ตั้งจุดยืนใหม่ แก้ไขตัวเอง ประกาศการยุติความวุ่นวายผิดพลาดของตัวเอง อันนี้เป็นโอกาสที่เราสามารถลุกขึ้นมาจัดระเบียบปฏิรูปตนเองใหม่ได้

Bruce Lee ว่าไว้ “ความผิดพลาดเป็นเรื่องอภัยกันได้ ถ้าคนนั้นยอมรับด้วยความกล้าหาญก่อนในทันที” ขออย่างเดียวอย่าผิดซ้ำซากเหมือนที่เป็นมา มันคือการไม่เรียนรู้ การไม่พัฒนาตัวเอง !!

ไม่ต้องคิดอะไรมาก เอาง่ายๆว่า...
ถ้ากลัดกระดุมผิด……จะทำยังไง……
คำตอบเดียว คือ กลับไปแก้ไขที่จุดเดิม 
ถ้าอาหารหมดอายุ..จะทำยังไง…..
คำตอบเดียว คือ ทิ้งเก่าเริ่มใหม่

มันเป็นเรื่อง “จุดเดิมหรือจุดใหม่” ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ว่าจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้มีสิ่งดี สิ่งที่ถูกต้องตามมา คนโง่เท่านั้นที่จะตะบี้ตะบันใส่เสื้อที่ติดกระดุมผิดไปทั้งวัน หรือกระเดือกอาหารหมดอายุเข้าไปในร่างกายตัวเอง แล้วปล่อยให้มันเป็นพิษคุกคามสุขภาพ


การทำงานก็เช่นกัน...เลือกได้ คือ กลับไปแก้ไขที่จุดเริ่ม ที่มันผิด หรือ ทิ้งสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพองค์กรไป...แล้วเริ่มใหม่ ซึ่งได้ประโยชน์หลายประการ อย่างน้อย ความรู้สึกผิดของตัวเองจะลดลง ไม่ค้างคาใจ ได้ยุติการสูญเสียเวลาอย่างไร้ประโยชน์และที่สำคัญได้โอกาสที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง กล้าออกมารับผิดชอบอย่างสง่างาม ไม่ต้องแก้ตัวให้เสียเวลา มันจะได้เริ่มต้นลงมือแก้ไขด้วยตัวเอง อันนี้คือพฤติกรรมวีรชนคนจริง !!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น