วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การประกอบการและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Entrepreneurship and Economic Development)

ความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
ในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  เป็นช่วงที่มีการขยายตัว เติบโตทางวิชาการอย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ ทางซีกโลกตะวันตก  ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมศาสตร์  สังคมวิทยา  จิตวิทยา รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  นักวิชาการสาขาต่าง ๆ ได้มีการพิจารณาขอบข่ายของสาขาวิชาของตัวเองและพยายามประมวลแนวความคิดจากสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันในลักษณะของสหวิทยาการ  พูดง่ายๆคือหาทางเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาความคิด สร้างความก้าวหน้าหลังจากที่ซุ่มอยู่กับตัวเองมานาน  คนนึงที่เป็นตัวอย่างแรกๆ คือ Everett Hagen ได้โยงใยความสัมพันธ์ระหว่างการก่อเกิดของบุคลิกภาพ  ความเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมไว้อย่างแนบเนียน    แนวความคิดนี้  Hagen  เขียนไว้ในหนังสือชื่อ On the Theory of Social Change : How Economic Growth Begins   Hagen มองผู้ประกอบการทางธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้แก้ไขปัญหาที่มีความคิดสร้างสรรค์  และเป็นผู้ที่มีความสนใจทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต แปลว่ามีสาระ สร้างสรรค์อย่างมาก  ซึ่งย่อมมาจากแรงบันดาลใจที่สุดโต่งในการจะทำการอะไรให้ประสบความสำเร็จ  ดังที่ Hagen ว่า  “ผู้ประกอบการมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและสำเร็จให้จงได้”     แนวคิดของ Hagen  ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของคนกับการเกิดแรงจูงใจของผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจนั้นเกิดจากทฤษฎี “the authoritative - creative personality dichotomy” ที่ว่าบุคลิกภาพสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะต่างกันคือ บุคลิกภาพชอบครอบงำ (authoritative  personality) กับบุคลิกภาพชอบสร้างสรรค์  (creative personality)     Hagen  เชื่อว่าบุคลิกภาพของผู้ประกอบการเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก  และเด็กจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการครอบงำจากพ่อในระดับต่ำ  มีความอบอุ่นจากแม่เต็มๆ  คือพ่อมีบทบาทน้อยกว่าแม่ แปลว่าแม่สร้างสรรค์มากกว่าอย่างนั้นหรือ อันนี้ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่  แต่ Hagen คงศึกษาวิจัยมาแล้ว แต่มันก็นานแล้ว ที่สำคัญ..อันนี้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์ คือเด็กต้องได้รับการฝึกให้พึ่งตนเองและรู้จักมาตรฐานของความมีคุณภาพ ความเป็นเลิศ    Hagen ว่าเด็กที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ก็จะสามารถเติบโตเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเผชิญกับอุปสรรคหรือการปิดกั้นอันเนื่องมาจากแนวความคิดแบบเก่าๆ เชยๆ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆในสังคม  ก็จะตอบโต้แบบมีฟอร์ม ไม่ใช่มวยวัด คือ ตอบโต้ในลักษณะของผู้ประกอบการที่ไม่ยอมแพ้ สร้างสรรค์ หาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองจนได้  ซึ่งกระบวนการในลักษณะนี้ย่อมมีอยู่ในสังคมมนุษย์และยังผลให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด
Thomas  Cochran  ก็ถือเป็นนักวิชาการรุ่นแรก ๆ อีกคนหนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความเป็นผู้ประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ     Cochran  พิจารณาศึกษาประเด็นทางวัฒนธรรมในลาตินอเมริกาและดึงประเด็นออกมา 3 ประเด็นสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความเป็นผู้ประกอบการของคน ได้แก่  
  1. ค่านิยมทางวัฒนธรรม (cultural values)  ขอยกตัวอย่างเองว่า อย่างเมืองเรามีการให้ความสำคัญแก่ตัวคนที่พึ่งพาอาศัยได้ ทางใต้เรียกนายหัว ทางเหนือเรียกพ่อเลี้ยง ทางตะวันออกอาจเรียกได้ว่ากำนันเป๊าะ แต่สำหรับสีแดงเรียกหาแต่ทักษิณ ค่านิยมแบบนี้จะทำให้เกิดคนที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ คนที่ต่อสู่ด้วยตนเอง ท่าจะยาก เพราะค่านิยมทางวัฒนธรรมของเราชอบพึ่งพา ต่างจากสังคมที่เน้นความอิสระ ความสร้างสรรค์ เน้นคุณภาพ ความมีเหตุมีผล การทำงานหนักด้วยตัวเองจะเป็นสังคมที่เอื้อต่อการเป็นผู้ประกอบการได้มากกว่าแน่ๆ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราไม่มีผู้ประกอบการในระดับ world class 
  2. ความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับบทบาทของคน (role expectations)  อันนี้เป็นบทบาทที่คนคาดคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไร มันเป็นกลไก เป็นเครื่องมือทางสังคมที่ทำให้เราคิดได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องบรรทัดฐานและสถานภาพ ซึ่งก็ได้รับการอบรมทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตั้งแต่เล็กและมากขึ้นตามลำดับจากสังคมที่เราเป็นสมาชิก 
  3. การแทรกแซงทางสังคม (social sanction) เป็นกระบวนการกล่อมเกลาใหคนได้รับรูวาส่ิงใดควรประพฤติปฏิบัติและสิ่งใดควรละเวน อย่าทำ
เห็นดีด้วยกับ Cochran ว่าไม่เพียงแต่ในลาตินอเมริกาหรอก ทุกที่ในโลกมี 3 ประเด็นนี้แหละที่จะทำให้คนมีพฤติกรรมเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นแค่พ่อค้า พูกไปจะยาว กลับมาที่ Cochran  อีกทีเขาถือว่าผู้ประกอบการไม่ได้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานของคนทั่วไปหรือว่าเป็นเอเลียนแต่อย่างใด  แต่เป็นคนที่มีบุคลิกภาพหรือคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ส่งเสริมให้คนเป็นผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ  ซึ่งบุคลิกภาพเฉพาะตัวนี้ถูกหล่อหลอมจากการได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาซึ่งเป็นเงื่อนไขจากค่านิยมวัฒนธรรมในสังคมนั้น  และค้นพบว่าพฤติกรรมการดำเนินการธุรกิจของคนในช่วงต่อมาจะได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยอีก 3 ประการ คือ 
(1) ทัศนคติที่มีต่องานอาชีพของตัวเอง
  1. ความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับบทบาทของตน (อันนี้ซ้ำ) และ 
  2. เงื่อนไขหรือสภาพในการทำงาน ในสถานการณ์สถานการณ์หนึ่ง  
Cochran ว่าปัจจัย 2 ประการแรกเกิดจากระบบค่านิยมของสังคม  เมื่อใดที่ระบบค่านิยมของสังคมส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมผู้ประกอบการ  เมื่อนั้นความก้าวหน้า ความเติบโตก็จะบังเกิดขึ้นในสังคมอย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการอีกหลายคนเชื่อว่าบุคลิกลักษณะของบุคคลไม่สามารถแยกออกจากสถานการณ์ทางสังคมได้  ไม่เชื่อไปถาม Sigmund Freud  สังคมหล่อหลอมบุคลิกลักษณะของคนให้แตกต่างกัน  ซึ่งได้มาจากศึกษาประวัติของผู้ประกอบการทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเพื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของถิ่นที่อยู่อาศัย  ภูมิหลังทางครอบครัว  การมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธุรกิจก่อนการประกอบธุรกิจ เป็นต้น  ถือได้ว่าช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นหากจะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการขึ้นในสังคมอย่างเป็นเครือข่ายซึ่ง Frank  Young  ก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเครือข่ายทางสังคมของคนที่มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดและเป็นไปในลักษณะวางใจซึ่งกันและกัน  จะทำให้เกิดคนกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในธุรกิจได้แก่  นักการเงินการธนาคาร  ผู้ซื้อ  และผู้จัดส่งวัตถุดิบเป็นต้น  แนวคิดลักษณะนี้เป็นแนวคิดที่พูดกันมากในบรรดาหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นที่มาของวัฒนธรรมแห่งการประกอบการที่ต้องทำกันเป็นฝูง (cluster) 
แต่คนที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฏีของการเชื่อมโยงการประกอบการทางธุรกิจเข้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด  คือ David  McClelland เป็นนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   ได้มีการศึกษารูปแบบค่านิยมที่ฝังลึกอยู่ในสังคมก่อนที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ  McClelland ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ  Achieving  Society   โดยเริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับความต้องการของผู้ประกอบการที่จะประสบสำเร็จ  ถือเป็นแนวคิดที่ฮอทฮิตแพร่หลายเป็นที่ยอมรับกันในสังคมในเวลานั้น  McClelland ถือว่าความต้องการดังกล่าวของผู้ประกอบการ เป็นความต้องการความสำเร็จที่ไม่ได้มีนัยว่าอยากได้อำนาจ  ความรัก  การเป็นที่ยอมรับ  หรือแม้แต่ผลกำไร คือ มุ่งมั่นอยากสำเร็จโดยไม่ได้คาดหวังสิ่งตอบแทนใดๆ success for success sake โดยแท้       วิธีการหลักที่ McClelland  ใช้ในการศึกษาคือ  ศึกษาข้อเขียน บทความที่แพร่หลายในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์  จัดระดับลำดับความสำคัญของข้อมูลโดยพิจารณาถึงภาพลักษณ์ คุณลักษณะที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ จากนั้นก็ศึกษาหาหลายสิ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ความเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจประกอบกัน  (แต่ถูกวิพากษ์ซะเละจากคนอื่น)   อย่างไรก็ตามงานของ McClelland  ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งเพราะเป็นคนแรกที่เริ่มประยุกต์ทฤษฎีเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการมาใช้กับการส่งเสริมให้เกิดการประกอบการในสังคม  ซึ่งโครงการลักษณะนี้มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน   ในขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ถูกค้นพบคือ “พลัง” พลังที่มาจากเอกลักษณ์เฉพาะตัว  พลังที่อยากชนะ พลังความอยากเป็นเลิศ  พลังความมุ่งมั่น  และพลังความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับคนอื่น       McClelland กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนารูปแบบของพฤติกรรมของผู้ประกอบการและถือว่าตัวผู้ประกอบการเป็นทั้งผลผลิตของสังคม และเป็นทั้งผู้ก่อให้เกิดมาตรฐานใหม่ ๆ ขึ้นในสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
อยากสรุปความเชื่อมโยงนี้ว่า ในสังคมใดสังคมหนึ่งหากมีผู้ประกอบการที่มีแรงบันดาลใจในการดำเนินงานให้บรรลุถึงความสำเร็จ มีความเป็นเลิศด้านมาตรฐาน มีพลังสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งการประกอบการ สังคมนั้นย่อมเกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความสามารถทางการผลิตการบริการที่สูงขึ้น การเก็บออมที่มากขึ้นและการลงทุนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และเมื่อใดที่ระบบค่านิยมทางสังคมส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมผู้ประกอบการ ความก้าวหน้าและความเจริญเติบโตจะบังเกิดขึ้นจากการสร้างงานและพัฒนาธุรกิจใหม่
การสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยผ่านการสร้างธุรกิจ
ก่อนที่นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Adam  Smith จะเขียนหนังสือที่ต่อมาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ชื่อ The  Wealth  of  Nations  ผู้คนได้ทุ่มเทกับการหาหนทางในการพัฒนาสภาพความกินดีอยู่ดีมาก่อนแล้ว  และภายในศตวรรษที่ผ่านมานี้เองที่มีการใช้มาตรวัดความมั่งคั่งของชาติจากรายได้โดยรวมตัวชี้วัดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสต่าง ๆ ในการใช้ทรัพยากรและการดูแลธรรมชาติสภาพแวดล้อมเข้าด้วยกัน  ถือเป็นตัวกำหนด  “คุณภาพชีวิต” ของคน มีการเห็นพ้องต้องกันว่าในสังคมที่แตกต่างกันแต่มีทรัพยากรเท่ากัน  ดังนั้นสังคมที่มีคนที่มีความสามารถ  มีความรู้ และมีความสามารถทางธุรกิจ  สังคมนั้นจะสามารถมีผลผลิตที่เพิ่มรายได้ของประชาชาติและความเจริญของสังคมได้มากกว่า  อันนี้เป็นสมมุติฐานว่าความร่ำรวยของสังคม (ฟังดูแปลกๆ ไม่รู้จะรวยกันไปถึงไหน) คือ การกำหนดบทบาทของทรัพยากรมนุษย์ ยิ่งมีบทบาทและมีคุณภาพมากเท่าใด ประเทศชาติก็จะมั่งคั่งขึ้นเท่านั้น  ดูรูปปัจจัยที่จะทำให้เกิดธุรกิจคุณภาพ ผู้ประกอบการชั้นดี


การที่ปัจจัยเหล่านี้จะมีคุณภาพและมีบทบาทสูงก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถ แรงจูงใจ และคุณสมบัติของบุคคล  ซึ่งเมื่อรวมกับสภาพของสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับมหภาค ระดับมัธยภาคและระดับจุลภาคแล้วจะส่งผลต่อประชากรและสังคมทั้งในด้านบวก ลบ หรือเสมอตัวก็ได้ การรวมตัวของปัจจัยเหล่านี้ จะเกิดลักษณะ casual  chain ก่อให้เกิดการเปิดหรือปิดกั้นโอกาส  มีผลให้ธุรกิจเติบโต  ทรงตัว  หรือแม้แต่ทรุดลงก็ได้  เช่น โอกาสอาจจะเกิดได้ถ้ารวมแรงจูงใจ  ความสามารถของคนกับความต้องการทางการตลาดในสภาพแวดล้อมระดับกลาง  หรือแม้แต่บรรยากาศของธุรกิจที่เกิดขึ้นในระดับครอบครัวซึ่งจัดเป็นสภาพแวดล้อมระดับจุลภาคก็อาจกระตุ้นให้คนเกิดศักยภาพพอที่จะลงมือทำธุรกิจได้  หรือแม้แต่ในบรรยากาศที่ลำลองที่สุด เช่น  การพูดคุยกับเพื่อนก็อาจจะส่งผลในทำนองเดียวกัน คือพูดง่ายๆว่าการจะเกิดธุรกิจได้ให้เงยหน้าไปดูแผนผังข้างบน ถ้าสัมพันธ์กันในทางเข้าขา ธุรกิจเกิด   แต่ในการศึกษาไม่พบว่าพวกนี้ควรจะรวมตัวกันในลักษณะใด  ถึงเข้าท่าที่สุด   แต่คิดว่าการที่ปัจจัยเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน  แต่ละสังคม  และปัจจัยแต่ละอย่างก็แปรเปลี่ยนตลอดเวลา  เช่น ในระดับกลางตลาดบางครั้งก็ดี  บางครั้งก็ตก  การแข่งขันมีทั้งรุนแรงและอ่อนแรง  ทรัพยากรจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพ แรงจูงใจก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ผลที่เคยได้รับ  ความสามารถบางทีก็เรียนรู้ได้  บางทีก็หมดไปได้ รวมทั้งคุณสมบัติส่วนตัวต่าง ๆ สถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นนี้ คือ  การสร้างโอกาสที่คนรักจะเป็นผู้ประกอบการต้องเกาะติดและนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้  สรุปรวมว่าความเข้าใจสถานการณ์และวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ได้  จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์สูงสุด  ต้องทบทวน ต้องศึกษาอย่างละเอียดในระดับต่างๆให้ครบ เช่น ในสังคมระดับมหภาคจะมีปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม กฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ส่วนในสังคมระดับกลางจะประกอบด้วยปัจจัยทางด้าน ตลาด สถาบัน การแข่งขัน โอกาส ในขณะที่สังคมในระดับจุลภาคนั้น จะมีปัจจัยหลักคือ วัฒนธรรมครอบครัว โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น เป็นต้น หรือจะดูอีกซีกหนึ่งก็จะเป็นการมุ่งพิจารณาที่บุคคล ซึ่งจะดูศักยภาพส่วนบุคคล ลักษณะทางกายภาพ  การศึกษา   ประสบการณ์ และทักษะ ส่วนปัจจัยทางด้านแรงจูงใจจะดูค่านิยม การให้ความสำคัญและระดับของ commitment เป็นต้น และทางด้านทรัพยากรส่วนบุคคลก็จะครอบคลุมถึงการได้รับหรือการแสวงหาผลประโยชน์
การประสบความสำเร็จทางธุรกิจที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ผลของการนำปัจจัยต่าง ๆ มาดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และทุกคนมีสิทธิแข่งขันกันในด้านธุรกิจเสมอ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการกระทำร่วมกันของคน  จะพัฒนาผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาสังคมด้วย ไม่เช่นนั้นคงได้แต่ฝัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น