วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ไม่ไชโย


เป็นที่ยอมรับกันว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่นิยมเรียกว่า SMEs นี้ถือเป็น engine of growth ที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งในบ้านเรามีอัตราส่วนถึง 98-99% จากบรรดาธุรกิจทั้งหมด  แต่กว่าจะรู้กัน SMEs ก็ถูกละเลยให้เลี้ยงตัวเองไปตามมีตามเกิดเป็นสิบๆปีเพราะหลงไปให้ความสำคัญกับธุรกิจรายใหญ่ที่คาดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ (ใครไม่รู้) มากกว่าและยังเห็นผลทันตาอีกต่างหาก   SMEs เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ของทุกยุคทุกสมัย ถูกนำมาอ้างในการหาเสียงทุกครั้งไป  เพราะรู้กันแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท  โดยเฉพาะในเวลาวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทใหญ่โตทั้งหลายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้นก็พากันเดี้ยงไปกันเป็นแถว แต่ SMEs never die ! ต่อให้ตายไปวันนี้..วันนี้ก็มีเกิดใหม่ได้อีก  จะสังเกตุเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมี SMEs มากที่สุด ดูได้เลยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น  ฮ่องกง สิงคโปร์  SMEs ทั้งนั้น และเป็น SMEs ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  ดังนั้นการสร้าง SMEs รายใหม่ขึ้นมาจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ  (แต่ต้องให้ถูกทาง)
สำคัญที่ว่าเราตีความหมาย SMEs อย่างไร เพราะถ้าความหมายที่คิดกันง่ายๆว่าธุรกิจอะไรก็ได้  อันนั้นคงพัฒนาไม่ถูกที่ เรายังยึดติดกับมูลค่าอยู่มากในการแบ่งประเภทของ SMEs ใช้สมองซีกซ้ายอย่างเดียวเลย อิงระเบียบกฎเกณฑ์ในทางราชการว่าต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้าน 20 ล้าน ยอดขาย 200 ล้านประมาณนั้น  มันง่ายไปหน่อยและไม่ make sense แต่อย่างใดในการจะพัฒนา SMEs  ซึ่งในความหมายที่ SMEs จะเป็น engine of growth มันต้องเล็ก คล่องตัว มีแนวคิด     มีนวัตกรรม มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวได้เร็ว   ดังนั้นการพัฒนาจึงไม่ใช่สักแต่ว่าสร้างธุรกิจใหม่ แต่ต้องเป็นการสร้างคน สร้างผู้ประกอบการที่คิดด้วยสมองทั้งขวาและซ้ายอย่างสมดุล  สามารถสร้าง creative business solution ของตัวเองได้ อันนั้นขับเคลื่อนได้ ยั่งยืนได้แน่  ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่ SMEs ตายไปเดือนละ 600 กว่าราย เสียดายเงินในการพัฒนา  อันนี้ยังไม่นับว่าถูกกีดกันจากรายใหญ่ สร้าง barriers of entry ขึ้นในอุตสาหกรรมเพราะพวกใหญ่ๆนั้น เงินก็มากกว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายก็มากกว่า  ยิ่งเป็น economy of scale แล้วละก็เลิกกัน ตามไม่ทัน สู้ไม่ไหว สู้ด้วยต้นทุนก็ตัวใครตัวมัน   เป็น SMEs ต้องไม่เล่นในสนามเดียวกับยักษ์ใหญ่ การพัฒนา SMEs ที่จะได้ผล คือ สอนให้คิดเป็น สร้างสนามของตัวเองเดินเล่นสบายๆ พ้นขอบเขตการแข่งขันไปได้ จึงจะถือว่าเจ๋ง  ทุกวันนี้สอนกันแบบโบราณมากสอนความรู้กันอย่างเดียว ไม่เคยสอนให้คิด  SMEs ไทยจึงเป็นเครื่องจักรที่แล่นไปสะดุดไปสำลักไป 
อย่าลืมว่าโลกข้างหน้าเปิดสำหรับคนตัวเล็กเต็มที่ ถ้าเบิ่งตาสักหน่อยจะเห็น SME brand เจ๋งๆ จิ๋วแต่แจ๋วอยู่หลายอันทีเดียวที่เริ่มเล็กๆและต่อมากลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น FREITAG  กระเป๋าใบเดียวในโลก หรือ FITFLOP รองเท้าแตะราคาสองสามพันยังดังไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้ ทำเอาบริษัทยักษ์ใหญ่ทำรองเท้าถึงกับกุมหัว   ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ SMEs เราพร้อมหรือไม่  อันที่จริงเราก็มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรคของ SMEs ไทยไว้มากมาย เสียเงินทองในการศึกษาวิจัยวิเคราะห์มาก็มากและยังมีแนวโน้มจะเสียอีกต่อไป  แต่ SMEs ก็ยังไม่เก่ง เอาแค่ตลาด MAI หรือตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs ก็ยังมีผู้ประกอบการให้ความสนใจน้อยอยู่ ทั้งๆที่มีหน่วยงานสนับสนุนว่าจะสร้าง competitive advantage แต่ยังโดนเมิน เพราะผลประโยชน์ไม่จูงใจ เข้าไปกลับเสียเปรียบพวกหลบเลี่ยงภาษีที่ไม่ได้เข้า ไม่ได้ถูกตรวจสอบ  นี่แหละที่เคยบอกว่า โครงสร้าง นโยบายมันต้องเอื้อจริงๆ ไม่ใช่ขยักขย่อน ทำดีไม่ได้ดี  ผู้ประกอบการ SMEs จะโตได้อยู่ที่สังคม อยู่ที่การเมือง อยู่ที่หน่วยงานของรัฐที่จริงใจในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่ทำไปวันๆให้มันได้ตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ (ว่ายังไงถึงแน่)  แบบนี้นอกจากจะไม่ขับเคลื่อนแล้ว ยังต้องเสียเงินซ่อมบำรุงโดยไม่รู้ว่าเครื่องจักรจะมีวันฟื้นหรือไม่ น่าเสียดาย
ฉะนั้นในเรื่องของการสร้าง SMEs ให้เป็น growth engine คงต้องคิดใหม่ ต้องบ่มเพาะ สร้างบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเลิกเสียที เรื่องของฟรี มันไม่มีในโลก บทเรียนแรกที่สำคัญของผู้ประกอบการที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในโลกผันผวนระดับสี่ระดับห้านี้ คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรีในโลกธุรกิจ  ต้องให้แสวงหา ขนขวาย ไม่เช่นนั้นความช่วยเหลือของหน่วยงานทั้งหลายก็จะกองอยู่กับกลุ่มลูกหลานสภาอุตสาหกรรม หอการค้าที่ไม่เคยเห็นคุณค่า เพราะมันฟรี ที่สำคัญกินที่คนอื่นอย่างไม่ละอายด้วย เราต้องการคนที่ค่านิยมเกินร้อยมาฝึกคิด เราไม่ได้ต้องการพวกน้ำเต็มแก้วแต่ไม่ยอมแบ่งให้ใคร  มันต้องเริ่มจากการคัดเลือกตรงนี้ก่อน ไม่ใช้เอะอะก็เครือข่าย ที่ตอนนี้ก็มีเต็มเมือง ไม่รู้ว่าเป็น world class entrepreneur กันบ้างแล้วหรือยัง  
คราวนี้ลองมาดูยุทธศาสตร์ของแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2555-2559) กันดูบ้าง เอามาจาก สสว. เผื่อจะมีความหวัง  มีอยู่ 4 ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้ SMEs กลายเป็น growth engine ของเศรษฐกิจบ้านเรา 
ยุทธศาสตร์ที่ 1 
สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย 
ยุทธศาสตร์ที่ 2 
เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย 
ยุทธศาสตร์ที่ 3 
ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลตามศักยภาพของพื้นที่
ยุทธศาสตร์ที่ 4 
เสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  
ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์นี้ ท่านว่าจะทำให้เชื่อมโยงกันโดย
  • การพัฒนาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการและสนับสนุน SMEs  เพื่อให้มีหน่วยงานหลักในการยกระดับศักยภาพของผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนา SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
  • การจัดทำฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ เพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูลกลางด้าน SMEs  ของประเทศที่เป็นฐานเดียวกัน (Centralized SMEs Database) โดยรวมข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ SMEs ในแหล่งเดียว (One stop service)  ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกันกับศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารสนเทศและบริการภาครัฐ (e-Government Portal)  การพัฒนาดังกล่าวจะคำนึงถึงความประหยัด ประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงและใช้งาน
  • การเตรียมความพร้อมและยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านการค้าการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ SMEs เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมุ่งเน้นธุรกิจสาขา (Sector) ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้ SMEs มีความสามารถพร้อมรับกับการแข่งขัน ขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจสาขาที่มีศักยภาพในด้านการค้าการลงทุนในต่างประเทศ จะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่
นอกจากความเชื่อมโยงของทั้ง 4 ยุทธศาสตร์แล้วยังมีความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่
  • การพัฒนาศักยภาพ SMEs ในท้องถิ่นโดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ในท้องถิ่น (ยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3)
  • การพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทย โดยเตรียมความพร้อมให้แก่ SMEs ในพื้นที่ (ยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4)  
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ที่มีศักยภาพให้สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศได้ (ยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 4)
ดูแล้วดีมีชาติตระกูลมาก แต่หา meaning ไม่เจอ ไร้อารมณ์ ไร้ความรู้สึก ยังมองไม่เห็นจุดที่เป็น idea focused เลยว่าตกลงเราจะพัฒนาให้ SMEs ไทยเป็นอะไรในสายตาชาวโลก หา positioning ไม่เจอ เป็นยุทธศาสตร์ที่เขียนเพื่อให้หน่วยงานที่ส่งเสริมทั้งหลายทำงานได้สะดวก พูดง่ายๆ คือ เขียนโดยใช้ตัวเองเป็นตัวตั้ง เป็นเรื่องการพัฒนาตามหน้าที่ของตัวเอง แต่ไม่มีใจแผ่ไปถึงตัวตนของ SMEs  ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์  เป็นเรื่องการวางตำแหน่งที่ใช่ เป็นการเลือกพัฒนา ไม่ใช่หว่านการพัฒนา ต้องเลือกว่าจะให้ SMEs ไทยเป็นอย่างไรก่อน ถ้าจะผลักเรื่อง creative economy ก็ผลักให้สุด อย่างอื่นทำให้น้อยลง สัดส่วนงบประมาณต้องผันตามจุดยืน อะไรที่ไม่ตรงไม่ต้องทำให้มันเปลืองทรัพยากร  ออกแบบ key process ทั้งหลายในการขับเคลื่อนให้ชัดเจนถูกทิศทางที่อำนวยความสะดวกให้ SMEs กลายเป็นเครื่องจักรสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้ได้  ซึ่งยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันในจุดยืน จุดขายและเคลื่อนไปพร้อมกันให้มันมี impact 
ตอนนี้ทุกฝ่ายก็บอกว่าต้องมีการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ต้องจัดทำฐานข้อมูล SMEs ของประเทศให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน สร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs และทบทวน ปรับปรุง และผลักดันกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็อยากรู้ว่าจะพัฒนาให้เอื้อไปในทางไหน เน้นข้อมูลอะไร หรือองค์ความรู้อะไร ในเมื่อมันยังมองไม่เห็นจุดยืน หรือ end outcome ร่วมกัน สิ่งที่จะทำทั้งหมดจึงถือได้ว่าไม่มีทิศทาง ยังไม่ได้เลือกทิศออกรบเลย เคลื่อนทัพเสียแล้ว จะกำหนดอะไรยังไงคงลำบาก การจัดสรรงบประมาณก็ยิ่งโอละพ่อ  ไปไม่เป็นเลยทีเดียว เขียนมาได้ว่าแต่ละภาคส่วนทำแผนบูรณาการทิศทางการส่งเสริมที่สอดคล้องกัน  ยังไม่รู้เลยว่าจะไปไหน สร้างทางซะแล้ว และยังมีหน้าจะพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เห็นแต่ไปดูงาน ดูมาทำไมก็ไม่รู้ หรือยังไม่รู้ว่าจะดูทำไม แต่จะไปดูหรือไปดูมาแล้ว แปลกแต่จริง  จะพัฒนาไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขยายการค้าการลงทุน ตกลงจะขายอะไร ตอนนี้   จำนวน SMEs ไทยอยู่ในภาคการค้าและซ่อมบำรุงสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 รองลงมาอยู่ในภาคบริการร้อยละ 34 ส่วนภาคการผลิตมีจำนวนร้อยละ 19 โดยประมาณ  แล้วจะยังไง  จะให้เป็น creative SMEs ก็ต้องตกลงกันให้ชัด จะได้ลุยเต็มที่  อันนี้ทำมันไปเสียทุกอย่าง ส่งเสริมมันไปทุกที่ รักพี่เสียดายน้อง หรือมีผลประโยชน์ค้ำคอ  ที่หวังว่าการสร้าง SMEs รายใหม่ขึ้นมาจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ  ขอบอกว่า creative SMEs รายใหม่เกิดยากเพราะใช้เงินงบประมาณเป็นเบี้ยหัวแตกด้วยการส่งเสริมที่ไร้เดียงสาอย่างมาก  ไม่ต้องคิดอะไรไกล ลองคิดเล่นๆว่าทุ่มเทสร้างคนแบบพี่ Gates พี่ Jobs พี่ Zuckerberg มาสักสองสามคน คนที่เป็นผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริง เศรษฐกิจไทยจะไปโลดแค่ไหน คนแบบนี้เท่านั้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้จริง อย่าไปคิดเชยๆเอาจำนวนหัวมาเป็นหมื่น มาวัดว่าได้สร้างผู้ประกอบการแล้วเลย ขอร้องอย่างแรง มันเสียหาย มันจะกลายเป็น broken economic engine 
จบข่าว

การประกอบการและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Entrepreneurship and Economic Development)

ความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
ในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  เป็นช่วงที่มีการขยายตัว เติบโตทางวิชาการอย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ ทางซีกโลกตะวันตก  ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมศาสตร์  สังคมวิทยา  จิตวิทยา รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  นักวิชาการสาขาต่าง ๆ ได้มีการพิจารณาขอบข่ายของสาขาวิชาของตัวเองและพยายามประมวลแนวความคิดจากสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันในลักษณะของสหวิทยาการ  พูดง่ายๆคือหาทางเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาความคิด สร้างความก้าวหน้าหลังจากที่ซุ่มอยู่กับตัวเองมานาน  คนนึงที่เป็นตัวอย่างแรกๆ คือ Everett Hagen ได้โยงใยความสัมพันธ์ระหว่างการก่อเกิดของบุคลิกภาพ  ความเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมไว้อย่างแนบเนียน    แนวความคิดนี้  Hagen  เขียนไว้ในหนังสือชื่อ On the Theory of Social Change : How Economic Growth Begins   Hagen มองผู้ประกอบการทางธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้แก้ไขปัญหาที่มีความคิดสร้างสรรค์  และเป็นผู้ที่มีความสนใจทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต แปลว่ามีสาระ สร้างสรรค์อย่างมาก  ซึ่งย่อมมาจากแรงบันดาลใจที่สุดโต่งในการจะทำการอะไรให้ประสบความสำเร็จ  ดังที่ Hagen ว่า  “ผู้ประกอบการมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและสำเร็จให้จงได้”     แนวคิดของ Hagen  ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของคนกับการเกิดแรงจูงใจของผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจนั้นเกิดจากทฤษฎี “the authoritative - creative personality dichotomy” ที่ว่าบุคลิกภาพสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะต่างกันคือ บุคลิกภาพชอบครอบงำ (authoritative  personality) กับบุคลิกภาพชอบสร้างสรรค์  (creative personality)     Hagen  เชื่อว่าบุคลิกภาพของผู้ประกอบการเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก  และเด็กจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการครอบงำจากพ่อในระดับต่ำ  มีความอบอุ่นจากแม่เต็มๆ  คือพ่อมีบทบาทน้อยกว่าแม่ แปลว่าแม่สร้างสรรค์มากกว่าอย่างนั้นหรือ อันนี้ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่  แต่ Hagen คงศึกษาวิจัยมาแล้ว แต่มันก็นานแล้ว ที่สำคัญ..อันนี้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์ คือเด็กต้องได้รับการฝึกให้พึ่งตนเองและรู้จักมาตรฐานของความมีคุณภาพ ความเป็นเลิศ    Hagen ว่าเด็กที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ก็จะสามารถเติบโตเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเผชิญกับอุปสรรคหรือการปิดกั้นอันเนื่องมาจากแนวความคิดแบบเก่าๆ เชยๆ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆในสังคม  ก็จะตอบโต้แบบมีฟอร์ม ไม่ใช่มวยวัด คือ ตอบโต้ในลักษณะของผู้ประกอบการที่ไม่ยอมแพ้ สร้างสรรค์ หาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองจนได้  ซึ่งกระบวนการในลักษณะนี้ย่อมมีอยู่ในสังคมมนุษย์และยังผลให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด
Thomas  Cochran  ก็ถือเป็นนักวิชาการรุ่นแรก ๆ อีกคนหนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความเป็นผู้ประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ     Cochran  พิจารณาศึกษาประเด็นทางวัฒนธรรมในลาตินอเมริกาและดึงประเด็นออกมา 3 ประเด็นสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความเป็นผู้ประกอบการของคน ได้แก่  
  1. ค่านิยมทางวัฒนธรรม (cultural values)  ขอยกตัวอย่างเองว่า อย่างเมืองเรามีการให้ความสำคัญแก่ตัวคนที่พึ่งพาอาศัยได้ ทางใต้เรียกนายหัว ทางเหนือเรียกพ่อเลี้ยง ทางตะวันออกอาจเรียกได้ว่ากำนันเป๊าะ แต่สำหรับสีแดงเรียกหาแต่ทักษิณ ค่านิยมแบบนี้จะทำให้เกิดคนที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ คนที่ต่อสู่ด้วยตนเอง ท่าจะยาก เพราะค่านิยมทางวัฒนธรรมของเราชอบพึ่งพา ต่างจากสังคมที่เน้นความอิสระ ความสร้างสรรค์ เน้นคุณภาพ ความมีเหตุมีผล การทำงานหนักด้วยตัวเองจะเป็นสังคมที่เอื้อต่อการเป็นผู้ประกอบการได้มากกว่าแน่ๆ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราไม่มีผู้ประกอบการในระดับ world class 
  2. ความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับบทบาทของคน (role expectations)  อันนี้เป็นบทบาทที่คนคาดคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไร มันเป็นกลไก เป็นเครื่องมือทางสังคมที่ทำให้เราคิดได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องบรรทัดฐานและสถานภาพ ซึ่งก็ได้รับการอบรมทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตั้งแต่เล็กและมากขึ้นตามลำดับจากสังคมที่เราเป็นสมาชิก 
  3. การแทรกแซงทางสังคม (social sanction) เป็นกระบวนการกล่อมเกลาใหคนได้รับรูวาส่ิงใดควรประพฤติปฏิบัติและสิ่งใดควรละเวน อย่าทำ
เห็นดีด้วยกับ Cochran ว่าไม่เพียงแต่ในลาตินอเมริกาหรอก ทุกที่ในโลกมี 3 ประเด็นนี้แหละที่จะทำให้คนมีพฤติกรรมเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นแค่พ่อค้า พูกไปจะยาว กลับมาที่ Cochran  อีกทีเขาถือว่าผู้ประกอบการไม่ได้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานของคนทั่วไปหรือว่าเป็นเอเลียนแต่อย่างใด  แต่เป็นคนที่มีบุคลิกภาพหรือคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ส่งเสริมให้คนเป็นผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ  ซึ่งบุคลิกภาพเฉพาะตัวนี้ถูกหล่อหลอมจากการได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาซึ่งเป็นเงื่อนไขจากค่านิยมวัฒนธรรมในสังคมนั้น  และค้นพบว่าพฤติกรรมการดำเนินการธุรกิจของคนในช่วงต่อมาจะได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยอีก 3 ประการ คือ 
(1) ทัศนคติที่มีต่องานอาชีพของตัวเอง
  1. ความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับบทบาทของตน (อันนี้ซ้ำ) และ 
  2. เงื่อนไขหรือสภาพในการทำงาน ในสถานการณ์สถานการณ์หนึ่ง  
Cochran ว่าปัจจัย 2 ประการแรกเกิดจากระบบค่านิยมของสังคม  เมื่อใดที่ระบบค่านิยมของสังคมส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมผู้ประกอบการ  เมื่อนั้นความก้าวหน้า ความเติบโตก็จะบังเกิดขึ้นในสังคมอย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการอีกหลายคนเชื่อว่าบุคลิกลักษณะของบุคคลไม่สามารถแยกออกจากสถานการณ์ทางสังคมได้  ไม่เชื่อไปถาม Sigmund Freud  สังคมหล่อหลอมบุคลิกลักษณะของคนให้แตกต่างกัน  ซึ่งได้มาจากศึกษาประวัติของผู้ประกอบการทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเพื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของถิ่นที่อยู่อาศัย  ภูมิหลังทางครอบครัว  การมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธุรกิจก่อนการประกอบธุรกิจ เป็นต้น  ถือได้ว่าช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นหากจะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการขึ้นในสังคมอย่างเป็นเครือข่ายซึ่ง Frank  Young  ก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเครือข่ายทางสังคมของคนที่มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดและเป็นไปในลักษณะวางใจซึ่งกันและกัน  จะทำให้เกิดคนกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในธุรกิจได้แก่  นักการเงินการธนาคาร  ผู้ซื้อ  และผู้จัดส่งวัตถุดิบเป็นต้น  แนวคิดลักษณะนี้เป็นแนวคิดที่พูดกันมากในบรรดาหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นที่มาของวัฒนธรรมแห่งการประกอบการที่ต้องทำกันเป็นฝูง (cluster) 
แต่คนที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฏีของการเชื่อมโยงการประกอบการทางธุรกิจเข้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด  คือ David  McClelland เป็นนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   ได้มีการศึกษารูปแบบค่านิยมที่ฝังลึกอยู่ในสังคมก่อนที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ  McClelland ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ  Achieving  Society   โดยเริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับความต้องการของผู้ประกอบการที่จะประสบสำเร็จ  ถือเป็นแนวคิดที่ฮอทฮิตแพร่หลายเป็นที่ยอมรับกันในสังคมในเวลานั้น  McClelland ถือว่าความต้องการดังกล่าวของผู้ประกอบการ เป็นความต้องการความสำเร็จที่ไม่ได้มีนัยว่าอยากได้อำนาจ  ความรัก  การเป็นที่ยอมรับ  หรือแม้แต่ผลกำไร คือ มุ่งมั่นอยากสำเร็จโดยไม่ได้คาดหวังสิ่งตอบแทนใดๆ success for success sake โดยแท้       วิธีการหลักที่ McClelland  ใช้ในการศึกษาคือ  ศึกษาข้อเขียน บทความที่แพร่หลายในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์  จัดระดับลำดับความสำคัญของข้อมูลโดยพิจารณาถึงภาพลักษณ์ คุณลักษณะที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ จากนั้นก็ศึกษาหาหลายสิ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ความเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจประกอบกัน  (แต่ถูกวิพากษ์ซะเละจากคนอื่น)   อย่างไรก็ตามงานของ McClelland  ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งเพราะเป็นคนแรกที่เริ่มประยุกต์ทฤษฎีเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการมาใช้กับการส่งเสริมให้เกิดการประกอบการในสังคม  ซึ่งโครงการลักษณะนี้มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน   ในขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ถูกค้นพบคือ “พลัง” พลังที่มาจากเอกลักษณ์เฉพาะตัว  พลังที่อยากชนะ พลังความอยากเป็นเลิศ  พลังความมุ่งมั่น  และพลังความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับคนอื่น       McClelland กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนารูปแบบของพฤติกรรมของผู้ประกอบการและถือว่าตัวผู้ประกอบการเป็นทั้งผลผลิตของสังคม และเป็นทั้งผู้ก่อให้เกิดมาตรฐานใหม่ ๆ ขึ้นในสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
อยากสรุปความเชื่อมโยงนี้ว่า ในสังคมใดสังคมหนึ่งหากมีผู้ประกอบการที่มีแรงบันดาลใจในการดำเนินงานให้บรรลุถึงความสำเร็จ มีความเป็นเลิศด้านมาตรฐาน มีพลังสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งการประกอบการ สังคมนั้นย่อมเกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความสามารถทางการผลิตการบริการที่สูงขึ้น การเก็บออมที่มากขึ้นและการลงทุนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และเมื่อใดที่ระบบค่านิยมทางสังคมส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมผู้ประกอบการ ความก้าวหน้าและความเจริญเติบโตจะบังเกิดขึ้นจากการสร้างงานและพัฒนาธุรกิจใหม่
การสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยผ่านการสร้างธุรกิจ
ก่อนที่นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Adam  Smith จะเขียนหนังสือที่ต่อมาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ชื่อ The  Wealth  of  Nations  ผู้คนได้ทุ่มเทกับการหาหนทางในการพัฒนาสภาพความกินดีอยู่ดีมาก่อนแล้ว  และภายในศตวรรษที่ผ่านมานี้เองที่มีการใช้มาตรวัดความมั่งคั่งของชาติจากรายได้โดยรวมตัวชี้วัดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสต่าง ๆ ในการใช้ทรัพยากรและการดูแลธรรมชาติสภาพแวดล้อมเข้าด้วยกัน  ถือเป็นตัวกำหนด  “คุณภาพชีวิต” ของคน มีการเห็นพ้องต้องกันว่าในสังคมที่แตกต่างกันแต่มีทรัพยากรเท่ากัน  ดังนั้นสังคมที่มีคนที่มีความสามารถ  มีความรู้ และมีความสามารถทางธุรกิจ  สังคมนั้นจะสามารถมีผลผลิตที่เพิ่มรายได้ของประชาชาติและความเจริญของสังคมได้มากกว่า  อันนี้เป็นสมมุติฐานว่าความร่ำรวยของสังคม (ฟังดูแปลกๆ ไม่รู้จะรวยกันไปถึงไหน) คือ การกำหนดบทบาทของทรัพยากรมนุษย์ ยิ่งมีบทบาทและมีคุณภาพมากเท่าใด ประเทศชาติก็จะมั่งคั่งขึ้นเท่านั้น  ดูรูปปัจจัยที่จะทำให้เกิดธุรกิจคุณภาพ ผู้ประกอบการชั้นดี


การที่ปัจจัยเหล่านี้จะมีคุณภาพและมีบทบาทสูงก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถ แรงจูงใจ และคุณสมบัติของบุคคล  ซึ่งเมื่อรวมกับสภาพของสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับมหภาค ระดับมัธยภาคและระดับจุลภาคแล้วจะส่งผลต่อประชากรและสังคมทั้งในด้านบวก ลบ หรือเสมอตัวก็ได้ การรวมตัวของปัจจัยเหล่านี้ จะเกิดลักษณะ casual  chain ก่อให้เกิดการเปิดหรือปิดกั้นโอกาส  มีผลให้ธุรกิจเติบโต  ทรงตัว  หรือแม้แต่ทรุดลงก็ได้  เช่น โอกาสอาจจะเกิดได้ถ้ารวมแรงจูงใจ  ความสามารถของคนกับความต้องการทางการตลาดในสภาพแวดล้อมระดับกลาง  หรือแม้แต่บรรยากาศของธุรกิจที่เกิดขึ้นในระดับครอบครัวซึ่งจัดเป็นสภาพแวดล้อมระดับจุลภาคก็อาจกระตุ้นให้คนเกิดศักยภาพพอที่จะลงมือทำธุรกิจได้  หรือแม้แต่ในบรรยากาศที่ลำลองที่สุด เช่น  การพูดคุยกับเพื่อนก็อาจจะส่งผลในทำนองเดียวกัน คือพูดง่ายๆว่าการจะเกิดธุรกิจได้ให้เงยหน้าไปดูแผนผังข้างบน ถ้าสัมพันธ์กันในทางเข้าขา ธุรกิจเกิด   แต่ในการศึกษาไม่พบว่าพวกนี้ควรจะรวมตัวกันในลักษณะใด  ถึงเข้าท่าที่สุด   แต่คิดว่าการที่ปัจจัยเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน  แต่ละสังคม  และปัจจัยแต่ละอย่างก็แปรเปลี่ยนตลอดเวลา  เช่น ในระดับกลางตลาดบางครั้งก็ดี  บางครั้งก็ตก  การแข่งขันมีทั้งรุนแรงและอ่อนแรง  ทรัพยากรจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพ แรงจูงใจก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ผลที่เคยได้รับ  ความสามารถบางทีก็เรียนรู้ได้  บางทีก็หมดไปได้ รวมทั้งคุณสมบัติส่วนตัวต่าง ๆ สถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นนี้ คือ  การสร้างโอกาสที่คนรักจะเป็นผู้ประกอบการต้องเกาะติดและนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้  สรุปรวมว่าความเข้าใจสถานการณ์และวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ได้  จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์สูงสุด  ต้องทบทวน ต้องศึกษาอย่างละเอียดในระดับต่างๆให้ครบ เช่น ในสังคมระดับมหภาคจะมีปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม กฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ส่วนในสังคมระดับกลางจะประกอบด้วยปัจจัยทางด้าน ตลาด สถาบัน การแข่งขัน โอกาส ในขณะที่สังคมในระดับจุลภาคนั้น จะมีปัจจัยหลักคือ วัฒนธรรมครอบครัว โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น เป็นต้น หรือจะดูอีกซีกหนึ่งก็จะเป็นการมุ่งพิจารณาที่บุคคล ซึ่งจะดูศักยภาพส่วนบุคคล ลักษณะทางกายภาพ  การศึกษา   ประสบการณ์ และทักษะ ส่วนปัจจัยทางด้านแรงจูงใจจะดูค่านิยม การให้ความสำคัญและระดับของ commitment เป็นต้น และทางด้านทรัพยากรส่วนบุคคลก็จะครอบคลุมถึงการได้รับหรือการแสวงหาผลประโยชน์
การประสบความสำเร็จทางธุรกิจที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ผลของการนำปัจจัยต่าง ๆ มาดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และทุกคนมีสิทธิแข่งขันกันในด้านธุรกิจเสมอ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการกระทำร่วมกันของคน  จะพัฒนาผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาสังคมด้วย ไม่เช่นนั้นคงได้แต่ฝัน 

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ข้าแต่ศาลที่เคารพ

ข้าแต่ศาลที่เคารพ
ข้าพเจ้าคิดว่าท่านได้เปิดประตูให้ประเทศเสียกรุงซะแล้ว.. การที่ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ว่า พรก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านของรัฐบาลเป็นไปตามรธน. 184 วรรค 1 และ 2 และ มีมติ 7-2 เห็นว่า พรก.โอนการบริหารหนี้เงินกู้ฯ เป็นไปตามรธน.นั้น  ข้าพเจ้าว่ามันเป็นการตัดสินแบบไม่เชื่อมโยง ไหนใครพร่ำบอกว่าต้องมองเชิงองค์รวม ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบกระบวนวิธีอะไรของศาลดอกนะ แต่ข้าพเจ้าว่าท่านมองแยกส่วนอย่างมาก ท่านใช้แต่สมองซีกซ้ายที่ยึดเอาอดีตปัจจุบัน ดูตามหลักการ ตามตัวบทกฎหมาย ไม่ได้มองถึงปัจจุบันและอนาคต ว่าจะสร้างความฉิบหายให้ชาติบ้านเมืองอย่างไร ไม่ยอมหาช่องช่วยเหลือประเทศ  ข้าพเจ้ากลัวว่าอีกหน่อยท่านจะเป็นอัมพฤกษ์นะ ใช้สมองไม่สมดุลกัน 
ข้าแต่ศาลที่เคารพ
การเมืองขณะนี้มันยุ่งเหยิงเคลื่อนเข้าไปสู่ความน่าทุเรศ อุบาทว์และตีบตันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านทำให้เกิดการขาดความเชื่อถือไว้วางใจ ข้าพเจ้าเริ่มสงสัยในความเป็นกลาง มันกลายเป็นมะเร็งในใจของข้าพเจ้าไปเสียแล้ว ไอ้เรื่องขาดความเชื่อถือไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ไม่เชื่อในความเป็นกลางของ กกต. ของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา ของ ปปช. ตลอดจนของกรมสรรพากรนั้น มันถูกเพาะเชื้อมานานแล้ว คราวนี้พวกท่านตอกย้ำซ้ำเติมเบ็ดเสร็จว่า ถูกแทรกแซงครอบงำด้วยอำนาจเงิน สังคมจึงวิกฤติ แล้วลูกหลานจะอยู่กันยังไงต่อไป
ข้าแต่ศาลที่เคารพ
ในความเป็นจริงการตัดสินของท่านมีผลกระทบถึงสังคมทั้งหมด ทำให้สังคมล้มเหลว มะเร็งของข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมชาติกำลังกัดกินไปยังคนอื่นๆ สังคมจะเจ็บป่วยสุดสุด  ท่านลองคิดดูเล่นๆก็ได้ว่าการเป็นหนี้นั้นมันดีหรือไม่  ท่านเชื่อจริงๆหรือว่ามันเร่งด่วน ให้กู้แล้วน้ำมันจะไม่ท่วม ท่านก็รู้ก็เห็นจากการชี้แจงแกมทอดถอนใจของกิตติรัตน์แล้ว มันไม่ได้สร้างความมั่นใจอะไรเลย ไม่มีแผนอะไรรองรับทั้งสิ้น มีแค่กระดาษสามแผ่นเนี่ยนะ กู้ได้เป็นแสนล้าน ท่านทำให้เกิดคนรวยสุดขึ้นมาอีกไม่กี่คน ในขณะที่คนจนทั้งประเทศก็จนสุดต่อไปด้วยหนี้สินที่รัฐบาลถีบมาให้  
ข้าแต่ศาลที่เคารพ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าแผ่นดินหายไปไหน การอยู่แบบพอเหมาะพอสม การอยู่แบบมีเหตุมีผล การอยู่แบบมีภูมิคุ้มกันบนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม ข้าพเจ้างง ว่าเราตัดสินได้โดยไม่คำนึงถึงปัญญา จิตสำนึก เจตนารมณ์ ศีลธรรมจริยธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติและเป็นธรรมของรัฐธรรมนูญบ้างหรือ ท่านทำให้เราไม่มีทางออกจากความขัดแย้ง เพราะความไม่ถูกต้องยังดำรงอยู่ในประเทศ ประดุจว่าเหมือนมีคนข่มขืนญาติโยมเราเห็นๆแต่ทำอะไรไม่ได้
ข้าแต่ศาลที่เคารพ
ข้าพเจ้าเศร้าเหลือเกิน เราไม่สามารถสลัดตัวออกจากการมีีจิตเล็กได้ เราเห็นแต่เรื่องเฉพาะหน้า เห็นแต่ตัวเอง และยังสยบยอมทำสิ่งที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีคุณค่า อันจะพาบ้านเมืองไปสู่ความเสียหาย นั่นมันเงินภาษีของข้าพเจ้าเหมือนกันนะท่าน ทำไมเราให้เขาเอาเงินเราซื้อเราละท่าน ข้าพเจ้ากลุ้มจนนอนไม่ใคร่จะหลับ  เราเป็นประเทศยากจนนะท่าน ยังจะให้เป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นอีกหรือ  จนก็ควรอยู่แบบจน จนก็มีศักดิ์ศรีได้ ศักดิ์ศรีของความเป็นคน ท่านเองก็มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเช่นกัน มันเป็นหน้าที่ของเราไม่ใช่ฤาที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม รณรงค์สร้างความถูกต้องในแผ่นดินเพื่อให้บ้านเมืองของเราเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ใช่อยู่บนความสามานย์
ข้าแต่ศาลที่เคารพ 
ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าฝันไป..ราตรีสวัสดิ์อีกที 

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปิดปาก เปิดใจ


เมื่อวานอ่านเฟซบุคของน้องชา..เขียนว่า 
“ อยากจะบอกให้ทราบมา ณ ที่นี้ว่าไม่เคยขอร้องใครให้มาทำงาน ใครที่ช่างพูดของให้คิดใหม่ ตรึกตรองใหม่ว่า ว่าตอนที่ถามใช้คำถามว่า สนใจจะทำงานกับพี่ หรือขอมาช่วยพี่ทำงาน คนเราอย่าสร้างเครดิตให้ตัวเองโดยการดิสเครดิตคนอื่นนะคะ สังคมมันแคบ” 

...จึงมานั่งนึกว่าเรื่องแบบนี้มันน่ารำคาญจริงจริง รำคาญมานานกับการที่พูดเอาบุญเอาคุณกันเนี่ย คนเรามันจะทำให้กันแบบไม่ต้องทวงได้ไหม  ทำแล้วทำไมต้องประกาศให้มันบาดใจ แบบนี้คบกันไปก็จิตใจแย่  จะว่าเรื่องเล็กก็เล็กจะว่าเรื่องใหญ่ก็ใหญ่  คนเสพติดกับการได้หน้า ทำอะไรนิดหน่อยก็อ้างบุญคุณ แบบนี้ใช้กันไปชาตินี้ชาติหน้าไม่หมด 

เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะรูดซิปไม่ทัน มันกลายเป็นการพูดแบบไม่มีสติ ไม่ผ่านสมอง กลายเป็นคำพูดติดปากไปอัตโนมัติ.. อันตรายใจ.. อันตรายทั้งต่อตัวเองและคนอื่น.. 
...ถามว่าทำบุญด้วยกันไหม     ตอบทันที.. ดี ช่วยด้วยก็ได้ (เฮ้ย..บุญใครบุญมัน)
...ถามว่าทำแล้วยัง                 ตอบทันที.. เดี๋ยวช่วยทำให้ (ทำอาไร งานของพี่ พี่ก็ทำซิฮะ)
...ถามว่ากินไหม                    ตอบทันที..มะ..เค้าช่วยกินให้  (จะช่วยทำไม กินก็กินดิ)
...ถามว่าโทรศัพท์หา...ละยัง    ตอบทันที..เอ้า เดี๋ยวโทรให้ฮะ (เอ้า ไปด้วยกันจะช่วยทำไม)
...ถามว่าทำงานด้วยกันไหม    ตอบทันที.. ช่วยทำค่ะ (ได้ทั้งคู่ มีช่วยอีกแน่ะ)

บางที..มันเกิดขึ้นเพราะไม่ตั้งใจ มันติดปากหรือเปล่า...แต่คนฟัง..ถึงสะอึกเหมือนกันนะกับคำคำเดียวว่า "ช่วย" เนี่ย  ตกลงใครช่วยใคร จะช่วยทำไม หน้าที่ใครก็ทำไป  คำว่า "ช่วย" มันเชื่อมโยงไปหาบุญคุณทันที...จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ  เรื่องแบบนี้รูดซิปบ้างก็ดี ไม่ทิ่มไม่แทง  แต่ถ้าเป็นความตั้งใจ... ขอบอกว่าตัวใครตัวมัน คบน่ะคบได้  แค่ได้..ใจไม่มี.. ดีไม่สุด ก็ได้แค่นั้น 

...เนี่ย..ทำมาให้  (ขอหรือเปล่า..ชักงง)
...อันนี้ดีนะ อุตส่าห์บอก (บอกทำไม ไม่ได้ถามฮะ)
...แบบนี้เพื่อคุณคนเดียว (อ้าว กลายเป็นคนพิเศษไปซะงั้น)
...สั่งมาเผื่อน้องเลย (ฉิบหายแล้ว.. จะไหวไหมนี่)

อูยย... ปวดเฮด ทำตามใจตัวเอง เป็นภาระคนอื่น แล้วยังมีบุณคุณได้อีก..สุดยอด..คิดได้ไง ไม่ไหวจะเคลียร์ฮะ น้ำใจกับบุญคุณมันคนละเรื่องกัน ไอ้การมีน้ำใจ มันไม่ต้องมี "ช่วย" "อุตส่าห์" "เผื่อ" "เพื่อ" หรอกนะ  คำแบบนี้..มันทวงกันชัดชัด สร้างความปวดใจไม่สิ้นสุด

คนเรานอกจากจะดีกับตัวเองแล้ว.. ดีกับคนอื่น ดีแบบไม่หวังผล ไม่ทวงถาม มันน่าจะสบายกว่านะ รักกันให้มันจริงจริงหน่อย มีฮิดเดนอะเจนดา มันเหนื่อย.. เหนื่อยฟัง เหนื่อยใจ ไปไม่ถูก ต้องปิดปาก...เปิดใจ.. เรามีอายุไม่กี่หมื่นวัน อย่าทำร้ายกันด้วยคำพูด (เก็บอัดไว้ เอาไปด่าพวกขายชาติดีกว่า)  มีหลายคนที่ทำให้หลายคนโดยไม่พูด ไม่ทวง...ก็เห็นเขาสบายดี ไม่ร้อนอกร้อนใจตรงไหน...แล้วเราจะพูดทำไม  ถ้าเราเปิดใจกว้าง กว้างมากๆ...เราอยู่ในโลกนี้ได้ก็ช่วยๆกันทั้งนั้น เป็นเรื่องดี..ที่ไม่ต้องพูดก็ได้  

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การบริหารเชิงกลยุทธ์ที่ใช่

เวลานึกถึง SME ไทยทีไร ภาพที่ปรากฎขึ้นมา คือ แม่ไก่ที่โดนเสือโคร่งไล่ล่าอย่างกระชั้นชิดทุกที ทำไมรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเราถึงได้เหนื่อย ใกล้โดนกินไปทุกที ทำธุรกิจไปเหนื่อยไป ได้ไม่คุ้มเสีย  ไม่เต็มที่เต็มใจที่คาดหวัง    SME ที่มีความสุข ยืนหยัดได้ด้วยตัวเองและมีท่าว่าจะอายุยืนมีจำนวนน้อยเหลือเกิน  ทั้งๆที่เราก็มีหน่วยงาน สถาบันการศึกษาอบรมบ่มวิชากันอยู่เนืองๆ มีโครงการมากมายที่ล้วนแล้วแต่ให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ทางการบริหารธุรกิจ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งความช่วยเหลือทางการเงิน   ทำไมเราจะเป็น SME ที่จิ๋วและจ๊าบ ทรงคุณค่าและดังไปทั่วโลกอย่างไร้คู่แข่งชั่วกาลปาวสานไม่ได้บ้างหรืออย่างไร  
ปัญหา คือ อะไร 
ปัญหา คือ เราไม่ได้ใช้ความคิดอย่างจริงจังในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ ซึ่งดูๆไปแล้วปัญหาการคิดเชิงกลยุทธ์ของ SME ไทยมีสาเหตุหลักๆอยู่ 4 อย่าง
  1. เราเน้นเรื่ององค์ความรู้มากกว่าการคิด เราพูดกันแต่ปรัชญา ความรู้ ท่องจำกระบวนการ ศึกษาเครื่องมือโดยไม่ใส่ความคิดลงไป ทำให้เกิดความเชื่อโดยปราศจากความคิด การปฎิบัติทางกลยุทธ์ที่ผ่านมาจึงไม่ส่งผลให้เกิดคุณค่าในธุรกิจ
  2. การไม่ยอมรับความเห็นต่าง เกิดอาการตามมา คือ ไม่กล้าคิด เรามีสุภาษิตว่า “ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ซึ่งการที่หมาไม่เคยกัดมันทำให้เราอ่อนแอ ไม่เกิดการเรียนรู้ มันเป็นการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ไม่สามารถมีความคิดที่แข็งแรงได้ กลยุทธ์ที่ออกมาจึงไม่สามารถสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันได้จริง
  3. ความเต็มใจรับเอาพฤติกรรมลอกเลียนเป็นแบบอย่าง กลายเป็นคัมภีร์แห่งความสำเร็จ ซึ่งเสร็จทุกรายเพราะไม่เกิดสิ่งใหม่ขึ้นเลย กลยุทธ์เดิมๆตามผู้นำทางการตลาด แล้วลงท้ายด้วยสู้ไม่ได้ ไม่มีวันแห่งชัยชนะ
  4. การมองแต่รายละเอียด ไม่มองเชิงองค์รวม มองไม่เห็นช้างทั้งตัว เน้น form มากกว่า function เน้นกำไร ราคา มากกว่า value ทำให้ตายก็ไม่มีเวทีเป็นของตัวเอง เพราะมองไม่ครบ หาจุดสร้างสรรค์ไม่เจอ กลยุทธ์จึงพื้นๆ ไม่มีความเฉียบคมพอที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ทิศทางที่ถูกที่ใช่
กลยุทธ์ คือ วิธีคิด
การรู้อะไร การมีความรู้ของคุณไม่สำคัญเท่ากับ “คุณคิดอะไร”  การหลงวนหาความรู้เกี่ยวกับการบริหารเชิงกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นความหมาย กระบวนการ เครื่องมือ ไม่ได้ทำให้เรามีการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่ดีได้..ถ้าคิดไม่เป็น   ในประเทศนี้มีคนมีความรู้เกี่ยวกับการบริหารเชิงกลยุทธ์มากมาย แต่ทำไมเราแทบหาแบรนด์ดังระดับโลกไม่ได้เลย ที่เห็นก็มีแต่ red bull อยู่เพียงแบรนด์เดียวที่พอจะเชิดหน้าชูตาได้ 

กลยุทธ์มาจากไหน
กลยุทธ์มาจาก what do YOU think  คิดยังไงก็เป็นแบบนั้น ความคิดมาจากค่านิยม ความเชื่อที่เราเห็นว่าดี  ปัญหา คือ มันดีพอหรือเปล่า   การคิดเชิงกลยุทธ์ได้ดีแปลว่า “ร้อยยังน้อยไป”  ค่านิยมความเป็นเลิศและยุติธรรมเท่านั้นที่จะทำให้คนก้าวข้ามไปสู่ความมีคุณภาพ  สร้างธุรกิจที่มีคุณภาพ สร้างสังคมที่มีคุณภาพ ไม่เอาเปรียบคนอื่น อันนี้เป็นจุดแรกที่ต้องคิดที่จะทำให้กลยุทธ์มีความสง่างาม   ถัดมา คือ โอกาส  คนจะเห็นโอกาสและมีความคิดได้อยู่ที่เราเป็นอิสระหรือเปล่า อิสระจากจารีต จากสิ่งที่เคยทำๆต่อๆกันมา  การมีอิสระทางความคิดและการรู้จักตัวตนของตัวเอง จะทำให้เราสามารถออกแบบกลยุทธ์ได้อย่างไม่ปลอม สะท้อนความเป็นตัวตนและสร้างสรรค์อย่างชนิดไม่มีใครลอกเลียนแบบได้  ทั้งการคิดแบบ “ร้อยยังน้อยไป” และความเป็นอิสระ ดูตัวอย่างจาก richard branson แห่ง virgin atlantic ชัดที่สุด   สุดท้าย คือ เรื่องของศักยภาพ ต้องถามตัวเองดีๆว่าตัวเรามีศักยภาพพอที่จะสร้างโลกใหม่ให้ตัวเองให้คนอื่นหรือเปล่า เรามีศักยภาพที่จะเป็น change agent หรือไม่   อันที่จริงคนทุกคนมีศักยภาพทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องฉลาด ไอคิวสูง หรือมีทรัพยากรมากถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้  เช่น คุณตาสงัด อินมะตูมชาวบ้านธรรมดาอายุ 85 ปีแห่งพรหมพิราม ปลูกต้นไม้ในเขตวัด 5 วัดเขียวไปทั้ง 45 ไร่ หรือ ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธปลูกไป 2 ล้านต้น ไม่ใช่คนมีอำนาจ ไม่ใช่คนมีเงินแต่มันอยู่ที่การมีจิตสำนึกใฝ่ดี  สร้างการเปลี่ยนแปลงได้เพราะมีการตระหนักถึงหน้าที่ของความเป็นคนที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆในชีวิต หน้าที่ในการสร้างสรรค์ หน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดี ก็มีศักยภาพทำได้  ต้องถามตัวเองว่า..เราทำธุรกิจทุกวันนี้เอาความสุขของคน หรือ เอากำไรเป็นตัวตั้ง  ถ้าคิดสุข คิดใหญ่ มี great mind ย่อมเห็นทางสว่างมากกว่า สร้างสรรค์กลยุทธ์ได้สวยงามกว่า  
กลยุทธ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์
เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนที่สามารถสร้างได้มากกว่าความแตกต่างทางธุรกิจ มันเป็น disruptive thinking มันคือ strategic thinking ทำให้เรามี strategic theme ที่ชัดเจน เพราะมันมาจากการสร้างแนวคิดที่ใช่ การตั้งกรอบเป้าหมายที่ชัดและการวางตำแหน่งที่ชนะ  ไม่สร้างสรรค์ทำไม่ได้และจะต้องเหนื่อยโดนไล่ต้อนไปอีกนานชั่วชีวิต  เป็นไก่ก็ลงสนามตีไก่ จะไปเล่นในโลกของเสือทำไมกันเล่า   SME ต้อง niche จึงรอด จึงได้ดี   เล่นในสนามที่ไม่มีใครเล่น แต่มีคนอยากเสียเงินเล่นกับเราแล้ว happy   การจะยึดความเป็น niche ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมากที่สุด  สมองขวาซ้ายทำงานหนักสมดุลจึงได้มา
จะเริ่มอย่างไร
idea generation
ออกมาจากโซนสบาย: ความใหม่เกิดขึ้นได้เมื่อก้าวเท้าออกมาจากที่เดิมเสมอ อย่ายึดความปลอดภัยจนเกินไปจะได้แต่เหี่ยวเฉา แต่ให้กล้าเสี่ยง.... เสี่ยงน้อย = ลูกจ้าง(mindset) เสี่ยงมาก = นักพนัน เสี่ยงแบบ calculated risk = ผู้ประกอบการ  ซึ่งจะทำให้เกิดแนวคิดกลยุทธ์แบบ sky is the limit ! เน้นที่ความคิดชีวิตจะสบาย 
strategic formulation & strategic planning
ขวานำ ซ้ายตาม: ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาได้ มันเป็นเรื่องการใช้สมองทั้งสองซีกให้สมดุล แต่ต้องเริ่มที่ขวาก่อนให้บรรเจิด เกิดจินตนาการ ใช้ความรู้สึก ใช้ใจ แล้วค่อยเอาซีกซ้ายมาประเมินความเป็นไปได้ในโลกความจริง 
เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อขวานำซ้ายตาม.. วิธีคิดเปลี่ยน.. จาก...
  • ความรู้ กฎกติกา กำไรสูงสุดระยะสั้น เป็น การใช้ความรู้สึก สามัญสำนึก ให้ความสำคัญกับ คุณค่า การสร้างคุณค่า
  • ใช้เหตุผล งานวิจัย การตอบสนองลูกค้า customer-centric เป็น นำด้วยความคิดสร้างสรรค์ ใช้การสังเกตุและถามคำถามที่ถูกต้อง นำลูกค้า idea focused
  • เลียนแบบ outside-in มองคนอื่น ตามคู่แข่ง เป็น สร้างคุณค่าใหม่ ทำเป็นคนแรก inside-out ค้นคว้าตัวตน หาจุดแข็ง
  • ยึดติด เน้นความชำนาญ แก้ปัญหาแยกส่วน เน้นปริมาณ เป็น เปลี่ยนแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เรียนรู้ข้ามขอบเขตอุตสาหกรรม แก้ปัญหาเชิงองค์รวม เน้นคุณภาพ
  • ยึดอดีตและปัจจุบัน การเป็นผู้นำตลาด เป็น ปัจจุบันและอนาคต การเป็นผู้นำทางความคิด
strategic planning เป็นเรื่อง AS IS ไปสู่ TO BE  ปัจจุบันเป็นอย่างไร จะไปสู่อนาคตที่คาดหวัง มุ่งหมายได้อย่างไร   มุมมอง strategic planning จึงต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  จะมามัวหวนอดีตก็ไม่เข้าท่า อาจเจ๊ง ล้มอย่างดังได้อย่างกรณีของ eastman kodak ที่เรียกหา chapter 11 กันวุ่นวาย  ดังนั้นจากการเคยเน้นแค่องค์ความรู้ ความรู้ความเข้าใจในความหมาย กระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่เป็น pattern เดิมๆเหมือนๆกัน  การใช้ template style strategy เชยๆจะหมดไป  จะกลายเป็นการมีจุดยืนและการเลือกตำแหน่งทางการแข่งขันที่แตกต่าง   การมีวิสัยทัศน์ที่คมมากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่ wishful thinking  มันต้องเป็น want เป็น dream (ขวานำ) ที่ can have (ซ้ายตาม)  เราจะสามารถสร้าง สื่อสารประโยคที่ compelling ได้  คือ เห็นแล้วตื่นเต้น  ไม่ใช่วิสัยทัศน์แบบตรรกะนำ แบบจารีตที่ทำตามๆกันมา ยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ ยาวเหยียด เห็นแล้วปวดหัว ไม่มีใครเข้าใจหรือจดจำได้  แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่ให้ความรู้สึกร่วมได้ ทุกคนเห็นอนาคต ทิศทางการเติบโตของธุรกิจและสามารถสร้างพฤติกรรมของคนในองค์กรที่ใช่ให้ขับเคลื่อนไปตามวิสัยทัศน์  เช่น วิสัยทัศน์อมตะของ JFK : send a man to the moon by the end of the decade หรือ an apple on every desk ของพี่ jobs  ที่ปลุกจิตสำนึกเชิงบวกได้ชะงัด
เมื่อขวานำ ซ้ายตามจะทำให้การประเมิน การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจก็จะเป็นไปในเชิงองค์รวมมากขึ้น มองเห็น benchmark ที่เป็น cross industry ไม่ยึดติด ไม่แยกส่วน  สิ่งสำคัญ คือ จะทำให้เราชัดในเรื่อง business mantra ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง mission ที่เข้าใจง่าย  อย่ากระหน่ำคนในองค์กรมาใส่ทุกสิ่งอย่างลงใน mission  พากันมาเป็น bullet ยาวจนงงทำไม่ถูก  เพราะมันเป็น convention thinking จาก MBA ว่า ต้องมีลักษณะธุรกิจ สินค้าบริการคืออะไร เทคโนโลยีที่ใช้ ลูกค้าเป็นใคร คนต้องเป็นยังไง บางองค์กรมีแถมประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติเข้าไปด้วย  อะไรมันจะกระหน่ำซัมเมอร์เซลขนาดนั้น  มันไม่มีใครที่ไหนจะอินได้กับความเยอะยาวแบบนั้น  ลูกค้าก็จำไม่ได้ ลองถามพนักงานดูว่า mission ขององค์กรคืออะไร ก็อาจถึงขั้นจำไม่ได้    mission statement = mantra to the employees ไม่ต้องเยอะ  guy kawasaki แนะนำว่า mission statement ควรเป็นประมาณ healthy fast food สำหรับ wendy’s หรือ peace of mind สำหรับ FEDEX หรือ authentic athletic performance สำหรับ NIKE เป็นต้น เพื่อให้พนักงานรู้ว่าจะ deliver อะไรให้ลูกค้าและลูกค้ารู้ว่าจะได้อะไรจากธุรกิจ  มันเป็นเรื่องของสามัญสำนึก คว้าตัวตนสร้างคุณค่าและ idea focus แบบชัดๆจะๆที่คนรู้ คนเข้าใจและทำตามได้ทันที
สิ่งที่ตามมา คือ การกำหนด strategic issue strategic theme การกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ make sense สัมพันธ์กับตัวตน คุณค่าและการเติบโตของธุรกิจ   นอกจากนั้นการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจที่เคย  weak อย่างเช่น international harvester ที่ไม่ยอมรับความจริง สร้างกลยุทธ์ลอยๆ อย่างการลดค่าใช้จ่าย ทำให้มีกำไรไป 2 ปี หลังจากนั้นหกเดือนต้องขายกิจการบางส่วนทิ้งไป กลยุทธ์ที่ไม่สร้างความต่างแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก   การใช้ขวานำ ซ้ายตามอย่างสมดุลจะทำให้เรามีกลยุทธ์ที่เป็น unique value unique position ทรงค่าพอที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจดังเช่นกลยุทธ์ของ apple คือ innovation ที่รู้กันว่าออกสินค้ามาแต่ละทีก็สั่นสะเทือนไปทั้งวงการ 
strategic Implementation
การดำเนินกลยุทธ์ คือ การสร้าง creative business solution ดึงเอาเส้นผมที่บังภูเขาออก ทำตามสิ่งที่เห็นให้เกิดความเป็นต้นแบบ (originality) การใช้ได้จริง (practical) และการเพิ่มคุณค่าของสินค้าหรือบริการที่เหนือราคาแบบ freitag ต้นแบบกระเป๋าใบเดียวในโลก ที่ทนทานใช้งานชั่วชีวิตและรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ materials ทุกอย่างจากการ recycle และบางรุ่นขายได้แพงพอๆกับ louis vuitton  แปลว่าในการดำเนินกลยุทธ์ให้เอาคุณภาพเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่รายได้ลบต้นทุน ใช้ key resources key processes ที่ใช้ในการส่งมอบ creative business solution อย่างคุ้มค่าเพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าหรือบริการเท่านั้น  ลดหรือตัดส่วนที่ไม่มีผลต่อการเพิ่มคุณค่าออกไปให้หมด  ถึงจะเป็นเศรษฐีแต่ถ้าเสียเวลา เสียเงินกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  มันจะกลายเป็นดำเนินกลยุทธ์แบบรวยแต่โง่   จุดที่ต้องคำนึงถึงแบบลงรายละเอียดให้มากสำหรับ creative business solution คือ การออกแบบกระบวนงาน (process) ซึ่งค่อนข้างยากเพราะเป็นเรื่องการคิดใหม่ คิดใหญ่ คิดครบ คิดแบบ cross functional แต่จำเป็นมากเนื่องจากเป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์  มันหมดเวลาของการคิดแบบ function แยกส่วนเพราะบูรณาการไม่ได้และเกิดความซ้ำซาก ซ้าซ้อนในการจัดสรรทรัพยากร  
strategic control
เป็นเรื่องของ how to market ควบคุมการดึงดูดลูกค้าอย่างสมบรูณ์แบบ ส่งมอบคำมั่นสัญญาให้เกินความคาดหมายรวมถึงการวิ่งหนีเงาตัวเอง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ถูกตาต้องใจลูกค้า ซึ่งต้องพิจารณาเรื่อง law of attraction ที่ไม่ใช่ฝนตกขี้หมูไหล  แต่เป็นการทำตัวเองให้ชัด ให้เห็นว่าเป็นพันธุ์หายาก rare จนดึงดูดให้คนต้องมาหาเรา ไม่หนีไปที่อื่น ทำตัวเองให้เป็น sweet spot คือ ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา  switching cost ไปที่อื่นไม่ได้ หาอะไรมาทดแทน (substitute) ไม่ได้ ทั้งยังต้องส่งผลไปถึงการสร้างอุปสรรคให้คนอื่นไม่มีทางจะลงสนามเดียวกับเรา เรามีอำนาจเหนือ suppliers เหนือลูกค้า   และที่สำคัญอีกประการในการควบคุมเชิงกลยุทธ์ คือ ใช้ความเป็นธรรมชาติ ใช้ความจริงใจในการสร้างความสัมพันธ์ชั่วชีวิตกับ stakeholders  ควบคุมสามสิ่งนี้ให้ดี แปลว่าถ้าเราหายไป ชีวิตคนที่เกี่ยวข้องกับเราจะไม่เหมือนเดิม ทำให้ขาดเราไม่ได้

strategic tools
อันนี้เรื่องยาว เรื่องเยอะแต่ไม่ยากหลังจากได้คิดชัดแล้ว เกิดยูเรก้า AHA effect  ถ้าจะใช้เครื่องมือทางกลยุทธ์ให้พิจารณาตาม strategic management process ก็ได้    เครื่องมือมีอยู่มากมาย หาได้ทั่วไป ไม่ใช่สูตรสำเร็จ   ซึ่งการตัดสินใจใช้เครื่องมืออะไรก็หลักการเดิม ถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา แต่จะให้ดีลองไปศึกษาเครื่องมือที่แบ่งตามระดับความผันผวนของสิ่งแวดล้อม (environmental turbulence)  ของ ansoff ที่ fleisher & bensoussan สรุปไว้ก็เลือกได้ง่ายขึ้น   พี่เขาให้  analytic tools เยอะแยะให้เลือกใช้กันไม่หวาดไม่ไหวในแต่ละระดับของความผันผวน เลือกได้ตามความแรงของกลยุทธ์และอย่าลืมดูเรื่องการตอบสนองขององค์กรประกอบด้วยจะทำให้เลือกได้ดีขึ้น   
ผลของการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการบริหารวิธีคิด
การบริหารเชิงกลยุทธ์ คือ การบริหารวิธีคิดที่ทำให้เราสามารถเลือกได้ที่จะทำให้ธุรกิจมีอายุยืน ด้วยการ...
  • การเลือกที่จะเล่นในสนามตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ไก่ย่อมไม่ควรจะอยู่ในป่าให้เสือไล่ล่า หาบ้านอยู่สบายๆมีของกินดีๆ จะได้ออกลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง  
  • สามารถกำหนดกฎกติกามารยาทการแข่งขันของเราเอง สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้หมดจดด้วยการคิดย้ายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มาอยู่ในช่องที่ควบคุมได้ ถ้ายังไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์โภชน์ผลอันใดจะคิด ปล่อยมันไป  
  • สร้างความสั่นเสทือนให้วงการอย่างแตกต่างและแปลกใหม่ เปิดโอกาสทางธุรกิจ 
ทั้งหมดนี้เท่ากับว่าเราเห็นช่องและสามารถสร้างกลยุทธ์ ดำเนินกลยุทธ์บนความเป็นตัวตนของเราอย่างเป็นสุขและทำให้เกิดรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงให้ธุรกิจเราโตอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน