วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 227

ต้อง “...ช้าและ chill out...”
จะรีบไปไหน ยิ่งอายุมากต้องยิ่งชิวไป ช้าๆไป
อาจไม่ได้พร้าเล่มงาม แต่ดีกว่ารีบเร่งแน่นอน
ไม่ใช่เฉพาะสอวอนะ คนหนุ่มสาวก็ด้วย
มันมีเหตุผลอยู่...
อย่างแรก คือ ความชัดเจนมากขึ้น
ความรีบเร่งก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด
แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่ต้องรีบ
หลายคนลนลานไปทุกอย่าง
แต่ผลลัพธ์ที่ได้...ไม่มีอะไรดีขึ้น
ช้าลง ให้เวลา...สิ่งต่างๆจะกระจ่างแก่ใจ
chill out สามารถให้มุมมองทางบวก สุนทรีย์มากกว่า 
เร่งรีบมันมองไม่เห็นอย่างอื่น
เพราะไปมุ่งแค่ทิศเดียว วิวอื่นหายหมด
อีกอย่าง คือ การควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า
อารมณ์นี่มันเป็นเครื่องเก็บความเป็นไปรอบๆตัว
แล้วทำการตอบสนองนะ
คนที่คุมอารมณ์ได้จะไม่ปล่อยสิ่งแย่ๆออกมา
ดังนั้น ช้าๆไป รู้สึกถึงอารมณ์
เข้าใจอารมณ์ตัวเองก่อนเลย
เราจะมี healthy response ต่อคนอื่น

ทั้งความชัดเจนในสถานะการณ์และการควบคุมอารมณ์
มันส่งผลต่อการตัดสินใจที่ดี 
แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่คนเราควรจะ..ช้าๆ chill out บ้าง
รีบเร่งไปก็ตายอยู่ดี 
คนตายนั้นมารีบมาเร่งไม่ได้แล้วนะ


วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 226

คนโกงไม่รู้สึกผิด

วันนี้อินกับเรื่องโกงเพราะใกล้ตัวมาก 
คนเพียงคนเดียวที่มีความโลภไม่สิ้นสุด 
ก่อให้เกิดผลกระทบที่มากมายนัก 
มากจนคนนั้นคิดไม่ถึง เพราะคิดได้แค่ประโยชน์ของตัวเอง 
ทั้งๆที่การโกงนั้นเป็นวิธีการที่ผิดศีลธรรม
โกงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
กลับทำกันทั่วไปราวกับถือใบอนุญาตทำชั่ว

และไปเจอที่ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ พูดถึงเรื่องโกง
ก็กระจ่างใจมาบ้าง คือ 

ทัศนคติ ระบบสังคมวัฒนธรรมไทยเอื้อการโกง
เพราะเรื่องการเป็นคนดีกับความดีในสังคมไทยต่างกัน 
จากการสำรวจคนไทยกลุ่มตัวอย่างเรื่องนิยามของคนดี” 
พบว่าส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าคนดีคือ คนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่
ประมาณไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน
ต่อให้เห็นคนโกงก็จะไม่บอกว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด 
ยิ่งถ้าคนโกงมีตำแหน่ง บางคนถึงกับเข้าไปเป็นพวก
เพื่อหวังให้เศษเสี้ยวของผลประโยชน์ที่จะตกมาถึงตัว
แต่การทำความดีเป็นเรื่องสาธารณะ 
ดังนั้นเวลาโกงไปแล้ว ก็ทำบุญกันไป
ถือว่าชดเชยกันได้ คือ มีแต้มบุญะสม
ทำชั่วต่อไป ไม่เป็นไรมีใบอนุญาตแล้ว
ทัศนคติอันนี้โอละพ่อมาก  
การโกงจึงเป็นเรื่องปกติไป 
จากน้อยๆไม่เป็นไร ไปจนถึงมากๆก็ไม่เป็นไร
โกงไปตามๆกัน กลายเป็นพลังแพร่ระบาด
เขาโกงได้ เราก็โกงได้
และการเพิกเฉยของสังคมกับเรื่องโกง
มันทำให้การโกงมันดำรงอยู่ได้และทำได้ง่าย
เปิดช่องโหว่ เชื้อเชิญการโกงกันเลย

ที่หนักข้อ คือ เอาความโกง การเอาเปรียบไปผูกโยงกับความฉลาด 
คนถูกโกง ถูกเอาเปรียบ คนที่ซื่อสัตย์ต้องเดือดร้อน เจ็บปวด 
คนโกงจะรู้สึกว่าพวกนี้โง่ที่เอาตัวรอดไม่ได้ 

อีกอย่าง คือ การเป็นครอบครัว
ไม่ว่าจะครอบครัวจริง หรือ การทำงานเป็นครอบครัว
คนมักรู้สึกว่าถ้าเปิดโปง มันน่าละอาย
แปลกนะ ไม่เปิดโปงนี่ซิน่าละอายกว่า
เรากิดมาทั้งที ทำไมไม่ช่วยกันสร้างระบบที่ทำให้คนรู้สึกผิด
ทำให้ความดีกับคนดีเป็นเรื่องเดียวกัน
ไม่ต้องอ้างเหตุผลครอบครัวอยู่เหนือความถูกต้อง

ความเป็นคนดี กับ การทำความดี มันเป็นเรื่องเดียวกัน !!

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 225

เปิดรับความธรรมดา อย่าไปต่อสู้กับมัน 

คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองพิเศษกว่าชาวบ้าน
ลึกๆแล้วเป็นกันเยอะ ไม่เป็นไร 
อย่าถึงขั้น NPD - Narcissistic Personality Disorder
เพราะโลกเดี๋ยวนี้อะไรก็ปัจเจก
ภาวะที่ความเป็นปัจเจกมีมากเกินไป 
รอบตัวข่มขู่ให้เรามีเอกลักษณ์ 
สื่อก็อวยให้เราเกินพอดี
ธรรมดาเลยน่าเบื่อ ไม่มีใครชื่นชม
คนแสวงหาการใช้ชีวิตที่มีการสรรเสริญ
แสวงหาความซาบซ่าของความดัง การยอมรับ
การเป็นปัจเจกจึงเกี่ยวข้องกับเงินอย่างหลีกไม่พ้น

จริงๆแล้วสุดท้าย การเป็นคนธรรมดานี่สบายสุด
อะไรจะดีไปกว่า...
การได้อยู่กับตัวตนที่ปกติธรรมดาของตัวเองในทุกๆวัน
มีความสุขได้เองทุกวัน
มีความสุขกับเรื่องทั่วๆไป..แบบสบาย
ไม่ต้องปัจเจกขนาดนั้น 
ไม่ต้องสมบรูณ์แบบขนาดนั้นก็ได้
มันไร้กังวลดีนะ

การเป็นคนธรรมดาเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิต
สุขภาพจิตดี เป็นคนธรรมดาได้ง่าย
สุขภาพจิตอ่อน ก็ต้องการเข้าสังคม
ต้องการให้คนยอมรับ...ก็เราเป็นสัตว์สังคม
แต่ถ้ามีเวลา 
ก็รับฟังบ้างว่ากาย ใจตัวเองนั้น..
ต้องการอะไร... 
ผลตอบแทนคุ้มค่านะ 
ความรู้สึกปกติธรรมดานี่มันจะอบอุ่นใจ
สามารถมอบความสบายที่แท้จริง
...ที่หาไม่ได้จากสิ่งใดกับตัวเราเอง
จะสู้ให้มันเหนื่อยทำไม...ธรรมดา ธรรมดาไปนะ 



วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 224

หนังสือ The (Honest) Truth About Dishonesty ว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะโกงทีละเล็กละน้อย มากกว่าโกงทีละมากๆ และมีแนวโน้มที่จะโกงมากกว่า เมื่อสิ่งตอบแทนที่ได้รับนั้นไม่ใช่เงินโดยตรง 
มีการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนำน้ำอัดลมหนึ่งแพค ไปแช่ไว้ในตู้เย็นส่วนกลางของหอพักนักศึกษา และวางเงินที่มีมูลค่าเท่ากันไว้ด้วย ผลปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น น้ำอัดลมในแพคนั้นมีคนหยิบไปจนหมดเกลี้ยง แต่กลับไม่มีใครแตะต้องเงินที่วางอยู่เลย
คือ ยิ่งถ้าไม่ใช่เงินตรงๆ เราจะคิดว่าไม่เป็นไร 
แต่จริงๆแล้วมัน “เป็นไร” มาก
เพราะมันจะเลยเถิดไปในเรื่องใหญ่ๆได้ในไม่ช้า
....และอาจมีเสียคน 😬
ที่สำคัญ คือ เราจะพลอยติดความไม่ละอาย
คิดว่ามันทำได้ มันถูกไปเสียอีก 
คงต้องถามตัวเองดีดี ที่ว่าเราดีนั้น
มีแอบโกงบ้างไหม
โกงเวลา
โกงทิชชู่ ของกิน ดินสอ
โกงใจ (บอกสุจริตใจ แต่ไม่ซื่อสัตย์)
โกงรัก (หลายใจ แต่ไม่แสดงออก)
โกงคำพูด (สวยหรูดูดี แต่ไม่มีนัยสำคัญ)
ฯลฯ
ถ้าโกงแล้ว ยอมรับตรงๆมันก็พอน่าเอ็นดู
แต่ถ้าโกง แล้วยังบอกว่าเป็นคนดีนี่..เหนื่อย
เช่น
เถียงข้างๆคูๆ แล้วดูว่ามีเหตุผล
รับส่วย แล้วบอกว่าเป็นสินบนสะอาด
เสียสละเพื่อชาติ ผลประโยชน์เข้าตัว
ยุติธรรม แต่แอบหมกเม็ด
เล่นเน็ต บอกว่าหาความรู้
ฯลฯ
อันนี้คือสิ่งที่คนดีไม่บอกและรังแกเรา
ดังนั้นเวลาที่เรามองใครสักคนว่าเป็นคนดี
เขาดีอย่างไร แล้วปัจจัยอะไรที่บอกว่าเป็นคนดี
เพราะคนดี ต้องไม่ขี้โกงในทุกเรื่อง


วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 223

เมื่อเสื่อม...ควรพักได้แล้ว
วันนี้สอนแล้วโคตรเหนื่อย...
คนสมัยนี้คิดว่า 60 เกษียณแล้วยังทำงานได้ 
มันคงมีแค่ใจนะ ที่คิดว่าทำได้ อาจทำได้แต่ไม่มีทางเต็มที่
มาดูกระบวนการความชรา
จะเห็นเลยว่า ทำไมจึงมีแนวคิดว่า 60 ต้องเกษียณ !! 
อันนี้ไปลอกมา
ภาพรวม : 40 ปี การทำงานของอวัยวะต่างๆลดน้อยลง
...เหลือเพียง 80%...
อายุ 50 ปีเหลือ 70% (พวกเราคงเหลือสัก 60%)
อายุ 70 ปีลดต่ำลงเหลือแค่ 35%
แยกส่วน : สมอง
อายุ 20 ปีขึ้นไป สมองเริ่มเสื่อมลง
เซลล์ประสาทเป็นเพียงเซลล์ชนิดเดียวในร่างกาย
...ที่ไม่มีการสร้างขึ้นใหม่ !!
5% ของผู้ที่อายุ 65 ปี
จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์และความจำเสื่อม
และจะเพิ่มเป็น 25% เมื่ออายุประมาณ 80 ปี
แยกส่วน : ปอด
อายุ 30 ปี ปอดเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
ความสามารถในการทำงานของปอด
จะลดลง 30 ซีซี ต่อวินาทีในทุกปี
อายุ 60 ปี ประสิทธิภาพการทำงานของปอด
จะเหลือเพียง 1/3 ของความจุปอด
แยกส่วน : ตา
ตาเริ่มเสื่อมลงเมื่ออายุ 40 ปี
อายุมากกว่า 60 ปี 30-40% เริ่มมีอาการของต้อกระจก
เมื่ออายุ 70 ปี 60-70% จะมีปัญหาจากต้อกระจก
แยกส่วน : หัวใจ
หัวใจเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 45 ปี
ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดต่ำลง
มีการอุดตันของเส้นเลือด
เป็นสัญญาณที่บอกว่าหัวใจกำลังเสื่อมลง
แยกส่วน : หู จะเริ่มเสื่อมลงเมื่ออายุ 60 ปี
ตับ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ ม้าม
จะมีอาการติดเชื้อที่ง่ายขึ้น 
เอาแค่นี้ก็คงพอคิดได้ละนะ ว่าทำไมควรหยุด
หรือควรทำงานน้อยลง หูก็ตึง ตาก็ไม่ดี สมองก็เสื่อม
อายุขนาดนี้จะให้คนต้องจ่ายเงินจ้างเราทำไม
ถ้าคิดว่าไม่เสื่อม...ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะ
- เราทำงานได้น้อยลง
- มีหลงลืม
- ไม่สบายบ่อยขึ้น
ฟันธงได้เลยว่าเสื่อมสภาพกันแล้ว มาหยุดกันเหอะ
เริ่มปล่อยโอกาสให้ชาวบ้านได้ดีกันบ้าง
อยู่ไปก็เปลืององค์กรหลายอย่าง
ถ้ากลัวเหงา ก็รับจ้างเป็นครั้งๆไปพอทำเนา
แต่ถ้าต่ออายุนี่ ไม่เคยจะเห็นด้วย
เสื่อมแล้ว เสื่อมเลย...หาอะไรทำไปแก้เหงา
ไม่งั้นก็หายใจลึกๆ ดูแลสุขภาพกายใจไปนะ
เวลาเหลือน้อย... อยู่นิ่งๆให้เป็นสุข ดีกว่าเยอะ


วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 222

เข้าใจไม่ผูกขาด
ถ้าไม่เข้าใจตัวเอง จะไม่มีวันเข้าใจคนอื่น
คนเราจะเข้าใจตัวเองได้ ต้อง “เงียบเมื่อถึงเวลา”
คนที่ไม่เงียบ ต้องพูด ต้องเม้นตลอดนี่คือ รู้สึกไม่ปลอดภัย
ต้องการการยอมรับจนไม่ยอมเป็นผู้ชมนิ่งๆ
บางทีการเงียบทำให้คนอึดอัด
อึดอัด..ที่ต้องอยู่กับข้อบกพร่องของตัวเอง
เลยต้องส่งเสียง ทีนี้เสียงมันดังบ่อยไป
กลบความชัดเจนในตัวเอง ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง
แต่ชอบที่จะเห็นตัวเองเป็นคนดีอยู่ตลอดเวลา
กลายเป็นมองไม่เห็นตัวเองในแง่มุมอื่นไป 
มันต้องเข้าใจสิ่งที่ตนเป็นอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่อยากเป็น
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทุกคนอยากมีภาพดี มีคนชื่นชม
แต่ถ้าจะเข้าใจตัวเองจริงๆ ต้องฝืนใจหน่อย
เงียบๆบ้างก็ได้ ไม่ต้องมีส่วนร่วมทุกเรื่อง
อะไรที่ไม่เกี่ยว ไม่พูดบ้างก็ได้
จะได้เห็นจุดยืนตัวเอง รู้จักตัวเองจริงๆเสียที
จะได้เข้าใจคนอื่นได้ ไม่ผูกขาดเข้าใจไปเอง 
เพราะการผูกขาดความเข้าใจอยู่ที่ตัวเอง
มันนำไปสู่ตรรกะที่ผิดเพี้ยนเสมอ !!



วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 221

โลกเสมือนจริง หรือ โลกความเป็นจริง 
ต้องเข้าใจกันก่อนว่า โลกอินเทอร์เน็ตมันคือโลกเสมือนจริง
มีการนำเสนอตัวตนของแต่ละคนแตกต่างกันไปจาก “โลกความเป็นจริง”
คิดว่าไม่ยากเกินเข้าใจ 
แต่อยู่ในโลกเสมือนจริงนานๆอาจหลงลืมไปได้
คือ มันต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีกันบ้างนะ
มันทำให้คนเริ่มอยากมีตัวตนใน "โลกเสมือน"
ค่านิยมเปลี่ยน ตัวชี้วัดเปลี่ยน จนเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปก็มี
พวกเราใช้ชีวิตทาง social media กันจนเป็นเรื่องปกติ
แค่เปิดมือถือก็รู้แล้วว่าใครเป็นยังไง ทำอะไร ที่ไหน กับใคร
แต่ต้องระลึกว่ามันแค่ “เสมือน”
ในโลกเสมือนผู้คนดูสมบูรณ์แบบ ดูแฮบปี้
และได้รับความสนใจจากทั่วทุกสารทิศ
เพราะหยิบเอาส่วนดีมาลงไว้ในโลกใบนี้...โลกเสมือนจริง
และดันมีความสุขไปกับมัน
หนักกว่านั้น คือ มีการติดความสมบรูณ์แบบไปด้วย
ติดการนำเสนอความดีงาม จนทำให้คนหลงไปก็มี 
คงต้องกลับมาถามตัวเอง เราอยู่ในโลกไหนตอนนี้
ลืมใช้ชีวิตจริง ลืมโลกจริงของเราไปหรือเปล่า
อย่าได้จองจำตัวเอง ยึดเอาว่าโลกเสมือนจริง คือ ชีวิตจริง
มันจะเกิดการมองข้ามหลายอย่างที่เป็นจริงไป
คนจริงๆ สิ่งแวดล้อมจริงๆนั้นมีความสำคัญ
และมันเหนือชั้นกว่า “อะไรปลอมๆ” ที่อยู่ในมือถือ
มันน่ากลัวมากนะ ปัญญาจริงเราจะหายไป
เพราะโลกเสมือนจริง ไม่สัมพันธ์กับโลกจริง
เราจะกลายเป็นคนเสพย์ติด LIKE
เราจะกลายเป็นคนต้องดูดี 24 ชั่วโมง
เราจะกลายเป็นคนเพ้อเจ้อ พร่ำเพรื่อ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทบทวนตัวเองหน่อย มันใช่โลกความจริงหรือ 
เราคงหลีกหนีไม่พ้น
แต่ให้มันมีความสุขในส่วนนั้นแค่เท่าที่ควร พอไหม
หาความพอดี สร้างสมดุลชีวิตระหว่างโลกทั้งสองใบให้ลงตัว
ก่อนที่มันจะเลยเถิดไปจนหลง
คงต้องเรียกหาสติกันบ้างแล้ว
ไม่เช่นนั้น สักวันเราจะเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
ติดกับดักโลกเสมือนจริงของตัวเอง..มันเศร้านะ

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 220

หา(สุขา)ใจให้เจอ..ก็เป็นสุข

คนเราอยากปลดทุกข์ก็ต้องหาห้องสุขา
เข้าไปแล้ว...ได้ปลดทุกข์..ผล คือ โล่ง สบาย
จึงคิดว่าความทุกข์อะไรก็ตาม มันปลดได้
เพียงแต่เราต้องมี “สุขาใจ” ของตัวเอง
ที่...ไม่ต้องกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ที่...สามารถปล่อยวางสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
ที่...ยังพอรักษาใจไม่ให้ขึ้นลงตามอารมณ์ 
ใช้ไปแล้ว เสร็จกิจก็สงบได้ ใจสบาย 

ดูๆไปก็เหมือนปลดทุกข์ชั่วคราว
แต่ก็ยังดีนะ..มีที่ปลดทุกข์อยู่บ้าง
เก็บไว้จะเหมือนขี้ขึ้นหัว ปวดอยู่ทั้งวัน

การดิ้นรนหาสิ่งที่คิดว่าใช่ ชอบ มุ่งทำไป
มันคล้ายกับปลดทุกข์...มันชั่วคราว
มันแค่คลายทุกข์ เดี๋ยวมันมาใหม่
เหมือนกับหาทางหนีทุกข์กันไปเป็นครั้งๆวันๆ

มันคงต้องสร้างห้องสุขาใจให้แข็งแรง
แบบเอาออกได้เยอะ 
จะเอาออกได้แค่ไหน คงต้องหันกลับข้างใน
ใจข้างใน..มันร้อนรน ดิ้นอะไรอยู่ 
เฮยยย ปัจจุบันก็ดีอยู่นะ หายใจตอนนี้ก็ดีอยู่นะ
กังวลอะไร แม้เจ็บป่วย มันก็เป็นของมันอย่างนั้น
แม้ทุกข์ใจเรื่องอื่น มันก็มีเหตุที่ทำให้ทุกข์ 

ไม่ทำ..อีกหน่อยจะแย่... อีกหน่อย คือ อนาคต
เมื่อก่อน..ไม่เป็นแบบนี้... เมื่อก่อน มันอดีต
ถ้าวนแบบนี้...ไม่มีสุขาใจให้ปลด 

ขอจบด้วยเรื่องเล่าของจวงจื๊อ
มีชายคนหนึ่งรำคาญเงาของตัวเองมาก
อีกทั้งยังทนรอยเท้าของตัวเองไม่ได้
จึงพยายามวิ่งหนีจากทั้งสองสิ่งนี้ 
แต่ไม่ว่าจะวิ่งไปไหนเงาและรอยเท้าก็ยังติดตามไป
เลยคิดว่าวิ่งเร็วไม่พอจึงเร่งฝีเท้าไม่ยอมหยุด
วิ่งแล้ววิ่งเล่า
ในที่สุดก็หมดแรงล้มลงและถึงแก่ความตาย
จวงจื๊อสรุปให้ว่า
“หารู้ไม่ว่าถ้าเพียงแต่เเข้าร่มเงาก็จะหายไป

และถ้าเขานั่งนิ่งๆก็จะไม่มีรอยเท้าเลย” 


วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562

คิดวันละอย่าง # 219

ข้ามไม่พ้น...ไปต่อไม่ได้
การไม่ยอมรับความจริงเป็นความขัดแย้งในตัวเอง
ในหนังสือ Mistakes Were Made (But Not by Me) โดย Carol Tavris อธิบายไว้ว่า “เราจะรู้สึกถึงความขัดแย้งในตัวตนเมื่อภาพที่เรามองตัวเอง ว่าเราเป็นคนฉลาด จิตใจดี เราบอกตัวเองเสมอว่านั่นคือความจริง แต่เมื่อถูกคุกคามจากหลักฐานบางอย่างที่บอกว่าเราไม่ได้ฉลาด เราทำร้ายคนอื่นลงไป และสิ่งที่เราเชื่อว่าตัวเองเป็นนั้นไม่ใช่ความจริง จะทำให้ลำบากใจ และเราจะทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความขัดแย้งนั้นลงไป”
เราจึงเห็น “การแถ” การโยนความผิดไปที่คนอื่น
เพื่อให้ตัวเองยังรู้สึกว่าเป็นคนดี คนเก่ง คนฉลาดได้อยู่
ซึ่งเท่ากับว่าการยอมรับความจริงไม่ได้นี้ จะพาไปหา
...วงจรของการหลอกตัวเอง..วนไป...
อันนี้นับเป็นอันตรายต่อใจมาก
เพราะยิ่งอยู่ไป ชีวิตจะทำให้เห็นให้เจอแต่เรื่องไม่น่ายอมรับ
นับแต่เรื่องสังขารไปจนถึงเรื่องรอบตัว เช่น
เจ้านายไม่เอออวย...ก็รับไม่ได้
เพื่อนร่วมงานนินทา...ก็รับไม่ได้
คนไม่ตามใจ...ก็รับไม่ได้
รักผิดแบบ...ก็รับไม่ได้
เสียเปรียบ...ก็รับไม่ได้
ลูกหลานเป็นเกย์ ทอม ดี้...ก็รับไม่ได้
ฯลฯ สารพัดที่จะต้องเจอต่อไปอีกมากนัก
การที่เราไม่เคยฝึกยอมรับอะไรๆไว้
เอาแต่สะสมการไม่ยอมรับไปมากๆ
ในที่สุดจะถึงจุดๆหนึ่งในชีวิตที่ต้องมีการเสียใจ
มันต้องถามตัวเองว่าที่รับความจริงไม่ได้เพราะอะไร
เพราะยังไม่มั่นใจในคุณค่าตัวเอง ?
เพราะชินกับการมองออกนอก โทษคนอื่น ?
เพราะติดค้างกับเรื่องอะไร ? เช่น การสูญเสียอำนาจ
หรือเพราะที่จริงแล้ว...
รักตัวเอง รักหน้าตา เอาความสุขของตัวเองเป็นที่ตั้งมากกว่าหรือเปล่า
ในสังคมไทยภาพที่คนอื่นมองเราเป็นสิ่งสำคัญ
แต่มันสำคัญไปกว่าความจริงหรือ ?
การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อบาปหรือ
การไม่กล้ายอมรับความจริง มันทำให้ไปไม่รอด
แต่การยอมรับความจริงมันแสดงถึงวุฒิภาวะ
และการบ่งบอกว่าเราคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าหน้าตาตัวเอง 
ตั้งแต่เล็กไม่ว่าใครก็ถูกสอนว่า..ผิด ให้ ยอมรับผิด อย่าโกหก
แต่พอโตขึ้นคนจะลืม..เพราะยิ่งโต ยิ่งแก่
“อัตตา” มันใหญ่จนบังเรื่องพื้นฐานนี้ไปเสียได้ 
ฝึกข้าม..ฝึกยอมรับความจริงไว้ตั้งแต่ตอนนี้
เพราะมันเป็นเรื่องยากที่สุดในชีวิตแล้ว
และเราไม่ได้มีเวลามาก
ทุกความไม่น่าพอใจที่ไม่ยอมรับ
มัน คือ ผลกรรมที่มักย้อนกลับมา
และจะสร้างเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจภายหลัง
ที่ทำให้...ยากจะยอมรับยิ่งขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562

ส่งท้ายปี 2561

ความรัก ❤️
ความรักทำให้คนสามารถ.....
เสียสละ หรือ เห็นแก่ตัว
ใจเย็น หรือ ใจร้อน
ใจดี หรือ ใจดำ
รอ หรือ เร่งรีบ
เมตตา หรือ อาฆาตแค้น
ขำขัน หรือ เครียด
ปล่อยวาง หรือ ยึดติด
ใส่ใจ หรือ เฉยชา
ช่วยเหลือ หรือ ละทิ้ง
จริงใจ หรือ หลอกลวง
เอาแต่ให้ หรือ เอาแต่ได้
ยอม หรือ ดึงดัน
บันเทิง หรือ ทนทุกข์
สุข หรือ เศร้า
ฉลาด หรือ เขลา
ไม่มัวเมา หรือ เอาแต่หมกมุ่น
มีสติ หรือ ไร้สติ
คิดบวก หรือ คิดลบ
ชัดเจน หรือ หมกเม็ด
กล้าหาญ หรือ หวาดกลัว
มีหลักการ หรือ มีหลักกู
ถ่อมตัว หรือ โอ้อวด
สุนทรีย์ หรือ ไร้อารมณ์
ร่าเริง หรือ ตรอมตรม
เปลี่ยนแปลง หรือ เดิมๆ
เรียนรู้ หรือ ไม่ดูไม่เห็น
เป็นธรรมชาติ หรือ fake
คิดเป็น หรือ คิดไม่ออก
รักเกียรติ หรือ ไม่มีศักดิ์ศรี
ดี หรือ ชั่ว
คงมีอีกเยอะ...สวรรค์ในอก นรกในใจ
ปีใหม่แล้ว...เลือกเลย 

ข้อคิดจากราชาสถาน อินเดีย

สวัสดีปีใหม่ 2562 
เก็บข้อคิดมาฝากจากราชาสถาน อินเดีย
➡️ ชีวิตสวยงามเสมอ : ทุกชีวิตมีความงามอยู่ในนั้น ไม่ใช่ต้องรวยต้องสวยหล่อจึงมีความงาม ความงามมันฉายแสงมาจากภายในใจ ท่ามกลางความยากจนของคนอินเดียส่วนใหญ่ ยังมีใจที่เป็นสีสัน รอยยิ้มจากใบหน้าดำคล้ำ แววตาที่มีความหวัง มันทำให้รู้ว่า...ลำบากอย่างไร ถ้ามีความหวัง ชีวิตก็ยังสวยงาม
➡️ ชีวิตมีขึ้นมีลง : สัจธรรมนี้มองเห็นได้ทั่วไปในอินเดีย พระราชวัง คฤหาสน์ โบราณสถานที่เคยยิ่งใหญ่อลังการ อย่างที่วังในยุโรปของฝรั่งยังมีอาย อินเดียถือเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่หรูหราของโลก แต่ปัจจุบันเป็นเพียงสถานที่ให้คนมาเยี่ยมชม ยุครุ่งเรืองยิ่งใหญ่แบบมหาราชาเจ้าชีวิต ก็มีวันสิ้นสุดลง คนเราจะเอาอะไรกับการดิ้นรนมากเพื่อได้มา ในเมื่อวันหนึ่งก็ต้องปิดฉากนั้น ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน
➡️ ชีวิตคือการเปิดใจ : แค่เปิดใจเราก็หลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่งแล้ว การลองสิ่งใหม่ การไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวังอยู่ในอินเดียครบ มันทำให้คนรู้จักปรับตัว น้อมใจเคารพในความแตกต่าง ใจจะเบาขึ้นมาก การที่เราไม่ได้ดังใจบ่อยๆมันคือการฝึกให้เปิดใจกว้าง
➡️ ชีวิต คือ การให้ : การให้ไม่ใช่แต่ของหรือเงินทอง แต่รวมถึงการยอมให้ ยอมเสียเปรียบบ้าง การซื้อของในตลาดอินเดียไม่เคยมีมาตรฐาน ต้องต่อรองไป 50-70 เปอร์เซนต์ บางครั้งเรารู้ว่าต้องได้ในราคานั้น แต่เมื่อมองเห็นความมุ่งมั่นค้าขาย ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น เราจะกดราคาไหวหรือ ใจคนสำคัญกว่าความคุ้มค่านะ ซื้อแพงสบายใจกว่ามากกว่าซื้อถูก คนค้าขายย่อมอยากได้กำไร เมื่อไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ให้ๆไปคนจะได้มีกำลังใจทำงานสุจริต
➡️ ชีวิต คือ ของจริง : เกิด แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้นที่เป็นจริง อย่างอื่นล้วนปลอม ไม่จีรังยั่งยืน who am I tomorrow ไม่มีใครรู้ รู้แต่ตอนนี้ยังมีลมหายใจ ปีใหม่นี้คงต้องกลับเข้ามาหาข้างในตัวเองให้มากขึ้น ทบทวนใคร่ครวญตัวตน ให้มีสติยั้งคิด ชีวิตเดียวทำให้คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาเป็นคน 


คิดวันละอย่าง # 218

จะอยู่ได้อีกนานเท่าไร
บางทีก็งงอยู่นะว่าเกิดมาเพื่ออะไร
คงต้องบอกว่า “ความสุขใจ”
อะไรบ้างที่เป็นความสุขใจ..
😊อยู่บ้าน บนเตียงอุ่น มีข้าวกิน มีหนังสือ
😊ไปเที่ยว ไม่เครียด สนุก ได้ประสบการณ์
😊ทำงาน มีเงินใช้บ้าง ซื้อของชอบบ้าง
อันนี้มันคงเบสิคอ่ะนะ ใครๆก็สุขใจได้
แต่มันจะมีอะไรอีกไหม ถ้าคิดว่าไม่มีวันพรุ่งนี้
บอกตรงๆว่าคิดไม่ออก
ได้แค่นี้ ก็พอแล้ว
ตายไปตอนนี้ก็ไม่ได้เสียดายอะไร
จะเสียดายที่สุดก็คงเป็น ไม่ได้ฝึกปฎิบัติใจ ไม่ได้มุ่งธรรมให้สมกับที่เกิดมาในพระพุทธศาสนา อันนี้ไม่เกี่ยวกับทำบุญ หรือไปเรียนธรรม นั่งสมาธิอะไรนะ เกี่ยวกับตัวเองที่ละเลยธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ค่อยได้ฝึกฝนจริงจัง 
อันนี้น่าเสียดายจริงๆ ถ้าไม่มีลมหายใจในตอนนี้ แต่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องเอาจริงบ้างแล้วมั๊ย จะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ 
อ้าว..ปีใหม่แล้วยังเพ้อเจ้อไปเรื่อย

คิดวันละอย่าง # 217

คนเราไม่ต้องมี agenda ตลอดเวลาก็ได้

การจะเป็นที่รักที่ชอบของใครๆ มันต้องไร้ agenda 
ห่วงใย ไม่ใช่ ก้าวก่าย 
เอื้อเฟื้อ ไม่ใช่ ยัดเยียด
ให้ ไม่ใช่ คาดหวัง
คนจริง..จริงใจ มันรับรู้ได้จริง
การแสดงออกทุกอย่าง..ถ้าไม่ได้มาจากใจ ใครๆก็รู้ 

การห่วงใย กับ การก้าวก่าย มีเส้นบางๆกั้นอยู่
มันต้องไม่มากไป หรือ น้อยไป
คือ มากไปดูเสแสร้ง 
ถามในสิ่งที่คนเพิ่งพูดไป คือ ไม่ใส่ใจจริง 
อย่าซ้ำซาก เอาให้พอดีกับใจที่ห่วงจริง
การพูดอยู่นั่นซ้ำๆ ห่วงเลยกลายเป็นก้าวก่ายไปได้ 

การเอื้อเฟื้อ เป็นสิ่งที่คนต้องให้กันก็จริง
แต่ต้องดูความต้องการของคนอื่นด้วย
ไม่ใช่ตัวเองอยากเอื้อ อยากบริการ อยากทำ
อยากได้แต้ม มันจะกลายเป็นการยัดเยียด 
ถือเป็นการเอื้ออาทรไม่ได้ 

การให้เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด เมื่อไม่มีการคาดหวัง
ถ้าให้แล้ว คาดหวังให้คนชื่นชม มันปลอม
อาจมีผิดหวัง จะมาขุ่นมัวเอง
บางทีทำให้คนกลัวที่จะรับ และมีการถอยห่าง
อีกอย่าง คือ ถ้าจะให้ ต้องเท่าเทียม
ไม่ใช่เลือกให้เฉพาะคนที่เป็นพวกพ้องเอออวย 


ไร้ agenda บ้างก็ได้...แต่ต้องไม่ “ไร้ใจ”