วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ถึงเวลาหยุดตัดสินใจทุกเรื่องหรือยัง



สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อผิดพลาดของผู้ประกอบการ คือ ทำการควบคุมธุรกิจเบ็ดเสร็จทุกเม็ดทุกเรื่อง ไม่ยอมปล่อยวางให้คนอื่น พูดง่ายๆว่า ปล่อยไม่ลง ปลงไม่ได้ จนทำให้คนที่ทำงานด้วยขาดการเรียนรู้ เติบโตไม่ได้ ธุรกิจไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น และยังมีโรคต่างๆแถมมาอีกมากเพราะความเครียด ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคความดัน เป็นต้น  การที่จะแก้ปัญหานี้ ผู้ประกอบการต้องอยากแก้เองเพราะไม่มีตำราเล่มไหนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้่าคนไม่ต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง ถ้าอยากเปลี่ยน อยากเอาตัวเองออกมาจาก day-to-day control แล้วให้คนอื่นช่วยบ้างก็ทำได้แน่ๆ เราลองมาดูแนวทางที่น่าจะทำได้ง่าย มีแค่ 5 เรื่องเท่านั้น 
1. เลิกทำการตัดสินใจในทุกเรื่อง
ผู้ประกอบการเป็นผู้บริหารไม่ใช่หัวหน้างาน การละพฤติกรรมแบบหัวหน้างงาน คือ ต้องเลิกตัดสินใจทุกเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับพนักงาน กระตุ้นให้พนักงานรู้จักตัดสินใจเองบ้าง อาจเริ่มด้วยเรื่องง่ายๆ เช่น การจัดอีเว้นท์ต่างๆในองค์กรก็ให้พนักงานเป็นคนวางแผน ตัดสินใจ ควบคุมดูแลทั้งหมด หลีกเลี่ยงการกระโดดเข้าไปแก้ปัญหาโดยเฉพาะตอนที่มันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ 
2. กระจายงาน กระจายอำนาจ
มันเป็นธรรมชาติของผู้ประกอบการที่จะเกี่ยวข้องไปเสียทุกสิ่งในองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องแย่เพราะมันทำให้ลงเอยเป็น micromanaging ในทุกอย่างที่พนักงานทำ  แต่ถ้าเรากระจายงาน กระจายอำนาจจริงๆแล้ว ภาระทั้งหมดนี้จะถูกแบ่งให้คนอื่นรับผิดชอบด้วย ซึ่งเป็นเรื่องดีเนื่องจากคนของเราจะมีโอกาสได้รับประสบการณ์ ได้เรียนรู้และมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น   ให้งาน ให้อำนาจมันหมุนเวียนกันในองค์กร เพื่อเราจะได้เห็นศักยภาพคนได้ชัดเจนขึ้น รู้ว่าใครทำอะไรได้แค่ไหน ใครเก่งอะไร ใครเหมาะกับงานไหนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมาก 
3. เชื่อมคนเข้ากับเป้าหมายองค์กร
ถ้าคิดว่าตัวเองจะว่างก็ทำในสิ่งที่ควรทำ คือ ฟูมฝักให้เกิดการหลอมรวมเป้าหมายกันในองค์กร คนทำงานทุกคนจะรู้สึกทุ่มเทกับการทำงานในองค์กร ถ้าเป้าหมายของคนสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ผู้ประกอบการคงต้องหยุดเรื่องเล็กๆน้อยๆเสียทีเพื่อฟังเสียง เพื่อรับรู้และเข้าใจเป้าหมายของคนด้วยหน้าที่ของเราไม่ใช่จัดการทุกเรื่อง แต่ต้องจัดการเชื่อมประสานเป้าหมายของคนกับองค์กรให้ได้ 
4. เปิดเผยโปร่งใสเรื่องตัวเลข
อย่าวุ่นวายกับการปกปิดตัวเลข ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเก็บงำความลับเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและการทำกำไรขององค์กร  มันเชยไปแล้วที่จะทำให้มันเป็นความมืดมนสำหรับพนักงาน  ยิ่งให้ข้อมูล ให้คนรับรู้เรื่อง financial data อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม มันเป็นการสร้าง ownership ที่จะทำให้คนในองค์กรอยากจะปรับปรุงการทำงานและกระตือรืนล้นในการพัฒนาในฐานะที่ลงเรือลำเดียวกัน 
5. สร้างทีมเสือที่บริหารจัดการตัวเองได้
ให้อำนาจคนในองค์กรที่จะจัดการงานของตัวเอง ตั้งทีมหลายๆทีมทำโครงการต่างๆในองค์กรและให้อำนาจ แบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจน ให้ทีมบริหารจัดการกันเองตั้งแต่การวางแผน การกำหนดระยะเวลา กำหนดงบประมาณรวมถึงระบบการทำงานเอง  แบบนี้เท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟความตื่นเต้นให้กับคนในองค์กร ทำให้คนอยากทำงาน 
ลองถามตัวเองว่า...ถ้าเราไม่ได้เข้าสำนักงานสักหนึ่งปี องค์กรยังจะอยู่ได้ไหม คนของเราสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ไหม คนของเรามีศักยภาพมีอำนาจพอที่จะขับเคลื่อองค์กรโดยไม่มีเราได้หรือไม่ ถ้าคำตอบที่ได้ คือ ไม่มีทาง มันแปลว่าถึงเวลาที่เราต้องหยุดตัดสินใจทุกเรื่องได้แล้ว 

ยุค iPhone ทำให้เราเปลี่ยนไป.. หรือเปล่า




เมื่อห้าปีที่แล้วเราเปลี่ยนจากยุค internet มาเป็นยุค iPhone พฤติกรรมการสื่อสาร การทำธุรกิจค้าขายก็เปลี่ยนไปด้วย ลองมาดูกันว่าจริงไหม

- การใคร่ครวญ ใส่ใจน้อยลง
Internet ทำให้ email เป็นการสื่อสารที่รวดเร็ว การสื่อสารมีปริมาณมากขึ้นก็จริง แต่เรายังมีเวลาคิดพิจารณากันมั่ง แต่พวก smart phone มันทำให้เกิดการสื่อสารที่มีเวลาคิดได้น้อย ดูอย่างไลน์ อย่างทวีต เสียงดังกันติ๊งตั๊งทั้งวัน เป็นคิดแค่ชั่ววินาทีนะ มันเป็นการแลกเปลี่ยนเร็วและน้อยเพราะพื้นที่ในโทรศัพท์มันน้อย คำที่ใช้ต้องโดน ชัด เข้าใจง่าย ในธุรกิจเองถ้าสื่อสารกันต้องประมาณว่า make every word count!!
- การเก็บข้อมูลไว้ในสมองน้อยลง
ก่อนจะมี Internet คนเราใช้ "brain memory" เพื่อเก็บข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกิจ หรือในชีวิตประจำวัน เมื่อมี Internet คนก็เปลี่ยนมาพึ่งพาเวปทั้งหลายเป็นคลังข้อมูล พอมาถึง smart phone เรายิ่งเข้าสู่ Internet เร็วขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ถึงแม้จะเป็น laptop ก็เถอะ เราเลยใช้สมองน้อยลงในการเก็บข้อมูล
- ข้อมูล คือ หนี้สิน
ยุค Internet ถือว่าข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนกับลูกค้า กับคนอื่น ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นใครที่มี smart phone เราได้รับข้อมูลจนจุกล้นถล่มทลาย มันมาแบบไม่ได้เชื้อเชิญ มันเลยเถิดการแบ่งปันไปแล้ว อะไรก็ share จากสินทรัพย์..ข้อมูลเลยกลายเป็นหนี้สินไป เป็นภาระอย่างมาก จนหลายคนต้องหาทางกำจัดออกไป
- ผู้คนเรียกร้องหาความง่าย สะดวก
ในยุค Internet ผู้คนยินดีเต็มใจใช้เวลาในการเรียนรู้เรื่อง Excel หรือ Word แต่ในยุค iPhone นั้น อะไรก็ tap-and-go app มันกลายเป็นสัญชาติญาณไปแล้ว คนคาดหวังสิ่งที่ใช้งานง่าย ไม่อยากเสียเวลามานั่งศึกษา มันหมายถึงอะไรก็ต้อง simplify simplify และ simplify ยิ่งในธุรกิจ ความยุ่งยากซับซ้อนถือเป็นบาปกันเลยนะ สินค้าจึงต้องซื้อง่าย หาง่าย บริการเร็ว...ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่เช่นนั้นคนจะหนีไปหาที่มันสะดวกและง่ายกว่าแน่ๆ

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

กวักมือเรียก "ความมั่นใจ" คืนมา...


บางทีคนเราก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกไม่มั่นใจ งง ท้อแท้กันอยู่บ้าง มันเป็นธรรมดา ไม่มีใครที่จะมั่นอยู่ได้ทั้งปีทั้งชาติ แต่ขอให้มันเป็นช่วงเวลาที่สั้นนะ อย่าปล่อยจนเสียศูนย์ พอมันเกิดขึ้นและเราคิดว่าจะฮึดสู้อีกครั้ง ลองแบบนี้ดูได้ไม่เสียตังค์...

อย่าห่อเหี่ยว อย่าจ๋อย: ไม่ว่าจะไม่มั่นใจในระดับไหน ต้องยืดตัวตรง นั่งตรง ยืนตรงให้ได้ การปล่อยให้ร่างกายทิ้งตัว หลังค่อม นั่งแบบหมดอาลัยตายอยาก มันเป็นการสื่อสารว่าเราหมดสภาพ เริ่มที่ตรงนี้ก่อน...ยืดเข้าไว้

อย่าคิดว่าคนอื่นพูดถึงเรา: มันเป็นความกังวลที่ทำให้เราติดกับดักคนอื่น ยิ่งทำให้ขาดความมั่นใจ คนที่มีสติรู้ตัวจะไม่ค่อยใส่ใจว่าใครจะคิดยังไง มันความคิดคนอื่น เราไม่เกี่ยว

เลิกพูดสิ่งแย่ๆกับตัวเอง: คนเราบางทีก็ชอบพูดกับตัวเอง สะกดจิตตัวเอง ถ้ามีแต่เรื่องไม่สร้างสรรค์จะยิ่งหนัก ประมาณว่าฉันอ้วน ฉันมันเลว ฉันน่าเกลียด ฉันแย่ มันบั่นทอน....เปลี่ยนใหม่..เอาให้มันสดใส คิดแต่เรื่องดีดี

ยิ้มเข้าไว้: ฉายแสงความสุข ความดีงามในชีวิตออกมา บางคนก็เครียดจนยิ้มไม่เป็น ยิ้ม..ไม่เสียตังค์ ทำให้เป็น habit ยิ้มมากขึ้น หัวเราะมากขึ้น

ผิดอย่างสง่างาม: โลกนี้ไม่มีใครสมบรูณ์แบบ คุณชายพุฒิภัทรมีแต่ในโทรทัศน์เท่านั้น ถึงแม้เราจะทำผิดก้ไม่ต้องถึงขนาดเสียความมั่นใจ ลองคิดดูว่า..ที่ทำผิดไปมันสำคัญขนาดที่ผ่านไป 3 เดือนแล้ว มันยังรู้สึกอีกไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือ เรื่องอะไร มันมี better next time เสมอ

สุดท้าย...Get feedback มาปรับปรุงตัวเอง
อย่าเสียกำลังใจ..ตราบใดยังมีชีวิต ตราบใดยังมีลมหายใจ เราสามารถเรียกความมั่นใจคืนมาได้ตลอด 

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

คิดเงียบๆไป..


เท่าไหร่จึงจะพอ
เท่าไหร่จึงจะพอ
เท่าไหร่จึงจะพอ
เท่าไหร่จึงจะพอ



ความสุขง่ายๆ


ชีวิต..ไม่ควรทำให้มันยุ่ง
อยู่เท่าที่มี ดีเท่าที่ได้ ใช้เท่าที่จำเป็น

ทำไมคนชอบ "จิกกัด"



เคยโดน "จิก" ไหม...รู้สึกแย่ไหม... เจ็บปวดไหม...


จริงๆแล้วเราไม่ควรรู้สึกไม่ดี ไม่ควรรู้สึกแย่นะ คนที่ควรรู้สึกแย่ คือ คนที่ชอบจิก ชอบวิจารณ์คนอื่นเจ็บๆต่างหาก 

แล้วทำไมคนถึงชอบทำร้ายคนอื่นด้วยคำพูด... คนธรรมดาทั่วไปเขาก็พูดกันดีดีทั้งนั้น คนผิดปกติเท่านั้นที่ชอบเสียดสีชาวบ้าน จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แล้วบางทีก็รู้นะว่าคำพูดจะทำให้คนอื่นเจ็บปวด แต่ก็ยังทำ คนจำพวกนี้ต้องการความช่วยเหลือด่วน จะช่วยได้คงต้องมาพิจารณา 3 เรื่องให้เข้าใจ

1. จิกกัด เสียดสีเพราะความโกรธ: ลองคิดดูเวลาที่เราโกรธ เราก็มีความคิดลบๆ แย่ๆ เกิดขึ้นมาทันใดเหมือนกัน และอยากปล่อยมันออกมาทันที คนที่ชอบการ "จิก" ชาวบ้านก็เช่นกัน คาดว่าคงโดน "ความโกรธ" หลอกหลอนมาจากประสบการณ์ในอดีต และยังหลอนไม่เลิกจนถึงปัจจุบัน อารมณ์จึงแปรปรวนอยู่ตลอด ไม่พอใจกับคน กับสถานการณ์อยู่เป็นประจำ อะไรก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ได้ เวลาเจอคนที่ขวาง หรือทำไม่ถูกใจก็จะ "จิก" อยู่นั่นแหละ ไม่เลิกสักที คนพวกนี้มีชีวิตที่น่าสงสาร เพราะอยู่กับเรื่องเศร้าหมอง ตรอมตรมอะไรก็ไม่รู้มาเป็นเวลานาน ตั้งหน้าตั้งตาโทษคนอื่นเสมอเพราะโกรธมาแต่ชาติที่แล้ว 

2. จิกกัดเพราะไม่สมใจในวัยเด็ก : พวกชอบจิกกัด เสียดสีคนอื่นนั้น คาดว่ามีวัยเด็กที่รันทด เจอคนทำไม่ดีไว้มาก มันจึงกลายเป็นการพัฒนาตัวแบบความคิดเชิงลบจาก negative unconscious สะสมกันมา และคิดว่าตัวเองต้องเหนือกว่าที่ beat คนอื่นด้วยคำพูดแสบๆได้

3. จิกกัดเพราะไม่มีความมั่นใจ : ความแตกต่างของคนที่มั่นใจกับไม่มั่นใจ คือ แนวคิด ฝ่ายแรกภูมิใจ พอใจในตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายหลังก็จมอยู่กับการตกต่ำทางความคิด จิตใจเลยเต็มไปด้วยความคิดเชิงลบและผลักดันออกมาในรูปแบบการ "จิก" คนอื่นรอบตัวทุกครังที่มีโอกาส...เวรกรรม!!

รู้แบบนี้แล้วยังรู้สึกแย่อยู่หรือเปล่า ? 

ที่อรรถาธิบายมาก็เพื่อให้เรารู้ว่าคนที่ชอบจิก ชอบกัด ชอบเสียดสีคนอื่นนั้นเป็นคนที่ได้รับการทำร้ายทางอารมณ์มามาก ไม่มีความมั่นใจและระดมความโกรธทั้งโลกมาไว้กับตัว ดังนั้นเราคงต้องสงสารมากกว่าที่จะมารู้สึกไม่ดีกับคนพวกนี้ เพราะเขาคงแย่กว่าเรามากมายนัก คงไม่มีความสุขในชีวิต 

ถ้าอยากช่วยจริงๆ ต้องเสี่ยงนะ ผลที่ได้กลับมาอาจหนักกว่าเดิม คือ จะยิ่งโกรธเรา แต่ถ้ามีเมตตามหานิยมก็น่าลอง คือ จูงกันไปให้ถึงรากเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิต ที่เป็นโรคกัด โรคจิก โรควิจารณ์ชาวบ้านเจ็บๆนี้มันมาจากสาเหตุไหนกันแน่ ให้ทบทวนดูดีดี เมื่อรู้สาเหตุก็แก้ไขได้ 

ว่าแต่...กล้าเอากระพรวนไปผูกคอแมวไหม ? ถ้าทำได้ก็อนุโมทนาสาธุด้วยคน 

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไมคนจึงเห็นแก่ตัว


คนเห็นแก่ตัว คือ คนที่อ่อนแอและกลัวการสูญเสีย ดูได้จากการที่อะไรก็ต้องก่อนคนอื่น เป้าหมายตัวเองต้องมาก่อน ทั้งๆที่บางทีคนอื่นต้องการความช่วยเหลือ เดือดร้อนมากกว่า มีความจำเป็นมากกว่า 

อะไรที่มันทำให้คนเห็นแก่ตัวอย่างนั้น
ทำไมบางคนใจดี..ให้คนอื่นมากกว่าในขณะที่บางคนไม่ยอมเสียอะไรเลย

มันเป็นเรื่องเดียวกับการรักตัวเองหรือเปล่า..บอกได้เลยว่า ไม่ใช่ คนที่เห็นแก่ตัวนั้นไม่ได้รักตัวเอง แต่เป็นคนที่กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้ จะไม่มี เป็นคนอ่อนแอ กลัวเสียเวลา กลัวเสียเงิน กลัวเสียการควบคุมชีวิตตัวเอง จึงทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองรอด ตัวเองได้มากกว่าชาวบ้าน เผลอๆต้องได้ดีที่สุด มากที่สุดโดยไม่แคร์ว่าใครจะเดือดร้อนยังไง

คนที่มั่นใจตัวเอง...จะไม่เห็นแก่ตัว จะรู้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ มันไม่ได้ทำให้ชีวิตเสียเวลาขนาดนั้น มันไม่ได้รบกวนตารางชีวิต ตรงกันข้าม คนเห็นแก่ตัว แม้แต่เวลาน้อยนิดก็จะไม่ยอมเสียให้ใคร เพราะไม่มั่นใจตัวเองว่าจะคุมอะไรได้ ถ้าให้คนอื่นไป จะรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา กลัวไปหมด กินก็กลัว นอนก็กลัว เข้าห้องน้ำยังกลัวเลย

ความน่าสงสารของคนเห็นแก่ตัวอีกประการ คือ ไม่เคยสมหวังกับเป้าหมายจริงๆของตัวเอง จึงคิดว่าทำไมต้องสละทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ให้คนอื่น

จะเลิกเห็นแก่ตัวได้คงต้องเข้าใจก่อนว่า มัน คือ จุดอ่อนของชีวิต อะไรทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการเห็นแก่ตัวของเรามาจากความอ่อนแอ มาจากความรู้สึกไม่ได้ ไม่โดนอยู่ตลอดเวลา ควรกลับมาเรียนรู้ที่จะวางแผน วางเป้าหมายกันใหม่ให้ชัด เพื่อจะได้มั่นใจ เมื่อมั่นใจว่าจะจัดการชีวิตได้ดี ความเห็นแก่ตัวก็จะน้อยลง

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

เหตุผลที่คนไม่รู้ตัว..ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต


1. การมีชีวิตแบบ outside in ไม่ใช่ inside out

มันเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่หลอมให้เรามองคนอื่น ต้องส้มพันธ์กับคนอื่นจนทำให้การหันกลับมามองตัวเองมันเหลือที่ว่างน้อยนิด หรือถ้าโชคร้าย หาไม่เจอเลย ส่วนใหญ่ทำอะไรไปก็เพื่อให้เกิดการยอมรับจาก..คนอื่น เราเลยไถลเลื่อนไปสู่โหมดชาวบ้านแบบห้ามไม่อยู่ ลองคิดดูนะ ทุกวันนี้มีชีวิตตาม script คนอื่นหรือเปล่า

2. เลือกอาชีพเพราะความเหมาะสม ไม่ใช่ความชอบ

สังคมมี checklist ให้เรา.. เราก็ขีดถูกไปตามนั้น เช่น เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่งงาน มีลูก มีอาชีพดีดีจนเกษียณ จบข่าว เรื่องนี้เป็นเหมือนกฎเหล็กที่คนต้องทำตาม แต่มันไม่ใช่เป้าหมายจริงๆในชีวิต เราละเลยเสียงเล็กๆที่ร้องอยู่ข้างในตัวตน เราขลาดเกินกว่าที่จะมองตัวตนจริง เรากลัวโง่ กลัวเสี่ยง กลัวว่าจะก้าวไปสู่ความไม่รู้ จนต้องเลือกทำตามสังคมแบบเติมคำลงในช่องว่าง แทนที่ของการเขียนเรื่องราวให้ตัวเอง ส่วนใหญ่คนจบลงที่อาชีพตามรายการของสังคมที่บอกให้เราทำ ไม่ใช่ที่อยากทำ Let Your Life Speak !!!

3. การไม่ยอมรับ "ความเงียบ"

เราอยู่ในสังคนที่ไม่ให้คุณค่ากับ "ความเงียบ"
แต่ให้คุณค่ากับ ACTIONs !!

มันอันตรายนะ ถ้าไม่ "อยู่เงียบๆ" บ้าง อีโก้มันจะมาครอบเบ็ดเสร็จ เราจะคิดว่าอีโก้นั้น คือ จุดหมายในชีวิตเรา เรามีชีวิตที่ดีแล้ว so what !!

ความเงียบจะทำให้เรามีโอกาสถามตัวเองเกี่ยวกับชีวิต ในความเงียบมันเป็นการประมวลข้อมูลชีวิตที่ผ่านมา ที่สามารถสรุปเป็นบทเรียนให้ตัวเอง มองเห็นตัวตนแท้จริงชัดขึ้น ไม่อย่างงั้นก็จะประมาณว่า ตื่น แต่งตัว กินข้าว ไปทำงาน เลิกงานกลับบ้าน ดูทีวี แล้วนอน..วนเวียนไปอยู่แบบนี้ทั้งปีทั้งชาติ แล้วเมื่อไหร่จะมีชีวิต..ชีวิตของเราจริงๆ

4. การรังเกียจด้านมืดของตัวเอง

Carl Jung นักจิตวิทยาเรียกด้านมืดว่า "เงา" คือ มันไม่ไปไหน อยู่กับเรานี่แหละ และที่สำคัญเราไม่อยากให้ใครเห็นเพราะมันเป็นข้อด้อย ความล้มเหลว หรือเป็นความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนไว้ เราซ่อนมันไว้ก่อนที่คนอื่นจะเห็น อย่าลืมว่าไอ้ด้านมืดนี่แหละที่ช่วยสอนเราได้ดี ช่วยให้เรามีจุดมุ่งหมายในชีวิต ถ้าเรายอมเปิดใจให้กับตัวเองในด้านมืดๆของตัวเอง เราจะพบว่าทิศทางการเติบโตที่สวยงามสำหรับชีวิต คือ อะไร อันนี้ต่างหากที่เราต้องเรียนรู้ อันนี้ต่างหากที่จะฉุดเราออกมาจาก comfort zone ที่ทำลายตัวตนแท้จริงของเรา ยอมรับมันซะถ้าคิดว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตคนมันสำคัญ

5. ความที่ต้องมีเหตุผลตลอดเวลา

คนเรานั้นเรื่องอารมณ์ สัญชาติญาณ จิตไร้สำนึก ความอ่อนไหว มีกันอยู่ทุกคน แต่เราไม่ค่อยฟังมัน เราเลือกจะอยู่กับเหตุผล เพราะเราคิดว่ามันปลอดภัย แต่ non-logical mind เป็นสิ่งที่ทำให้เรายอมรับกับการที่บางครั้ง..ชีวิตก็ไม่ได้มีทุกคำตอบ เราควรยอมให้ชีวิตมีความคลุมเครือบ้าง เพื่อนำไปสู่ "ความรู้สึก" feeling จริงๆ ลึกๆ ของเรา มันดีกว่าคำตอบที่ปรุงแต่งมากนัก

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ไม่ชอบ..แต่ต้องทำงานด้วยกัน!!


เป็นธรรมดาที่เราไม่สามารถเลือกทำงานกับคนที่ชอบได้ทั้งหมด ในทีมงานอาจมีคนศรศิลป์ไม่กินกัน แต่ไมได้หมายความว่าคนนั้นไม่มีประสิทธิภาพ การมีคนที่เห็นต่างจะก่อให้เกิดการฉุกคิด ไม่งั้นมันจะมีแต่ขุนคอยพลอยพยัก ซึ่ง Amy Gallo เขียนใน HBR Blog เกี่ยวกับการที่เราจะทำงานกับคนที่เราไม่ชอบได้อย่างไร ไว้ดังนี้

อย่าตั้งธงว่ามันต้องแย่ : จากมุมมองด้าน performance แล้ว การโปรดปรานคน ชอบคนที่ทำงานด้วยมากเกินไปนี่มันเป็นปัญหามากกว่าการที่เราชอบน้อย หรือ ไม่ชอบเสียอีก เพราะคนถูกใจก็จะไปตามน้ำเรา ดีกับเรา ไม่มีการส่งสัญญาณ bad news !! ให้กันเลย หนักข้อกว่าเยอะ

มองตัวเอง : แทนที่จะคิดว่าทำไมคนนี้มันน่ารำคาญ ให้หันมาดูตัวเองว่าทำไมถึงรำคาญ เพราะเราเองที่สร้างปุ่มรำคาญ คนนั้นมันแค่กดปุ่ม ไม่ต้องไปหาหมอโรคจิตที่ไหน แค่ซื่อสัตย์ต่อการวิเคราะห์ตัวเอง เมื่อเราได้ข้อสรุปว่าทำไมแล้ว บางทีความรู้สึกไม่ชอบจะลดน้อยลงได้

คุมสีหน้าตัวเอง : อย่าทำหน้าหงิกหน้างอเวลาเจอคนไม่ชอบ มันจะไปกันใหญ่ มันแสดงออกชัดเกินว่าเรารังเกียจและไม่ยอมรับผลงานด้วย ไม่ใช่แค่ไม่ชอบคน หน้าที่ของเรา คือ ยุติธรรม fair play !!!

เอาอคติออกไป : แค่ถามตัวเองว่า นี่เราใช้มาตรฐานเดียวกันกับคนอื่นหรือเปล่า โดยเฉพาะเวลาประเมินผล หรือ ให้รางวัลการตอบแทน

ใช้เวลาอยู่กับคนที่ไม่ชอบมากขึ้น : อันนี้คงไม่อยากจะได้ยิน มันปวดใจ แต่ช่วยได้ มันอาจทำให้เราเข้าใจคนนั้นดีกว่าเดิม ยาแรงเท่านั้นที่จะทำให้การรักษาดีขึ้น !!!

เรื่องหญ้าปากคอกที่ทำให้องค์กรเปลี่ยน..ได้...หรือ..ไม่ได้


Organizational Change คือ การปรับวิถีการกระทำ ปรับใจคนอย่างขนานใหญ่ในองค์กร จึงต้องเน้น approach ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอย่างจริงจัง อยากจะยกเรื่องที่ Morten T. Hansen ผู้เขียนหนังสือ Great by Choice ร่วมกับ Jim Collins พูดถึง Organizational Change ที่สะท้อนการผลักดัน ขับเคลื่อนองค์กรในด้านที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ละเลย เพราะมัวไปมุ่งทำแผนหรือมุ่งเน้นการสัมมนาฝึกอบรม หรือแม้กระทั่งดูงานบวกไปเที่ยว ( ฮา) มีสามเรื่องหลักที่ต้องทำเพื่อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม

1. แสดงภาพให้ชัด
Hansen ยกตัวอย่างตอนที่ Jamie Oliver คนที่เป็น celebrity chef ต้องการเปลี่ยนนิสัยการกินของเด็กนักเรียนในอเมริกา โดยใช้ภาพรถขนของขนาดใหญ่บรรทุกไขมันสัตว์มาเต็มลำ คือ มันน่าเกลียดมาก ดูไม่จืด ดูทุเรศมากๆ เพียงรูปเดียวมาดึงดูดความสนใจ เห็นแล้วเด็กอึ้งไปเลย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เรื่องราว ใช้ภาพ ใช้การเปรียบเทียบ ใช้รูปธรรมแสดงถึง ugly image ของ 'where we are now' ประกบไปกับภาพที่เป็น better vision ของความรุ่งเรืองเฟื่องฟูสดใสในอนาคต ให้มันจะจะกันไปเลย

2. สร้างสถานะการณ์
จริงอยู่ว่า...หากต้องการเปลี่ยนคนให้กินอาหารสุขภาพ เราอาจให้ความรู้เกี่ยวกับพวก healthy food แต่นั่นไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนมากนัก ที่ทำได้ คือ จัดใหม่ จัดเต็มไป เปลี่ยน physical flow ให้ได้แบบที่ Google ทำ คือ ใช้การเข้าคิว จัดวางอาหารใน cafeteria ใหม่ เอา salad bar มาไว้ข้างหน้าสุด เพราะคนมักจะหยิบ คว้าสิ่งที่มองเห็นก่อน เช่นเดียวกัน..ในองค์กรที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แค่อบรมให้ความรู้ (แบบที่ทำๆกัน) มันไม่พอ มันไม่เปลี่ยน ต้องสร้างสถานะการณ์ เปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ทีนี้ไม่เปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน

3. รู้เวลากำจัดบางอย่าง
มีเรื่องที่น่าสนใจในหนังสือ In The Power of Habit ของ Charles Duhigg เขียนไว้เกี่ยวกับทหารยศนายพันที่ประจำอยู่ฐานทัพในเมืองเล็กแห่งหนึ่งของ Iraq ในช่วงสงคราม ผู้คนส่วนใหญ่ยังไปออกันอยู่ที่ร้านค้าในห้าง แม้แต่ตอนที่เกิดจลาจล การจะเคลียร์คนไม่ใช่เรื่องง่าย ส่งทหารเข้าไปจำนวนมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ยิ่งวุ่นวายหนัก ผู้พันจึงให้ขนย้ายส่วนที่เป็นอาหารทั้งหมดออกไป มันแปลว่าเมื่อเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามแผน ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ต้องเลือกกำจัดบางอย่างออกไป ทางจึงสะดวกขึ้น

ทั้ง 3 เรื่องเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมล้วนๆ ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนแผนงานการเปลี่ยนแปลง อย่ามัวงมโข่งกับการคิดกลยุทธ์ จัดทำแผน จัดฝึกอบรมความรู้ซ้ำซาก พฤติกรรมไม่เปลี่ยน องค์กรก็ไม่เคลื่อน!!!