วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

เหลือใจแฮงหลาย



ช่วงสิ้นปีถึงเวลานี้..น้ำตาไหลมาแล้วสามครั้ง..ไหลแบบ..ไม่รู้จะไหลมาทำไม.. 
ครั้งแรกที่..เขาคิชฌกูฎ อันนั้นไหลมาพร้อมขี้มูกแบบพร่างพรู อึกอัก
ครั้งที่สองที่..วัดเชตวัน..ไหลแบบเรื่อยๆ 
และครั้งที่สาม..ที่บ้านท่านวรบรูณ์..ไหลชั่วขณะ หยดแหมะๆ 

จะเรียกว่า ธรรมปิติ..ก็ไม่นะ  เพราะไม่รู้ธรรมอะไรเลย  ไม่ได้ปฎิบัติอย่างจริงจังด้วย รู้แต่ว่ามันเหลือใจอีหลี  เหลือใจคักคัก เลยไปค้นมาเพราะอยากรู้..(ไม่รู้จะรู้ไปทำไมเหมือนกัน) ท่านว่า...

ลักษณะของอาการปิติมีมากประเภท เกิดแก่คนปฏิบัติเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง เพราะบุญบารมีมาไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน และวิธีปฏิบัติของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน สรุปได้ว่าปิติมี 5 อย่าง คือ
  1. ขุททกาปิติ ปิติเล็กน้อย เกิดขนลุก น้ำตาไหล บางทีผมตั้ง แต่เกิดนิดหน่อย แล้วก็ไป
  2. ขณิกาปิติ ปิติชั่วขณะ เกิดเสียวแปลบขึ้นตามร่างกายเหมือนสายฟ้าแลบ เกิดคันตามใบหน้าเหมือนมีมดหรือมีไรมาไต่  บางทีกระตุก แต่พักหนึ่งก็ไป
  3. โอกกันติกาปิติ ปิติเป็นพักๆ โคลงเคลงเหมือนจะล้ม แผ่นดินตะแคง อันนี้ท่านว่าน่ารำคาญ
  4. อุพเพงคาปิติ ปิติโลดโผน ใจฟู มีอุทาน มีลอยขึ้น..ฮู้ยยย
  5. ผรณาปิติ ปิติซาบซ่าน เอิบอิ่มไปทั่ว อันนี้ดี..มีเมตตาขึ้น

คำปิติต่างๆแบบนี้..ชวนเวียนหัว..ช่างมัน
เอาเป็นว่าลองดู..เราเคยแบบไหนมั่ง แต่ไม่ต้องรู้ก็ได้..เป็นมันไปยังงั้นแหละ

แต่รู้เลย...รู้เลยว่าเราโชคดีที่ได้เกิดมาแล้วพบกับพระพุทธศาสนา พบพระอาจารย์ที่สั่งสอนธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์พระศาสดา  มีกี่คนในโลกที่มีโอกาสแบบคนยุคนี้  ยุคเรานี่แหละ พวกเรานี่แหละ ที่หลายคนได้พบเจอพระอรหันต์ เกือบทุกคนทันได้รู้ได้ฟังคำสั่งสอน  เมื่อวานท่านวรบรูณ์ให้ scenario vision ในปีพศ. 4990 มา..ฟังแล้วหนาวจับจิต...ท่านว่า ลองคิดดูในเวลานั้น คนจะไม่ละอายต่อบาป ไม่รู้จักศีล สมาธิ ปัญญากันแล้ว  ใช้สัญชาติญาณของสัตว์กันอย่างเดียว  พ่อแม่ไม่สามารถสอนลูกได้ว่าธรรม คือ อะไร  เพราะพ่อแม่ก็ไม่เคยรู้ คนก็คงไม่รู้จะไปฟังธรรมได้ที่ไหนเพราะพระที่แท้...น้อยลงไปทุกที  อาจไม่มีเหลืออีกด้วยในตอนนั้น  ถ้าเราตายไปแล้วดันไปเกิดในช่วงนั้น...ชีวิตคงนรกสิ้นดี  

มันสังเวช.. คิดถึงพระพุทธศาสนา เห็นทุกข์ของจริงที่จะเกิดขึ้น เรามีช่วงอายุในกึ่งพุทธกาล ได้ไปรู้ไปเห็นสถานที่ของพระพุทธองค์ ได้มีโอกาสฟังธรรม  ท่านว่าต้องมีความตั้งใจที่จะเพียรทำหน้าที่ “ข้างใน” อย่ามัวเมาเพลินกับหน้าที่ “ข้างนอก” ...

ข้างนอก = ที่ทำๆกันอยู่ทุกวันนี่แหละ ที่ขโมยเอาช่วงเวลาเกือบทั้งหมดของ 7/24 ของเรา
ข้างใน = สติ ระลึกรู้ บางทีสามวันค่อยกลับมารู้ บางทีเป็นปี บางทีถึงขั้นอ่านไม่ออกกันเลย

เกิดเป็นคนโชคดีขนาดนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่ดีแบบนี้ มันเป็น window of opportunity ของทุกคน ที่เรียกว่าอย่างนี้เพราะ window of opportunity มันมาช่วงสั้นๆ ช่วงชีวิตตอนนี้   แต่มันเป็น window ที่พร้อมให้เราโดดเข้าใส่.. อยู่ที่ตอนนี้ โดดเข้า โดดออก.. ธรรมดาโดดออกมากกว่าโดดเข้า  แต่ท่านว่าไม่เป็นไร.. ต้องศรัทธา แล้วจะโดดเข้าไปได้บ่อยๆ อย่าละความเพียรเป็นอันขาด  

ปฎิบัติง่ายๆ คือ มุ่งที่ “กาย” มีอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อหา ติดมากับตัวให้ระลึกได้ทุกขณะ 
กาย = ศีล
ทำศีลก่อน.. ไม่ต้องถึงกับแยกขันธ์ 5 ได้ตอนนี้.. ให้แค่ “รู้” แล้วจบ
กำลังทำอะไรอยู่.. แค่นี้เหลือๆ
เดี๋ยวสมาธิมา...ปัญญาตาม
เป็นอันจบ..ไม่เสียชาติเกิด ถึงแม้จะต้องเกิดอีกหลายชาติ..ก็ทำไป

น้ำตาไหลเพราะสังเวช สลด สำนึก มันไม่ได้สลด แล้วหงอยหรือหดหู่นะ...มันมีฮึกเหิมอีกด้วยเพราะว่าต้องสู้กับความล้าใจ เหนื่อย เสียงที่ไม่พึงใจเวลาอยู่กับคน สู้กับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ

นึกถึงธรรม สิ่งที่ดีงาม ไม่ควรประมาทและเพียรต่อไป
ไม่ง่าย.. ให้พยายามยึด “กาย = ศีล” เข้าไว้..กำลังทำอะไรอยู่...
ดูความรู้สึก ดูอารมณ์ ดูจิตมีหลงได้..

หลงโง่ มาได้ตั้งหลายชาติ..และยังโง่อยู่...จึงต้องเวียนว่ายไป

ลอกมาว่า....“ หาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีภาค ในการที่พระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรอันสุขุมล้ำลึกเป็นปานฉะนี้ ในอดีตกาลนับแต่ข้าพระองค์ได้บรรลุปัญญาจักษุเป็นต้นมา มิได้เคยสดับพระสูตรดั่งนี้เลย ข้าแต่พระสุคต ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรดังกล่าวนี้ มีศรัทธาอันบริสุทธิ์ แล้วบังเกิดลักษณะอันแท้จริง (กล่าวคือ ปัญญารู้แจ้งในสภาพตามเป็นจริง) ก็พึงสำเหนียกได้ว่าบุคคลนั้นได้บรรลุสำเร็จซึ่งคุณานิสงส์อันเยี่ยมยอดหาได้โดยยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ลักษณะอันแท้จริงนั้น โดยความจริงไม่มีลักษณะ ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า นั่นเป็นลักษณะที่แท้จริง ข้าแต่พระผู้มีภาค ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรนี้ ณ บัดนี้ มีความศรัทธาและซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม ย่อมไม่เป็นข้อยากเย็นอะไรเลย ก็แต่ว่าในอนาคตกาลจากนี้ 500 ปี หากมีสรรพสัตว์ใดได้สดับพระสูตรนี้ แล้วแลบังเกิดความศรัทธาซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม บุคคลนั้นนับว่าเป็นบุคคลอย่างเยี่ยมยอดชนิดหาได้โดยยากทีเดียวพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุคคลนั้นจักเป็นผู้ปราศจากความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในปุคคละลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในสัตวะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าอาตมะลักษณะนั้นไม่มีสภาวะลักษณะเลย ด้วยเหตุดังฤา เมื่อละความยึดถือในสรรพลักษณะทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งตรัสรู้เช่นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย”

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

การทำงานอย่างมีความสุขด้วยเครือข่าย


เอกสารนี้ทำให้กับโครงการ สปชต. ชื่อยาวจำไม่ได้...แต่ทำให้กับข้าราชการผู้น้อยที่ทำงานชายแดนภาคใต้...เนื้อหาเป็นเรื่องการทำงานอย่างมีความสุขด้วยเครือข่าย...มีอยู่ว่า

“อันการทำงานนั้น กล่าวโดยสรุป ขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือ ความสามารถในการใช้วิชาการอย่างหนึ่ง กับ ความสามารถในการสัมพันธ์ติดต่อและประสานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในวงงานเดียวกันหรือต่างวงงานกัน อีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ ย่อมดำเนินควบคู่ไปด้วยกันและจำเป็นที่จะต้องกระทำด้วยจิตใจที่ใสสะอาดปราศจากอคติ ต้องกระทำด้วยความคิดความเห็นที่อิสระ เป็นกลาง ถูกต้องตามหลักเหตุผล จึงจะมีความกระจ่างแจ่มแจ้งเกิดขึ้น” 
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒสงขลา วันที่ 19 สิงหาคม 2517)

จากการสำรวจ “ความสุข-ความทุกข์” ของคนไทยในปี 2555 ของสวนดุสิตโพล พบว่า ความสุขที่ได้รับจากการทำงานอันดับหนึ่ง คือ 
- ความมีน้ำใจ/การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็น ร้อยละ 71.43 - การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ร้อยละ 16.71 
- การได้รับการยอมรับ คำชื่นชมจากผู้ใหญ่หรือเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 11.86  
ส่วนความทุกข์ที่ได้จากการทำงานส่วนใหญ่ คือ
- ความไม่สามัคคี ทะเลาะอิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่น ถูกนินทาว่าร้ายร้อยละ 61.25 
- งานหนัก ไม่มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว ร้อยละ 21.78 
- การไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดนกลั่นแกล้ง ร้อยละ 16.97
จะเห็นได้ว่าความสุขในการทำงานมาจากเรื่อง “ความสัมพันธ์” ทั้งสิ้น  ความสัมพันธ์ในที่นี่เป็นไปดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “ความสามารถในการสัมพันธ์ติดต่อและประสานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในวงงานเดียวกันหรือต่างวงงานกัน”   นั่นคือ ความสัมพันธ์ของเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต่อชีวิตการทำงานที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของผู้ที่ทำงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุขไปกับงาน และการสร้างความสุขในการทำงานไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนทำงานทุกคน

นกบินอยู่ตัวเดียวก็ถึงเป้าหมายได้ แต่ถึงช้ากว่า ออกแรงมากกว่าบินเป็นฝูง
มดตัวเดียวสร้างรังได้  แต่ได้รังที่เล็กกว่าและเสร็จช้ากว่าหลายตัวช่วยกัน
คนเดียวก็ทำงานสำเร็จได้ แต่น้อยกว่าความสำเร็จของเครือข่ายอย่างแน่นอน

การทำงานร่วมกับคนอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนที่เราต้องทำงานร่วมด้วยอาจเป็นได้ทั้งคนที่อยู่ภายในหรือภายนอกหน่วยงาน ถ้าเรามีความสามารถปรับตัวเองให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เราย่อมจะได้รับความร่วมมือ การยอมรับ และความช่วยเหลือมากมายในการทำงาน รวมทั้งการได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ทำให้การทำงานดีขึ้น       มีหนังสือเรื่อง What the World’s Greatest Managers Do Differently โดย Marcus Buckingham and Curt Coffman มีคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ “คุณมีเพื่อนที่ดีที่สุดจากการทำงานหรือไม่” คำตอบที่ได้เป็นตัววัดว่าทำไมคนจึงมีความสุข ได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน  คนเราต้องมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นเครือข่ายที่ดี มันเป็นมาตรฐานด้านความสุข ด้านดีที่ชัดเจนว่าเพื่อนดีช่วยเพิ่มประสบการณ์การทำงานอย่างมีความสุข  เพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายเชื่อมโยงกันอย่างสมัครใจในการทำงานจะคอยช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านการทำงาน และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมีมากมายและที่สำคัญจะส่งผลให้เราเป็นสุขและสนุกกับงานที่ทำอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังความสำเร็จในหน้าที่การงานของตัวเราเอง ทั้งนี้การพัฒนาทักษะหรือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นเครือข่ายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยากและสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้  กล่าวคือ การสร้างเครือข่าย  (Networking) ต้องทำให้เกิดการติดต่อ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ  อำนวยความสะดวกให้คนในเครือข่ายมีความสัมพันธ์กันฉันท์เพื่อนที่ต่างก็มีความเป็นอิสระมากกว่าสร้างการคบค้าสมาคมแบบพึ่งพิง และต้องสร้างระบบติดต่อแบบสองทาง ไม่ใช่การให้ข่าวสารทางเดียว  ดังนั้นเครือข่ายจึงต้องมีการจัดระบบให้กลุ่มคนสามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่จุดหมายที่เห็นพ้องต้องกัน ต้องเลือกเอาส่วนดี หรือจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเรียนรู้และสนับสนุนกันและกัน  เรียกได้ว่าเป็นการผนึกกำลัง (synergy) ในลักษณะที่ 1+1 > 2 เป็นพลังเพิ่มทวีคูณ  โดยเครือข่ายขนานแท้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอยู่อย่างน้อย 7 อย่างด้วยกัน คือ 
  1. มีการรับรู้และมุมมองที่เหมือนกัน (common perception)
  2. การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (common vision)
  3. มีความสนใจหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual interests/benefits)
  4. การมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคนในเครือข่าย (stakeholders participation)
  5. มีการเสริมสร้างซึ่งกันและกัน (complementary relationship)
  6. มีการเกื้อหนุนพึ่งพากัน (interdependent)
  7. มีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงแลกเปลี่ยน (interaction)
ส่วนวิธีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายนั้น พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ       
  • สร้างความผูกพันและความรับผิดชอบต่อเครือข่าย เครือข่ายจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงาน "ลงเรือลำเดียวกัน" เครือข่ายต้องผ่านการพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันและมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน
  • สร้างให้เกิดความเคารพและความไว้วางใจระหว่างกัน หากไม่ไว้ใจกันก็เลิกคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายไปได้
  • สร้างประโยชน์ร่วม ให้ทำความเข้าใจแต่แรกว่าต้องมีคนยอมเสียสละบางอย่าง เพื่อให้การทำงานเครือข่ายประสบความสำเร็จ
  • ต้องยืดหยุ่น เพราะการร่วมเป็นเครือข่ายหรือประสานงานกันนั้น สถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องตระหนักถึงปัญหาและมีความยืดหยุ่นพอสมควร
  • ต้องให้แน่ใจว่าคนในเครือข่ายมีความคาดหวังที่ตรงกันในการร่วมมือกันทำงานตลอดระยะเวลาที่ตกลงจะร่วมงานกัน เมื่อใดก็ตามที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสุขกับการทำงานเครือข่าย แปลว่าความล้มเหลวกำลังรออยู่ข้างหน้า
  • ตระหนักในความแตกต่างทางค่านิยม ทัศนคติและวัฒนธรรมทั้งในด้านพื้นที่และวัฒนธรรมองค์กร อย่าคาดหวังว่าคนอื่นจะสนองตอบต่อปัญหาเหมือนเรา
  • รับผิดชอบร่วมกันในความสำเร็จหรือความล้มเหลว
และขอฝากไว้ว่า “เครือข่าย” เป็นกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน การมีเครือข่ายที่ดีที่สามารถสร้างความสุขในงานต้องมี LINKAGE คือ การเชื่อมโยง
L – Learning การเรียนรู้ที่มีร่วมกัน
I  –  Investment การลงทุนแรงกาย แรงใจและทรัพยากร
N – Nurture การฟูมฟักบำรุงให้ยั่งยืน 
K – Knowledge ความรู้ในงานทีทำ
A – Achievement การใฝ่หาความสำเร็จร่วมกัน
G – Give การให้ ความเสียสละ
E – Engagement ความผูกพัน รักชาติตน รักถิ่นตน

แต่ที่สำคัญกว่าการสร้างเครือข่าย คือ คนในเครือข่ายต้องเลือกที่จะมีความสุข คนเราสามารถเลือกได้....It’s a matter of CHOICE , not CHANCE  คิดในแง่บวกเกี่ยวกับงาน มองถึงแง่มุมของงานในด้านที่เราชอบ ด้านที่เรารัก หาเพื่อนร่วมงานที่ชอบและทำงานด้วยอย่างมีความสุข ทางเลือกในการทำงานจะเป็นตัวกำหนดประสบการณ์และช่วยให้เราเลือกที่จะมีความสุขในการทำงานได้ 
สุดท้าย..จาก พระครูโสภณปริยัตยานุกิจ
ยามทุกข์ มีใจหนักแน่น 
ยามสุขมีใจสงบเสงี่ยม 
ในสงครามมีใจแกล้วกล้า 
ทำจิตให้เป็นน้ำใส 
ทำใจให้เป็นน้ำเย็น 

เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส 
เปลี่ยนพินาศให้เป็นพัฒนา 
เปลี่ยนปัญหาให้เป็นบทเรียน 

และสำหรับการทำงานในภาคใต้ของท่าน...ความสุขในการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย คือ 4 ขอ 4 จะ และ 4 ไม่
4 ขอ
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ 
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว 
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ 
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง 

4 จะ
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด 
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง 
จะยอมตายหมายให้เกียรติธำรง 
จะปิดทองหลังองค์พระปฎิมา 

4 ไม่
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร 
ไม่รวนเรพะว้าพะวังคิดกังขา 
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา 
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป 

ชีวิตนี้ช่างโชคดี..มีโอกาสชั่วโมงครึ่งในการคุยกับข้าราชการผู้น้อยที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงตายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งก็รู้สึกเต็มตื้นในความเสียสละของท่านเหล่านั้น  บางครั้งในระหว่างการฝึกอบรม..มีคนต้องกลับพื้นที่ไปกลางคัน..โรงเรียนถูกเผา  บางคนพูดไปน้ำตาก็มา..สามี ลูกหลานเสียชีวิต  เนื้อหาที่พูดคุย ไม่มีอะไรสำคัญมากเท่ากับการให้กำลังใจและการเคารพน้ำใจท่านอย่างที่สุด  โครงการนี้เป็นโครงการที่ยังไงก็ต้องทำให้.. แม้มีงานอื่นที่ให้มากกว่า ก็ต้องไม่ปฎิเสธ... 

เนื้อหาก็เป็นไปตามธรรมดาทั่วไป...

แต่สิ่งที่อยากบอกทุกครั้ง คือ

ขอกราบคารวะความเสียสละของทุกท่านที่มีให้กับประเทศชาติ 

ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบารมีในหลวงคุ้มครองท่านให้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายอย่างปลอดภัย...มีความสุข ความเจริญ


วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

สัญญาณการเป็นผู้ประกอบการ



12 Surprising Signs You Could Be an Entrepreneur
Grant Cardone ผู้เขียนได้ทำการศึกษาวิจัยมา 25 ปีว่ามีสัญญาณ 12 ประการบ่งชี้ว่าคนเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ คือ
  1. เกลียดสถานะมั่นคง – คนอื่นอาจชอบอยู่ในแพค แต่พวกนี้จะเห็นว่าไม่ make sense เพราะไม่ตอบโจทย์อะไรเลย ทำไมต้องอยู่ไปวันๆแบบชาวบ้าน 
  2. เบื่อง่าย – อะไรไม่ท้าทายความสามารถไม่เอา พวกเลิกเรียนเพราะเบื่ออย่าง Bill Gates 
  3. ถูกไล่ออกจากงาน – ประมาณว่าสร้างสรรค์เกินกว่าที่คนจะเข้าใจอย่าง Steve Jobs  
  4. ติดป้ายว่า “กบฎ” – กฎระเบียบใดๆที่เป็นทางการเอาไม่อยู่ พวกแหกกฎเพราะรู้ว่านอกกรอบมีอะไรที่ดีกว่ารออยู่  
  5. ต้่านอำนาจทุกประเภท – ไม่ชอบถูกบังคับจากครอบครัว ครูหรือนาย  ไม่อยู่ในบรรทัดฐานของพรรคพวก ชุมชนที่อาศัยอยู่ ทำงานอยู่
  6. พร้อมปรับปรุงทุกอย่าง – เห็นว่ามีช่องในการทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นเสมอและพร้อมลุยแบบไม่ต้องมีใครขอ  
  7. คุยคิกคักไม่เป็น – คุยเล่นเป็นเรื่องเสียเวลา รำคาญสังคมเจ๊าะแจ๊ะ 
  8. เป็นวัยรุ่นมีปัญหา – ถูกวิพากษ์ประจำว่าเป็นตัววุ่นวาย น่าปวดหัว อันนี้เป็นแรงขับให้ต้องพิสูจน์กับโลกว่าเจ๋ง 
  9. หมกมุ่น – กัดไม่ปล่อย ทำอะไรทำสุดสุด อย่าง Howard Schultz ติดหนึบกับ Starbucks แม้ว่าครอบครัวจะโวยก็ไม่สน 
  10. กลัวตายเดี่ยว – ออกไปคนเดียวก็กลัว  ไม่ออกก็กลัว เลยต้องเสี่ยง
  11. ขบคิด – กลางคืนนอนไม่หลับ คิดอยู่นั่น บางทีจนต้องเก็บไปฝัน เช้าขึ้นมายังคิดต่อได้
  12. ไม่เข้าพวก – แตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจให้ต้องกรี๊ดเพื่อโดดเด่นเป็นสง่า 

กุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจ: การจ้างงาน


Hire for attitude. 
Skills can be taught. 
Passion can't.

มีเรื่องเล่าว่าในปี 1962 John F. Kennedy แวะเยี่ยม NASA space center เห็นภารโรงกำลังกวาดห้องอย่างขมักเขม้น จึงทักทายว่า  "Hi. I am Jack Kennedy. What are you doing here?" 
ภารโรงตอบอย่างไม่ลังเล  "I am helping put a man on the moon, Mr. President."

เจ๋งมากพี่...

มีหนังสือชื่อ Think Like Zuck: The Five Business Secrets of Facebook's Improbably Brilliant CEO Mark Zuckerberg  เป็นหนังสือที่ Ekaterina Walter ผู้เขียนอธิบายถึงองค์ประกอบที่ทำให้ Facebook ประสบความสำเร็จจนเป็น entrepreneurial company โดยเน้นที่กลยุทธ์ของ Zuckerberg เรื่องการสร้างวัฒนธรรม Facebook ในการจ้างงาน การคัดคนที่ทัศนคติ....ไม่ใช่แค่  right skills !!     อันนี้เป็นวิสัยทัศน์สำคัญของ Mark Zuckerberg นอกเหนือจากการดูแลคนอย่างดี เช่น เลี้ยวข้าวฟรี ซักแห้งฟรี หรือผลประโยชน์ที่จูงใจอีกมาก    เรื่องสำคัญลำดับแรก คือ พัฒนากลยุทธ์การจ้างงานที่เจ๋งโดยพิจารณาจากค่านิยม ทัศนคติเพื่อนำ “คนที่ใช่” มาทำงานด้วยกัน และคนที่ใช่..ไม่ได้หมายความถึง “ความสามารถที่ใช่” แต่เป็น “ทัศนคติที่ใช่”  

การเลือกคนที่ความสามารถทำให้เสียเวลาขบคิดว่าจะหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้ยังไง แต่ Facebook ไม่สนแนวนี้  Facebook สนเรื่องการให้คุณค่ากับคนที่ใช่มากกว่าคนมีความสามารถ  พวกที่เข้ามาใหม่จะต้องมองว่ามีปัญหาหรือโอกาสที่ไหนในการพัฒนางานและให้เลือกทีมเองสำหรับทำเรื่องที่พวกเขาชอบและสนใจเพราะเชื่อว่าตราบใดที่คนได้ทำงานที่รักที่ชอบ คนจะทุ่มสุดตัว ซึ่งเป็นโอกาสในการเติบโตในงาน  มันเป็นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมกันให้ทุกคน  คนจะได้รับการยอมรับในสิ่งที่คิดจะปรับปรุง product   อันนี้เห็นชัดว่าไม่เกี่ยวกับ résumé หรือ อายุขัยแต่อย่างใด   จะเห็นว่าเหมาะกับ Facebook เพราะเป็นธุรกิจที่นำ ideas มาเป็น products และใครก็สามารถเป็น CEO ในงานของตัวเอง   ดังที่ Joey Flynn คนหนึ่งในทีมที่ออกแบบ Facebook timeline ว่า "You can do anything here if you can prove it."
Flat management structure ก็เป็นอีกประการที่ Facebook ทำเต็มที่เพราะมีตำแหน่ง vice president น้อยมากเมื่อเทียบกับองค์กรอื่น  ที่ Facebook ทุกอย่างต้อง as flat as possible  มันเป็นเรื่องของ nontraditional career path ที่คน Facebook สร้างเองได้   เป็น value-based behaviors ไม่ใช่ประวัติความสามารถการทำงานที่สวยหรูแต่อย่างใด 
เรื่องการจ้างงานนี้ Steve Jobs ก็เป็นผู้นำคนหนึ่งที่มีมุมมองว่าการจ้างคนนอกอุตสาหกรรมเป็นการเติมความสดให้กับธุรกิจ  มันไม่เกี่ยวกับความชำนาญหรือความสามารถเป็นชุดที่เหมาะกับงานขององค์กร  Jobs ยอมรับว่าความสำเร็จของธุรกิจส่วนหนึ่งมาจากคนหลากหลายที่มาทำงานด้วยกัน ซึ่งเขาบอกว่า "Part of what made the Macintosh great was that the people working on it were musicians and poets and artists and zoologists and historians who also happened to be the best computer scientists in the world."  Southwest Airlines ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ถือว่าลูกค้าชื่นชม  เป็น favorite and an industry darling ของลูกค้ากันเลยทีเดียว  Sherry Phelps ผู้บริหารระดับสูงที่คุมเรื่องคนบอกเลยว่าปรัชญาในการจ้างคน คือ เลือกที่  'warrior spirit ' เป็นครู คนเสริฟ์อาหาร ตำรวจก็ได้  อย่างอื่นมาพัฒนากันทีหลัง
แล้วเราจ้างงานกันอย่างไร...

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

ความสงบแห่งใจ



เพื่อนรุ่นเดียวกันตายไปอีกหนึ่งคน...คุณหมอพัชนี 
ขอให้พี้รี้สู่สุคติ พี้รี้พ้นทุกข์..แต่เรายังวนเวียนอยู่กับชีวิต 
การตายคงทำให้เพื่อนหลายคนได้คิด...ชีวิตเหลือน้อยลงทุกวัน

ชีวิตมันมีแค่รอความตายนะคนเรา.. สุขจริงไม่มี..มันเปลี่ยนไปตามวัย..หายไปตามเวลา

ชีวิตตอนเด็ก...ตุ๊กตา ของเล่นเป็นที่สุดแห่งความสุข
โตอีกหน่อย..เสี้อผ้า หน้า ผม
มาอีกวัยหนึ่ง...บ้าน รถ ยศ ชื่อเสียง 
และมาอีกวัยหนึ่ง... มีคน ลูกหลานคอยเอาใจ 


ชีวิตต้องการเท่านั้นหรือ....

คนดิ้นรนแสวงหากันตั้งแต่เด็กจนย่างเข้าวัยแก่  ลุยทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขตามที่ตนต้องการ วิ่งหาความช่วยเหลือทางใจที่มาปลอบโยนว่าเรายังมีใคร  แต่มันเป็นความสุขที่เกิดจากการดิ้นรน คือ ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อหาเหยื่อมาป้อน มาสนองตอบต่อความต้องการของตนเองอยู่เสมอ คือชีวิตจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้มีการสนองตอบเท่านั้น เมื่อไม่ได้ ก็รู้สึกบีบคั้น ทรมานใจให้หงุดหงิดขัดเคือง เป็นความทุกข์ เมื่อมีทุกข์ก็ต้องดิ้นรนวิ่งไปวิ่งมาเพื่อหาทางแก้ไขทุกข์ ให้เราได้เกิดมีสุขขึ้นมาอีกครั้ง... มันไม่จบสักที 

สุข = สุกไหม้ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวหาย 
มันสมมุติกันเกินไปหรือเปล่า...

ความสุขที่แท้จริง ที่ว่าเป็นความสงบแห่งใจที่ไม่ต้องตอบสนองด้วยสิ่งใดทั้งสิ้นนั้น..มันมีด้วยหรือ

คนแต่ละคนคิดต่าง.. สุขต่าง ทุกข์ต่าง 

บางทีเปลี่ยนความคิดมาสนใจวิเวกก็น่าอยู่นะ วิเวก คือ สงัดจากสิ่งรบกวน  มันเป็นเพราะเรา เพราะโง่...โง่ที่เป็นตัวกูของกู  แต่รู้สึกว่าวิเวกนี้ดูจะเป็นที่รังเกียจชอบกล  ถ้าดูที่ภาษา..ภาษาบาลี วิเวก แปลว่า เดี่ยว ไม่มีอะไรรบกวน แต่ภาษาไทยมันกลายเป็นวิเวกวังเวง เป็นไม่ต้องการ เป็นไม่น่าพอใจ  คนธรรมดาทั่วไปก็ไม่ชอบวิเวก เพราะไม่อยากอยู่คนเดียว อย่างน้อยก็มีใครๆ มีเพื่อน มีคนหลายๆคน มันอบอุ่น นั่นไม่เป็นไร  แต่ความหมายวิเวกมันลึกกว่านั้นมาก มันจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีเสียบ้าง ตัวเองอาจทุกข์จนตาย ก็ลองคิดดูว่า เดี่ยว ไม่มีอะไรมากวน มันจะสบายไหม  มันเป็นวิเวกทั้งทางกายและทางจิต ซึ่งอาจเลยไปถึงการไม่มีอะไร มายึดมั่น ถือมั่น หอบหรือยึดหนักอะไรเอาไว้ 

ทุกวันนี้คนมีสิ่งที่รบกวนจิต..มันมีมาก จิตมันจึงคิดนึกปรุงแต่งไป มันเหนื่อย  ไฟลนหัวใจเสมอ...
  • ความโกรธ ไม่มีใครไม่เคยโกรธ ไม่อยากโกรธ มันก็โกรธ มันอดไม่ได้ 
  • ความเกลียด เกลียดใครไว้ มันก็มารบกวน 
  • ความกลัว ก็กลัวกันไป กลัวคน กลัวตาย กลัวเสียของที่ไม่อยากจะเสีย 
  • ความตื่นเต้น ได้ยิน ได้เห็นอะไร มันก็ตื่น มันก็เต้น ทำเอานอนไม่หลับ 
  • ความวิตกกังวลในอดีต ในอนาคต มันหยุดคิดไม่ได้ 
  • ความอาลัยอาวรณ์ ยื้ดเยื้อ ไม่จบไม่สิ้น
  • ความอิจฉาริษยา อย่าคิดว่าไม่มี หนักหนาที่สุด ทุกข์หนัก บาปหนา หาความสงบสุขยาก
  • ความหวง หรือที่เข้มไปจนถึงความหึง มันรบกวนอย่างยิ่ง 
  • ความยกตนข่มท่าน ฝังลึกจนไม่รู้ตัวจนวาจาพาให้เจ็บใจชาวบ้าน
  • ความระแวง กลัวคนไม่ชอบ กลัวคนนินทา กลัวเสียพักตร์

มันมีอีกหลายความ...แบบนี้จะไม่ให้วิเวก จะไหวหรือ คนมันจะเสรีได้อย่างไร  เราอยู่อย่างโง่จนมองไม่เห็น กลายเป็นสิ่งที่ชินในชีวิต..ที่เหลือน้อยลงทุกวัน  เข้าวัยแก่แล้วหาธรรมะประโลมใจไป มันก็คงดีมากกว่ามีอารมณ์บ้าๆบอๆ ประโลมโลก มันวินาศ..พิฆาตใจตัวเอง จะกลายเป็นโง่ไม่ยอมเลิก   มันคงจะดีถ้าเราพยายามหาโอกาสที่ไม่มีอะไรมารบกวน ไปทะเลบ้าง ไปภูเขาบ้าง ถึงจะเป็นตัวกูบ้าง คือ ตัวกู ลากตัวกูไปเที่ยวทะเล คงไม่เป็นไร ไปให้มันโล่งอกโล่งใจ ว่างบ้าง มีวิเวกบ้าง แต่ไม่ต้องสร้างมันตลอดเวลา ก็น่าจะพอไหว 

ไอ้ไม่มีตัวกู ไม่มีการยึดมั่นตัวกูของกูเลยคงยากอยู่..บุญไม่ถึง  แต่ให้มันน้อยหน่อย ปลดเปลื้องมันหน่อยน่าจะพอได้ ว่างๆก็แผ่เมตตาไป มันจะว่างมากขึ้น เป็นวิเวกชนิดหนึ่ง มันต้องพยายามมีกันเสียบ้าง จะมีกันเท่าไร โอกาสใดก็มีกันบ้าง ก็ตัวใครตัวมันนะ   แต่ถึงขั้นไปอยู่วัดก็ใช่ที่ เพราะกรรมมีเยอะต้องหนักต่อไป   แต่ไม่ต้องจมแช่แบบเดิมก็ได้ คงคลายไปได้บ้าง..จะให้หมดมันคงไม่ได้ในชาตินี้  เพราะตราบใดที่เราอยากเข้าไปเจริญ ปฎิบัติ เข้าไปมีเจตนากับการรู้ การดู มันก็ไม่วิเวกจริง มันยังเป็นไฟกิเลส ไฟอยากอยู่นั่น   เอาเป็นว่าไม่ต้องมาก...แค่ปล่อยมันบ้าง มันก็คงจะเริ่มวิเวกไปเอง ไม่ต้องภาวนา  เอาเป็นให้ปลง ไม่ต้องดันทุรังเจริญ  เอาวิเวกแบบสบายเรา ตามเวรตามกรรมไป ไม่ต้องคิดมาก  แค่ทำไป..

ไอ้ที่คิดมากทุกวันนี้ก็ไม่วิเวกจิตแล้ว..ความขัดแย้งในใจนี้มันมาจากทั้ง structural cause ของเราที่เป็นตัวกูและ immediate causes หลายประการ ความแตกต่างทางความคิดของคนที่อยู่รอบตัวเรา  การเห็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำที่คนปฎิบัติต่อกันและอีกหลายอย่าง  ที่ทำให้ต้องลองวิเวกกาย เอาให้ห่างก่อน..วิเวกใจคงตามมา  อ้าว..เข้าไปเจริญอยากอีกแล้ว... 

สรุปแบบนี้แล้วกัน...ผู้มีสติปัญญาควรรู้ว่า ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีความสงบสุขและเป็นชีวิตที่สั้นมาก ซึ่งไม่เหมาะที่จะไปจมอยู่กับความอะไรต่อมิอะไรและการปล่อยให้มันล่องลอยไปกับอะไรต่อมิอะไร  ควรปลงไป.. 

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ติดสบายไปไม่รอด



ไปสังเวมา..ขอเตือนตัวเองเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ ให้มันรู้ตัวเองสักหน่อย..การเดินทางครั้งนี้มันสุดจะทดสอบตัวเองเห็นๆ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ขอใคร่ครวญเพราะหงุดหงิดตั้งแต่วันแรกที่พุทธคยา เห็นคนภาวนามากๆสติจะแตกเลยเชียว..เดินกลับวัดตัวเองในใจไปเป็นนานกว่าจะเงียบจิตอกุศลได้..

เรื่องโลภะ..ส่วนใหญ่เราจะรู้ว่ามีโลภะก็ต่อเมื่อมันเป็นโลภะที่แรง ไอ้เราเลยนึกว่าไม่มี ที่ไหนได้โลภะที่ไม่รุนแรงก็มีมาให้ทดสอบอยู่เนื่องๆ เช่น อยากได้ที่นอนดีๆในโรงแรมดีๆ อยากจะกินแต่ของอร่อยมากๆ.. สังเวนะ ไม่ใช่โฟร์ซีซั่น ไม่ใช่กาดวโรรส หรืออยากสูบยามากๆในที่ๆเขาไม่ให้สูบ ก็หงุดหงิด  นั่งไปก็หวังใบโพธิ์หล่น..น่าน..เป็นซะงั้น  มันเป็นความผูกพันยึดมั่นชัดเจนกับตัวเราเลย  มันมีีหลายระดับขั้นแต่เราไม่รู้ว่าเรามีโลภะที่เป็นความผูกพันยึดมั่น ทำให้เกิดความทุกข์ คับข้อง หมองอารมณ์ ถ้าเข้าใจความจริงก็คงปรารถนาน้อยลงได้ แต่โลภะจะหมดไปในทันทีทันใดคงไม่ได้ มันยากนัก ระงับได้เพียงชั่วคราว เดี๋ยวมันมาใหม่ เมื่อมีเหตุปัจจัยต่างๆมาช่วยกันรุม  แม้จะรู้ว่าโลภะทำให้เกิดทุกข์โทมนัสขัดใจ มันก็เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า... มันคงอิสระกับตัวเองถ้าคิดได้ว่าความจริงทั้งตัวเราเองและคนอื่นเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เวลาใครพูดคำที่ไม่น่าฟัง เสียดสี ชวนเวียน มันก็เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เขาพูดอย่างนั้น และก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เราได้ยินคำเหล่านั้น การกระทำของคนอื่นและปฏิกิริยาของเราต่อการกระทำนั้นๆ ล้วนเป็นสภาพที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยและไม่เที่ยง ขณะที่กำลังคิด...สภาพเหล่านี้มันดับไปแล้ว คิดไปทำไมมี.. การเจริญปัญญาตัวเองก็คงเป็นทางที่จะทำให้ละ ทำให้คลายการยึดมั่นในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต  การกระทำของคนอื่นต่อเราก็สำคัญน้อยลง  ไม่ถือตน ถือเขา ไม่มีใครดีกว่า เสมอกัน หรือ ด้อยกว่า เก็บอาการถือตนก็ละมานะไปได้อีกแบบ.. ง่ายๆคือ ไม่มี “กู” (และ..ไม่มี “มึง” ด้วย)

เจ้าโลภะนี่แสบสุด..เมื่อมีขึ้น..โทสะตามมาอย่างด่วน..เป็นอกุศลจริงจริง เพราะเราไม่ตระหนักว่ามันเกิดแล้วมันก็ดับไป คนและสิ่งต่างๆที่เราไม่พอใจ ไม่สบายใจกับเมือง สถานที่ คน พาหนะในครั้งนี้  เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปทันที มันชั่วขณะ มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา   มันไม่มีประโยชน์อันใดที่ไปยึด เออ..ทำไมคิดตอนนั้นไม่ได้เลย ปล่อยให้มันเผาอยู่ได้  อารมณ์เซ็งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  คงต้องรีบสังเกตุว่ามันบ่อยไหม.. จริงๆก็ไม่บ่อยนะ  มีบ้าง เพราะคงมุ่งคิดถึงแต่ตัวเองเมื่ออยู่กับคนอื่นมากๆ   เห็นความตระหนี่ เห็นแก่ตัว ได้ฟังอะไรที่ไม่อยากฟัง พระพูดยังไม่อยากจะฟัง เดินมากก็เมื่อย กินข้าวช้าก็เซ็ง เวลาไม่เป็นไปตามคาดก็เบื่อ คนบริการไม่ดีก็หงุดหงิด เด็กๆคนขายของมารุมก็หน่าย อันนี้ก็มีโทสะอยู่  มันยังติดข้องในอารมณ์ มันเป็นเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมของตัวเอง จึงสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจ ก็มักจะครุ่นคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีนั้นอยู่อีก ถ้าสติระลึกรู้สภาพมันควรจะคลายการคิดถึงอกุศลวิบากด้วยโทสะลงได้  เวรกรรม เวรกรรม...

เอาเมตตาแทนโทสะมั่งดีไหม น่าจะดีเลย เช่น เมื่อคนอื่นทำไม่ดีกับเรา ทำให้เราไม่พอใจไม่ว่าเรื่องอะไร เราก็ไม่สบายใจและครุ่นคิดแต่เรื่องไม่สบายใจนั้น เมื่อโทสะยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่โทสะจะเกิดได้อีกเรื่อยๆ มันมาทดสอบเป็นระลอก แต่ต้องรีบรู้ ขณะที่สติระลึกรู้ ปัญญามันจึงเจริญขึ้นมาบ้าง แม้ว่ายังดับโทสะไม่ได้ แต่เมื่อโทสะเกิด ก็รู้ลักษณะของโทสะว่าเป็นนามธรรม มันไม่มีตัวตนจริง มันเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อสติไม่เกิด ก็ดูราวกับว่าเกิดโทสะอยู่นานและยึดมั่นโทสะว่าเป็นตัวตน เลยอด..เลยไม่ได้สังเกตรู้นามธรรมและรูปธรรมอื่นๆที่ปรากฏ การเจริญสติจึงแผ่วไป.. เอ้า..เมตตา เมตตามหานิยมไป  และใส่ใจในปัจจุบันขณะมากขึ้น แทนที่เรื่องในอดีตหรืออนาคต  วิเวกไปบ้าง เงียบๆไปไม่ต้องพูดมาก พูดไปโทสะมาอีก พูดกับคนอื่นยิ่งสะสมโทสะมากขึ้นชักไม่ไหว  เอาเป็นว่าคนที่ไม่ดีต่อเรานั้นสมควรได้รับความเมตตา เพราะเขาเองก็เป็นทุกข์มากเช่นกัน

ถ้ายังไม่หยุด..โมหะมันจะมาพร้อมกันด้วย กลายเป็นเพลิดเพลินไปในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นอกุศลไปอีก เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมทางกาย วาจา ใจ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่  อีทีนี้ต่อให้ภาวนา สวดมนต์ ทำบุญในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดใดในโลกยังไงก็ไม่ขึ้นแล้ว ไม่ดีแล้ว  กลายเป็นมิจฉาทิฐิฝังลึก  เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์เพราะติดข้องในนามและรูปไม่สิ้นสุด ทุกข์จึงไม่สิ้นสุด มงคลชีวิตไม่เกิด  ทำบุญไปก็ไลฟ์บอย ทำบ่อยๆก็ออยแชมพูเท่านั้น  

ถ้าโลภะ คือ ความชอบใจ ติดใจ อยากได้ อยากกิน อยากมี ก็ซวยแล้วงานนี้ มีมาโดยตลอดการเดินทางเลยเชียว   ตัวเรามาดูสถานที่ ดูคน ดูเมือง  มันแสนจะมีให้บทเรียนที่เราต้องสำเหนียก เพราะถ้าเกิดชอบใจอยากได้สิ่งใดก็ตาม เมื่อไม่ได้ดังใจชอบก็เสียใจ น้อยใจ คือโทสะขึ้นชัดได้อีก มีโมหะเป็นตัวสนับสนุนหนักเข้าไป  คนอินเดียดูไปทุกข์ แต่ดูอีกทีเขาก็สุขตามแบบเขา เราเองโชคดีเหลือเกินแล้วที่เป็นแบบนี้ โลภะให้น้อยน่าจะดี  แต่สำคัญว่า...ตอนนี้รู้อย่างเดียว คือ มันไม่มีอะไรในกอไผ่ ไม่มีอะไรสำคัญจริงๆแม้แต่ลมหายใจ  คนมันแค่เกิด แก่ เจ็บ ตายกันทุกคน ไม่มีรอดจากนี้ ดังนั้นตัวเราเองต้องน้อยๆหน่อย อย่าเยอะ อย่ามากกับตัว “กู” มันเหนื่อยจริงเลยโว้ยค่ะ อนุโมทามิ