วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เหนือเหตุผลของท่านนัน


ท่านนัน: มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เหนือเหตุผล คือ ธรรมชาติ
ในใจพูดว่า: ฟังแล้วงงไปสามวิ...นังบัวใต้น้ำ

ท่านนัน: เหตุผล ตอบสนองเรา    = สุข
             เหตุผลไม่ตอบสนองเรา = ทุกข์
             สร้างความไม่สมดุลย์
ในใจพูดว่า: อือ..ชักเข้าท่า มันไม่สมดุลย์จริงด้วย

ท่านนัน: ตามเหตุผล หาเหตุผล   = โง่
            มนุษย์ที่มีเหตุผล = โง่ 
            มนุษย์ที่มีเหตุผล = ไม่พัฒนา
ในใจพูดว่า: หูย...มิน่าไม่ค่อยพัฒนากันเลย มัวโง่อยู่ได้ ตามหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อตัวเอง ให้สุขลมๆแล้งๆอยู่ได้ หาแต่เหตุผล หาแต่หลักการอะไรกันนี่ ยุ่งจริงๆ ไปไม่เป็นเลย

ท่านนัน: ต้องอยู่เหนือเหตุผล = สมดุลย์
             อยู่เหนืออารมณ์ อยู่เหนือคนอื่น
             ธรรมชาติ = สมดุลย์
ในใจพูดว่า: จริงแล้วเจ้าค่ะ อารมณ์มันพาไปหาเหตุเดือดร้อนจริงๆค่า อยู่กับธรรมชาติตัวเอง อยู่กับธรรมชาติคนอื่นไม่เป็นเลยค่า ที่ซวยคือ ไม่รู้จักตัวเอง หงุดหงิด โมโหก็ไม่ค่อยจะรู้ตัว และยังไปทะลึ่งช่วยชาวบ้านหาเหตุผลที่เขาเป็นอีกด้วย ซวยจริงจริง

ท่านนัน: อย่าปฎิเสธธรรมชาติ จะได้เบิกบาน
             ผิดธรรมชาติ ไม่เบิกบาน
ในใจพูดว่า: ไม่เอาแล้วค่ะ ไม่แล้วจริงๆ เพราะปฎิเสธแล้วมันเอียงเลยค่ะ หาจุดยืนธรรมชาติไม่เจอเลยค่า

ท่านนัน: คนเรา ความชัดเจนในมุมมองต่างกัน เป็นธรรมชาติ

ญาติโยมรันทด: พ่อแม่ห่วงลูกทุกเวลา ทำไมลูกไม่ห่วงพ่อแม่ทุกเวลาบ้าง

ท่านนัน: พ่อแม่ห่วงลูกทุกเวลา เป็นธรรมชาติ
             ลูกห่วงพ่อแม่บางเวลา เป็นธรรมชาติ
ในใจพูดว่า: เข้าทางเลยฮ่ะ

ท่านนัน: เราเห็น เขาเห็น..คนละเรื่อง คนละอย่าง เป็นธรรมชาติ
ในใจพูดว่า: นั่นซิฮะ จะไปหาเหตุผลทำไม  ไม่ต้องทำไมแล้ว มันเป็นธรรมชาติ

ท่านนัน: ทุกข์ แนะนำได้ ห้ามไม่ได้
ในใจพูดว่า: แต้เลย คนมีทุกข์ ห้ามไม่อยู่ มันเป็นธรรมชาติของเขาฮ่า ต้องปล่อยไป

ท่านนัน: ทุกอย่าง = กรรม
             อายตนะ มันหนัก เจอลมก็เอียง
ในใจพูดว่า: กรรมใคร กรรมมันแล้วกันนะโยมเอ๊ย...

ท่านนัน: เย็น = มงคล
        ร้อน = อัปมงคล
ในใจพูดว่า: ฮู้ย ถูกใจ

ท่านนัน: สุข โรค หาย อายุยืน
             ทุกข์ โรค เยือน อายุสั้น

ในใจพูดว่า: เอาไงเอากันท่านผู้ชม...มันเป็นธรรมชาติ 

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คนเก่ง



ธนินท์ เจียรวนนท์: ผมบอกพนักงานอยู่เสมอ คือ ในโลกนี้ ไม่มีคนไหนเก่งไปตลอดกาล  วันนี้คุณอาจเก่ง แต่พรุ่งนี้ อาจมีคนเก่งกว่าคุณ เพราะฉะนั้น คนใดก็ตามที่ภูมิใจว่า ตนเองเก่ง จงจำเอาไว้ได้เลยว่า ความหายนะใกล้มาถึงตัวคุณแล้ว ความโง่คืบคลานมาใกล้ตัวคุณแล้ว

ยุคสมัยนี้ เป็นยุคที่เราพากันยกย่องคนเก่งมากกว่าคนดี จึงมีคนจำนวนไม่ใช่น้อย..เราก็ด้วยที่ไม่ยอมน้อมรับถึงสัมพันธภาพที่สร้างสรรค์ระหว่างตัวเองและคนอื่น จึงเลยเถิดจนไปคิดว่าตัวเองเจ๋ง รู้และเก่งด้วยตัวเอง  นับวันยิ่งอันตรายสำหรับค่านิยมที่เก่งเกินใครเพียงผู้เดียว เราเองบางทีก็ทำตัวให้เก่งและมักเคืองขุ่นใจเมื่อมีคนอื่นเสนอแนวทางที่แตกต่าง ซ้ำร้ายหลงในความอัจฉริยะของตัวเองโดยไม่ฟังความรอบด้าน หูดับขึ้นมาซะงั้น พยายามครอบครองโอกาสเพื่อแสดงความสามารถ ไม่มีการแบ่งปันความดีงามให้ผู้อื่นได้กระทำ ไม่เว้นระยะให้ผู้อื่นเป็นทางเลือก  เหล่านี้ที่เราทำอยู่ คือ ภัยแห่งยุค  ภัยมืดที่มาพร้อมกับความเห็นแก่ตัวด้วยการแอบเร้นมาในรูปของความเก่งกาจ  ผลักดันให้คนอื่นตกขอบ บางทีตั้งใจ บางทีไม่ตั้งใจ  ซึ่งเราก็ลืมไปเหมือนกันว่าไม่มีใครในโลกที่สามารถเก่งได้ด้วยตัวเอง ความเก่ง ความสำเร็จของเราย่อมมาจากคนอื่นรอบข้างทั้งนั้น  ง่ายๆเลย ถ้ามันไม่โง่ ความฉลาดของเราจะฉายรึเปล่า    บางครั้งหนักกว่านั้น คือ การฉกฉวยความคิดของคนอื่นไปเป็นของตัว เพียงเพราะว่า อยากเก่ง อันนี้ เก่งไม่จริง.. อันไหนที่ไม่ใช่มาจากเรา ก็ต้องให้รู้ว่ามันเป็นของคนอื่น ให้เกียรติ ให้เครดิตชาวบ้านบ้าง มันไม่ได้ทำให้ใครตกต่ำลงกับการให้ความดีความชอบคนอื่นแน่ๆ
เข็มที่มีประโยชน์ใช้ได้จริงสำหรับ เย็บ ปะ สอย ไม่มีปลายแหลมสองด้าน มันแหลมด้านเดียว  ทุกคนมีจุดเด่นและจุดด้อย คนเราจึงไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง ทุกด้าน ถ้ายังคิดว่าคนอื่นโง่ตัวเองฉลาด เก่งอยู่คนเดียวมันก็หนีไม่พ้นความคิดวังวนเดิมๆ  แน่นอน..เราอาจจะเป็นคนเก่งที่สุดในองค์กร แต่ไม่ใช่ทุกที่แน่ๆ  เราไปอยู่อีกที่ เราอาจจะเป็นได้แค่ท้ายแถว และที่ชัดๆตัวเองก็เป็นเด็กอนุบาลในเรื่องธรรมะ หรือ อาจกลายเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ได้เพราะโลกนี้มันกว้างใหญ่เกินที่ใครจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง  ไอ้คนที่เราเห็นว่าสุดยอด สุดยอดนี่แหละ แพ้ภัยตัวเองมานักต่อนักด้วยความด้อยปรีชาญาณ ด้วยมิจฉาทิฐิ  แต่ละคนล้วนมีความเก่งเฉพาะด้าน เราเชื่อว่าคนเก่งควรใช้ความเก่งนั้นเพื่อสร้างความสุขให้คนอื่น สร้างสันติ ให้ความงดงามแก่โลก แต่ถ้าไม่ไหวก็..ลาไปบวชดีกว่า สำคัญ คือ เราจะใช้อัจฉริยะภาพเพื่อลดละความห่างเหินในการเรียนรู้ ในการอยู่ร่วมกันได้ยังไง  และที่สำคัญกว่านั้น การเว้นช่องให้คนอื่น คือ การให่้เกียรติอย่างยิ่ง เก่งจริงต้องให้โอกาสคนอื่น   อย่าเก่งแบบ “ข้ามาคนเดียว” มันจะกลายเป็นถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในหน่วยงานหรือองค์กรไหนที่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้เรื่องทั้งหมดและสามารถตัดสินใจได้ คนๆนั้นถือว่าอันตรายมาก ต้องให้ออก มีเรื่องเล่าว่าระหว่างการประชุมของพนักงานขาย ผู้จัดการว่าพนักงานอย่างรุนแรงที่ทำยอดขายตก เขาบอกว่า “ผมเอือมกับผลงานที่ไม่ได้เรื่องและข้อแก้ตัวต่างๆนานาเต็มทีแล้ว ถ้าพวกคุณทำไม่ได้ ก็ยังมีคนจากข้างนอกพร้อมที่จะกระโดดเข้ามารับหน้าที่แทน”  แล้วเขาก็ชี้ไปที่อดีตนักฟุตบอลอาชีพคนหนึ่งซึ่งเกษียณอายุมาเป็นพนักงานขายใหม่ๆพร้อมกับพูดว่า “ถ้าทีมฟุตบอลเล่นไม่ชนะครั้งเดียว อะไรจะเกิดขึ้น เขาก็จะหานักฟุตบอลคนใหม่มาลงแทนใช่ไหม?” คำถามนั้นสร้างความอึดอัดอยู่ชั่วครู่ แล้วนักฟุตบอลจึงตอบว่า “ท่านครับ อันที่จริงถ้าทั้งทีมกำลังมีปัญหา ปกติแล้วเราจะหาโค้ชคนใหม่ครับ” (ฮ่า ฮ่า ขออนุญาตขำ)   

ไม่มีใครที่ไม่อยากทำงานให้ดี คนงาน ลูกจ้าง พนักงาน ต้องการก้าวหน้าทั้งนั้น แต่ว่าจะทำงานได้ดีแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับนาย ขึ้นกับผู้บริหารนั่นแหละ ว่าเก่งพอหรือเปล่า มีเทคนิคหรือวิธีการเจ๋งๆหรือเปล่าที่จะยกทั้งแผงให้เก่งกันทั้งหมด ถ้าคิดว่าเป็นผู้นำแล้วทำให้คนอื่นตามไม่ได้ ก็เป็นได้แค่คนที่มาเดินเล่น โชว์ความเก่งในองค์กรชั่วคราวเท่านั้น...ซึ่งตอนนี้..กำลังรู้สึกว่าเดินเล่นอยู่..ดังนั้น ไปดีกว่า..

ทิศทางและหนทาง



นิทานเซน..นานๆอ่านทีก็บอกอะไรได้หลายอย่าง.. เรื่องนี้มีอยู่ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งได้นัดกันไปปีนเขา แต่วันนั้นดินฟ้าอากาศเกิดแปรปรวนขึ้นอย่างฉับพลัน จึงทำให้หลงอยู่ในหุบเขา หาทางออกไม่ได้อยู่หลายวัน  เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพรานหลายคน ได้ช่วยกันค้นหาอย่างไม่ลดละจนในที่สุดก็สามารถหาพบและช่วยเหลือออกมาได้   ในขณะที่กำลังลำเลียงนักศึกษาขึ้นรถพยาบาลอยู่นั้น นักศึกษาคนหนึ่งที่นอนอยู่ในเปลก็ได้พูดขึ้นมาว่า... 
"อันที่จริงพวกเราทุกคนต่างรู้ทิศทางที่จะออกจากหุบเขานี้ดี แต่มันน่าเจ็บใจที่เดินยังไงก็ออกมาไม่ได้สักที"
"รู้แค่เพียงทิศทางมันจะมีประโยชน์อะไร" ทหารพรานคนหนึ่งพูดโพล่งออกมาอย่างไม่เกรงใจ "รู้หนทางสิ จึงจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด" 
"แม้ทิศทางจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการที่จะช่วยคุณค้นหาหนทางได้ แต่ทิศทางก็ยังไม่ใช่หนทางอยู่ดี ตัวอย่างเช่น หากทิศทางบอกกับคุณว่า ควรมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะคุณจะสามารถพบหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่ได้ แต่บังเอิญหนทางที่คุณกำลังจะไปกลับที่หุบเหวมาขวางทางเสียก่อน และไม่ว่าคุณจะพยายามยังไง ก็ไม่สามารถข้ามหุบเหวนั้นไปได้ ในขณะนั้น ทิศทางก็บอกกับคุณอีกว่าควรขึ้นเหนือ เพราะทางทิศเหนือมีเมืองอยู่เมืองหนึ่ง แต่หลังจากที่คุณต้องระหกระเหินเดินผ่านป่าทึบด้วยความยากลำบาก คุณกลับต้องมาเจอกับแม่น้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่งขวางทางไว้ และคุณก็ไม่มีความมั่นใจพอที่จะเข้าไปได้ ถึงตอนนี้คุณจะทำยังไง?" 
"หากพิจารณาแล้วทิศทางที่คุณเดินไปนั้นไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายคุณก็ยังไม่สามารถออกมาจากหุบเขานั้นได้ นั่นก็เพราะคุณไม่พบหนทางนั่นเอง"
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเวลาขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร... การหาทิศทางไม่ยาก..แต่การหาหนทางยากกว่า  ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าได้กลยุทธ์ ได้แผนที่ ได้แผนกลยุทธ์แล้วสบาย  อันนั้นเป็นทิศทาง ไม่โง่เกินไปก็รู้ได้ทุกคน  แต่หนทางนั้นมันเป็นเรื่องของการเอาชนะอุปสรรคที่ขวางทิศทางอยู่  การทำ action plan จึงไม่ใช่ทำเพื่อให้ทิศทางชัดเท่านั้น แต่ต้องทำเพื่อหาหนทาง...เพื่อให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ด้วย  เรื่องนี้คนสับสนกันมากและพูดปากจะฉีกถึงหูก็ไม่เข้าใจอีก มุ่งแต่ทิศทางนี่แหละ จะเอาแต่แผนกลยุทธ์และ action plan ที่มุ่งกลยุทธ์เท่านั้น เพราะฉะนั้น เอานิทานไปอ่านจะทำให้รู้ง่ายขึ้น..กระมัง
และ...เรื่องนี้ทำให้นึกถึงชีวิตเราด้วย... เรามุ่งตามทิศทางที่เราตั้งใจไว้ในหลายๆเรื่อง แต่บางทีมันวนๆหลงๆอยู่ในป่า คงแปลว่าหาหนทางไม่เจอนี่แหละ  ตั้งใจไว้..ต้องมีสติ อ้าว..หลงอีกแล้ว เพราะมันเอาแต่จดจ้องที่ทิศทาง อยากมีสติ แต่ไม่ยอมหาหนทาง หรือ มีหนทางก็ไม่ยอมเดินเป็นต้น อีกหลายเรื่องที่น่าคิดกันว่าเรามุ่งทิศ ไม่ยอมหาทาง... นึกว่าดี แต่ยังไปไม่ได้  แต่สำคัญกว่านั้น คือ นึกว่าตัวเองมาถูกทาง มุ่งทิศที่ถูกแล้วก็พอ ซึ่งแบบนั้นจะทำให้ไม่มีวันหาทางออกได้เลย.. เพราะดันไปนึกว่าไอ้ที่ทำ คือ หนทางด้วย...  ไม่รู้หนทาง..รู้ทิศทางไปก็ไร้ประโยชน์.. หนทางอยู่ไหน หนทางอยู่ไหน...

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การสร้างความสำเร็จด้วยการคิดเชิงระบบ การคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงจินตนาการ



ได้หัวข้อแบบนี้..ถึงกับต้องงงไปสามวินาที จะเอายังไง ระบบก็จะเอา สร้างสรรค์ก็ด้วย ยังต้องมีจินตนาการอีก มันจะอะไรขนาดนั้นในสามชั่วโมง ถ้าไม่คิดมากก็จัดไปตามนั้นใครๆก็พูดได้ หลักการมีเยอะแยะตามท้องตลาดทั่วไป  แต่เป็นคนคิดมาก พอเริ่มคิดมันก็เริ่มยุ่ง ซึ่งดี เพราะจะพูดเรื่องคิด..ไม่คิด ไม่ได้... คิดมาหลายวัน อย่างที่เกริ่นไป การพูดเรื่อง “ความคิด” หลักการไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยาก คือ เรื่องข้างใน what do you think  ที่มันมาจาก “คุณเป็นคนอย่างไร” “คุณมีค่านิยมอะไร” “คุณได้รับการปลูกฝัง เรียนรู้อะไรมา” มันเป็นเรื่องข้างในที่มีผลต่อความคิด ไม่ใช่เรียนรู้หลักการ ไม่ใช่การมีความรู้อย่างเดียวแล้วจะสามารถคิดเชิงระบบ คิดสร้างสรรค์ คิดเชิงจินตนาการได้ มันเป็นเรื่อง mental model ของปัจเจกบุคคลที่จะทำให้ต้องเราปรับก่อนที่สามารถคิดเชิงในเชิงต่างๆได้  เป็นความจริงที่ว่าถ้าเรามอง หรือสนใจแต่ผิว ไม่ลงถึงเนื้อ ถึงกระดูก เราจะไม่มีวันเปลี่ยนความคิดและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น สิ่งที่คาดหวังได้ 
มันคงต้องเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องการคิดก่อน... ถามตัวเองว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องการคิดหรือเปล่า มันคงทั้งมีและไม่มี  แต่ไม่มีคงมากกว่ามีเพราะหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ฮิตติดอันดับเหมือนกันในทุกองค์กร  เรามักจะบ่นกันว่า ทำไมคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน คิดไม่เป็นระบบ หรือหนักกว่านั้น มีสมองเอาไว้คั่นหูหรือไงพี่  แล้วเราก็จัดฝึกอบรมไป ให้ความรู้ไป ประมาณว่าความคิดเชิงระบบคืออะไร ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงจินตนาการคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร มีทฤษฏี มีหลักการ มีองค์ประกอบ มีกระบวนการอะไรบ้าง มีนักคิดนักวิชาการพูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างไร  ถ้าแบบนี้..อบรมไปร้อยครั้งก็เบื่อไปร้อยหน รู้ไปก็เท่านั้น กลับไปทำงานก็เหมือนเดิม  ไม่ได้บอกว่าความรู้ไม่สำคัญ แต่มันมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่ต้องใคร่ครวญก่อน เรื่องความรู้หลักการมีมากมาย ไปหาอ่านเองได้ทั่วไป แต่การคิดได้ คิดเป็นมันสำคัญกว่า  เรื่องความคิดเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องคนอื่น มันต้องหันมามอง ศึกษาตัวตนว่าเรา เราเป็นเราขึ้นมาได้ คิดแบบที่เราคิดมันมาจากอะไร  คำตอบสุดท้าย คือ ค่านิยม วัฒนธรรมการคิดของชาตินี่แหละเป็นตัวสำคัญ  ปัจจุบันเรามีค่านิยม วัฒนธรรมที่แปลกๆอยู่มากที่เป็นปัญหาของการคิดของคนไทย ที่หนักหนาและเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการคิด เช่น 
  • วัฒนธรรมฟันธง: ถือได้ว่าด่วนสรุป ไม่เปิดโอกาสให้คนคิด เอะอะอะไรก็ต้องฟันธง เราไม่ใช่หมอลักษณ์นะ จะได้ฟันธงอยู่เรื่อยๆ
  • วัฒนธรรมไม่เชื่ออย่าลบหลู่: อันนี้ คือ หลีกเลี่ยง ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมค้น ไม่ยอมคิด ความคิดเลยตันอยู่แค่นั้น 
  • วัฒนธรรมหนูไม่รู้: คาดหวังคนอื่น ไม่รู้จักตัวเอง คิดไม่ออก บอกไม่ได้ คาดหวังให้ชาวบ้านคิดให้ทั้งๆที่เป็นเรื่องของตัวเองที่ต้องคิด ต้องตัดสินใจ 
  • วัฒนธรรมไปไหนมา สามวาสองศอก: ไม่รู้แล้วยังคิดว่าตัวเองรู้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ มีอยู่เยอะ ถามไปก็ตอบไม่ตรงคำถามเพราะไม่ได้คิดตาม 
  • วัฒนธรรมเวรกรรม: อันนี้เป็นหลุมหลบภัยความด้อย ความอ่อนแอ ไม่ต้องคิด อ้างเวรกรรม มันเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน เลยต้องจบข่าวการคิดไป
วัฒนธรรม ค่านิยมเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำซากในสังคมไทย ทำให้คนไม่ต้องคิด หรือ คิดไปผิดที่ผิดทาง จะให้คิดเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ หรือมีจินตนาการอะไรคงยาก มันต้องแก้ที่ราก มันต้องเปลี่ยนตรงนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาดูวิธีการ หลักการในการช่วยให้คิดเป็น
นอกจากนี้...ถ้าเราหันกลับมามององค์กรของเรา ปัญหาที่องค์กรไทยมีอย่างชัดเจนที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดมีอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน (ใครคิดได้มากกว่านี้..ช่วยบอกด้วย) 
  1. การเน้นเนื้อหา ความรู้มากกว่าการคิด: เราให้ความสำคัญกับ “อะไร” มากกว่า “ทำไม”  ตั้งแต่การเรียนการสอนของเราสมัยเด็กที่เน้นความรู้ความจำ ต้องจำว่ากองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 ถึงจะสอบได้  แต่ไม่รู้ว่ามันมีความหมายยังไง ไม่เคยเปิดให้คิดว่าทำไมพระนเรศวรต้องประกาศอิสรภาพ มันสำคัญยังไงที่ประเทศเราต้องเป็นอิสรภาพ การที่คนไทยเป็นโพร่ทาสคนอื่นมันรันทดหดหู่ยังไง เราเลยมีคนที่แม่นตัวเลข แม่นหลักการ แม่นทฤษฎีเยอะ แต่คิดไม่เป็น ประยุกต์ใช้ไม่ได้  นึกถึงสมัยเด็กซึ่งจำมาจนถึงทุกวันนี้ได้ว่าเคยสอบเข้า ป.1 ไม่ได้เพราะข้อสอบให้คัดตัว ก.ไก่ หนึ่งหน้ากระดาษ  แต่เราดันเขียนตัวเดียว เพราะคิดว่าตัวเดียวก็พอ มันเหมือนกัน จะเขียนไปทำไมหลายตัว  ยังติดข้องอยู่จนเดี๋ยวนี้ว่าตกลงครูต้องการอะไรแน่ จะทดสอบว่าเรารู้ ก.ไก่ ตัวเดียวเนี่ยนะ ทำไมไม่ให้เขียน ก-ฮ ซะเลย หรือจะดูว่าเขียนสวย หรือจะให้ทำตามสั่ง ไม่ต้องคิด  มันเป็นแบบนี้มาชาตินึงแล้ว ปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยน ในบ้านเราเกือบทุกที่ตอนรับคนเข้าทำงาน หรือ ตอนจะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เราวัดความรู้ ให้น้ำหนักความรู้มากกว่าทัศนคติ ความคิด  คนเลยต้องไปเรียนเพื่อเอาปริญญาที่เป็นเครื่องรับประกันว่าเรามีความรู้ แค่เป็นอาภรณ์นะ ไม่ได้แปลว่าฉายแสงได้ ตอนนี้โยนหินไปตกหัวใครก็ปริญญาโท ด็อกเตอร์กันทั้งนั้น  เอ๊ะ..ทำไมบ้านเราเรื่องระบบในองค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนมันพิลึกพิกลพิการ ไม่สร้างสรรค์ มีแต่ปัญหา  มันแปลว่าทุกวันนี้มันไม่ได้อยู่ที่รู้อะไร รู้มากแค่ไหน คนมีความรู้เยอะไปหมด แต่ทัศนคติ ความคิดต่างหากที่เป็นปัญหา ไม่ใช่การไม่มีความรู้  
  2. การมี form มากกว่า function: อันนี้เราถนัดเลยเพราะคนไทยนี่รักหน้าตัวเองมาก ไม่ยอมเสียพักตร์ ทำอะไรต้องมี form ประมาณ form ดีีมีชัยไปกว่าครึ่ง ผิดอย่างมาก เพราะการที่เรายึดติดรูปมันทำให้เสียโอกาสในการคิด function ที่แท้จริง จะทำอะไรทีต้องแห่ ต้องรำมาก่อน มันเสียเวลา มัวไปคิดที่จะให้มันสวย มันงาม ไม่ยอมคิดที่มันเป็นประโยชน์จริงๆ เอาแต่ส่วนควบ ไม่เอาส่วน core เปลืองหัว เปลืองทรัพยากรกับ form มันเลยติด.. คิดได้ไม่ทะลุถึงของจริง
  3. การไม่ยอมรับความแตกต่าง: คนไทยเรามีแว่น มีกรอบที่ได้ปลูกฝังกันมานาน เช่น ด้านค่านิยมทางเพศของไทย คือ การรักนวลสงวนตัว เพศหญิงต้องทำตัวนิ่มเข้าไว้ เพศชายต้องห้าวหาญเป็นผู้นำ ไม่อ่อนแอ การเป็นไทยแท้ต้องไหว้หยดย้อย ใครไม่ปฏิบัติตามกรอบนั้นถือว่าไม่ใช่คนไทย...อ้าว ไม่รู้จักพี่ martin wheeler เสียแล้วฝรั่งกระโดกกระเดกแต่ใจไทย วิถีพอเพียงแบบไทยยิ่งกว่าคนไทย  ของแบบนี้มันอยู่ที่ “จริง” กับ “ใจ” นะ   กรอบแบบนี้มีอีกเยอะที่บิดเบือน “ความเป็นจริง” กลบ “สาระที่แท้จริง” ทำให้เราไม่ยอมรับวิถีที่แตกต่างหลายที่เป็นจริงในปัจจุบัน  โดยเฉพาะวิถีที่แตกต่างไปจากเรา  เราเลยคิดอยู่เท่านั้น คิดในกรอบที่ฝังอยู่  ซึ่งการคิดไม่เป็นก็หนักหนาแล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้น..การไม่ยอมรับความแตกต่างมันจะนำไปสู่การขัดแย้งและเลือกปฎิบัติ ต้นเหตุของการคิดไม่เป็นธรรม  ซึ่งปัญหาในบ้านเราก็เห็นๆกันอยู่ ยังแก้เป็นอย่างระบบไม่ได้ ทางออกที่สร้างสรรค์ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสีแห่งชาติเหลือง-แดง หรือ ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ทหารไทย คนไทยล้มตายทุกวัน เหมือนกับชาตินี้จะไม่มีวันสงบ   คนเราจะคิดได้..มันต้องเปิด ต้องมีช่องรับความต่าง ความหลากหลายเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ ต้องคิดต้องเชื่อว่าคนมีสิทธิคิดต่าง คนสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างกัน มันทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้ดีกว่าต้องมาจำกัดว่าเป็นพวกเดียวกัน การยอมรับความต่างไม่ใช่แค่ทำให้เราคิดเป็น คิดได้มากขึ้น แต่เราจะทำให้ประเทศ ให้โลกได้มีความสุขมากขึ้น
  4. การมีพฤติกรรมลอกเลียน: อันนี้อีกปัญหาหนึ่ง ประมาณเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด แปลว่าให้มันกัดผู้ใหญ่ก่อนหรือยังไง มันทำให้เราขาดประสบการณ์ที่จะมาช่วยคิด หรือ เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม มันจะไปเห็นอะไร เหลือตามองอยู่ข้างเดียว หรือการคิดตามที่เคยคิดกันมา มันไม่สามารถก่อให้เกิดระบบ หรืออะไรใหม่ๆขึ้นมาได้  การไม่กล้าคิด ไม่กล้าเสี่ยงที่จะไม่ซ้ำซาก มันทำให้เราวนในที่เดิม หา creative solution ไม่เจอ ธุรกิจเจ๊งมานักต่อนักแล้วที่ทำตามผู้นำตลาด  มหาวิทยาลัยดังๆทำอะไร เราก็ทำด้วย มันจะมีจุดยืนอยู่ที่ไหน 
  5. การไม่มองเชิงองค์รวม: อันนี้เข้าใจว่ามีคนพูดกันมามากแล้ว ขอสรุปว่าคนที่จิตไม่ใหญ่ ใจไม่กว้าง คนที่มองแต่ประโชน์ตัวเอง วิเคราะห์แต่งานตัวเอง สนในเฉพาะสิ่งที่เห็น สิ่งที่จะได้ มันทำให้เราขาดภาพใหญ่ คิดเป็นระบบได้ยากและยังหลงคิดว่าใบไม้ใบเดียว คือ ทั้งป่า มันก็จะคิดแค่ใบไม้นั่นแหละ สร้างสรรค์อะไรก็ไม่ได้มากไปกว่านั้น จินตนาการก็คงลงไปที่ใบไม้ใบเดียว ทั้งที่ป่ามีอะไรมากกว่านั้นมหาศาลที่จะคิดที่จะเห็นภาพทั้งหมดได้ชัด  เคล็ดลับง่ายๆ คือ ใจดี เมตตา ใจกว้าง มองทุกอย่างเป็นธรรมชาติที่แท้จริง จะทำให้เรามองเห็นภาพรวม คิดเชิงองค์รวมได้ดีขึ้น
ให้เรื่องการคิดว่ามันมาจากข้างในและฉายภาพทั่วไปของปัญหาการคิดมาแล้ว คงพอจะเข้าใจว่าจะสื่อสารอะไร   จึงขอเจาะเรื่องการคิดเชิงระบบเลยก็แล้วกัน  ถ้า System Theory บอกเราว่ามันเป็นการมองความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆแบบองค์รวม  โดยเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอยางเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่ขึ้นไป  ไม่มันจบอยู่แค่นั้น  ยืนยันเหมือนเดิมว่า มันอยู่ที่ตัวอัตวิสัย ตัวตนของเรา subjectivity มากๆที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ  มันคล้ายๆกับเรื่องตาบอดคลำช้าง เช่น คนเป็นโรคหัวใจ คุณหมออาจวิเคราะห์ว่ามาจากสาเหตขุองเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ   แต่ถ้าให้สถาปนิกวิเคราะห์อาจได้คำตอบว่าบ้านไม่ดี ที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมก็ได หรือถ้าให้หมอดูวิเคราะห์คงได้ไปแก้กรรมกันบ้าง ให้คนอื่นวิเคราะห์อีก อาจมีมุมมองไปต่างๆนานา  แล้วที่ว่าความคิดเชิงระบบ เชิงองค์รวม big picture มันเป็นยังไง หัวใจไม่ได้อยู่ที่เรารู้อะไร หัวใจอยู่ที่เราจะปรับมุมมองให้กว้างขึ้นได้อย่างไร แก้ไขข้อจำกัดด้านค่านิยมที่ไม่เอื้อต่อการคิดเชิงระบบอย่างไร เพื่อเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆทั้งหมดว่ามันสัมพันธ์กัน ปญหาตางๆ มากมายในโลกนี้ ในสังคมนี้รวมถึงในองค์กรของเราสวนใหญ่มีที่มาจากการยึดติดยึดมั่นถือมั่นใน "มุมมอง" ของตนเองเป็นใหญ่ มันจึงเป็นระบบสมบรูณ์ได้ยาก  
สองมุมมอง ห้าขั้นบันได
ขอขยายความคิดด้วยการเริ่มจาก 2  มุมมอง หรือ ทรรศนะ (perspective) ก่อน   เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจเมื่อเราพูดถึงความคิดเชิงระบบ    Joseph O’Connor และ Ian Mcdermott พูดถึงมุมมองว่า แต่ละคนมีมุมมองแตกต่างส่งผลถึงการรับรู้ เราจะรู้ได้ถูก ต้องอยู่ที่ระยะห่างที่เหมาะสม แปลว่าใกล้ตัวเองมากๆไม่ดีแน่ ไกลเกินไปก็จะเห็นแต่ใหญ่ๆรางๆ ไม่ได้รับรู้ภาพจริงอีก ซึ่งเหล่านี้แหละที่หล่อหลอม เสริมแรงรูปแบบความคิด ให้อยู่ในมุมเดียว วิธีคิดก็จะแคบไปถนัดใจ คิดเป็นระบบได้ยาก ที่เรียกกันว่าการมองแบบเข้าใน (inward looking) มันอัตวิสัย (subjective) มาก เชื่อไม่ค่อยได้  ขอแนะนำให้ลองถอยมาสักก้าวหรือหลายก้าวก็ได้  มองแบบภววิสัย (objective) ด้วย คือ มองแบบ outward looking ออกนอก  มองตามสภาพจริง  การจะประยุกต์เข้ากับความคิดเชิงระบบเราคงต้องยืนแลกหมัดทั้งในและนอกใน สร้างความมั่นใจในการรับรู้ ขยับเข้าไปใกล้การมองเชิงองค์รวม  ซึ่งจะได้ไม่ได้ก็ขึ้นกับวิจารณญาณและภูมิปัญญาของแต่ละคนแล้ว ที่จะมองหามุมมองใหม่ที่จะเกิดความสร้างสรรค์ ความเป็นระบบ
สำหรับ 5 ขั้นบันได ลองคิดตามที่นักวิชาการได้นำเสนอมา ที่เขาเรียกว่า system thinking iceberg ก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะมีหลายสิ่งที่ซ่อนใต้ผิวน้ำ อาจทำให้เรามองโลกเก่าๆภายใต้ดวงตาใหม่ได้ คือ 
ขั้นแรก สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น (ต้องกังขาไว้ก่อน) ส่วนใหญ่เรามักใช้เวลากับเหตุการณ์ในชั้นนี้มากเกินเพราะว่าชั้นปรากฎการณ์ (event level) มันชัด ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว ถ้าติดอยู่ขั้นนี้ก็แก้ปัญหาแบบ reactive ไป  ตั้งรับทั้งชาติ ไม่มีวันเห็นครบ
ขั้นแนวโน้ม แบบพฤติกรรม อันนี้ต้องลงบันไดเลื่อนไปอีกหน่อย จะมีปัญญาขึ้นอีกนิด คือ ถ้าเรารู้ถึงขั้น pattern เราจะสามารถคิดวางแผน คาดการณ์ได้มากขึ้น ดีกว่าตั้งรับอย่างเดียวแน่ๆ เพราะเราจะรวบรวมเหตุการณ์ที่เจอ ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลมาประมวล มาสรุปเป็นรูปแบบว่าเจอแบบเดิมๆจากเหตุการณ์ มันจะต้องเป็นอย่างนี้  ขั้นนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องหลักการ ทฤษฎีที่ใช้กันทุกวันนี้แหละ (ซึ่งยังไม่ครบอยู่ดี) 
ขั้นโครงสร้างพฤติกรรม (structure level) ต้องลงลึกไปอีก จึงเริ่มเห็นความสัมพันธ์ อาจไม่ง่ายที่จะเห็นชัดแบบ event แต่ถ้าได้ pattern แล้ว โครงสร้างมักจะตามมา  เป็นเรื่องของ cause and effect เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรเป็นสาเหตุของสิ่งที่เป็น pattern ที่ได้มา ถึงขั้นนี้แปลว่าเริ่มคิดเป็น..เป็นระบบบ้างแล้ว เป็น proactive มากขึ้น
ขั้นตัวแบบความคิด ขั้นนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อโครงสร้างพฤติกรรม เป็นเรื่องความคิด เหตุผลที่ฝังอยู่ มาจากทั้งทัศนคติ ความคาดหวัง ประสบการณ์ที่คนได้รับ  การแก้ปัญหาในระดับนี้จึงยากเพราะคนไม่รู้ว่า mental model ของตัวคืออะไร หรือมีคนบอกก็ไม่อยากจะรู้  หนักกว่านั้นคือการบอกถึง mental model ของตัว แต่ไม่ได้มีพฤติกรรมอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นแบบที่กล่าวอ้าง ถ้าเราบอกว่าวิธีการคิดเชิงระบบเป็นเรื่องการเชื่อมโยง อันนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมได้ชัดมากขึ้น เพราะลงลึกไปถึงตัวแบบความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน 
ขั้นล่างสุด ความเชื่อ ค่านิยมเป็น invisible container ที่ห่อหุ้มชีวิตคน ถือเป็น core ของทุกอย่าง เป็น DNA ที่ระบุว่าคนจะคิดเชิงระบบได้หรือไม่ เป็นตัวที่คนรู้ แต่ไม่ค่อยอยากแตะ เพราะยากที่จะเปลี่ยนและใช้เวลาที่จะปรับอันเนื่องมาจากการสั่งสมวิถีธรรมเนียมปฎิบัติและการเรียนรู้ของคน ดังนั้นจะมองรอบ มองครบ มองเป็นระบบ คนต้องสามารถเห็นถึงข้อจำกัดในการมองของตัวเองก่อนโดยลงลึกไปถึงอิทธิพลของค่านิยมที่โอบล้อม มันอาจจะยาก ค่านิยมบางอย่างก็ตรวจสอบยาก หรือไม่อยากจะตรวจเพราะไม่อยากเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่ออคติ อันนี้ก็ตัวใครตัวมัน รู้ไปก็ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามไป ส่วนสำคัญของชั้นล่าง คือ MQ ถ้าเป็นคนมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม มีสำนึกของ "ความผิดชอบชั่วดี" มีความละอายใจต่อบาป ไม่ประพฤติชั่ว มีจิตใจที่ผ่องใส มองทะลุไปทั้งระบบแน่  แบบนี้เป็นการปรับตัวเอง ณ ขั้น invisible container ที่จะส่งผลไปถึงการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการคิดเชิงระบบ 
จากภาพข้างบนมันเหมือนกับเราหัดลงบันไดเลื่อนไป 5 ระดับ เป็นการลงลึกทางความคิดอย่างสวยงาม ค่อยๆลงอย่างมีเห็นมีผล เป็นขั้นๆอย่างมีระเบียบความคิด เป็นการเปิดประตูแรกสู่ความคิดเชิงระบบที่อาจเปิดโลก เปิดมุมมองใหม่ให้เราได้ ยิ่งลงลึกยิ่งมีความคิดแตกฉาน มีนวัตกรรมทางความคิด แต่ต้องระวังว่า..ยิ่งลงลึก ยิ่งยากในการปฎิบัติ แต่มันคุ้มค่าเพราะจะเกิด big impact ที่อยู่กับเราไปอีกนาน
วิธีคิดเชิงระบบ
มีหลากหลายวิธีทั้งของฝรั่งของไทย สามารถหาซื้อหาอ่านได้ทั่วไปในท้องตลาด  แต่จะยกมาเพียงสองวิธีที่เป็นความชอบส่วนตัว คือ การคิดแบบโยนิโสมนสิการและ six thinking hats ของ Edward de Bono วิธีแรกครบ ลึกซึ้ง วิธีที่สองฮิต ง่ายแก้การเข้าใจ
การคิดแบบโยนิโสมนสิการเห็นว่าครบที่สุด ตอกย้ำได้เหมาะกับคนไทย (เพราะลืมง่าย ต้องซ้ำๆ)  เป็นการคิดแบบลึกซึ้งถึงต้นตอ คิดสะท้อน คิดสะเทือน คิดซ้ำ คิดหลายมุม คิดให้ถึงรากเหง้า เป็น system thinking แบบชาวพุทธ    ขอมาจากการประมวลวิธีคิดจากทานพระธรรมปฎก มี 10 วิธี ชื่อคงอ่านยาก จำยากแต่แปลแล้วชัดแจ่ม เห็นถึงวิธีที่จะคิดเชิงระบบได้อย่างดี
    1. ปฏิจจสมุปบาท (interdependent) เรียกง่ายๆว่า คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย สิ่งต่างๆล้วนเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน มีเงื่อนไขต่อกัน สัมพันธ์กัน  ถือเป็นต้นแบบ system theory เลยอันนี้ butterfly effect เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ไม่ต้องเสียเวลาอ่านหนังสือฝรั่ง 
    2. ขันธวิภังค์ (analysis) คิดแบบวิเคราะห์ แยกแยะองค์ประกอบ เป็น critical thinking 
    3. ไตรลักษณ์ สามกระแส (three streams) คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คิดแบบเท่าทันว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องเท่าทัน การจัดการสมัยใหม่เน้นเรื่อง change อย่างเดียวในการบริหารที่คิดถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ไตรลักษณ์ช่วยให้คิดได้และปลงได้ด้วย 
    4. อริยสัจ 4 (problem solving) คิดแบบแกปัญหา แก้ทุกข์ พิจารณาว่าทุกข์-ปัญหามีอะไรบ้าง สมุทัย -เหตุอยู่ที่ไหน นิโรธ-แนวทางการแก้ปัญหา เป้าหมายคืออะไร มรรค-วิธีการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย เป็น model ที่ classic ที่สุด
    5. คาแท ค่าเทียม (true & artificial value) ไม่ให้หลง ให้คิดถึงความจริง ไม่ต้อง scenario thinking มากนัก
    6. กุศลภาวนา (moral development) คิดดี คิดเชิงคุณธรรม ไม่ถือสันโดษในการทำงานให้เต็มที่ หาความรู้เต็มที่ ทำความดีเต็มที่ คือ คนที่ถือคุณธรรมความถูกต้อง จะใจกว้าง การใจกว้างจะทำให้สามารถมีการรับรู้ที่ดีกว่า ไม่ subjective มากเกิน มองได้รอบ ไม่มีอคติจึงคิดเป็นระบบได้ดีกว่า
    7. สามมิติ (three dimension) ดูผลดี ผลเสีย ดูวิธีการ คุณ โทษ ทางออก 
    8. อรรถธรรมสัมพันธ์ (cause effect relation theory) คิดแบบสัตบุรุษ คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบริษัท รู้จักบุคคล ก่อนคิด
    9. สติปัฏฐาน (now theory) อยู่ในปัจจุบัน อยู่กับความจริง 
    10. วิภัชชวาท (dialectic theory) คิดหลายด้าน แยกแยะประเด็นให้ชัด 
ถ้าชอบฝรั่ง วิธีที่ฮิตกันมาก คือ six thinking hats ของ Edward de Bono หัดใส่หมวกให้ครบหกสีช่วยให้คิดได้รอบด้าน อธิบายได้ง่ายๆดังนี้ 

หมวกสีแดง หมายถึงอารมณ์ ความรู้สึก นอกจากเหตุผลแล้ว ธรรมชาติของคนยังประกอบด้วยอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งลางสังหรณ์ที่อธิบายด้วยเหตุผลได้ยาก อาจกล่าวได้ว่าหมวกสีแดงตรงข้ามกับหมวกสีขาว ขณะที่หมวกสีขาวเสนอข้อมูลที่เป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นข้อมูลความรู้ มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน   สำหรับหมวกสีดำ มีแนวคิดเชิงลบอยู่ด้วย แต่เป็นการพิจารณาตั้งข้อสงสัยก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อลงไป เป็นการคิดที่มีเหตุมีผล มีความรอบคอบ ป้องกันความเสี่ยง  หมวกสีเหลืองเหมือนกับหมวกสีดำตรงต้องอาศัยเหตุผลมาสนับสนุนความคิด แต่ขณะที่หมวกสีดำเป็นการตั้งข้อสงสัย หาสิ่งซ่อนเร้นแอบแฝง หมวกสีเหลืองจะคิดถึงในแง่บวก เต็มไปด้วยความหวัง การมองไปข้างหน้า โลกสีชมพู คิดถึงประโยชน์ของเป็นหลัก    หมวกสีเขียว คือ ความคิดที่สร้างสรรค์ นำมาซึ่งทางเลือกใหม่และวิธีแก้ปัญหาใหม่ อาจไม่ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมาสนับสนุนก็ได้ เพราะเพียงการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นสำหรับการสำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้ของแนวคิด    หมวกสีฟ้าเป็นหมวกคิดของการวางแผน คิดรวบยอด การจัดลำดับขั้นตอน ครอบคลุมประเด็นต่างๆ มีข้อสังเกตุ มีข้อสรุป    ซึ่งการคิดแบบ six thinking hats เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาได้ จะช่วยให้เราสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนในการคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น 
คราวนี้มาถึง creativity thinking คิดสร้างสรรค์.. ขออนุญาตเอาความคิดสร้างสรรค์กับจินตนาการมาไว้ด้วยกัน เพราะถือว่าเป็นญาติใกล้ชิดกันมาก  บุคคลจะมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการได้ อยากให้ลองคิดตามสามวงนี้ 
ขอพูดถึงแรงข้างในก่อน.. เพราะเป็นตัวสำคัญ มันเป็นเรื่อง motivation เป็นเรื่อง passion ต้องถามตัวเองว่า “อยาก” มากแค่ไหน คนส่วนให้จะบอกว่าอยาก แต่อยากของเรามันระดับไหน อยากที่จะสร้างสรรค์ หรือ มีจินตนาการบรรเจิด มันต้องเป็นการอยากเข้าใส้ มันเป็นการให้ “ความสำคัญ” ซึ่งแปลว่าถ้าเราให้ความสำคัญมาก ความอยาก passion ก็จะมากตามมาด้วย และมันจะมีความคิดสร้างสรรค์จินตนาการตามมาและลงไปถึงการทำให้เป็นจริงได้ด้วยแน่ๆ เพราะว่า 
significant creates passion
passion attracts attention
attention leads to action
และค่านิยมต้องเป็นว่า.. ร้อยยังน้อยไป.. มันถึงจะเคลื่อนไปสู่โหมดสร้างสรรค์ จินตนาการได้  อันนี้บอกได้เลยว่าเกี่ยวกับความรู้น้อยมาก มันอยู่ที่แรงข้างในแรงใจที่อยากเปลี่ยนแปลง อยากเปลี่ยนให้ดังก้องโลก เราจะเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักนวัตกรรมหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพี่เอดิสันที่ทำให้เรามีไฟฟ้าใช้ พี่นิวตันที่นอนใต้ต้นแอบเปิลแล้วได้แรงโน้มถ่วงมา พี่จ๊อบส์ที่ทำให้เรากลายเป็นสาวกแอบเปิ้ลอย่างโงหัวไม่ขึ้น คนเหล่านี้..แรงข้างในมหาศาล สร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงโลกได้   อย่าคิดว่า..ก็เค้าเก่ง เค้าฉลาด เค้ามีความรู้มาก.. ขอบอกว่าไม่จริง คนไทยธรรมดานี่แหละ ถ้าแรงใจ ค่านิยมเกินร้อย ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยจินตนาการ ด้วยความคิดสร้างสรรค์.. ถ้าคิดไม่ออกแปลว่าไม่รู้จักดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ หรือคุณลุงสงัด อินมะตูมผู้มีแรงใจสร้างสรรค์ ทำให้เกิดป่าใหญ่สวยงามในพื้นที่ที่อยู่ของตัวเอง ต้นไม้สองล้านต้นใน 5 ปีของดาบวิชัย ต้นไม้ 45 ไร่ของคุณลุงสงัดที่อายุุแปดสิบกว่า ทั้งสองคนไม่ได้มีความรู้อะไรมาก ไม่ได้มีอำนาจบารมีอะไร เป็นคนไทยธรรมดาที่มีแรงขับด้านจินตนาการ อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆไว้ให้ลูกหลานคนไทย พวกนี้ค่านิยมเกินร้อย จิตใหญ่ แรงข้างในเดือดอยู่ตลอดเวลา
ส่วนสินทรัพย์ มันเป็นเรื่องความรู้ (เห็นไหม..ความรู้มาทีหลัง.. ต้องมีแรงข้างในก่อน) ข้อมูล ความชำนาญ ประสบการณ์ มันเป็นเหมือนคลังสินค้า ห้องเก็บของ ที่เวลาต้องการใช้ ดึงออกมาใช้ได้ทันที อันนี้ต้องใฝ่รู้ ใฝ่หา มีมากไม่สำคัญเท่ามีพอเพียงแก่การใช้  มีมากไปจะเหมือน avalanche หิมะถล่ม คนมีความรู้มากแต่ไม่มี passion มันจะ useless เพราะมันอยู่ในห้องเก็บของ เปลืองที่เปล่าๆ  มีคนชื่อ JP Rangaswami พูดในรายการ TED’s talk ว่าพวกความรู้ ข้อมูลเหมือนอาหารที่เรากิน เข้าไป มันไม่ใช่เรื่องการผลิตอาหารอย่างไร แต่เป็นเรื่องจะ consume อย่างไร การจะมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการมันต้อง consume แบบ lean เอาที่จำเป็น เหมือนกินอาหารก็เท่าที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่งั้นอ้วนเกิน ผอมเกินไม่ได้ นอกจากการสร้างสมดุลเรื่องข้อมูล ความรู้แล้ว ยังต้องออกกำลังกายอีกด้วย จะได้เผาหัวจินตนาการให้คมได้   
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การมีจินตนาการ  อันที่จริง six thinking hats ก็เหลือๆแล้ว  แต่จะให้แน่ใจขอเป็นแบบเจาะสมองมาดูกัน  การจะคิดสร้างสรรค์ จินตนาการได้ดีมันต้องใช้สมองสมดุลย์ทั้งขวาและซ้าย  จะแจ๋วที่สุด คือ ขวานำ..ซ้ายตาม อันนี้ได้มาจากพี่แกะดำทำธุรกิจ เรารู้กันอยู่แล้วว่าซีกขวาเป็นเรื่องความรู้สึก อารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ใช้ขวาอย่างเดียว จะตกขอบ อาจบ้าได้ ไม่อยู่ในความเป็นจริงที่ควรเป็น จึงต้องเอาซีกซ้ายที่เป็นเรื่องตัวเลข เหตุผล การวิเคราะห์มา verify ให้แน่ make sure ว่ามันสมเหตุสมผล  ดังนั้นการฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์ คิดแบบมีจินตนาการ การคิดนอกกรอบที่ไม่นอกโลกความจริง จึงต้องฝึกใช้ทั้งสองซีกโดยขวานำก่อนแล้วค่อยเอาซ้ายตาม  เพราะวิธีคิดเราจะเปลี่ยน...
  • จากการเน้นความรู้ กฎกติกา กำไรสูงสุด ความคุ้มแบบเดิมๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือ จินตนาการ จะเปลี่ยนเป็น การใช้ความรู้สึก สามัญสำนึก ให้ความสำคัญกับคุณค่า การสร้างคุณค่า การสร้างความหมาย ซึ่งขอบเขตความคิดมันกว้างออกไปอีกมากกว่า  เช่นถ้าเรายึดกฎกติกาว่าการให้บริการที่ดีต้องมีหนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ เราจะจบอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเรายึดความมีน้ำใจ เป็น value เป็นสามัญสำนึก เป็นตัวขับเคลื่อน มันไม่ต้องมานับมาท่องว่ามีกี่ข้อ.. มันจะไหลบ่ามาเองว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง รู้เอง ทำเองได้มากมายกว่ากันเยอะ
  • จากการใช้เหตุผล งานวิจัย เน้นตอบสนองต่อปัญหา จะกลายเป็น การนำด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ใช้การสังเกตุและถามคำถามที่ถูกต้อง มี idea focused อันนี้สำคัญมาก การตั้งคำถามที่เจ๋งกับตัวเอง ดีกว่าการหาคำตอบที่ผลการวิจัย หรือ ใคร่ครวญหาเหตุผลมาสนับสนุน ความคิดมันจบ มันตาย แต่ถ้าเราถามคำถามที่ถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา ความคิดสร้างสรรค์จะบรรเจิด เช่น แทนที่จะหาว่าใครกินโซดาอะไรบ้าง เขาเลือกยี่ห้ออย่างไรแล้วไปทำการวิจัย มีบริษัทในอังกฤษ ช่ือ fever-tree คนที่นั่นไม่ได้หาคำตอบ หาเหตุผล เน้นการตอบสนองลูกค้า แต่เขาตั้งคำถามกันว่า “ทำไมใช้โซดาถูกผสมกับเหล้าแพงๆ” จากคำถามเจาะสมองนี้ เจาะสมองขวา จึงได้ผลิตมิกเซอร์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งสร้างสรรค์มากเป็นของแพงเพราะเอาน้ำแร่ชั้นดีมาจากยอดเขา ทำขวดให้หนากว่าปกติเก็บความซ่าได้นาน ขายแพงได้ เป็น creative business solution ว่า ของดีที่คู่ควร  ขายระเบิดเถิดเทิง solution แบบนี้สมองซีกซ้าย คิดให้ไม่ได้ 
  • จากพฤติกรรมลอกเลียนแบบ outside-in มองแต่คนอื่น ตามคนอื่น ก็จะเป็นการสร้างคุณค่าใหม่   การคิดการทำเป็นคนแรก inside-out  ค้นคว้าตัวตน หาจุดแข็ง สร้างสรรค์บนพื้นฐานของตัวตน มันแปลว่าเราต้องเลิกตามชาวบ้าน หันกลับมามองของดีในตัว ประเทศไทยจะสามารถมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันก็ด้วยการงอกเงยมาจากรากเหง้าของตัวเอง มันไม่มีใครจะมาลอกเลียนเราได้ เราจะไปเล่นในเวทีคนอื่น ตามประเทศอื่นที่เห็นว่าเขาทำแล้วดีทำไม มันไม่ใช่เรา ทำให้ตายก็ไม่มีวันสร้างสรรค์ได้ดี แต่ถ้าเราหันกลับมา inside-out เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เราเก่งปลูกข้าว เก่งลำใย เก่งทุเรียน เราต้องมีมหาวิทยาลัยข้าว มหาวิทยาลัยลำใย มหาวิทยาลัยทุเรียนที่ดีที่สุดในโลก ไม่ต้องไปมีมหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์ มันต้องเป็นการสร้างคุณค่าที่เป็นตัวของตัวเอง จะคิดแบบนี้ได้ต้องขวาก่อนเท่านั้น มันจะได้เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว 
  • จากการยึดติด เน้นความชำนาญ แก้ปัญหาแยกส่วน เน้นปริมาณ จะเปลี่ยนแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เรียนรู้ข้ามขอบเขต แก้ปัญหาเชิงองค์รวม เน้นคุณภาพ จะเห็นว่าทุกวันนี้เราพยายามบอกกันว่า ต้อง “บูรณาการ” ราวกับเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่เคยคิดถึงการเชื่อมโยง ยังต่างคนต่างคิด ติดอยู่ใน field ไหนก็จมอยู่ตรงนั้น เป็นอันตรายของการเชี่ยวชาญที่มันจะจบลงที่เชย ไม่กว้าง ไม่เห็นจริง ไม่จับใจ มันจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ ชอบตัวอย่างที่เคยได้ฟังเกี่ยวกับที่มาของเพลงฮิต The Beatles ว่ามาจากการคิดข้ามขอบเขตตัวเอง เขาเล่าว่าพี่ๆวงนี้ได้ขึ้นแท้กซี่ไปทำงาน ระหว่างนั่งไปก็ชวนคุยว่า ทำงานเหนื่อยไหม พี่แท้กซี่บอกว่า เหนื่อยราวกับอาทิตย์นึงมีแปดวัน ทำมันทั้งวันทั้งคืน หลังจากนั้น eight days a week และ hard days night ก็ฮิตติดอันดับ นี่เป็นตัวอย่างของการคิดข้ามขอบเขตอุตสาหกรรม บูรณาการเชื่อมความเป็นไปของอารมณ์คนทำงานเข้ากับเพลง ได้ผลจนดัง  ลองคิดดูว่าถ้าพี่จอนแกคิดแต่เรื่องตัวเองมันจะได้เพลงนี้มาไหม  
  • จากการโหยหา ยึดอดีต เน้นแค่ปัจจุบัน หรือสูตรสำเร็จการเป็นผู้นำ เราจะมองปัจจุบันและอนาคต การเป็นผู้นำทางความคิด  เพราะว่าอดีต ปัจจุบัน คือ ซีกซ้าย ปัจจุบัน อนาคต คือ ซีกขวา คิดแบบซ้ายนำ ตายมานักต่อนัก ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือ บริษัทโกดัก ใหญ่ในอดีตก็ตายได้ ทั้งๆที่เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีดิจิตัลได้เป็นเจ้าแรก เปลี่ยน CEO ไม่รู้จักกี่คน แต่เพราะฝังใจกับความเป็นผู้นำ ความสำเร็จในอดีต จึงเอวังด้วยประการฉะนี้  ถ้าเราเล็ก เป็นประเทศเล็ก เป็นคนเล็กๆ ก็ไม่เห็นต้องอยากจะเป็นใหญ่  เราสามารถที่จะ small but beautiful ไม่ต้องมา bigger is better มันแปลว่าเราสามารถเป็นเจ้าความคิด เป็นผู้นำทางความคิดได้โดยไม่ต้องใหญ่ แบบนี้ยั่งยืนกว่า จะคิดแบบนี้ได้ ต้องขวานำ ซ้ายตามเท่านั้น 
สรุปเอาง่ายๆว่า เปลี่ยนวิธีคิดได้ เกิดจินตนาการใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ได้ สร้างระบบใหม่ให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด เรียนให้ตาย รู้ให้หมดก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ 

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ของดีท่านวรบรูณ์



ใช้ ขันธ์ 5 ให้คุ้มค่าแก่การเกิดมาเป็นคน
ขันธ์ 5 ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
  1. รูปขันธ์ คือ ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย 
  2. เวทนาขันธ์ คือ รสอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
  3. สัญญาขันธ์ คือ หมายที่ให้จำอารมณ์ เช่น รูปสวย กลิ่นหอม รสหวาน ร้อน หนาว เป็นต้น
  4. สังขารขันธ์ คือ ปรุงแต่ง เป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ มีเจตนาเป็นตัวนำ
  5. วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ ความรู้อารมณ์ผ่านทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ 
ก็ว่ากันไป..ไม่ต้องรู้มาก จำมากก็ได้ แต่ที่สำคัญ คือ พวกเราทุกคนเกิดมาด้วยบุญวาสนา จึงได้มาเป็นมนุษย์ มาเป็นคน เป็นเวไนยชนอันถือว่ายากยิ่งที่จะได้เกิดมาแบบนี้ บางคนยังไม่ครบรูปเลย ดังนั้นตายไปอย่าเสียชาติเกิด ท่านว่า ตายไปยังไม่สมควรตายเลยเพราะลืมตัว มัวประมาท ไม่ได้อยู่กับ “ธรรมะ” คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราไม่มีปัญญารู้ มองไม่ออก มันไม่ได้อยู่ที่ไหน หรือ ต้องเข้าใจพุทธประวัติ บาลีคำยาก ฝึกปฎิบัติ จงกรม หลับตาสมาธิอะไรแบบนั้น  มันอยู่ที่ตัวของเราเอง ไม่ใชที่่อื่น พุทธะ คือ ผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้เองไม่ใช่ใครอื่นไกล ให้รู้ตัวเอง ดูตัวเอง อยู่กับมันมาทั้งชีวิต มันสอนเรามาตลอด แต่เราหลงไปไหนไม่รู้  ให้ใช้มันเรียนรู้ ให้รู้แบบไม่ต้องวิเคราะห์หาเหตุผลอะไรใดใดทั้งสิ้น รู้แล้วจบ จะรู้ต้องหมั่นภาวนา ภาวนาก็ไม่ใช่สวดมนต์ พึมพำไป การภาวนา คือ การรับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่เท่านั้น ไม่ส่งจิตออกนอก เอาแค่รู้ว่ากำลังทำอะไร แค่นี้ก็ภาวนาแล้ว 
ในชีวิตคนปกติการภาวนามันคงยากอยู่ สิ่งเร้ากายเร้าใจมันเยอะ หมายไปเยอะ ปรุงแต่งไปเองก็เยอะแต่ท่านว่าให้ฝึกไป ฝึกให้มันนิ่งก่อนเท่านั้น  คนเป็นพระกันทุกคนโดยไม่ต้องห่ม หรือ อยู่วัด ตัวเราเป็นวัด ให้อยู่ในวัด บวชได้เลยที่นี่ ในวัดร่างกายนี้  สำคัญ คือ อย่าลาไปเที่ยวบ่อย ไปต้องรีบกลับมา ตอนนี้กำลังนั่งหน้าจอ ก็ไปเที่ยวอีกแล้ว ลืมไปว่าทำอะไรอยู่ ให้กลับมาดูเท่านั้นว่า กำลังทำอะไร กลับมาทำภาวนาใหม่ มันคงต้องกลับไปกลับมาหลายรอบอยู่นะ มันฟุ้งไปเรื่อย ดูทีวีก็ไหล อ่านหนังสือก็ไหล กินข้าวอร่อยก็ไหล ไม่เป็นไร ไม่ต้องเดือดร้อนไป กลับวัดเราได้เสมอ ขอให้รู้ว่าทำอะไรเป็นพอ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องหวัง ไปเรื่อยๆตามธรรมชาติของเรา  มีเวลาก็ไปอยู่กับตัวเอง นิ่งๆรับรู้ขันธ์ 5 ไป 
เจ้าประคุณท่านพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเกิดมาเพื่อใช้ขันธ์ 5 ให้เป็นประโยชน์แก่โลก อยู่ก็เป็นประโยชน์ ตายไปก็เป็นประโยชน์ จะอยู่จะตายไม่ต่างกัน  ต่างจากเราที่อยู่ก็งง หลง เมา ตายไปคนก็ลืม แล้วยังผูกปิ่นโตเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น ท่านให้ลองคิดดูว่า เรามีตัวตนจริงหรือ ไอ้ที่เรียกว่า ผม แขน ขา มันบอกเราหรือว่ามันชื่อนั้น มันไม่ได้บอก เราไปหมายกันเอาเอง  ที่เป็นก้อนๆกระดูกๆนั้นมันมาจากธาตุของโลกนี้ เขาให้ยืมมา แต่กลับยึดเป็นของตัว เมื่อไหร่ยึดเป็นของตัว ทุกข์มาทันที ทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บและตาย  คนโง่เท่านั้นที่อยากเป็นแบบนี้ แต่เราโง่แล้วยังไม่รู้อีกว่าโง่  เอาเป็นว่าค่อยๆปล่อยไป ปล่อยสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา แต่เราว่ามันเป็นของเรานั้น ปล่อยไปเท่าที่บุญกรรมทำมา ไม่ต้องสุขมากทุกข์มาก เพราะเรากำหนดให้เป็นอย่างนั้น เลิกหมาย เลิกปรุง อยู่ๆกับมันไป พิจารณาร่างกายให้แตก มีคนว่ามันเหมือนไข่  ไข่อยู่ข้างในของเปลือกของไข่ ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ เราเป็นพุทธะได้ แต่มัวโง่ หลงว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็ไม่ได้พิจารณาว่าเป็นของเน่า เป็นของเหม็น แต่เห็นว่าเป็นเรา ต้องดี ต้องสวย ท่านว่า มันโง่ ดังนั้น ใคร ต้องการอะไร ก็ให้เร่งรีบสร้างเอา คุณงามความดีทั้งหมดอยู่ที่ตัวของเราแล้ว หลวงปู่ตื้อก็บอกว่า ขันธ์ 5 นี้เมื่อมันยังไม่แตกดับ ก็อาศัยมันประกอบความดีได้ แต่ถ้ามันแตกดับแล้วก็อาศัยมันไม่ได้เลย 
ฟังท่านแล้วซึมไป นี่..เกิดอารมณ์ซึมอีก ออกนอกวัดอีกแล้ว เอ้า กลับมาใหม่ ดูไปดูมาเหมือนชาตินี้จะเอาดีไม่ได้ นี่ก็ความรู้สึกปรุงเองอีก.. ไม่เป็นไร ท่านให้คาถามา ท่องไว้..กำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำอะไรอยู่  สาธุ สาธุ สาธุ