แนวคิด หลักการ และการปฎิบัติทางการจัดการเชิงประกอบการ
(Entrepreneurial Management: Concepts, Principles and Practices)
รากฐานของการจัดการเชิงประกอบการ
คือ วัฒนธรรมและสังคมแห่งการประกอบการ
การที่จะศึกษาและเข้าใจเรื่องการจัดการเชิงประกอบการ (Entrepreneurial Management) เราคงต้องดูที่รากก่อนว่าการเกิดขึ้นของรูปแบบการจัดการที่เรียกกันว่าการจัดการเชิงประกอบการนั้นเป็นอย่างไร มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ประกอบการอย่างไร และเป็นผลดีที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร ไม่มีอะไรในโลกที่อยู่ๆก็โผล่ขึ้นมาเอง การจัดการเชิงประ กอบการก็เช่นเดียวกัน อันที่จริงแล้วเราจะคุ้นเคยกับคำว่าผู้ประกอบการ (entrepreneur) และการประกอบการ (entrepreneurship) กันมานานนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นิยามของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่เพื่อความเข้าใจที่แน่ชัด เรามาลองพิจารณาบางนิยามที่ใช้กัน เริ่มจาก Alfred Marshall นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันดี อธิบายถึงผู้ประกอบการว่าเป็น “ผู้ที่ดำเนินการทางธุรกิจโดยนำปัจจัยการผลิต แรงงาน ต้นทุนเพื่อที่จะผลิตสินค้าหรือบริการให้เพิ่มมากขึ้น” ซึ่งการเพิ่มผลผลิตถือว่าเป็นการเพิ่มพูนความมั่งคั่งและความเพียบพร้อมทางสังคมให้มากขึ้น ส่วน David McClelland นักพฤติกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการฝึกอบรมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่เน้นสัมฤทธิผลและแรงจูงใจ ได้ให้นิยามของผู้ประกอบการว่าเป็น “คนที่จัดการและดำเนินธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยยอมรับความเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร” คำนิยามสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เป็นคำนิยามของ William Bygrave จาก Babson College ซึ่งแม้จะเป็นคำนิยามที่สั้น แตก็่ฟังดูง่ายและสมศักดิ์ศรีผู้ประกอบการเป็นที่สุด มีใจความว่า “ผู้ประกอบการคือคนที่เล็งเห็นโอกาสและสร้างการจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่โอกาสอำนวย” จากคำจำกัดความเราคงจะเริ่มมองเห็นเค้าลางแล้วว่าการจัดการเชิงประกอบการจะมีความเกี่ยวพันกับลักษณะการบริหารจัดการของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน
การศึกษาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าการเป็นผู้ประกอบการมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ เป็นกลไกหลักสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ สองทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นช่วงที่มีการเติบโต การขยายตัวของประเทศต่าง ๆ ทางซีกโลกตะวันตกอย่างกว้างขวาง และในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่มีการขยายตัวทางด้านสาขาวิชาการต่างๆ เช่น ในสาขาสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการสาขาต่าง ๆ ได้มีการพิจารณาขอบข่ายของสาขาวิชาของตนและเกิดความพยายามในการประมวลแนวความคิดจากสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันในลักษณะของสหวิทยาการ Everett Hagen ก็เป็นผู้หนึ่งที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการก่อรูปขึ้นของบุคลิกภาพและภาวะความเป็นผู้ประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม แนวความคิดนี้ Hagen เขียนไว้ในหนังสือชื่อ On the Theory of Social Change : How Economic Growth Begins ซึ่ง Hagen มองผู้ประกอบการในฐานะที่เป็นผู้แก้ไขปัญหาที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นผู้ที่ให้ความสนใจทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต และที่สำคัญที่สุดผู้ประกอบการมีแรงบันดาลใจแห่งความสำเร็จ คือ รู้ว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ให้สำเร็จให้ได้ แนวคิดของ Hagen ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของคนกับการมีแรงจูงใจของผู้ประกอบการนั้น เกิดจากทฤษฎีบุคลิกภาพ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “the authoritative - creative personality dichotomy” ที่ว่าบุคลิกภาพคนสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะต่างกันคือ บุคลิกภาพครอบงำ (authoritative personality) กับบุคลิกภาพสร้างสรรค์ (creative personality) Hagen เชื่อว่าบุคลิกภาพของผู้ประกอบการก่อเป็นรูปขึ้นจากวัยเด็ก และเด็กจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการครอบงำจากบิดาในระดับต่ำ มีความอบอุ่นจากมารดา มีการฝึกให้พึ่งตนเองและรู้จักมาตรฐาน รู้จักความเป็นเลิศ เด็กที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อเผชิญกับอุปสรรคหรือการปิดกั้นทางสังคมอันเนื่องมาจากแนวความคิดแบบเก่าๆก็จะสามารถตอบโต้ในลักษณะของผู้ประกอบการ คือ สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคเชิงคุณภาพเชิงสร้างสรรค์ได้ ซึ่ง Hagen เชื่อว่ากระบวนการในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ และยังผลให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด
Thomas Cochran เป็นนักวิชาการรุ่นแรก ๆ อีกผู้หนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความเป็นผู้ประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ Cochran พิจารณาประเด็นทางวัฒนธรรมในลาตินอเมริกา และดึงประเด็นออกมา 3 ประเด็นที่สำคัญได้แก่ ค่านิยมทางวัฒนธรรม (cultural values) ความคาดหวังของสังคมที่เกี่ยวกับบทบาทของคนในสังคม (role expectations) และการแทรกแซงทางสังคม (social sanction) ตามแนวคิดของ Cochran ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพแตกต่างหรือเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานหรือเป็นคนพิเศษไม่ธรรมดา แต่เป็นคนมีบุคลิกภาพเฉพาะตัว ซึ่งไม่ว่าในสังคมใดบุคลิกภาพเฉพาะตัวจะถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากการเลี้ยงดูและการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องวัฒนธรรม โดยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของคนจะได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ
- ทัศนคติที่มีต่องานอาชีพ (การเป็นผู้ประกอบการ)
- ความคาดหมายของสังคมเกี่ยวกับบทบาทของตน (ในทางธุรกิจ) และ
- เงื่อนไขหรือสภาพในการทำงาน หรือ ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง
ปัจจัยสองประการแรกเกิดจากระบบค่านิยมของสังคม เมื่อใดที่ระบบค่านิยมของสังคมส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมของผู้ประกอบการในสังคมนั้น ความก้าวหน้า ความเติบโตก็จะบังเกิดขึ้น ถือเป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ชัดเจนมากขึ้นว่าผู้ประกอบการที่มีค่านิยม มีวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์จะทำให้เกิดการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่มั่นคง
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนที่มีความเชื่อว่า บุคลิกลักษณะของคนไม่สามารถแยกออกจากสถานการณ์ทางสังคมที่หล่อหลอมบุคลิกลักษณะของคนผู้นั้นได้ มีวิธีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับความเติบโตทางเศรษฐกิจอีกวิธีหนึ่ง โดยนักวิชาการเหล่านี้ศึกษาประวัติของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของถิ่นที่อยู่อาศัย ภูมิหลังทางครอบครัว การมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธุรกิจก่อนการประกอบธุรกิจของตน และประเด็นอื่น ๆอีกมาก ความสำคัญของการศึกษา คือ การมีข้อมูลมากขึ้นจะช่วยในการส่งเสริมการประกอบการธุรกิจในสถานการณ์ต่าง ๆได้ดีขึ้น Frank Young ผู้ศึกษาลักษณะของการประกอบการในชนกลุ่มน้อย ซึ่งจำแนกโดยเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม กล่าวไว้ว่า “เมื่อกลุ่มชนใด มีความแตกต่างกันมากในด้านอาชีพ จากการยอมรับของชนกลุ่มใหญ่ในสังคม กลุ่มชนนั้นก็จะยิ่งมีการติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่มอยู่ในระดับที่สูงขึ้น แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความคิดเห็นหรือความรู้สึกร่วมกันภายในกลุ่มต่อสถานการณ์เดียวกัน” เครือข่ายของผู้ที่มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด และเป็นไปในลักษณะวางใจซึ่งกันและกันเช่นนี้ จะทำให้เกิดคนกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในธุรกิจอันได้แก่ นักบัญชี นักการเงินการธนาคาร ผู้ซื้อและผู้จัดส่งวัตถุดิบ เป็นต้น ถือเป็นแนวคิดที่กล่าวถึงกันมากในการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดของผู้ประกอบการและแนวคิดนี้ก็เป็นแนวทางหลักในการอธิบายลักษณะของวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมของการประกอบการ
ผู้ที่ศึกษาทฤษฏีการเชื่อมโยงการประกอบการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด น่าจะได้แก่ David McClelland นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ที่ได้ทำการศึกษารูปแบบค่านิยมซึ่งดำรงอยู่ในสังคมก่อนที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ The Achieving Society McClelland เริ่มต้นโดยตั้งสมมติฐานว่าความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันกับการมีวัฒนธรรมที่ต้องการความสำเร็จในสังคม ยิ่งมีวัฒนธรรมที่ต้องการความสำเร็จแพร่หลายมากเท่าไหร่ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นความรู้สึก ความต้องการ แรงขับที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ทำสิ่งนั้น เพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยไม่ได้คาดหวังที่จะได้มาซึ่งอำนาจ ความรัก การเป็นที่ยอมรับ หรือแม้แต่ผลกำไร วิธีการหลักที่ McClelland ใช้ในการศึกษา คือ ศึกษางาน ข้อเขียนที่แพร่หลายในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์และจัดระดับความสำคัญของงานนั้นโดยพิจารณาถึงภาพลักษณ์ ความสำเร็จในการดำเนินการ จากนั้นก็มีการศึกษาหาสิ่งซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ความเติบโตที่รวดเร็วทางเศรษฐกิจ ซึ่งตีค่าความสำคัญสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของความสำเร็จที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเอาชนะมาตรฐานและความเป็นเลิศที่มีอยู่ ความตั้งใจระยะยาว และความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับผู้อื่น McClelland ใช้หลายสิ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มขึ้นทางด้านการใช้ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นที่น่าสงสัยว่าจะไม่ใช่วิธีการหรือดัชนีบ่งชี้ที่ถูกต้อง แม้ทฤษฎีของ McClelland จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังมีการยอมรับ McClelland ว่าเป็นคนแรกที่เริ่มประยุกต์ทฤษฎีเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการมาใช้กับโครงการส่งเสริมการประกอบการทางธุรกิจสำหรับคนทั่วไป ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และงานของ McClelland ก็ถือกันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัด ที่สำคัญในทางทฤษฎี กล่าวคือ เป็นรูปแบบของพฤติกรรมของผู้ประกอบการทีี่ตามนัยของ McClelland ถือว่าตัวผู้ประกอบการนั้นเป็นทั้งผลผลิตของสังคมและผู้ก่อให้เกิดมาตรฐานใหม่ ๆ ขึ้นในสังคม
สังคมแห่งการประกอบการ
(An Enterprising Society)
เพราะมีความเชื่อว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะในวิสาหกิจขนาดกลาง และ ขนาดย่อมเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากในแต่ละประเทศทั่วโลกนั้นมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นจำนวนถึง ร้อยละ 80-90 แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความจริงที่ว่า หากเราปราศจากความเข้าใจในการประกอบการที่แท้จริงและการส่งเสริมพัฒนาการประกอบการที่เข้มแข็ง ก็จะไม่มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน สังคมแห่งการประกอบการไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างผู้ประกอบการเหมือนดังเช่นการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่แล้วหวังว่าสังคมนี้จะเป็นสังคมแห่งการประกอบการ อันที่จริงแนวคิดในการฟูมฟักการประกอบการควรประกอบด้วยกลยุทธ์ที่ลึกซึ้ง ที่เกี่ยวข้องกับทั้งด้าน
- การพัฒนาคน เปลี่ยนตัวแบบแนวคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมคนในสังคม
- การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาการประกอบการ
- การเชื่อมโยงคนเข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นโอกาส
- การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกี่ยวกับเทคนิคหรือการผลิต การเงิน การตลาดและการจัดการ
- การเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ที่มุ่งการเรียนรู้จากการปฎิบัติ ไม่ใช่แค่ฟังบรรยาย
เมื่อพิจารณาดูให้ดี นั่นหมายความว่า หากจะสร้างสังคมแห่งการประกอบการแล้วจะต้องครอบคลุมกว้างถึงทุกคนในสังคม เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นเรื่องของการสร้างสังคมใหม่ที่มีคุณภาพในทุกระดับชั้นทางสังคม ซึ่งไม่สามารถบรรลุได้ถ้าเอาแต่ฝึกอบรม เพราะว่าสังคมแห่งการประกอบการ (ที่ไม่ใช่แค่สังคมของผู้ประกอบการ) จะเป็นสังคมใดก็ได้ที่สมาชิกมีความเข้าใจลึกซึ้ง ประยุกต์ใช้และแสดงออกถึงคุณลักษณะของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เป็นคนพันธุ์พิเศษ (A special breed of persons) ซึ่งแสดงออกถึงความใฝ่หาความสำเร็จ เน้นการบรรลุเป้าหมาย การที่จะมีคุณลักษณะดังกล่าวแปลว่าปัจเจกบุคคลในสังคมนั้นจะมีเอกลักษณ์ คือ มีจิตวิญญาณแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial spirit) มีความคิดเชิงประกอบการ (Entrepreneurial mindset) และมีพฤติกรรมการประกอบการ (Entrepreneurial behavior) คิด ประพฤติ ปฏิบัติเหมือนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จโดยไม่จำเป็นต้องประกอบธุรกิจนั่นคือ
- ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความซื่อตรง มีทัศนคติแห่งการให้บริการเต็มหัวใจ
- ถ้าเป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการ ก็เป็นผู้นำที่มีแรงบันดาลใจสามารถจูงใจให้ลูกน้องทำงานด้วยประสิทธิภาพ สูงสุด ไม่มีความพอใจผลงานที่แค่ใช้การได้
- ถ้าเป็นหมอ ก็ต้องเป็นหมอมืออาชีพที่สามารถดึงรอยยิ้มจากคนไข้ทุกคน
- ถ้าเป็นพนักงานขาย ก็คือคนที่มีความสามารถในการโน้มน้าว ขายสินค้าราคาแพงให้ดูเหมือนเป็นการที่ลูกค้าต่อรองได้
- ถ้าเป็นคนงานจะเป็นคนที่สามารถให้ทีมทำงานร่วมกัน และทำงานของตนเองด้วยความสามารถสูงสุดของตนเอง
- หรือแม้กระทั่งการเป็นแม่ ก็จะเป็น An enterprising mother เป็นผู้หญิงที่สามารถแก้ปัญหา ผู้ต่อสู้ให้เกิดความสมดุลระหว่างอาชีพและหน้าที่ในครอบครัว
สรุปแล้วคือการจัดการเชิงการประกอบการ (Entrepreneurial Management) จะขึ้นได้ เราคงต้องสร้างรากฐาน สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้สมาชิกในสังคมมีลักษณะต่อไปนี้ คือ
- มีความสามารถในการพัฒนาตนเองสูงเพื่อมองหาโอกาส
- สามารถทำสิ่งธรรมดาให้ไม่ธรรมดา คือ สามารถเพิ่มคุณค่าในสิ่งธรรมดาที่เคยปฏิบัติ
- มีการกำหนดความท้าทายใหม่ๆที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่เป็นจริง
- work hard and smart
- หยั่งรู้ว่าเมื่อใดจะแข่งขันและเมื่อใดควรร่วมมือ
- ยืนหยัดถึงแม้จะพบกับอุปสรรค
- เปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส
- แสดงออกถึงความมุ่งมั่น ความมั่นใจ ความเป็นอิสระ การมีพันธะต่อคุณภาพและมีการคำนวณความเสี่ยง
- มีประสิทธิภาพมาตรฐานในการทำงานสูง
คุณลักษณะเหล่านี้มีคุณูปการไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้นแต่เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกทุกคนในสังคมและสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นสาระจำเป็นของการสร้างสังคมแห่งการประกอบการ ถ้าเราสามารถปลูกฝังคุณลักษณะเหล่านี้ให้กับทุกคนในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นใคร.......เด็ก หรือ คนแก่ ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย คนจน หรือ คนรวย เราจะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานของสังคมแห่งการประกอบการ และถ้าเราสามารถกำจัดคำว่า ด้อยประสิทธิภาพ (inefficiency)ออกจาก vocabulary ของเรา และถ้าเราสามารถขยายแนวคิดให้คนรู้จักการแก้ใขปัญหา มีนวัตกรรม มีความสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ นั่นหมายความว่าเราสร้างรากฐานที่มั่งคั่งและมั่นคงให้กับประเทศชาติ ดังคำกล่าวของคุณอานันท์ ปัญยารชุนที่พอจะสรุปได้ว่า สังคมแห่งการประกอบการจะต้องหาวิธีการที่สร้างสรรค์ในการรับมือกับโลกปัจจุบัน ทำอย่างไรจะสร้างความสมดุลระหว่างความร่วมมือและการแข่งขันกับต่างชาติ สร้างความสมดุลทั้งด้านการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนรักษาความสมดุลของความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเราคุ้นเคยกับคำว่า “เอื้ออาทร” ก็คงเข้าใจว่าสังคมแห่งการประกอบการจะต้องเป็น a caring society คือ เป็นสังคมที่กำหนด มาตรฐานทางศีลธรรมให้กับสมาชิก มีเกียรติศักดิ์ศรี แสดงออกถึง ความเคารพและความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ทำงานเพื่อชาติและมนุษยชาติ ซึ่งสังคมแห่งการประกอบการนี้เองที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการจัดการเชิงประกอบการขึ้นมาได้จริง (ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้)
การประกอบการในฐานะที่เป็นรูปแบบของการจัดการ
(Entrepreneurship: A Style of Management)
คำว่า “การประกอบการ” (Entrepreneurship) ในประเทศเรามักจะเข้าใจว่าเป็นการประกอบธุรกิจเพราะว่่ามีความเกี่ยวพันโดยตรงกับผู้ประกอบการ (Entrepreneur) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ จึงทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการประกอบการเป็นเรื่องของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว การประกอบการกินความกว้างกว่านั้นมาก ดังที่ได้เกริ่นนำมาแล้ว กล่าวคือ การประกอบการเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการ (A style of management) ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการทำงานทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นงานที่เก่ียวกับอาชีพอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจหรือแม้แต่การใช้ชีวิตส่วนตัว ถ้าจะพูดไปแล้วไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามในชีวิตนี้ถือเป็นการประกอบการทั้งสิ้น เช่น การเป็นครูก็สามารถเป็นครูเชิงประกอบการ (enterprising teacher) หรือแม่บ้านก็เป็นแม่บ้านเชิงประกอบการได้ และเรายังมีการกำหนดคุณลักษณะของคนว่าเป็นผู้ประกอบการแท้จริงจากวิธีการที่พวกเขาบริหารจัดการกับสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในธุรกิจไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาเป็นใครหรือทำอะไร ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ความเชื่อ | ความจริง |
ผู้ประกอบการโดยรวมเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างงาน | เฉพาะผู้ประกอบการของ dynamic companies เท่านั้นที่เป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างงาน |
ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตนเองและมีความอุตสาหะสูงจะทำให้กิจการมีการเติบโตพัฒนาขึ้น | ผู้ประกอบการที่ยอมรับและใช้การบริหารจัดการแนวใหม่ สร้างตัวขึ้นมาจากทีมงานหรือการร่วมแรงร่วมใจก่อให้เกิด dynamic companies |
ผู้ประกอบการที่มีการเติบโตจะมุ่งเน้นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ | ผู้ประกอบการของ dynamic companies จะมุ่งเน้นตลาดเป้าหมายที่ตนมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความได้เปรียบในการเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ท้าชิงที่แข็งแกร่ง |
ผู้ประกอบการที่มีการเติบโตมุ่งเป้าไปที่ตลาดในประเทศที่ตนมีความได้เปรียบ | ผู้ประกอบการของ dynamic companies จะเปิดโอกาสให้กับตนเองในการเจาะตลาดส่งออกเสมอ เพื่อให้บริษัทได้เรียนรู้และเติบโต |
ผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จจะใช้การลดต้นทุนการผลิตเป็นกลยุทธ์หลักในการแข่งขัน | ผู้ประกอบการของ dynamic companies จะแข่งขันที่คุณภาพ การคิดค้นนวัตกรรมและการให้บริการที่เหนือกว่า |
ดังนั้นการประกอบการจึงถูกนำมาเป็นรูปแบบของการจัดการ ที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จขององค์กร เป็นองค์กรที่มีนวัตกรรม เน้นการเรียนรู้และพัฒนาองค์กรร่วมกัน โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและการแข่งขันทางการค้าอย่างรวด เร็ว ความสำเร็จขององค์กรที่จะสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยกลุ่มคนขับเคลื่อนที่มีคุณลักษณะพิเศษของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่บริหารตามหน้าที่ทางการจัดการ (Management Functions) ทั่วไป ที่ประกอบด้วย การวางแผน จัดองค์กร จัดคนเข้าทำงาน อำนวยการและควบคุมเท่านั้น
ถ้าเราพิจารณาหลักการของการจัดการเชิงประกอบการ (Entrepreneurial Management) ที่โดดเด่น 3 ประการหลัก ๆ ที่ทำให้การจัดการเชิงประกอบการแตกต่างจากการจัดการทั่วไป (Ordinary Management) จะพบว่าประการแรก คนที่เป็นผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายใน และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่ก่อให้เกิดความต่างจากสภาวะปกติ เป็นความแตกต่างอย่างเหนือชั้น แต่คนที่เป็นผู้บริหารธรรมดา (conventional manager) จะสนใจในเฉพาะสิ่งที่ก่อเกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนั้น คือ การเน้นหรือจุดเน้นที่ความเปลี่ยนแปลง (A Focus on Change) ต่างกัน ประการที่ 2 เกี่ยวกับจุดเน้นเรื่องของโอกาส (A Focus on Opportunity) ผู้ประกอบการสนใจในการติดตามและแสวงหาประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น โดยใช้ทรัพยากรในการเสี่ยงเพื่อตอบรับโอกาสนั้น แต่ผู้บริหารทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการประหยัดทรัพยากรและการจำกัดความเสี่ยงของตนเองในการมองโอกาสที่เกิดขึ้น ประการที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับการจัดการเชิงองค์รวม (Organization-wide Management) ซึ่งผู้ประกอบการจะบริหารจัดการธุรกิจเชิงบูรณาการในองค์กร ผู้บริหารทั่วไปจะมุ่งเน้นเฉพาะส่วนงานที่ได้ทำการแบ่งแผนกงานตามหน้าที่ ความแตกต่างหลัก ๆ นี้จะช่วยทำให้เรามองภาพการจัดการเชิงประกอบการกับการจัดการทั่วไปได้ชัดเจนขึ้นว่ามีความต่างกันอย่างไร การจัดการทั่วไปเน้นการบริหารตามหน้าที่แต่การจัดการเชิงประกอบการเน้นการบริหารให้คนกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ตามคุณลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
การแปลงรูปแบบการจัดการในองค์กรนวัตกรรม
จากการจัดการแบบดั้งเดิมสู่การจัดการเชิงประกอบการ
ความแตกต่างระหว่างวิธีการจัดการแบบดั้งเดิม (Traditional Management Approach) กับการจัดการเชิงประกอบการ (Entrepreneurial Management) เป็นความเข้าใจพื้นฐานสำคัญในการที่จะนำหรืออำนวยการ ขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรนวัตกรรม อย่างไรก็ตามในการพัฒนาและปรับปรุงศิลปะทางด้านการจัดการและการดำเนินการภายในองค์กร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เรียกกันว่า Emerging Industries มีคนเคยแปลว่า อุตสาหกรรมผุดบังเกิด ที่ฟังแล้วไม่รู้ว่าผุดมาจากไหน ดังนั้นในที่นี้จึงอยากอธิบายว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากสิ่งประดิษฐ์ (Invention) ไปสู่นวัตกรรม (Innovation) เช่น อุตสาหกรรมที่มีการคิดค้นวัตถุดิบใหม่ อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น ที่นับว่าเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้การแข่งขันและความร่วมมือในระดับโลกก็แล้วกัน ใครอยากจะแปลอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งในที่สุดอุตสาหรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อย่างมหาศาล นอกจากนี้แล้วยังจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ทางนวัตกรรมอีกด้วย
Emerging Industries จึงเป็นตัวการสำคัญในการผลักดันให้เกิดแนวความคิดใหม่ทางการจัดการ อันเนื่องมาจากความจำเป็นขององค์กรที่ต้องการนวัตกรรมที่เป็นเลิศและการธำรงรักษาไว้ของความเยี่ยมยอดทางนวัตกรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีความแตกต่างที่มากกว่าแนวคิดของผู้บริหารมืออาชีพแบบดั้งเดิม (Traditional Professional Manager) เพียงอย่างเดียวดังที่เป็นเช่นทุกวันนี้
Emerging Industries เป็นอุตสาหกรรมที่ท้าทายในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ไปยังสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และในที่สุด คือ การค้า ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้จัดการเชิงประกอบการ (Entrepreneurial Manager) จึงต้องเกี่ยวข้องกับทั้งวิชาการการจัดการใหม่ ๆ เพื่อที่จะสามารถประสบความสำเร็จในการประสานเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับการค้าที่บริษัทระดับโลกกำลังแข่งขันกัน ส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด คือ การจัดการเชิงประกอบการกับการจัดการแบบมืออาชีพ ปัจจุบันเป็นที่ตระหนักว่า ผู้บริหารหรือผู้จัดการมืออาชีพจะต้องเคลื่อนตัวไปสู่การจัดการเชิงประกอบการมากขึ้น สวมวิญญาณผู้ประกอบการทั้งในด้านแนวคิด พฤติกรรมและสไตล์การบริหารที่เน้นนวัตกรรม เน้นการพัฒนาใหม่ๆทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์ การตลาด และวิธีการดำเนินงาน
จะเป็นการล้าสมัยมากถ้ายังคิดว่าการประกอบการ (Entrepreneurship) กับการจัดการแบบมืออาชีพ (Traditional Professional Management) ต้องแยกส่วนกัน ถึงแม้แนวคิดของทั้งสองวิธีการ หรือ แนวทางจะแตกต่างกัน ทั้งทางการศึกษาและการปฏิบัติ แต่ในที่สุดมีการแสดงให้เห็นว่ามีการริเริ่มที่จะผสมผสานทั้งสองแนวคิด โดยเฉพาะในการจัดการบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า Intrapreneurship
ผู้จัดการเชิงประกอบการ
(Entrepreneurial Manager)
Entrepreneurial Manager ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าภาวะผู้นำมีนัยสำคัญในการสร้างให้องค์กรสามารถตอบสนองและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหากองค์กรนั้นต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านตลาด ซึ่งต้องมีการจัดการเกี่ยวพันกับการสร้างคุณค่าที่แท้จริงของธุรกิจของเศรษฐกิจ สามารถปรับเชื่อมโยงความมุ่งมาดปรารถนาส่วนบุคคลกับวัตถุประสงค์ขององค์กร หากว่าเทคโนโลยี คือ การขับเคลื่อนแล้ว นั่นหมายถึงในทศวรรษหน้าเทคโนโลยีจะทวีความสำคัญขึ้นทั้งในด้านที่เป็นทรัพยากรของชาติและของโลกในฐานะที่เป็นตัวก่อให้เกิดความมั่งคั่ง เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดผลิตภาพและการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงของทั้งรัฐบาลและเอกชนที่ต้องประเมินให้ดี เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงองค์กรการศึกษาและการฝึกอบรมของทั้งผู้จัดการตลอดจนทรัพยากรบุคคลทั้งหลาย หมายความว่า Entrepreneurial Manager จำเป็นต้องใส่ใจด้านเทคโนโลยีนอกเหนือจากงานด้านการจัดการ ความเป็นจริง คือ Entrepreneurial Manager และ Traditional Manager ในองค์กรใหญ่ บางครั้งไม่สามารถไปด้วยกันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีการปะทะกันในหลายเรื่องของ Roger Smith กับ Ross Perot ที่บริษัท GM แต่ก็มีอีกตัวอย่างหนึ่งของการเป็น Entrepreneurial Manager ที่มีความมุ่งมั่น เป็นเรื่องเกิดขึ้นที่โรงงาน 3M หลายปีก่อน คือ มีนักวิจัยคนหนึ่งถูกให้ออกจากงาน แต่เขายังคงกลับเข้ามาทำงานในห้องแลบเพื่อค้นคว้าโครงการโดยไม่ได้รับเงินเดือน ถือว่าเป็นคนเขามุ่งมั่นและในที่สุดได้ประสบความสำเร็จ เขาถูกจ้างกลับให้เข้าทำงานที่บริษัท 3M โครงการของเขากลายเป็นแผนกหนึ่งในโรงงานและสุดท้ายเกษียณด้วยตำแหน่งรองประธานบริษัท เราเชื่อว่า Entrepreneurial Manager เป็นกุญแจสำคัญในการริเริ่มสิ่งใหม่ในองค์กร เพราะเป็นพวกเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง มีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นการยากในการจัดการคนกลุ่มนี้เนื่องจากมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต่างจาก Traditional Manager ที่จะทำงานตามคำสั่งได้ง่ายกว่าเนื่องจากไม่ค่อยเข้าใจว่าตนเองจะคิดอย่างไรและต้องการอะไร ในขณะที่ Entrepreneurial Manager จะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดแจ้ง ไม่ใช่พวกฝันกลางวัน เป็นตัวซุปเปอร์แมนหรือ สไปเดอร์แมนที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานแบบก้าวข้ามกรอบและพร้อมเผชิญปัญหาทุกรูปแบบ นอกจากนั้นพวกนี้ยังเชี่ยวชาญทั้งด้านการเมืองในองค์กรและด้านเทคนิควิชาการ
ดังนั้นพวก Entrepreneurial Manager จึงทำงานได้ดีในสถานการณ์และเป้าหมายที่ท้าทาย ที่ไม่ธรรมดา อยู่ในสิ่ง แวดล้อมทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ารวมถึงด้านวิชาการและการตลาด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องการเพื่อเข้าถึงแหล่งทรัพยากร กลุ่มนี้ต้องการการรับประกันการสนับสนุนเมื่อโครงการหรือแผนงานบางอย่างติดขัด และยังต้องการรางวัลที่เหมาะสม รวมถึงการยอมรับในหลายด้านมากกว่าด้านการเงินอย่างเดียวดังเช่นธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ ให้ความสำคัญกับเส้นทางการเติบโตในอาชีพถ้าไม่เช่นนั้นพวกนี้ก็จะออกจากองค์กรไป สิ่งสำคัญสำหรับการจัดการเชิงประกอบการในที่นี้จะหมายถึงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการพัฒนาตลาดใหม่ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสองอย่างที่สำคัญ เนื่องจากการอยู่รอด การประสบความสำเร็จ และการเจริญเติบโตขององค์กรในการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดโลก องค์กรจะเจอกับสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เทคโนโลยีที่ล้าสมัยและการแพร่กระจายของเทคโนโลยีใหม่สำหรับการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ การจัดการควบคุมสินค้าที่มีวงจรชีวิตสั้นลง การให้การศึกษากับลูกค้าหรือตลาด ตลอดจนการพัฒนานโยบายการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก หนทางที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ในเวลาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ คือ การจัดการเชิงประกอบการและโดยกลุ่ม Entrepreneurial Manager เท่านั้น