อาทิตย์ที่แล้วมีผู้โพสรูปวัดทองศิริและบรรยายว่าโบสถ์จะถูกรื้อและทำการสร้างใหม่โดยชาวบ้านลงในเฟสบุ๊ค (มิน่าหนังได้รางวัลโกลเดนโกลบ...) ซึ่งมีญาติโยมเราก็ติดแถกมาให้อย่างด่วน อารามตื่นเต้นก็แถกกันต่อ ญาติใครญาติมัน เกิดความรุ่มร้อนในใจ เสียดาย สติแตก จนพวกเราอยากจะไปดูให้เห็นกับตา เห็นในรูปสวยมาก (ฝีมือถ่ายรูปร้ายจริงๆคุณหลาน) แต่ก่อนไปก็จัดการหาของแข็งระงับการสร้างกันใหญ่ (สุ่มสี่สุมห้า) วันอาทิตย์ ๓๐ มกราที่ผ่านมาก็อาศัยวิไลลักษณ์ทัวร์ไปอย่างมุ่งมั่น กะดูให้แจ้งใจ เผื่อจะรื้อวันที่ ๔ นี้แล้ว..ยังได้เห็น (ว้าย..คิดได้ไง)
เจอเจ้าอาวาส... ใหญ่สุดในวัดแล้วเพราะมีอยู่องค์เดียวทั้งวัดและยังอายุน้อย... เจออุ้ยแก่ๆทั้งหญิงชาย ชาวบ้านมารวมกันกำลังจะจัดพิธีสืบชะตา... ชะตาวัด หรือ ชะตาใครก็ไม่รู้แล้วงานนี้... ท่านกรุณาเล่าความเป็นมาอย่างออกรส... พวกเราฟังกันตาปรือเป็นแถว... สรุปสิริรวม คือ โบสถ์นี้ เก่าจริง แต่เก่าแบบร้อยปีนะ ไม่ใช่เจ็ดร้อยปี และทรุดโทรมเป็นอันมาก จะพังลงวันไหนก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าหลังคาก็รั่วไปทั่วและโบสถ์มีขนาดเล็ก สาระสำคัญ คือ วิถีชาวบ้านที่หุงข้าวนึ่ง ทำกับข้าวมาวัดทุกเช้า มาทำบุญ ฟังธรรม ไหว้พระทุกวัน...จะทำยังไง เลยคิดกันว่าจะบูรณะ สร้างใหม่ แต่คงแบบเดิมทุกประการ (อันนี้..พระบอก จะดีไม่ดี คิดเอาเอง...) ปัญหาตอนนี้ คือ ชาวบ้านต้องการโบสถ์ใหม่ที่สามารถทำกิจกรรมบุญได้เหมือนเดิมที่เคยปฎิบัติ แต่กรมศิลป์มาระงับไว้ก่อนจะรื้อ...ทีนี้เลยไม่รู้จะยังไงกันแล้ว...เกิดขุ่นข้องหมองใจกันไปทั่ว คนนอกอย่างพวกเราก็พลอยกลุ้มไปด้วย
เลยมาลองพิจารณาดูว่า...อันที่จริง วัดเก่านั้นเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่งที่บอกความเป็นมาของบรรพบุรุษที่อยู่ในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนขนาดเล็ก หมู่บ้าน เมืองหรือประเทศชาติ ความเป็นมานี้แสดงถึงพัฒนาการของผู้สร้างสมัยก่อน วัดทองศิริสร้างเมื่อ ๑๔๔ ปีที่แล้ว และเพิ่งมาเสร็จสมบรูณ์เมื่อ ๕๐ หรือ ๖๐ ปีที่ผ่านมา... คือ ไม่มีเจ้าบุญทุ่มมาเป็นแม่ยก เลยกว่าจะแล้วเสร็จ... ส่วนเรื่องการอนุรักษ์วัดไว้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เป็นหน้าที่ของคนรุ่นพวกเรานี่แหละและรุ่นต่อ ๆ ไป การ "อนุรักษ์" และการ "พัฒนา" จึงเป็นหลักการที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งไม่ควรและไม่ใช่เป็น "ปฏิปักษ์" กัน มันเป็นหน้าที่ของทุกๆคนที่จะช่วยกันรักษาโบราณสถานที่ทรงคุณค่าให้คงอยู่นานเท่านาน เราต้องมาอีกดูว่าวัดเก่าอย่างวัดทองศิริ....ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้เอง แต่เป็นทรัพยากรวัฒนธรรมที่คนใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถสร้างขึ้นหรือดัดแปลงจากทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อตนและสังคมในสมัยนั้น เมื่อตกทอดเป็นมรดกมาถึงรุ่นเรา ก็กลายเป็นโบราณสถานเช่นเดียวกับอาคารและวัตถุที่สร้างขึ้นสมัยนี้ จะเป็นโบราณสถานของคนในอนาคตสืบต่อไป คิดแบบนี้ดูต่อเนื่องดี...ไม่ขาดตอน ซึ่งจะอนุรักษ์ จะพัฒนา ต้องมาคุยกันก่อนแน่ๆ... อยากบอกเจ้าอาวาส ญาติโยมให้ใจเย็นๆก่อน.. มาหาความหมาย คำจำกัดความของคำว่าอนุรักษ์และพัฒนาร่วมกันกับหน่วยราชการ (เมื่อเข้าใจตรงกัน..ทีนี้จะง่ายแล้วค่ะ)
และสำหรับหน่วยราชการที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุในประเทศไทย ซึ่งคือ กรมศิลปากร ถึงแม้จะมีระเบียบว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน แต่ก็ต่้องเข้าใจว่าเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากรวัฒนธรรมเป็นของเปราะบาง..ไม่ใช่เพียงแค่ความเป็นโบราณสถานหรือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรม หากแต่เปราะบางด้านจิตใจของคน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ “ การอนุรักษ์โบราณสถานใด ๆ ก็ตาม จะต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมโดยรอบโบราณสถานนั้นด้วย สิ่งใดที่จะทำลายคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ ให้ดำเนินการปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย ” อันนี้ คือ ข้อ ๕ ในระเบียบ... ต้องมาคุยกันว่า สิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบดิน หิน ปูน ไม้ คือ คน...คนเท่านั้นที่ทำให้วัดมีชีวิต มีกิจกรรม มีการสืบทอดธรรมเนียมปฎิบัติที่ดี ที่กล่อมเกลาจิตใจคนมาช้านาน... เป็นวัฒนธรรมของแท้ที่ใช้วัดเป็นสถานที่ในการสร้างความต่อเนื่อง.... จะทำอะไร ต้องถามคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่.. จะทำอะไรต้องดูศักยภาพคนว่าจะบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองอย่างไร ได้กล่าวเกริ่นมาแล้วว่าวัดทองศิรินี้ยังเป็นวัดที่ผู้คน แม่อุ้ย พ่ออุ้ยยังมาทุกเช้า มาทำบุญ มาไหว้พระประจำ ดังนั้น น่าจะเป็นไปตาม ข้อ ๑๖. ที่ว่า “ โบราณสถานใดที่ยังมีประโยชน์ใช้สอยอยู่ จะกระทำการอนุรักษ์โดยการเสริมสร้างหรือต่อเติมสิ่งที่จำเป็นขึ้นใหม่ก็ได้เพื่อความเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้เหมือนของเดิมทีเดียว สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้นจะต้องมีลักษณะกลมกลืนและไม่ทำลายคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ” แบบนี้ต้องให้หน่วยราชการใช้ข้อนี้ตกลงกันกับคนเจ้าของพื้นที่ ดูความต้องการของคนในพื้นที่เป็นหลักด้วย....
สิ่งที่คนที่นี่กลัว คือ วัดที่กรมศิลป์เข้า...กลายเป็นวัดร้าง วัดไม่มีพระอาศัย เหมือนวัดต้นเกว๋น สวย สงบ ดูดี...แต่ปราศจากชีวิต... เป็นวัดเก็บไว้โชว์คุณค่า ความเก่า ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี..เพราะเป็นวัดที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญ คือ กลุ่มชาวบ้านต้องการหรือเปล่า... วัดมีชีวิต หรือ วัดไม่มีชีวิต... อันนี้ต่างหากที่ต้องเริ่ม.. เริ่มจากการเข้าใจความต้องการใช้ชีวิตประจำวัน... แล้วหน่วยราชการจะสนับสนุนอย่างไร จะทำอะไรได้บ้าง และพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง..เริ่มแบบนี้ก่อน และต้องบอกชาวบ้านตาม ข้อ ๑๗. ที่ว่า.. “ โบราณสถานต่าง ๆ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้วและยังไม่ขึ้นทะเบียน จะต้องมีมาตรการในการบำรุงรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง สวยงามอยู่เสมอ” ต้องชัดเจนว่าจะบำรุงรักษาอย่างไร... และวัดทองศิริดูเข้ากับ ข้อ ๑๘. คือ “ กรณีที่โบราณสถานใดมีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจจะเป็นอันตราย การดำเนินการในเบื้องต้นควรใช้มาตรการอันเหมาะสมทำการเสริมความมั่นคงแข็งแรงไว้ก่อนที่จะดำเนินการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันมิให้เสียหายต่อไป” ตอนนี้จะพังแล้ว.. จะทำอย่างไร... คุยให้ชัดเจน...สร้างความเข้าใจ มันเป็นเรื่องที่ภาครัฐยอมรับบทบาทของประชาชนโดยกฏหมายและประชาชนก็ต้องมีสำนึกและความเข้าใจในการรักษามรดกวัฒนธรรม แปลว่าทุกส่วนมีส่วนในการกำหนดแผนและนโยบายการอนุรักษ์ร่วมกัน เมื่อเข้าใจ...จะได้ช่วยกันบูรณะ อนุรักษ์ คนพื้นที่ก็จะสามารถบริหารให้โบราณสถานเกิดรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองโดยไม่ละเลยเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์และกลายเป็นการทำลาย
สำคัญอีกอย่าง ต้องชัดเจนว่า วัดทองศิริ เป็นลำดับของโบราณสถานที่สำคัญระดับใด.. เป็นสมบัติของชาติที่สำคัญที่สุด หายาก ไม่พิจารณาการรื้อถอนเลย หรือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญมีคุณค่าสำคัญในระดับภูมิภาค หรือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมมีคุณค่าสำคัญในระดับท้องถิ่น หรือว่าอาคารอนุรักษ์มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์หรือศิลปะ...เอาให้ชัด สร้างความเข้าใจ... เพราะตอนนี้เกิดปัญหา คือ ความเข้าใจเรื่องโบราณสถานต่างกัน การดูแลรักษาโบราณสถานและพื้นที่ไม่เหมือนกันและยังไม่เข้าใจกันอีกต่างหาก อีกทั้งความสำนึกในการอนุรักษ์ก็ไม่เท่ากัน ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็ไม่เท่ากัน ไม่นับที่ขาดการประสานงาน การประชาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงาน เฮ้อ....แต่ว่าสิ่งที่ต้องตระหนักถึงและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาโบราณสถาน คือ การรักษาภูมิปัญญาให้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาให้ตัวอาคารยังคงอยู่ แต่เพื่อที่ภูมิปัญญาและวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านจะได้ไม่ถูกทำลายไป อันนี้ละเอียดอ่อน... อันที่จริงตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดให้มีการกระจายอำนาจและภารกิจต่างๆให้กับท้องถิ่น ภารกิจด้านวัฒนธรรมก็เป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นซึ่งในด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น มีภารกิจที่ต้องถ่ายโอนจำนวน 2 กิจกรรม คือ การบำรุงรักษาโบราณสถานขั้นพื้นฐานและการดูแลรักษาโบราณสถานในระดับท้องถิ่น เนี่ยเข้าทางพอดี ต้องมานั่งคุยร่วมกัน.. เรื่องแบบนี้อบต.ต้องเข้ามามีบทบาทประสานเชื่อมระหว่างหน่วยงานกลางกับชาวบ้าน... อย่ามัวไปสร้างถนน ขุดท่อ สร้างเมรุไว้เผาใครก็ไม่รู้อยู่เลย...
สำหรับพวกเรา... วันที่ ๓ นี้เขาจะคุยกันระหว่างกรมศิลป์กับชาวบ้าน...ใครว่างและอยากทำบุญจริงๆก็ขึ้นไปช่วยกันประสานความต้องการให้มันถูกให้มันชอบกันเถอะ... เรื่องบูรณะ..ถ้าไม่มีปัจจัยมันเรื่องเล็กมาก..เรื่องทีหลังได้.. ตอนนี้ให้มันรู้เรื่องกันก่อน..จะเป็นวัดมีชีวิต หรือ ไม่มีชีวิตดี ซึ่งคนที่ตอบได้คือคนพื้นที่เท่านั้น คนอื่นมันลมเพลมพัด ใครก็ไม่ได้อยู่กับเขาทั้งชาติซะเมื่อไหร่ เฮ้อเหนื่อย..สวัสดี
ชอบที่สุด คือ การถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูวัด..
เพราะไม่อยากให้ทรายในวัดติดรองเท้าออกมา..