วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิทยากรใจถึึง ตอนจบ


องค์ประกอบพื้นฐานและเทคนิค (Basic Elements และ Techniques)
pastedGraphic.pdfภาพที่เห็น ภาพที่เป็น (The Vision)
รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการการมีส่วนร่วมที่จะอธิบายต่อไปนี้ จะเป็นการยากต่อการเข้าใจ ถ้าวิทยากรไม่มีภาพในใจตั้งแต่ต้นจนจบ ที่สามารถเห็นไปถึง bottom line  แปลว่าต้องมีโครงร่างในการฝึกอบรมหรือการวางแผนที่เน้นความจำเป็นในการสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วม ซึ่งจะหมายรวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมส่วนตัวของเราด้วย การที่วิทยากรมองภาพการพัฒนาการมีส่วนร่วมได้จะเป็นประโยชน์ที่จะรู้ถึงวิธีการในการบรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้น ซึ่งทำได้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการปัจจุบันของเรา จะทำให้แน่ใจได้ว่าเราจะทำให้เกิดความร่วมมือเกิดขึ้นในการทำงาน ดังนั้นการเรียนรู้และรู้วิธีการในการปฏิบัติต่อกลุ่มจะเป็นข้อบังคับพื้นฐานของการวางแผนสำหรับการมีส่วนร่วม ซึ่งนี่เองเป็นสิ่งที่เรียกกันว่าการพัฒนาการมีส่วนร่วม การหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากการมองเฉพาะภายนอกหรือการแก้ปัญหาแบบบนสู่ล่าง (top down) จะต้องเป็นการมองย้อนขึ้นไปตามกระบวนการ
เกือบตอนสุดท้ายแล้ว... อย่าเพิ่งเบื่อ ใครก็ตามที่เคยทำงานโดยใช้วิธีการแบบมีส่วนร่วมคงจะต้องทราบถึงวิธีการในการดึงความสนใจของกลุ่มผู้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นในการประชุมใหญ่หรือการฝึกอบรม แต่ถ้าหากเป็น Participatory Approach ที่กล่าวถึงนี้ ทุกคนควรจะมีความยืดหยุ่นในการประยุกต์ใช้วิธีการ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มผู้เข้าร่วมและปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องใช้จินตนาการของตนในการแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ให้หวนไปนึกถึงคำกล่าวของไอน์สไตน์ไว้ก่อน “Imagination is more important than knowledge.”   แต่ก็อย่าลืมว่า จินตนาการที่ปราศจากความรู้จะเลอะเทอะและความรู้ที่ปราศจากจินตนาการก็ไร้สีสัน ที่อๆคงที่อยู่อย่างนั้นเช่นกัน และที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้เป็นคู่มือใหม่ในการมีส่วนร่วม หากแต่เป็นความจำเป็นที่ต้องให้ทราบถึงรายละเอียดที่จำเป็นขององค์ประกอบพื้นฐานของ Participatory Approach ซึ่งก็คือ
  • ภาพการเคลื่อนไหว (Mobile Visualization)
  • การตั้งคำถาม (Asking Questions)
  • วิธีการแลกเปลี่ยนระหว่างที่ประชุมและกลุ่มย่อย (Alteration between Plenary Sessions and Group Session)
  • การประเมินผลอย่างต่อเนื่อง (Continuous Evaluation)
  • การสร้างบรรยากาศในการมีส่วนร่วม (Favorable Climate)
  • เอกสารที่เกี่ยวกับกระบวนการและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Documentation)
ภาพการเคลื่อนไหว (Mobile Visualization)
เราจะเรียนรู้และจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หากเราไม่เพียงแต่ “ได้ยิน” แต่ถ้าเราสามารถ “เห็น”   ได้ด้วยไม่ว่าจะในรูปแบบของตัวหนังสือหรือภาพ   ซึ่งการพูดการได้ยินและการได้เห็นจะทำให้การเรียนรู้เกือบสมบูรณ์ แต่จะเป็นการดีที่สุดหากเราได้ “ทำ” เหมือนที่ขงจื้อบอกไว้ว่า....
What we hear - we forget
What we see - we remember
What we do - we understand 
อย่างไรก็ตาม.. ขอเข้าเรื่องเลยว่า การสื่อสารด้วยภาพเป็นตัวช่วยที่ให้ประโยชน์แก่เราหลายประการ คือ
    • แยกสาระสำคัญออกจากข้อมูลทั่วไป 
    • ไม่ต้องย้ำ หรือ พูดซ้ำซ้อนในสิ่งที่ได้นำเสนอ
    • เพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคน
    • ช่วยเก็บรักษาความคิดทั้งหลายในรูปของข้อมูลที่ง่ายต่อการใช้
    • เพิ่มปฏิกิริยาการตอบสนองจากผู้เข้าร่วม เนื่องจากจะได้เรื่องราวเป็นจำนวนมาก
    • ทำให้ผู้ที่ไม่กล้าแสดงออกสามารถแสดงความคิดเห็น
    • ทำให้สถานะการณ์ที่ซ่อนเร้นของกลุ่มมีความชัดเจน
    • เกิดช่องทางสำหรับทุกคนที่ต้องการแสดงออก
    • สามารถส่งผ่านข้อเท็จจริงที่บางครั้งยากในการอธิบายด้วยวาจา
    • สามารถเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกที่มาพร้อมกับเรื่องราวในการเสนอในกระบวนการ
นอกจากนั้น ขออนุญาตสรุปเพิ่มเติมว่า วิธีการมีส่วนร่วม (Participatory Approach) ให้โอกาสผู้เข้าร่วมออกแบบในการทำให้เกิดภาพการสื่อสาร การเคลื่อนไหวของข้อมูลระหว่างกันที่ชัดเจนมากขึ้น ง่ายที่สุด คือ การที่ผู้เข้าร่วมจะเพิ่มคำถาม ข้อแนะนำด้วยการเขียน หรือแม้แต่การส่งผ่านข้อมูลด้วยภาพ ที่อาจจะเป็นตัวหนังสือ สัญลักษณ์ หรือรูปต่าง ๆ ที่เห็นแล้วรู้ความหมายทันที ทำให้ง่ายชัดเจนต่อทั้งกลุ่ม สิ่งที่ลืมไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือ วิธีการนี้ออกแบบสำหรับกลุ่มที่มีสมาชิกไม่เกิน 30 คน และตัวหนังสือต้องอ่านได้ชัดเจน (ไม่เกิน 8 เมตร) ไม่เชื่อก็ลองคิดภาพ (ที่ทุกคนเคยชิน) คนเป็นร้อยในห้องประชุมเพ่งไปที่จอฉายลิบๆข้างหน้า อันนี้ชวนหงุดหงิดมาก นอกจากไม่เห็นภาพแล้ว อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆได้อีก  อย่าบอกว่าใช้เทคโนโลยีทีวีจอแบนแอบไว้ข้างๆห้องเป็นแถวแล้วจะช่วยทำให้เห็นชัด คอจะเอียงเวลาเดินออกนอกห้อง   คราวนี้มาถึงเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการอำนวยการ ที่ต้องมีเป็นพื้นฐาน (มากกว่านั้น ไม่เกี่ยง) คือ 
    • ปากกามาร์กเกอร์ (สีดำและแดง) 
    • บัตรคำหรือแผ่นกระดาษ (หลายขนาด หลายสี) 
    • กระดาษคราฟ 
    • บอร์ด 
    • หมุดปัก 
    • กระดาษน้ำตาลปิดบอร์ด 
    • เทปกาว 
    • กรรไกร  
    • สติกเกอร์รูปวงกลม  
    • กาวแท่ง 
ในระหว่างการอภิปรายแผ่นกระดาษจะถูกปักบนบอร์ด ซึ่งจะสามารถเคลื่อนย้ายได้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ ต้องการจัดหมวดหมู่ใหม่ หลังจากเสร็จสิ้นจะทากาวบนแผ่นกระดาษติดลงในกระดาษน้ำตาลเพื่อรักษาข้อมูลไว้ใช้ ส่วนในด้านเกี่ยวกับ visualization ยังต้องมีการเตรียมได้ในหลายรูปแบบดังต่อไปนี้
    • เตรียมล่วงหน้าโดย facilitator หรือ moderator วิทยากรแบบมีส่วนร่วม เป็นวิทยากรใจถึง ไม่ใช่คุณนาย ต้องเตรียมเองเพื่อความมั่นใจ ไม่ต้องเงอะงะเรียกหาชาวบ้านมาช่วย ดูไม่เป็นมืออาชีพ
    • เตรียมในรูปของตารางหรือแผ่นกระดาษ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องที่ต้องการทำร่วมกันกับผู้เข้าร่วมหรือไม่
    • เตรียมโดยผู้เข้าร่วมโดยความช่วยเหลือจาก moderator 
    • เตรียมโดยใช้กันเองในระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วม
    • เตรียมโดยกลุ่มคณะกรรมการเพื่อสรุปผลของการทำงานกลุ่ม
    • เตรียมเพื่อทำให้เห็นภาพกระบวนการ เช่น การประเมินผลประจำวัน โครงสร้างของกระบวนการในการเรียนรู้ 
อย่าลืม (อีก) ว่า visualization ถือเป็นการเก็บความทรงจำ(ดีๆ)และให้โอกาสผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นด้วยการเขียน ดังนั้น 
  • visualization ควรมองเห็นได้ชัดเจน สำหรับผู้เข้าร่วมทุกคน
  • visualization ไม่สามารถพูดด้วยตัวมันเองเพียงแต่เสริมการแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา
  • visualizationไม่สามารถแทนเนื้อหาทั้งหมด และในทางตรงกันข้ามจะบอกถึงช่องว่าง หรือสิ่งที่ขาดหายไป
การตั้งคำถาม  (Asking Questions)
เป็นทักษะสำคัญมากในการเป็นวิทยากรแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การติดต่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์มีประสิทธิภาพ นั่นคือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์โดยการแสดงความคิดเห็น   ถ้าวิทยากรใช้การบรรยายที่ยาวจะเป็นการติดต่อสื่อสารทางเดียว ผู้เข้าร่วมจะไม่มีโอกาสในการแสดงออก ดังนั้น facilitator หรือ moderator ต้องเป็นผู้ที่กระตุ้นโดยการใช้คำถาม และคำถามทั้งหลายจะเป็นตัวที่ทำให้ประสบการณ์ ความรู้ของผู้เข้าร่วมได้มีการแพร่กระจายเคลื่อนไหวในกลุ่ม คำถามจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตารางต่อไปนี้จะเป็น DOs & DON’Ts ของลักษณะคำถาม

DOs
DON’Ts
เร่งความอยากรู้อยากเห็น
นำสู่คำตอบว่าใช่ หรือ ไม่ใช่
เกี่ยวพันกับผู้เข้าร่วม
เกิดความขัดแย้ง คลุมเครือและยากต่อความเข้าใจของผู้เข้าร่วม
กระตุ้นความเห็นที่หลากหลาย
สนับสนุนให้เกิดการตัดสิน หรือ ความรู้สึกผิด
กระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่น
เฉพาะสำหรับคนจำนวนน้อยในกลุ่ม
ก่อให้เกิดคำถามใหม่
เปลี่ยนเมื่อได้ถามไปแล้ว
มองเห็นภาพรวมล่วงหน้า
ก่อให้เกิดความแตกต่างมากเกินไป
และควรจะได้ทำการทดสอบอย่างน้อยหนึ่งครั้งในกลุ่มทีมงาน การตั้งคำถามถือเป็นศิลปะ เป็นทักษะที่ถือว่ายากอย่างหนึ่งในการนำ วิทยากรที่ตั้งคำถามได้เก่ง นับได้ว่าเป็นเซียนทีเดียว เพราะ บางครั้งมันกระทันหัน แทบตั้งตัวไม่ทัน คือ ฟังผู้เข้่าร่วม ประเมินแล้ว ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ทุกคนรอคอย หรือ พอใจ เราต้องรวบรวมสติ ต้องคิดต้องตั้งคำถามทันที    แล้วการตั้งคำถามที่ดีอีกอย่างคือถามคำถามที่สั้นกระชับได้ใจความในเวลาที่เหมาะสม ถึงบอกว่ามันยาก เร็วอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องคม ชัด เร่งเร้าความสนใจและทุกคนเข้าใจในคำถามเดียว  เมื่อถามไปแล้ววิทยากรใจถึงยังต้องฟังและสังเกตุจนแน่ใจว่าทุกคนได้แสดงความคิดเห็น เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นผลลัพธ์ของกลุ่มในอนาคต อันนี้สำคัญนัก การตั้งคำถามจึงจำเป็นต้องใช้ความอดทนสูง (ย้ำว่ายากและใช้เวลา) ทั้ง facilitator และผู้เข้าร่วม แต่คุ้มค่า คุ้ม(ที่)คอยเพราะเป็นวิธีการที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาและศักยภาพของกลุ่มในการหาแนวทางแก้ไข
ก่อนจะอธิบายหัวข้อต่อไป  ขอเลยเถิดไปถึงหลักในการเก็บรวบรวม จัดโครงสร้างความคิด  ถ้าใช้บัตรคำ แผ่นคำ แผ่นกระดาษ (ZOPP card) ให้เห็นถึงตัว key-word collection ซึ่งมีขั้นตอน คือ
  • facilitator อ่านคำถามบนแผ่นกระดาษอย่างน้อย 2 ครั้ง
  • แจกแผ่นกระดาษให้กับผู้เข้าร่วมตามจำนวนที่ระบุ
  • One idea = One card!!
  • เก็บแผ่นกระดาษหลังจากที่ผู้เข้าร่วมเขียนเสร็จและสลับ จัดกลุ่มแผ่นกระดาษใหม่
  • อ่านแผ่นกระดาษที่ถือไว้แล้วติดกับบอร์ดโดยใช้หมุดปักโดยเรียงตามความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม
  • แผ่นกระดาษต้องจัดรวมเป็นกลุ่มก้อน (clusters) เป็นเรื่องๆ ตามความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม     และถ้าให้ดีกว่านั้น ทำเส้นโยงเปรียบเสมือนแผนที่จะเห็นถึงความสัมพันธ์ด้วย
  • ชื่อของกลุ่มแผ่นกระดาษ จะร่วมกันตั้งหรืออาจจะกำหนดก่อนการอภิปรายก็ได้
  • “analysis of gaps”  ถามว่ายังมีสิ่งใดที่สำคัญแต่ยังไม่ได้พูดถึง
  • ให้กลุ่มวิเคราะห์ อภิปราย กลุ่มอื่นๆ บนบอร์ดและเพิ่มเติมด้วยการเขียนแผ่นกระดาษ
วิธีการแลกเปลี่ยนระหว่างที่ประชุมและกลุ่มย่อย  
(Alteration between Plenary and Group Sessions)
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการติดต่อสื่อสารสองทาง (two-way communication) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลุ่มย่อย และกลุ่มย่อยนี้เองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่ม เพราะว่าการมีคนจำนวนน้อยนั้นหมายความว่าทุกคนมีโอกาสมีเวลามากขึ้นในการอภิปราย  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกลุ่ม และถึงแม้ว่าจะมีห้องไม่เพียงพอ เราอาจจะใช้ห้องเดียวแต่แยกมุมสำหรับการอภิปรายในกลุ่มย่อยได้ นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องแน่ใจว่ามีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างที่ประชุมกับกลุ่มย่อยในการอภิปราย เพื่อรักษาการติดต่อสื่อสารของกลุ่มผู้เข้าร่วมทั้งหมดและเป็นการแลกเปลี่ยนผลลัพธ์ โดยมีหลักการคือ
ในที่ประชุม - แนะนำเกี่ยวกับแก่นของเรื่อง/หัวข้อ (theme)
- สำรวจลักษณะหรือด้านที่สำคัญทั้งหมด
   - การระบุถึงขอบเขตปัญหา
- การกระจายขอบเขตปัญหาให้ทราบทั่วกันทุกกลุ่ม
กลุ่มย่อย - การให้รายละเอียดในการวิเคราะห์ปัญหา
- การอภิปรายถึงวิธีการ ทางเลือกในการแก้ไขปัญหา
- สรุปประเด็นของผลลัพธ์สำหรับการนำเสนอ
สรุปในที่ประชุม - การแลกเปลี่ยนผลลัพธ์โดยการนำเสนอของกลุ่มย่อย
- อภิปราย วิจารณ์   เสริม และถามเกี่ยวกับผลลัพธ์
- หาข้อสรุปร่วมกัน
- การประเมินกระบวนการกลุ่ม
ในที่ประชุมจะมีการดำเนินการโดยสมาชิกของ Team of Facilitators  แต่ในกลุ่มย่อยนั้นสมาชิกของกลุ่มจะเป็น moderator เองและสมาชิกที่เหลือจะเป็นเสมือน Resource Persons

ตัวอย่างขั้นตอนที่ควรแนะนำกับกลุ่ม
    • การจัดสถานที่ให้เอื้อต่อการอภิปราย  เช่น จัดเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับการประเมิน
    • การเขียนหัวข้อที่อ่านได้ชัดเจนและอธิบายชี้แจง
    • การแจกจ่ายงานว่าใครเป็น   moderator / visualizer / reporter  และทำการตกลงเกี่ยวกับวิธีการ
    • การกำหนดเวลา (ในแต่ละขั้นตอน)
    • การคิดก่อน ตอบคำถามในใจแล้วเขียนบนแผ่นกระดาษ
    • การเก็บรวบรวมแผ่นกระดาษ
    • การอธิบาย  จัดกลุ่มและวิเคราะห์
    • การถาม : What is missing?
    • การจัดเตรียมผลลัพธ์ของกลุ่มเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม
ข้อแนะนำในการทำให้มองเห็นภาพในการนำเสนอ
  • กำหนดการติดต่อกับกลุ่มในที่ประชุม
    • นำเสนอเป็นทีม
    • อ่านทุกแผ่นกระดาษ
    • ชี้ไปที่แผ่นกระดาษในระหว่างการอ่าน
    • หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ยาว ๆ
    • ทำให้มองเห็นภาพในระหว่างอภิปรายในที่ประชุมโดยใช้บอร์ดของกลุ่ม
    การประเมินผลอย่างต่อเนื่อง (Continuous Evaluations)
    การประเมินผลส่วนขององค์ประกอบพื้นฐานของวิธีการมีส่วนร่วม (Participatory Approach)  ซึ่งจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและอย่างมีขั้นตอน การประเมินผลครั้งสุดท้ายเพียงอย่างเดียวถือว่ายังไม่พอ เนื่องจากในระหว่างการอภิปรายหรือฝึกอบรมผู้เข้าร่วมจะแสดงความคิดเห็นและประเมินสถานะการณ์ไปพร้อม ๆ กัน และถ้าเราไม่สนใจ คือ พลาดการเรียนรู้ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะวิทยากร แต่เป็นคนทั้งหมดที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน  บางครั้งเรามีการคาดคะเนผลครั้งสุดท้ายสูงเกินไปซึ่งจะนำไปสู่วิธีการเดียวกันกับกลุ่มอื่น ระวังหายนะจะมาเยือนแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากกลุ่มแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมที่แตกต่างกันไปตามสถานะการณ์และปัญหา ดังนั้นก่อนการนำ ทีมงานควรมีการประเมินกลุ่มผู้เข้าร่วมและโปรแกรมล่วงหน้าว่าจะใช้เทคนิควิธีการอย่างไร มีการวางแผนในเรื่องของสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อข้อมูลเหล่านั้นจะได้ใช้ในการประเมินผล และในการวางแผนจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถประเมินได้ โดยปกติเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้แต่ขอให้พยายามหาแนวทางในการปรับปรุงโปรแกรม วิธีการและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับความต้องการของผู้เข้าร่วม ใช้วิธีการที่เหมาะสมในระหว่างการฝึกอบรมหรืออภิปราย ผู้เข้าร่วมจะมีส่วนอย่างเต็มที่ในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโปรแกรม ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานที่เกิดขึ้นด้วย  การที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดปฏิกิริยา การแสดงออกที่หลากหลายในการประเมินผล เราควรใช้วิธีการประเมินผลที่แตกต่างกันทั้งในตอนเริ่มต้น ระหว่างดำเนินการและในตอนสุดท้าย มีหลายสิ่งที่เป็นองค์ประกอบในการประเมินผลที่ควรพิจารณานำไปใช้...
    • การสำรวจ  “ความคาดหวัง ความกังวล”  ของผู้เข้าร่วม ซึ่งจะทำตั้งแต่ตอนเริ่มต้นงานโดยเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เช่น เพื่อทำให้การสัมมนาประสบความสำเร็จ เราควรทำอะไรบ้าง? เราควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง? ซึ่ง chart ที่มีข้อมูลเหล่านี้ จะใช้ติดไว้ที่ผนังจนงานเสร็จสิ้น
    • การกำหนดคณะทำงานหรือกรรมการประเมินของผู้เข้าร่วม (โดยการหมุนเวียน) สำหรับแต่ละวัน ซึ่งทุกเช้าจะมีการนำเสนอ วิจารณ์ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะ
    • การใช้ “Mood Barometer”  ที่จะเป็นเครื่องมือในการแสดงถึงบรรยากาศ วัดอารมณ์ผู้เข้าร่วมซึ่งจะทำการประเมินหลังการสัมมนาหรือฝึกอบรมทุกวัน อาจเป็นการแสดงโดยใช้กราฟ หรือตัวเลข เปอร์เซ็นต์ ที่จะใช้เครื่องมือนี้ประกอบการนำเสนอผลการประเมินประจำวัน
    • การมี boards of criticism ซึ่งเป็นกระดานที่ผู้เข้าร่วมสามารถเขียนข้อความที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา การฝึกอบรม    เป็นการแสดงความรู้สึกหรือให้ข้อเสนอแนะโดยไม่ต้องมีการระบุชื่อ
    • Mid-term evaluation เป็นการประเมินผลระหว่างการสัมมนา การฝึกอบรม หรือแม้แต่การประชุม โดยให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถามต่าง ๆ ต่อไปนี้
    ท่านชอบอะไรบ้าง
    ท่านไม่ชอบอะไร
    ยังมีสิ่งใดบ้างที่เรายังอภิปรายไม่เพียงพอ
    มีอะไรบ้างที่ยังอยากรู้เพิ่มเติม
    • Final evaluation การประเมินผลครั้งสุดท้ายสามารถทำได้โดย
    • อภิปรายเกี่ยวกับ “ความคาดหวัง ความกังวล” ที่ได้นำเสนอในตอนเริ่มแรก
    • ใช้แบบประเมินผลและนำเสนอต่อกลุ่ม
    • เขียนลงบนแผ่นกระดาษ เช่น ท่านชอบอะไรบ้างเกี่ยวกับการสัมมนาหรือการฝึกอบรม ท่านไม่ชอบอะไรบ้างเกี่ยวกับการสัมมนาหรือการฝึกอบรม
    • ทำการสำรวจข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม เพื่อการติดตามผลในอนาคต หรือ การสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ
    สรุปแล้วการประเมินผลที่ครอบคลุมเช่นนี้ จะทำให้วิทยากรใจถึงสามารถทั้งแยกแยะ ยับยั้ง และหยั่งรู้ในงานที่ตนเองรับผิดชอบ มีสติ รู้ตัวตลอดว่าเราก่อให้เกิดผลลัพธ์ในงานอย่างไร จะปรับปรุง แก้ไขอย่างไรให้ทันการณ์ และภายหน้าจะพัฒนาตัวเองอย่างไร และการประเมินผลอย่างต่อเนื่องนี้เองที่จะสามารถสร้างความตระหนักให้กับผู้เข้าร่วมในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ความสำคัญของการให้ความคิดเห็น การบอกถึงความประสงค์อย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนการปรับทัศนคติของกลุ่มผู้เข้าร่วมในที่สุด
    การสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม (Climate Favorable to Participation)
    คงไม่มีใครปฎิเสธว่าบรรยากาศตึงเครียด เน้นความเป็นทางการเป็นตัวการที่ฆ่าความกล้าของคนในการแสดงความคิดเห็น  ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของคนตั้งแต่ยังไม่เกิด เรียกได้ว่า DOA = dead on arrival จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายอย่างมีรูปแบบที่จะสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม แน่นอนว่าบางครั้งความเป็นทางการสำคัญสำหรับบ้านเราที่มีวัฒนธรรมคลั่งพิธีการมาแต่เกิด แต่ในเวทีนี้เป็นการเรียกร้องหาการมีส่วนร่วม ดังนั้นต้องขอผ่านไปก่อน form ไม่ต้อง ขอ function ล้วนๆ    เมื่อการมีส่วนร่วมเป็นประเด็นสำคัญ (คาดว่าเราอยู่ในโหมดเดียวกันแล้ว) จึงมีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้
    • สภาพแวดล้อมในการสัมมนาหรือการฝึกอบรม เช่น เนื้อหาและวิธีการควรจะเสริมให้เกิดการอภิปรายที่ตรงไปตรงมาของทุกคน  ความโปร่งใส ความเป็นจริงจะคลี่คลายบรรยากาศ
    • ระบบลำดับขั้นระหว่างทีมงานกับผู้เข้าร่วมไม่ควรเกิดขึ้น การจัดห้องประชุมควรจัดเป็นรูปครึ่งวงกลม ไม่ควรมีโต๊ะคั่นกลาง
    • พกพาแนวทาง everybody  helps  everybody !
    • หลีกเลี่ยงการบรรยายยาว ๆ 
    • ใช้ learning by doing 
    • เพื่อความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่บางครั้งสถานที่ในการสัมมนาหรือการฝึกอบรมควรเป็นสถานที่ที่กลุ่มผู้เข้าร่วมสามารถอยู่รวมกันหลังจากงานเสร็จ มีกิจกรรมนอกเหนือจากหลักสูตรที่ส่งเสริม team spirit เช่น การท่องเที่ยวระยะสั้น กีฬา งานรื่นเริง หรือโปรแกรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม เป็นต้น
    • เน้น spirit of tolerance  เน้น self – discipline และ everybody  helps  everybody !
    เอกสารที่เกี่ยวกับกระบวนการและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Documentation)
    เป็นเรื่องของการจัดทำ จัดเก็บข้อมูลที่ได้จากผลลัพธ์ที่มาจากผู้เข้าร่วม     ซึ่งในวิธีการมีส่วนร่วมนี้ ถือว่าเป็นข้อมูลที่มีค่า เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้เข้าร่วมทุกคนที่จะสามารถนำไปใช้ นำไปต่อยอดแตกหน่อได้ในอนาคต ดังนั้นจะมานั่งเฉยๆเป็นคุณนายไม่ได้ ผู้เข้าร่วมต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ช่วยกันในการจัดทำข้อมูลและตารางทั้งหลายบนบอร์ด โดยการจัดโครงสร้าง หมวดหมู่ของข้อมูลอย่างเหมาะสม ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ   มีหัวข้อ วันที่และการลงเลขกำกับ (ถ้าจำเป็นขนาดนั้น)    สำหรับเอกสาร ข้อมูลที่ใช้เฉพาะในกลุ่ม ต้องมีการทำสำเนา เผยแพร่ แจกจ่ายให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมในกลุ่ม เป็นการแบ่งปัน กระจายข้อมูลให้ทั่วถึง สำเนาจากข้อมูลบนบอร์ดอาจไม่เพียงพอต้องมีการอธิบาย ขยายความเพิ่มเติมหรือให้ข้อมูลเพิ่มเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน  อย่าลืม (อีกแล้ว)ว่า  everybody  helps  everybody !
    บทส่งท้าย
    เล็กๆน้อยๆแต่มีนัยสำคัญ
    ข้อควรระวังเกี่ยวกับวิธีการมีส่วนร่วม (Participatory Approach) คือ ในโลกนี้มีหลายสถานะการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ Participatory Approach  วิทยากรใจถึงมีอิสระในการคิด การเลือกใช้วิธีการของตนเอง   แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่  ซึ่งขึ้นอยู่กับ
    • ความซับซ้อนของปัญหาและจำนวนของแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้: ไม่ซับซ้อนก็ไม่จำเป็นต้องใช้ 
    • จำนวนผู้เข้าร่วม: ถ้ามากไป ตัวใครตัวมัน
    • ปริมาณของอุปสรรคความยากลำบาก: หากยากเกินเยียวยา ก็ปลงได้เลย
    • ความจำเป็นของความคิดสร้างสรรค์: หากต้องการคิดใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมแล้ว ไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้
    • และที่สำคัญคือความเต็มใจของผู้เข้าร่วมในการให้ความร่วมมือ: ถ้าแก่มาก ดื้อมาก อัตตามากก็ให้คนอื่นนำไป   อย่าเสียเวลาเพราะว่ายังมีคนอื่นต้องการการเรียนรู้ อยากพัฒนาอีกมากในประเทศนี้
    ข้อบังคับพื้นฐานของวิธีการนำแบบมีส่วนร่วมสำหรับวิทยากรใจถึง คือ
    • การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับทุกเหตุการณ์: ต้องมีสติ รู้ตัว ขยันและมีวินัย
    • การยืดหยุ่นในระหว่างดำเนินการ: อย่าทำตัวเป็นครูไหวใจร้าย ความยืดหยุ่น ไม่ติดยึดจะทำให้หูตาสว่างมากขึ้น
    • ความสามารถในการประยุกต์ใช้ Participatory Approach  ในเหตุการณ์: อันนี้แปลว่าไม่ใช่รู้แล้ว รู้แล้วอย่างเดียว แต่ต้องมีสมรรถนะในการนำใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
    • ตระหนักในปัจจัยทางด้านเวลาที่เกี่ยวข้อง: การตรงเวลา การบริหารเวลาในการนำเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงถึงคุณภาพ  อย่ากินเวลาเพื่อน (นอกจากว่าได้ตกลงกันใหม่)
    • ตระหนักว่ากระบวนการกลุ่มต้องการเฉพาะการแนะนำเกี่ยวกับเครื่องช่วยหรือเครื่องมือที่เป็นประโยชน์เท่านั้น: ไม่จำเป็นที่เราต้องกระหน่ำซัมเมอร์เซลใช้เครื่องมือที่ดูขลัง วิทยากรไม่ใช่หมอผี เครื่องมือ เทคนิคที่ดูเยอะ ดูมีชาติตระกูลแต่ไม่เข้ากับกลุ่มผู้เข้าร่วม หรือใช้ยากนั้นเสียเวลาโดยใช่เหตุ
    อยากเน้นเรื่องการเตรียมการสำหรับกรณีการมีส่วนร่วมว่า   ในการวางแผนเบื้องต้นของทีมงานจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเชิญผู้เข้าร่วมด้วย ซึ่งจะต้องมีกำหนดการของโปรแกรม วัตถุประสงค์และวิธีการ (methodology) ส่งให้กับผู้เข้าร่วมเพื่อกระตุ้นความสนใจ ความอยากรู้ และเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้คาดหวังวิธีการแบบดั้งเดิม
    ในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องสัมมนาฝึกอบรมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในการทำงานควรเลือกโดยพิจารณาถึงแนวคิดการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ กล่าวคือ มีพื้นที่กว้างขวางพอสำหรับบอร์ด การจัดเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมและการจัดกลุ่มย่อย สำหรับเรื่องของ mobile visualization นั้นบางครั้งก็เสียค่าใช้จ่ายมากและวัสดุอุปกรณ์บางอย่างอาจขาดแคลน แต่เราก็สามารถประยุกต์และพัฒนาจากวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรมจะมีค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่ต้องใช้เพื่อการสำเนาเอกสาร ตารางต่าง ๆ ซึ่งอาจจะใช้การพิมพ์หรือเขียนแทน (ถ้ามีเวลา) บอร์ดในดวงใจของ facilitator คือ soft-board (ที่สามารถปักหมุด เคลื่อนย้ายสะดวก)  ถ้าไม่มีหรือหาไม่ได้จริงๆ อาจจะใช้บอร์ดชนิดอื่น หรือ ใช้ผนังแทนโดยรองกระดาษสีน้ำตาลและใช้เทปกาวติดแทนหมุดปักหรืออาจใช้สเปรย์กาวสำหรับติดแผ่นกระดาษ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสัมมนาควรจะวางไว้ในที่ที่ผู้เข้าร่วมสามารถหยิบใช้ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดพัฒนาการด้านเทคนิควิธีการตลอดจนการใช้สื่อต่าง ๆ
    Participatory Approach เป็นวิธีการที่หลายคนเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายมาก ข้อโต้แย้งนี้มีคำตอบที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เราต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่าวิธีการนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ได้อย่างดีที่สุด แต่กระนั้นก็ดีถ้าเราใช้ความคิดสักนิดเราจะลดค่าใช้จ่ายลงได้แน่นอน อันที่จริงแล้วค่าใช้จ่ายที่เราลงทุนมากที่สุดก็คือเวลาที่ได้เสียไปของกลุ่มผู้เข้าร่วมและทีมงานหาใช่เรื่องวัสดุอุปกรณ์ไม่ และนี่คือคุณค่าของการมีส่วนร่วม
    ขอเรื่องบทบาทอีกครั้งก่อนจบ คงจำได้ว่าก่อนหน้านี้ได้มีการกล่าวถึงการนำสำหรับ facilitators ทั้งในส่วนของ moderator และ resource person ไปแล้ว  อยากย้ำว่าบทบาทของ moderator นั้นค่อนข้างจะยากเพราะสถานะภาพในขณะนั้นไม่ใช่วิทยากรหลัก จึงขาดความมีอำนาจตลอดจนสภาวะที่อาจทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควร  บางครั้ง moderator จะขาดความอดทน จึงแสดงภูมิรู้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการสับสนในบทบาทได้   อย่าลืมว่า moderator ไม่สามารถเล่นบทบาทของ resource person ได้เมื่อรับบทบาทของ moderator ไปแล้ว  ถึงแม้จะคับข้องหมองใจอยากตอบอยากพูดเพียงใดก็ต้อง hold that thought!  เมื่อใดก็ตามที่มีคำถามเกิดขึ้น คำถามเหล่านั้นจะต้องถูกส่งไปยังกลุ่มทันที (กลุ่มในที่นี้หมายถึงผู้เข้าร่วมและ resource person) เมื่อเป็นเช่นนั้น moderator  ต้องจำกัดตัวเองในการให้ข้อมูลแก่กลุ่มอภิปราย โดยเฉพาะเกี่ยวกับประสบการณ์และความคิดเห็นของตน   ในหลายกรณีที่ผู้จัดทำหน้าที่เป็น Moderator ซึ่งจะเป็นการยากในการจัดหลักการระหว่างผู้จัดกับ Moderator เนื่องจากตัว Moderator ควรจะเป็นอิสระมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  
    moderating without manipulating!